×

เซ็กซ์ สงครามเย็น และวัฒนธรรมบันเทิงที่พัฒน์พงศ์มิวเซียม พิพิธภัณฑ์ที่มีโซน 18+

06.11.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 min read
  • Patpong Museum ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเพียงเรื่องของผับ บาร์ อะโกโก้ และเซ็กซ์ หากแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการนำเสนอวัฒนธรรมความบันเทิงและเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น รวมถึงการพัฒนาขึ้นของธุรกิจสมัยใหม่ในไทยภายใต้เงื้อมเงาของอเมริกา 
  • พื้นที่พัฒน์พงศ์จึงไม่ได้มีแค่เรื่องโลกีย์อย่างที่รับรู้กันทั่วไป หากเป็นหนึ่งในพื้นที่ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามเย็นที่สำคัญของเมืองไทย
  • สาเหตุที่อเมริกาเลือกไทยเป็นศูนย์กลางของ CIA ในภูมิภาค เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้น เพราะต้องการใช้ไทยเป็นที่สกัดทฤษฎีโดมิโนที่เชื่อว่า ถ้าไทยล้มเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศต่างๆ จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปทั้งหมด ทำให้มีการส่ง CIA และทหารระดับหัวๆ มาประจำการ 

ขอเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง ไปคุยเรื่องเซ็กซ์และมิวเซียมกัน วันก่อนผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งนั่นคือ Patpong Museum (ขอเขียนว่า พัฒน์พงศ์มิวเซียม แล้วกัน) อาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ฮอตมากตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว เพราะคอนเทนต์ใหม่และแรง ไม่เหมือนกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ในไทย (อาจเพราะอยู่นอกระบบราชการ) ตอนแรกๆ ก่อนผมจะไปดู ผมก็คิดว่าคงนำเสนอเรื่องผับ บาร์ อะโกโก้ และเซ็กซ์ เป็นหลัก

 

 

แต่เมื่อมาถึงพิพิธภัณฑ์ พอได้เดินดูและมีไกด์เล่าเรื่อง ทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิด เพราะจริงๆ แล้วธีมหลักของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ การนำเสนอวัฒนธรรมความบันเทิงและเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น รวมถึงการพัฒนาขึ้นของธุรกิจสมัยใหม่ในไทยภายใต้เงื้อมเงาของอเมริกา พิพิธภัณฑ์นี้จึงมีดีมากกว่าเรื่องลับๆ ใต้แสงไฟสลัวๆ ครับ

 

ทางเดินสีชมพู ทางเข้าพัฒน์พงศ์มิวเซียม

 

พัฒน์พงศ์มีประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ 

อู๊ด-พอภัค กาญจนคุปต์ ไกด์นำชมพัฒน์พงศ์มิวเซียม ได้เล่าให้ฟังว่า ไมเคิล เมสส์เนอร์ ชาวออสเตรเลีย ผู้ก่อตั้งพัฒน์พงศ์มิวเซียม ได้เดินทางเข้ามาในไทยเมื่อ ค.ศ. 1997 เพื่อทำธุรกิจร้านอาหารและอื่นๆ ที่พัฒน์พงศ์ เมื่อสัมผัสชีวิตของคนที่พัฒน์พงศ์ได้สักระยะ ทำให้เขาเริ่มมองประวัติศาสตร์ในย่านนี้ที่ซ่อนตัวอยู่ ซึ่งมีความพิเศษและน่าสนใจมาก เพราะไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่า พัฒน์พงศ์นั้นมีประวัติความเป็นมาดั้งเดิมอย่างไร ตึกสมัยใหม่ยุคต้นๆ ของการพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมจึงมีผับ บาร์ อะโกโก้ มากมาย 

 

อู๊ด-พอภัค กาญจนคุปต์ ไกด์นำชมพัฒน์พงศ์มิวเซียม กำลังเล่าถึงอาชีพของชาวจีนในเมืองไทย

 

ผลมาจากความสนใจนี้เองที่ทำให้ไมเคิลคิดว่า พัฒน์พงศ์ควรมี ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (Local Museum)’ ขึ้นสักแห่ง ไมเคิลค่อยๆ รวบรวมเอกสารและเก็บสะสมวัตถุจัดแสดงต่างๆ เพื่อนำมาสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา ทำให้ธีมเรื่องของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่าด้วยเรื่องพัฒนาการของพัฒน์พงศ์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาหลัก คือ ช่วงแรก ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเริ่มต้นตั้งแต่ยุคของชาวจีนไหหลำคนหนึ่งมีชื่อว่า ‘ตุ้น พู’ ซึ่งทำธุรกิจกับราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 6 คือการทำปูนซีเมนต์ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า ‘หลวงพัฒน์พงศ์พานิช’ หรือที่บางเอกสารเรียกสั้นๆ ว่า ‘จีนพัด’ อันเป็นที่มาของชื่อย่านแห่งนี้ว่า ‘พัฒน์พงศ์’ นั่นเอง 

 

ตุ้ม พู หรือหลวงพัฒน์พงศ์พานิช ต้นกำเนิดชื่อพัฒน์พงศ์ 

 

 

โมเดลจำลองพื้นที่พัฒน์พงศ์สมัยดั้งเดิม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นค่ายของทหารญี่ปุ่นในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย 

 

และช่วงที่ 2 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นระยะที่มีการปฏิรูปพื้นที่จากเรือกสวนไร่นามาเป็นอาคารพาณิชย์สมัยใหม่ โดยมีบริษัทต่างๆ จากอเมริกาและพวก CIA ได้เข้ามาเช่าพื้นที่แห่งนี้ เพื่อสร้างเป็นย่านของชาวอเมริกัน ซึ่งนี่เองที่ทำให้พัฒน์พงศ์มีหน้าตาและวัฒนธรรมเฉพาะของตนเองแบบที่เรารับรู้ / เห็นกันในปัจจุบัน

 

เมื่อพูดถึงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแล้ว หลายคนอาจมีมิติการมองที่อะไรที่ดูเป็นพื้นถิ่น เช่น หม้อ ชาม กระบุง ตะกร้า แต่ความหมายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้นก็คือ การเป็นพื้นที่ที่จัดแสดงอัตลักษณ์และประวัติความเป็นมาของพื้นที่แห่งนั้นว่ามีพัฒนาการความเป็นมาอย่างไร อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนและพลิกผันทำให้สังคมเศรษฐกิจของพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนี้มีเป้าหมายเป็นทั้งพื้นที่ให้ความรู้และพักผ่อน รวมไปถึงมีบทบาทในการพัฒนาสังคมอีกด้วย ทั้งหมดที่ว่ามานี้สามารถเห็นได้ในพัฒน์พงศ์มิวเซียม เพราะนอกจากนิทรรศการที่บอกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีโซนให้ผู้มาเยี่ยมชมสามารถนั่งดื่มผลิตผลทางการเกษตรที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศของพัฒน์พงศ์ได้อีกด้วย 

 

บาร์ในพัฒน์พงศ์มิวเซียม ลองไปสัมผัสและดื่มด่ำกับบรรยากาศกันดูครับ

 

พัฒน์พงศ์กำเนิดในยุคสงครามเย็น 

ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับตระกูลพัฒน์พงศ์พานิชเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1933 เมื่อ อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ลูกชายของหลวงพัฒน์พงศ์พานิช ได้ไปศึกษาต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ที่นี่เองที่อุดมได้รับการฝึกอบรมโดยหน่วย OSS คือหน่วยจารชนสายลับของอเมริกา โดยไปฝึกครั้งแรกที่เมือง พอร์ตเบนนิ่งในรัฐจอร์เจีย เมื่อ ค.ศ. 1945 และได้ไปต่อฝึกต่อที่ประเทศศรีลังกากับ จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทยผู้หายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนที่จะย้ายกลับมาเพื่อปฏิบัติการเคลื่อนไหวในไทยภายใต้ขบวนการเสรีไทย

 

จัดแสดงเครื่องใช้สำนักงานของ อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ผู้สร้างตำนานของพัฒน์พงศ์

 

มุมหนึ่งของนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของ อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ผู้สร้างพัฒน์พงศ์, การคมนาคม และสงครามเย็น

 

หลังจากนั้น 1 ปี เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อุดมได้ซื้อที่ดินบริเวณพัฒน์พงศ์เป็นเงิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในเวลานั้นตกราว 60,000-70,000 บาท แล้วชวนพรรคพวกที่เป็นเสรีไทยและอเมริกาทำธุรกิจ ทำให้มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อให้บริษัทต่างๆ จากอเมริกาและชาติอื่นๆ เข้ามาเช่าเพื่อจัดตั้งธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท IBM, Shell, Caltex, Air America, Vietnam Airline, Air France ที่สำคัญพัฒน์พงศ์ได้กลายเป็นที่ตั้งของสำนักงานของพวก CIA ด้วย ซึ่งปัจจุบันตึกดังกล่าวอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า ‘ตึกชมพู’ (ออกสีส้มมากกว่า) ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงคอนเน็กชันระหว่างไทยกับอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่ถูกเล่าถึงในประวัติศาสตร์ไทย  

 

ตึกชมพู อดีตสำนักงานบัญชาการของ CIA ที่อยู่ในพัฒน์พงศ์

 

 

เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในย่านพัฒน์พงศ์ ก็ทำให้มีการเปิดร้านอาหารจำนวนมากตามมา เช่น มิสุ ซึ่งเป็นร้านอาหารแห่งแรก, โรงแรมพลาซ่า ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่มีบริการน้ำร้อน แอร์คอนดิชัน และโทรศัพท์ทางไกลโทรไปต่างประเทศ แถมยังมีผับ บาร์ เปิดขึ้นอีกหลายแห่งตามมาอีกด้วย ภาพของอาคารต่างๆ ของพัฒน์พงศ์ทั้งหมดนี้ได้ถูกทำเป็นโมเดลอยู่ในห้องจัดแสดงที่ 3 ซึ่งช่วยทำให้เราเห็นภาพของอาณาบริเวณที่เรียกว่าพัฒน์พงศ์ได้ชัดเจนขึ้น

 

 

โมเดลจำลองอาคารต่างๆ ที่อยู่ในย่านพัฒน์พงศ์ ในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์

 

Black Pagoda บาร์สะพานลอยตรงพัฒน์พงศ์ ซอย 2 

 

Black Pagoda ของจริงอยู่ตรงพิพิธภัณฑ์เลย

 

ทำไมต้องสร้างพัฒน์พงศ์ขึ้นมาเพื่อรองรับพวกอเมริกา อู๊ด พอภัค ไกด์ของผมได้ให้ความเห็นว่า ยุคนั้นในเขตกรุงเทพฯ ยังไม่มีกลุ่มอาคารพาณิชย์มากพอที่จะรองรับกับธุรกิจต่างๆ ที่เข้ามาอย่างฉับพลัน อีกทั้งถ้าไปเช่าตามที่ต่างๆ ธุรกิจและหน่วยงานของอเมริกันและชาติอื่นๆ ก็จะกระจัดกระจาย และห่างไกลจากศูนย์บัญชาการของ CIA จนอาจกล่าวได้ว่า พัฒน์พงศ์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับเป้าหมายทางการเมืองของอเมริกาในเวลานั้นนั่นเอง พื้นที่พัฒน์พงศ์จึงไม่ได้มีแค่เรื่องโลกีย์อย่างที่รับรู้กันทั่วไป หากเป็นหนึ่งในพื้นที่ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามเย็นที่สำคัญของเมืองไทย 

 

 

สาเหตุที่อเมริกาเลือกไทยเป็นศูนย์กลางของ CIA ในภูมิภาค เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้น ทั้งนี้เพราะเพื่อใช้สกัดทฤษฎีโดมิโนที่เชื่อว่า ถ้าไทยล้มเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศต่างๆ จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปทั้งหมด ทำให้มีการส่ง CIA และทหารระดับหัวๆ มาประจำการ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ‘โทนี โพ’ มีชื่อจริงว่า แอนโธนี อเล็กซานเดอร์ โพเชปนี เพื่อฝึกทหารและเข้าแทรกแซงการเมืองในเมียนมา ลาว และเวียดนาม โดยในลาว-เวียดนาม เขาได้ทำหน้าที่ฝึกชาวม้ง เพื่อใช้ต่อต้านทหารเวียดนามเหนือ ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. 1970 โทนี โพ ได้มีหน้าที่รับผิดชอบฝึกทหารอเมริกันในไทยจนกระทั่ง ค.ศ. 1974 จึงได้เกษียณอายุราชการ โดยได้รับรางวัลเกียรติยศ Intelligence Star 

 

อาวุธในสมัยสงครามเย็น และภาพยนตร์เรื่อง Apocalypse Now ซึ่งเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต โทนี โพ

 

โทนี โพ มีชื่อเสียงมาก เพราะเมื่อเขาได้รับคำสั่งให้ไปสังหารใครก็ตาม จะตัดหูของศัตรูส่งไปยังศูนย์บัญชาการ ซึ่งเรื่องราวความโหดเหี้ยมของเขานี้เองที่ได้ถูกทอดผ่านในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Apocalypse Now ฉายเมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นต้น ทว่าถึง โทนี โพ จะดูเป็นทหารที่ทำตามหน้าที่ แต่เป็นที่รับรู้กันว่า เขาได้พัวพันกับการค้ายาเสพติดข้ามประเทศ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ทหารและสายการบินแอร์อเมริกาขนส่งยาเสพติดจากลาว-ไทย ไปยังอเมริกา  

 

การเมือง สงคราม และความรุนแรงทั้งหมดนี้ ได้ถูกถ่ายทอดในวีดิทัศน์ ภาพถ่าย โปสเตอร์ สิ่งของจัดแสดงต่างๆ ที่แทบทั้งหมดล้วนเป็นของจริงในยุคนั้น ซึ่งช่วยบอกเล่าเสี้ยวส่วนของประวัติศาสตร์ไทยในยุคสงครามเย็น ที่ไม่สามารถหาได้ในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป และไม่เล่าในพิพิธภัณฑ์ของกองทัพไทย

 

 

ผับ บาร์ อะโกโก้ ปิงปอง ชีวิตกลางคืน

ในช่วงปลายของสงครามเวียดนาม ความตึงเครียดจากสงครามทำให้ผู้หญิง ผับ บาร์ อะโกโก้ และดนตรี กลายเป็นเครื่องผ่อนคลายชั้นดีให้กับทหารอเมริกันที่ไปรบในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ใน ค.ศ. 1969 ริค เมอร์นาร์ด ได้เปิดกรังปรีส์บาร์ ซึ่งเป็นสปอร์ตบาร์และเต้นอะโกโก้ในพัฒน์พงศ์แห่งแรกในกรุงเทพฯ และเอเชีย ต่อมาใน ค.ศ. 1972 มิสซิสซิปปี ควีน โกโก้บาร์ ได้เปิดตัวขึ้นอีกเช่นกัน ในระยะเวลาอันสั้นจึงมีบาร์เปิดขึ้นตามอีกมากมาย ทำให้ชื่อเสียงของพัฒน์พงศ์นั้นโด่งดังไปทั่วโลก จนมีนักท่องเที่ยว ดารา นักร้องจากทั่วโลก มาเที่ยวและใช้เป็นฉากถ่ายภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง เช่น The Deer Hunter (1978) KickBoxer (1989) Beautiful Boxer (2003)

 

 

ภาพของเอ็ดเวิร์ด ผู้ให้กำเนิดซอยคาวบอย ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถสอบถามไกด์ได้

 

นางโชว์ที่พัฒน์พงศ์ถือว่ามีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะไม่ใช่แค่การเต้นกับเสาเท่านั้น แต่ยังมีการแสดงโชว์ที่เรียกว่า พิสดารเลยทีเดียว ก่อนไปพัฒน์พงศ์มิวเซียม มีรุ่นน้องคนหนึ่งบอกผมว่า พี่ไปถามให้ทีนะว่า ‘เล่นปิงปอง’ มันคืออะไร ซึ่งเรื่องนี้เราสามารถค้นหาได้จากห้องจัดแสดงของพัฒน์พงศ์มิวเซียมในห้อง 18+ ครับ รับรองเข้าไปได้มีกรี๊ดกันแน่นอน

 

เงาจำลองของนางโชว์และปิงปองโชว์ ซึ่งคนไปมิวเซียมสามารถทดลองเล่นได้

 

โชว์ปิงปองก็คือ การที่ผู้หญิงเอาปิงปองใส่เข้าไปในอวัยวะเพศแล้วปลิ้นมันออกมาให้หนุ่มๆ ได้ทดลองเอาไม้ปิงปองตี (คงสนุกแปลกๆ ดีเหมือนกันนะครับ) นอกจากโชว์ปิงปองแล้ว ยังมีโชว์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพัฒน์พงศ์อีก เช่น โชว์เขียนหนังสือด้วยอวัยวะเพศ (มีวิดีโอให้ชมด้วยนะครับ ลองไปดูกันเอาเองเด้อ) โชว์เอามีดโกนออกมาจากอวัยวะเพศ โชว์เปิดขวดด้วยอวัยวะเพศ ทั้งหมดนี้เท่าที่ผมรู้และเท่าที่คุยกับไกด์นำชม (ซึ่งแต่ละคนมีความรู้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว) น่าจะเป็นโชว์ที่เกิดขึ้นในย่านคนจีนในไทยที่มีโชว์พิสดารคล้ายมายากลทำนองนี้อยู่แล้ว 

 

 

ห้องจัดแสดงถัดไปจากห้องปิงปองโชว์ เป็นห้องที่เรียกว่า ‘Fetish Sex’ ไม่รู้จะแปลเป็นไทยอย่างไร ประมาณว่า รสนิยมทางเพศเฉพาะกลุ่มแล้วกัน อภิรดี จันทนางกูล ผู้จัดการมิวเซียม ได้เล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งได้จัดอีเวนต์เกี่ยวกับ ‘คิบากุ (Kibaku)’ คือการมัดเชือกบนเรือนร่างสไลต์ญี่ปุ่น ทีแรกคุณอภิรดีก็ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจมากและให้ทดลองมัดเชือก แต่กลับผิดคาด ดังนั้นห้องจัดแสดงนี้จึงต้องการสื่อให้เห็นว่า รสนิยมทางเพศของมนุษย์มีหลากหลาย ไม่ได้มีอยู่แบบเดียว และไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ

 

โสเภณีจากถูกกฎหมายมาผิดกฎหมาย

นอกจากเรื่องนางโชว์แล้ว จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ตาม ผู้หญิงและผู้ชายขายบริการก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักพัฒน์พงศ์ ในห้องจัดแสดงแรกจะมีการพูดถึงโสเภณีในอดีต โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า เดิมทีโสเภณีไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจดทะเบียน ตรวจโรค และเสียภาษี ซึ่งรัฐได้นำรายได้จากโสเภณีจำนวนมากนี้ไปสร้างถนนและอื่นๆ อีกมากมาย หรือวัดบางแห่งก็สร้างโดยโสเภณีก็มี 

 

แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะการประกาศของสหประชาชาติใน พ.ศ. 2492 ว่าการค้าประเวณีถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยแรงกดดันดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องประกาศให้โสเภณีเป็นเรื่องผิดกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2503 นับแต่นั้นมาชีวิตของหญิงกลางคืนก็มีภาพลักษณ์ไม่ดีนักในสายตาคนทั่วไป ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ 

 

 

ผมได้ถาม อภิรดี จันทนางกูล ผู้จัดการมิวเซียม ถึงเรื่องดังกล่าว ในความเห็นเธอแล้วมองว่า ถ้าหากรัฐบาลยอมรับการมีอยู่ของอาชีพนี้ แล้วทำให้ถูกกฎหมาย ผู้หญิงขายบริการเหล่านี้ก็จะได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองจากรัฐ ซึ่งชีวิตของพวกเขาจะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก แต่ทั้งนี้ก็คงต้องมีกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อคัดกรองคนเข้าสู่ธุรกิจนี้นั่นเอง ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องที่ยังต้องถกเถียงกันอีกมาก 

 

อภิรดี จันทนางกูล ผู้จัดการพัฒน์พงศ์มิวเซียม

 

ของที่ระลึก ถ้าสนใจก็ซื้อติดไม้ติดมือ ช่วยสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ครับ

 

เชียร์เลยครับ อยากให้ไปพัฒน์พงศ์มิวเซียมกัน เพื่อไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์เสี้ยวหนึ่งแต่สำคัญมากต่อสังคมไทย เพราะพัฒน์พงศ์คือจุดเริ่มต้นหนึ่งของธุรกิจและวัฒนธรรมอเมริกันที่ฝังรากอยู่ในบ้านเรา ซึ่งหาไม่ได้จากพิพิธภัณฑ์ราชการแน่ๆ โดยเฉพาะเรื่องเซ็กซ์ ซึ่งจะช่วยทลายกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ ที่สำคัญในเมื่อพัฒน์พงศ์คือหนึ่งในภาพลักษณ์ของประเทศ เหมือนเพลงของคาราวบาว “Tom, Tom, Where you go last night? I love Muang Thai, I like Patpong” ดังนั้นการไปเที่ยวพัฒน์พงศ์มิวเซียมก็คือกระบวนการหนึ่งในการทำความเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นเห็น เพื่อสะท้อนความเป็นตัวตนของเรา และความจริงที่รัฐมักไม่พูดถึงในสังคมไทย 

 

Patpong Museum

วัน เวลา เปิด-ปิด: วันศุกร์-เสาร์ เวลา 13.00-22.00 น., วันอาทิตย์-จันทร์ เวลา 12.00-21.00 น., ปิดวันอังคาร-พฤหัสบดี

ที่อยู่: Patpong Museum ตั้งอยู่ที่ถนนพัฒน์พงศ์ ซอย 2 บางรัก กรุงเทพฯ (ใกล้ BTS ศาลาแดง และ MRT สีลม) 

ค่าเข้าชม:

  • นักเรียน นิสิต นักศึกษา 150 บาท 
  • คนไทยและชาวต่างชาติ 250 บาท 
  • คนไทยและชาวต่างชาติพร้อมเครื่องดื่ม 350 บาท 

โทร: 09 1887 6829

Facebook: https://www.facebook.com/patpongmuseum

Email: [email protected]

Website: https://www.patpongmuseum.com

Map:

 

 

 

หมายเหตุ: ภาพเปิดคือภาพของ เดวิด โบวี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เคยมาพัฒน์พงศ์ และหลงใหลใช้ชีวิตอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising