นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทใน ค.ศ. 1839 สำหรับ Patek Philippe (ปาเต็ก ฟิลิปป์) แล้ว นาฬิกาทุกเรือนที่สร้างสรรค์ขึ้น ล้วนเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนความงามอันประณีตของกลไกจักรกลที่สมบูรณ์แบบ ความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของ Patek Philippe ที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างสวยงาม กลมกลืน ไร้ที่ติ เป็นที่ประจักษ์ในดีไซน์ที่เรียบหรู ทว่าสง่างาม เหนือกาลเวลา ตอกย้ำด้วยคุณภาพและความละเอียดประณีตในการตกแต่งด้วยมืออย่างพิถีพิถัน และด้วยปณิธานเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้ Patek Philippe มุ่งมั่นบ่มเพาะช่างฝีมือรุ่นใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานทักษะงานฝีมืออันเก่าแก่และหายาก ว่าด้วยการประดับตกแต่งเรือนเวลาชั้นสูงเหล่านี้ ให้ได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
นาฬิกาจี้ประดับพระศอสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย Patek Philippe & Cie. เจนีวา,
หมายเลข 4536 (1850-1851)
ลูกค้ากลุ่มราชวงศ์
ตามประวัติศาสตร์แล้ว ในช่วงเวลาที่ Antoine Norbert de Patek (อังตวน นอร์เบิร์ต เดอ ปาเต็ก) และ François Czapek (ฟรองซัวส์ ซาเป็ก) ร่วมกันเริ่มต้นผลิตนาฬิกาในปี 1839 (6 ปีก่อนที่จะพบกับ Jean-Adrien Philippe (ฌอง-เอเดรียน ฟิลิปป์)) ผู้เป็นเจ้าของ นาฬิกาได้จำกัดอยู่เพียงชนชั้นสูงเท่านั้น การนำเสนอนาฬิกาพกแบบ Hunter-Cased หรือนาฬิกาพกที่มีฝาปิดด้านหลังแบบเรียบๆ ไร้การประดับตกแต่งใดๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งสองจึงเริ่มนำนาฬิกาพกมาแกะสลักอย่างวิจิตรงดงามด้วยเทคนิคและลวดลายที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของทั้งคู่ ตามมาด้วยเทคนิคการเคลือบสีลงยา (Enamel) ที่ปรากฏเป็นครั้งแรก โดยได้แรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะชิ้นเอก จากการเปลี่ยนผ่านของศิลปะครั้งสำคัญๆ ในแต่ละยุคสมัย และภาพบุคคลที่รังสรรค์ด้วยเทคนิคจุลจิตรกรรม (Miniature) ซึ่งโดดเด่นและเป็นที่นิยมที่สุดในผลงานที่ผลิตขึ้นสำหรับลูกค้ากลุ่มเชื้อพระวงศ์ในสมัยนั้น
นาฬิกาพก Patek Philippe ขึ้นลานได้โดยไม่อาศัยกุญแจไขลาน ตัวเรือนทองคำแกะสลักทั้งเรือน ฝาหลังตัวเรือนตกแต่งอีนาเมลเป็นพระปรมาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (จปร) อย่างประณีตงดงาม
ป้อมปราการแห่งงานช่างฝีมือเจนีวา
Patek Philippe เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ขณะเดียวกันก็ยังคงยึดมั่นในการทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ประเพณีการผลิตนาฬิกาอันยิ่งใหญ่ของเจนีวา และเป็นเสมือนป้อมปราการอันแข็งแกร่งในการธำรงรักษาศิลปะชั้นสูงแห่งเจนีวาให้คงอยู่ และการทุ่มเทบ่มเพาะ ฝึกฝน พัฒนาทักษะงานฝีมือหายากที่มีบทบาทในการตกแต่งนาฬิกามายาวนานนี้เอง เป็นเครื่องตอกย้ำความมุ่งมั่นของ Patek Philippe ที่มีต่อการสืบสานงานฝีมือเชิงศิลป์หายากทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อให้ทักษะอันทรงคุณค่าของช่างฝีมือบรรพบุรุษ ยังคงส่องประกายบนผลงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายประเภท
นาฬิกาพก Patek Philippe Ref. 995/122J-001 ‘Panda’ สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการ Rare Handcrafts 2021 ผสมผสานเทคนิคพิเศษของการตัดต่อลายไม้ขนาดเล็ก งานแกะสลักด้วยมือ งานแกะลายกิโยเช และงานเคลือบสีลงยา
เทคนิคการตัดต่อลายไม้ขนาดเล็ก (Wood Micro-Marquetry)
การตัดต่อลายไม้ขนาดเล็กเป็นการใช้ศิลปะจากไม้แผ่นบางหรือวีเนียร์ในการสร้างงานศิลปะ เป็นกระบวนการที่ละเอียดประณีต ต้องอาศัยพื้นผิวและสีของเนื้อไม้หลากหลายชนิด คัดเลือกและประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อให้ความสมจริงและเป็นธรรมชาติที่สุด ตัวอย่างเช่น ภาพเสือเบงกอลบนหน้าปัดนาฬิกาข้อมือรุ่น Ref. 5077P ‘Royal Tiger’ ที่ดูเสมือนจริงอย่างไม่น่าเชื่อนี้ ใช้การเรียงทิศทางของเนื้อไม้บนพื้นผิวให้สอดคล้องกับแนวเส้นขนตามธรรมชาติของเสือเบงกอลอย่างพิถีพิถัน บนพื้นผิวที่มีความกว้างแทบไม่ถึง 3 เซนติเมตร
นาฬิกา Patek Philippe Ref. 5077P ‘Royal Tiger’
ศิลปะแห่งการเคลือบสีลงยา (Artistry of Enameling)
งานเคลือบสีลงยาเป็นกระบวนการใช้ทรายซิลิกาที่บดแล้ว (เรียกว่า ฟองดองท์ ซึ่งมีความโปร่งใส) นำมาผสมกับน้ำเพื่อให้เนื้อประสานกัน สามารถสร้างสีได้ด้วยโลหะออกไซด์ ก่อนจะนำมาเคลือบบนพื้นผิวที่ได้รับการทำความสะอาดอย่างพิถีพิถันและปล่อยให้แห้ง จากนั้นก็นำไปเผาในเตาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 850 องศาเซลเซียส ให้หลอมรวมกับฐานโลหะ
Patek, Philippe & Cie. เจนีวา หมายเลข 233659 (1903-1904) ประดับด้วยเพชร และตกแต่งด้วยเทคนิคเคลือบสีลงยา สีแดงโปร่งใสและสีครีมในสไตล์นีโอ-ยุคกลาง (Neo-Medieval)
ทั้งนี้ ผลงานแต่ละชิ้นอาจผ่านกระบวนการเผาได้มากถึง 12 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความวิจิตรซับซ้อนของลวดลาย การเคลือบสีลงยาเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยม เพราะส่วนใหญ่มักจะคงความงามดั้งเดิมในสภาพเดียวกับที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้น โดยไม่เปลี่ยนแปลงทั้งลวดลายและสีสัน และไม่มีผลกระทบจากรังสียูวี แม้เวลาจะผ่านไปหลายทศวรรษ หรือนานนับศตวรรษก็ตาม ช่างเคลือบสีลงยาอาจจะเลือกใช้เทคนิคดั้งเดิมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเลือกผสมผสานจากทั้งหมด 4 เทคนิค ทั้งเทคนิคลงยาแบบ Cloisonné (คลัวซอนเน), เทคนิคลงยาแบบ Champlevé (ชอมเลอเว), เทคนิคลงยาแบบ Pailonné (ไปยอนเน) และ Miniature Painting (จุลจิตรกรรม) บนงานเคลือบสีลงยา
นาฬิกา Grand Complications Ref. 6002R-001 พื้นหน้าปัดด้านหน้าผสมผสานระหว่างเทคนิคเคลือบสีลงยาแบบกรองเฟอซอมเลอเว (Grand Feu Champlevé) และการลงยาเทคนิคคลัวซอนเน (Cloisonné) แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านเทคนิคเคลือบสีลงยาของ Patek Philippe
ค้นหานาฬิกา Patek Philippe Grand Complications
คลัวซอนเน (Cloisonné)
คลัวซอนเน เป็นเทคนิคการเคลือบสีลงยา เติมแต่งด้วยการใช้ลวดเส้นบางที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นทองดัดเป็นโครงร่างเพื่อสร้างแบบและยึดติดกับแผ่นฐาน โดยใช้เส้นลวดบางๆ นี้เอง แบ่งสัดส่วนเป็นช่องเล็กๆ เพื่อสร้างลวดลาย จากนั้นเติมสารเคลือบลงในแต่ละช่อง และอาจต้องผ่านการเผาหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับสี ประเภทของการลงยาที่ใช้ และระดับความโปร่งใสรวมถึงความตื้นลึกที่ต้องการ
นาฬิกาตั้งโต๊ะทรงโดมลงยาด้วยเทคนิคคลัวซอนเน Thai Ornaments Ref. 20074M-001 ผลงานสร้างสรรค์สำหรับงานนิทรรศการ Patek Philippe Watch Art Grand Exhibition เมื่อปี 2019 ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะการประดับตกแต่งพื้นผิวด้วยลายไทยอันประณีตอ่อนช้อย ที่ช่วยขับเน้นให้พระราชวังและสถูปเจดีย์ใน ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’ นี้ยิ่งมีความวิจิตรงดงาม
ชอมเลอเว (Champlevé)
ชอมเลอเวเป็นเทคนิคการเซาะร่อง โดยชิ้นส่วนเล็กๆ ของชิ้นงานจะถูกแกะสลักไว้ล่วงหน้า จากนั้นจะเติมด้วยสารเคลือบ และผ่านกระบวนการเผาที่คล้ายกับเทคนิคการเคลือบสีลงยาแบบคลัวซอนเน
นาฬิกาข้อมือ Golden Ellipse Haut Artisanat Ref. 5738/51G-001 ตัวเรือนทองคำไวต์โกลด์ มาพร้อมพื้นหน้าปัดที่ตกแต่งด้วยกรรมวิธีอันทรงคุณค่าของการเคลือบสีลงยาแบบชอมเลอเว และการแกะสลักด้วยมือ
ไปยอนเน (Pailonné)
ไปยอนเน เป็นการใช้แผ่นทองคำเปลวขนาดเล็กที่เรียกว่า ไปยอน (Paillons) ฝังในชั้นของการเคลือบสีลงยาแบบโปร่งใส
นาฬิกาตั้งโต๊ะทรงโดม Patek Philippe Rare Handcrafts Dome Clock Ref. 20043M อาศัยเทคนิคไปยอนเนสร้างงานศิลปะที่ดูมีมิติล้อกับแสงเงาได้อย่างสวยงาม โดยใช้แผ่นทองคำขนาดเล็ก 187 แผ่นที่ฝังไว้ภายใน เพื่อให้ผ้าส่าหรีมีความงามสง่าและประณีตแพรวพราว
จุลจิตรกรรม (Miniature Painting)
การวาดภาพขนาดเล็กหรือจุลจิตรกรรมเป็นเทคนิคสุดท้าย และเทคนิคที่หายากที่สุด แตกต่างจากเทคนิคอื่นๆ โดยการใช้ฟองดองท์ผสมกับน้ำมันแทนการใช้น้ำ และใช้แปรงที่มีความละเอียดมาก วาดลงบนชั้นของพื้นผิวลงยาและนำไปเผา ศิลปะบนเรือนเวลาอันล้ำค่าของ Patek Philippe สามารถจำลองภาพบุคคล ภาพวิวทิวทัศน์ สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ งานวิศวกรรมอันยิ่งใหญ่ รวมถึงงานศิลปะที่ยอดเยี่ยม ได้สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่สุดด้วยเทคนิคนี้
Calatrava Ref. 5077/100G-035, Ref. 5077/100G-036, Ref. 5077/100G-037 ‘Portraits of Flowers’ มาพร้อมพื้นหน้าปัดในภาพวาดด้วยเทคนิคจุลจิตรกรรมบนพื้นเคลือบสีลงยา
ค้นหานาฬิกา Patek Philippe Calatrava
ศิลปะการสลักลายอันล้ำเลิศ (Engraving)
การสลักลายเป็นงานศิลปะที่อาศัยทั้งความอุตสาหะและทักษะระดับสูงในการถ่ายทอดแรงบันดาลใจ โดยสลักเสลาเส้นสายลวดลายที่มีความละเอียด สวยงาม มีมิติ ตื้นลึก ล้อแสงเงา ลงบนแผ่นโลหะ ในกระบวนการทำงานนั้น ช่างศิลป์ผู้ทำการสลักลายจะร่างภาพผลงานขึ้น ก่อนจะลงรายละเอียดทุกความตื้นลึกโค้งมนของลวดลายลงบนเนื้อโลหะ โดยใช้เครื่องมือคล้ายสิ่วขนาดเล็กปลายเรียวแหลม ออกแรงกดลงบนพื้นผิวของโลหะให้เกิดริ้วรอยร่องลึกตื้นตามต้องการ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และการประสานงานที่สมบูรณ์แบบจากสองมือของช่าง โดยมือข้างออกแรงดันเครื่องมือสลักลายให้กดลึกลงบนพื้นผิวโลหะ อีกมือประคองแผ่นโลหะที่วางอยู่บนเครื่องมือรูปทรงกลมที่ใช้ในการยึดชิ้นงาน และช่วยให้ช่างฝีมือสามารถปรับชิ้นงานให้อยู่ในตำแหน่งเหมาะที่สุดในการสลักลาย
นาฬิกา Patek Philippe Sky Moon Tourbillon Haut Artisanat Ref. 6002R-001 นาฬิกาสองหน้าปัด ทั้งตัวเรือน เม็ดมะยม ปุ่มเลื่อน เข็มชั่วโมงและนาที รวมถึงบานพับล็อกสาย ล้วนสลักลายด้วยมือทั้งหมด ทั้งลายอะราเบสก์อันซับซ้อน และลายขดก้นหอยที่มักพบบนยอดเสาหินในสถาปัตยกรรมเก่าแก่จากอารยธรรมแบบอาหรับและโรมัน
งานประดับอัญมณี (Gemsetting) ที่ซึ่งการประดิษฐ์นาฬิกามาบรรจบกับศิลปะเครื่องประดับชั้นสูง
การประดับอัญมณีเป็นศิลปะที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ประกอบด้วยการตกแต่งตัวเรือนนาฬิกาด้วยการประดับอัญมณีล้ำค่า โดยเฉพาะเพชร ที่จะได้รับการประดับอย่างประณีตให้งามเด่นทั่วทั้งเรือน ตั้งแต่สายนาฬิกาไปจนถึงพื้นหน้าปัด รวมถึงข้อต่อ ตัวเรือน และขอบตัวเรือน ซึ่งสำหรับ Patek Philippe แล้ว อัญมณีที่ผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นเพชร มรกต ทับทิม หรือไพลิน จะได้รับการประดับด้วยเทคนิคดั้งเดิม คือจัดวางด้วยมือและไม่ใช้กาวหรือสารอื่นๆ ในการยึดติด จึงเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความแม่นยำและความละเอียดอ่อน ต้องมีสมาธิและความแน่วแน่มั่นคง รวมถึงต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญระดับสูงสุดในการทำงาน
นาฬิกา Patek Philippe Nautilus Haute Joaillerie Ref. 7118/1450G-001 ตัวเรือนทองคำไวต์โกลด์ ประดับด้วยเพชรแท้ระดับ Top Wesselton ใสบริสุทธิ์ไร้ตำหนิ เจียระไนเหลี่ยมเกสร จำนวน 2,553 เม็ด ประดับด้วยเทคนิคพาเวแบบสุ่ม หรือที่เรียกว่า สโนว์เซ็ตติ้ง
ค้นหานาฬิกา Patek Philippe Nautilus
การแกะลายกิโยเช (Guilloché) – ทักษะที่สุดยอดช่างฝีมือส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
กิโยเช คือกระบวนการสร้างลวดลายบนพื้นผิวด้วยเครื่องจักรแบบหมุน โดยใช้เครื่องจักรโบราณที่ควบคุมด้วยมือเพื่อสร้างลวดลายแกะสลักที่สวยงามบนหน้าปัด กลไก ตัวเรือน และสาย ด้วยการหมุนมือจับข้อเหวี่ยงสองอันพร้อมกัน เพื่อแกะสลักร่องละเอียดบนพื้นผิวโลหะในรูปแบบเรขาคณิตซ้ำๆ กัน สร้างสรรค์ลายเส้นตรงหรือเส้นโค้งที่งดงาม
พื้นหน้าปัดของนาฬิการุ่น Calatrava Ref. 4997/200G ประดับด้วยลายกิโยเชในแบบคลื่นที่แผ่รัศมีออกจากจุดศูนย์กลาง
การสืบสานสุดยอดงานฝีมือในการประดิษฐ์นาฬิกาสู่อนาคต
ความมุ่งมั่นทุ่มเทของ Patek Philippe ในการสืบสานหัตถศิลป์เก่าแก่ของเจนีวามาอย่างต่อเนื่องทุกยุคสมัยนั้น ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดในยุคสมัยปัจจุบัน ย่อมต้องกล่าวถึงการก่อสร้างอาคารฐานการผลิตแห่งใหม่ขึ้นที่เจนีวา เมื่อปี 2020 ตัวอาคารมีความสูง 10 ชั้น และมีความยาวเกือบ 200 เมตร และจัดสรรพื้นที่ภายในอย่างกว้างขวาง พร้อมเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เพื่อเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานสำหรับช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ และพื้นที่สำหรับการฝึกอบรม บ่มเพาะช่างศิลป์รุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะ
โรงงานแห่งใหม่ของ Patek Philippe ในกรุงเจนีวา
อาคารแห่งใหม่นี้ ไม่เพียงแต่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเติบโตด้านการผลิตได้สูงสุดถึง 30 ปีข้างหน้าเท่านั้น การขยายพื้นที่ใหม่นี้ยังเป็นการตอกย้ำถึงรากฐานอันแน่นแฟ้น และความมุ่งมั่นของ Patek Philippe ที่จะธำรงรักษาทักษะเชิงศิลป์อันล้ำค่าของช่างฝีมือแห่งเจนีวา ให้เป็นเสมือนเพชรยอดมงกุฎประดับบนผลงานศิลปะว่าด้วยการประดิษฐ์เรือนเวลาชั้นสูงไปอีกนานเท่านาน