×

พัชรวาทชี้ เพิกถอนพื้นที่ทับลานคืนประชาชนแค่ 50,000 ไร่ ด้านอธิบดีกรมอุทยานฯ ย้ำคนไม่มีคุณสมบัติ-รุกที่ไม่มีสิทธิ

โดย THE STANDARD TEAM
09.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (9 กรกฎาคม) พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการล่ารายชื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานที่ทับซ้อนกับที่ดินประชาชนกว่า 265,000 ไร่ว่า ขณะนี้กำลังทำประชาพิจารณ์โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินของชาวบ้านประมาณ 50,000 ไร่ ส่วนนี้จะดูแลชาวบ้านเป็นหลัก ส่วนตัวเลข 265,000 ไร่เป็นพื้นที่เขตอุทยานทับลานทั้งหมด ไม่ใช่ที่ดินทำกินทั้งหมด 

 

ทั้งนี้คณะกรรมการอุทยานฯ จะเป็นผู้พิจารณา พร้อมย้ำว่าจะเร่งรัดให้พิจารณาภายใน 30 วัน ส่วนกระแสที่ประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วยเราก็พร้อมรับฟังแล้วนำมาพิจารณาภายหลัง โดยขั้นตอนกระบวนการทำประชาพิจารณ์​จะแล้วเสร็จในวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 โดยรายละเอียดขอให้ถามอธิบดีกรมอุทยานฯ

 

คนไม่มีคุณสมบัติ-รุกที่ ไม่ได้รับการยกเว้น 

 

ด้าน อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อดำเนินการแบ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา-ปราจีนบุรี จำนวนกว่า 265,000 ไร่ ไปให้ ส.ป.ก. ดูแลว่า ปัญหาพื้นที่พิพาทในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมีมานานกว่า 40 ปีแล้ว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวก่อนเป็นอุทยานแห่งชาติเป็นป่าสงวนมาก่อน และจัดพื้นที่ให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้เข้าไปทำกิน เนื้อที่ประมาณ 58,000 ไร่ แต่หลังจากนั้นได้มีการประกาศอุทยานแห่งชาติไปทับพื้นที่ในส่วนนี้ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต จึงมีการเรียกร้องให้กันพื้นที่ออกจากอุทยาน และมีการสำรวจพื้นที่ใหม่อีกครั้งในปี 2543 แต่กระบวนการดังกล่าวไปไม่ถึงจุดหมาย 

 

อรรถพลระบุว่า หลายรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน และมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และมีมติให้กันพื้นที่ชุมชนจำนวนกว่า 265,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 14 มีนาคม 2566 แต่บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้รับการยกเว้น

 

สรุปรับฟังความเห็นประชาชน-ออนไลน์ ภายใน 30 วัน 

 

อรรถพลยังเปิดเผยว่า จากมติดังกล่าวทำให้กรมอุทยานฯ ต้องมาดำเนินการปรับปรุงแนวเขต แต่จะทำได้ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งจากในพื้นที่และประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และจะสิ้นสุดในวันที่ 12 กรกฎาคม ก่อนจะรวบรวมเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อมีมติเสนอต่อ ครม. ต่อไป โดยสิ่งสำคัญจะต้องยึดหลักข้อเท็จจริง ทั้งเรื่องการอยู่อาศัยทำกินและการดูแลรักษาผืนป่า เนื่องจากในจำนวน 265,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิมจากการจัดสรรพื้นที่ และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่ 2 มือที่ 3 รวมถึงกลุ่มรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่ 

 

ส่วนที่หลายคนมองว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นการเอื้อนายทุน อรรถพลชี้แจงว่า รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน จึงเห็นว่าควรทำให้เป็นที่ดินของรัฐ และ ส.ป.ก. ก็ถือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น ส.ป.ก. จึงต้องเข้ามาพิจารณาตรวจสอบว่าใครมีสิทธิ ในส่วนของกรมอุทยานเองก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อเสนอต่อ ครม. พร้อมย้ำว่าบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายก็จะไม่มีคุณสมบัติถือครองที่ดินอยู่อย่างนั้น เพราะกังวลว่าหากมีการจัดสรรที่ไปแล้วจะเกิดผลกระทบให้นายทุนกลุ่มรีสอร์ตเข้าไปดำเนินการถือครองได้ 

 

ส่วนประชาชนจะต้องได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวนเท่าไรและใครจะได้บ้างนั้น อรรถพลระบุว่า ต้องไปหารือในชั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอยู่มาแต่เดิม บางคนมาซื้อขายเปลี่ยนมือ บางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ 

 

เมื่อถามว่า มติ ครม. ให้ดำเนินการตามแผนที่ที่มีการรังวัดใหม่ในปี 2543 เสียงของประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าวได้หรือไม่ อรรถพลระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา และเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอุทยานฯ ซึ่งตอนนี้มีการรับฟังความเห็นทั้งชาวบ้านในพื้นที่และในโลกออนไลน์ แต่ทุกอย่างต้องไปยุติที่คณะกรรมการอุทยานฯ เพื่อเสนอต่อ สคทช. หรือ ครม. หากมีมติให้ดำเนินการตามแผนที่ปี 2543 กรมอุทยานก็ต้องมาดำเนินการรังวัดเพื่อปรับแผนที่ท้ายกฎหมายใหม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising