หลังจากผู้เขียนเห็นข่าวใหญ่จากหน้าหนังสือพิมพ์ The New York Times ออนไลน์ ที่พาดหัวข่าวว่า ‘ไม่ใช่มหาเศรษฐีอีกต่อไปแล้ว: ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคให้ทั้งบริษัท’ จากที่เคยได้เขียนเรื่องราวของ Patagonia ถึงสองครั้งสองคราลงใน THE STANDARD มาก่อน และเป็นแฟนตัวยงในเรื่องความยั่งยืนของบริษัท การเคลื่อนไหวที่น่าช็อกโลกโดยการที่ อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) ผู้ก่อตั้งบริษัทได้ยกหุ้นทั้งบริษัทที่น่าจะมีมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.11 แสนล้านบาท) เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดูจะไม่เหนือความคาดหมายจนเกินไปนักหากเรารู้จักดีเอ็นเอของ Patagonia
หลายทศวรรษที่ผ่านมา ในด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจ Patagonia ใส่ใจและพยายามหานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบของตัวเองและทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ถือว่าสร้างมลพิษให้โลกเป็นอันดับต้นๆ อย่างที่กล่าวถึงส่วนหนึ่งในบทความของผู้เขียนก่อนหน้า อย่าง Patagonia: เมื่อธุรกิจขอร้องลูกค้าว่า ‘อย่าซื้อสินค้าของเรา’ และ Patagonia Provisions: เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์เริ่มขายอาหารเพื่อซ่อมโลก ดีเอ็นเอหลายอย่างที่ Patagonia มีก่อนจะมาถึงวันที่เจ้าของบริจาคทั้งบริษัทในวันนี้มีอยู่หลายด้าน
ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่า ‘ยั่งยืน’
ถึงจะทำอะไรมากมายและมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นผู้นำความยั่งยืน แต่บริษัทก็ไม่เคยใช้คำว่า ‘ยั่งยืน’ (Sustainable) กับตัวเอง เพราะตระหนักดีว่าตัวเองยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ อย่างการที่บริษัทตั้งเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)* ให้ได้ภายใน ค.ศ. 2025 แต่บริษัทยังมองว่าตนเองทำได้โดยอาศัยการซื้อคาร์บอนจากแหล่งอื่นมาชดเชย แต่ยังไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดได้ตามที่อยากได้ รวมการลด ‘รอยเท้า’ ด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายๆ เรื่องกับทุกข้อต่อของห่วงโซ่อุปทาน บริษัทจึงไม่กล้าเรียกตัวเองว่า ‘ยั่งยืน’ ได้เต็มปาก
บริจาคเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบ ‘หมดหน้าตัก’ และสร้างรูปแบบใหม่ของทุนนิยม
จริงๆ การทำ CSR และการทำการกุศลเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยเหล่าบริษัทใหญ่ๆ หรือนักธุรกิจชั้นนำไม่ใช่เรื่องใหม่นัก Patagonia เองก็ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะบริจาค 1% ของยอดขาย (ไม่ใช่กำไร) ทุกปี เพื่อการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่หลายโครงการก็เป็นเรื่องที่พยายามบรรเทาปัญหาโลกร้อนผ่าน NGO ขนาดเล็กที่ทำงานในระดับฐานรากมาตั้งแต่ ค.ศ. 1985 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ได้บริจาคเงินไปแล้วกว่า 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.76 พันล้านบาท)
นักธุรกิจใหญ่หลายรายอย่างเพื่อนรักของชูนาร์ดอย่าง ดัก ทอมป์กินส์ ที่เป็นนักปีนเขาและผู้ที่ชื่นชอบกีฬาเอาต์ดอร์ที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจเหมือนกัน ทอมป์กินส์ในฐานะเจ้าของแบรนด์ The North Face ได้ซื้อผืนป่าจำนวนกว่า 2.5 ล้านไร่ เพื่อบริจาคให้เป็นอุทยานแห่งชาติในประเทศชิลี หรืออภิมหาเศรษฐีที่เราคุ้นหูกันอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon ก็ประกาศมอบเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท) เพื่อกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ภรรยาของ สตีฟ จ็อบส์ รวมถึง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และ บิล เกตส์ ก็บริจาคเงินเพื่อสู้โลกร้อนเช่นกัน แต่นักวิจารณ์หลายรายมองว่าแผนของ Patagonia น่าจะมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมกว่าของรายอื่น
รวมทั้งหากเทียบกันในระดับของความมั่งคั่งแล้ว การที่ชูนาร์ดรวมทั้งภรรยาและลูกๆ ของเขาตัดสินใจบริจาคบริษัทครั้งนี้ถือว่าเป็นแบบ ‘เทหมดหน้าตัก’ เพราะ Patagonia ถือเป็นสินทรัพย์เกือบทั้งหมดที่พวกเขามี และจะไม่หลงเหลือความเป็นเจ้าของอีกแล้ว ซึ่งหากเทียบกับอภิมหาเศรษฐีรายอื่น เงินที่บริจาคนั้นถือเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความร่ำรวย การให้ในครั้งนี้ของ Patagonia จึงสะท้อนความทุ่มเทที่ชูนาร์ดไม่ได้ทำแค่ตามกระแส แต่ยกระดับสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วให้ใหญ่ขึ้น และต้องการสร้างตัวอย่างใหม่ในโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ “หวังว่าสิ่งนี้จะสร้างอิทธิพลต่อรูปแบบใหม่ของทุนนิยมที่ไม่จบลงที่คนรวยเพียงไม่กี่คนและคนจนเพียงกระจุกหนึ่ง” ชูนาร์ดกล่าวในการสัมภาษณ์หนึ่ง
ลด ‘ภาษี’ ไม่ใช่สิ่งจูงใจ
หลายครั้งการบริจาคเงินและการกุศลของบริษัทหรืออภิมหาเศรษฐีมักได้ผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี แต่การบริจาคบริษัทในครั้งนี้ครอบครัวชูนาร์ดต้องเสียภาษีกองมรดก (Estate Tax) เกือบ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการโอนบริษัท และองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Holdfast Collective ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่องานด้านสิ่งแวดล้อม จะไม่ได้ผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเพราะจดทะเบียนในลักษณะองค์กรไม่แสวงกำไรแบบ 501(c)(4) คือเน้นเป้าหมายหลักในการสร้างสวัสดิการของสังคม สามารถล็อบบี้ (Lobby) และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างมีอิสระ
แฟนตัวจริงของ Patagonia จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในดีเอ็นเอของ Patagonia เสมอมา อย่างการประท้วงประธานาธิบดีทรัมป์ในการถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และการต่อต้านการสร้างเขื่อนหลายแห่ง การที่องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จะทำหน้าที่บริษัทต่อไปยังสามารถส่งเสียงและผลักดันการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายได้ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศ
หารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากมูลค่าบริษัท
การหารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการสินทรัพย์มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ทั้ง ชูนาร์ด ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท และที่ปรึกษาใช้เวลาอยู่นานตั้งแต่กลางปี 2020 เพื่อหาโมเดลการใช้ประโยชน์จากบริษัทที่ตรงกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง การปกป้องที่ดินที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา สนับสนุนการเกษตรเพื่อฟื้นฟู (Regenerative) ที่ดีต่อโลก และยังสนับสนุน NGO ในระดับฐานรากต่อไป
พวกเขาคิดหนักว่าจะเปลี่ยนรูปแบบของบริษัทให้เป็นสหกรณ์ โอนหุ้นให้พนักงาน หรือขายบริษัทบางส่วนเพื่อเอาเงินสดมาใช้ด้านสิ่งแวดล้อม ข้อสรุปที่ได้คือการโอนหุ้นร้อยละ 2 เข้ากองทุนชื่อ Patagonia Purpose Trust ที่จะเป็นหน่วยบริหารธุรกิจของบริษัทต่อและยกกำไรให้กับงานด้านสิ่งแวดล้อม และหุ้นอีกร้อยละ 98 จะเป็นของ Holdfast Collective องค์กรไม่แสวงกำไรที่มีเป้าหมายที่กล่าวมาข้างต้น
การตัดสินใจเพื่อใช้ความมั่งคั่งของบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสู้โลกร้อนออกมาทันใจชูนาร์ด ที่ขู่ว่าถ้าทีมผู้บริหารบริษัทคิดไม่ออกเสียทีเขาก็อาจจะขายบริษัททิ้งทั้งหมด แล้วเอาเงินทั้งหมดมาใช้กับพันธกิจทางสิ่งแวดล้อมทันที
ในตอนหน้าเราจะมาทำรู้จัก DNA ในด้านคนของ Patagonia ตั้งแต่ DNA เพื่อสิ่งแวดล้อมในตัวชูนาร์ด เจ้าของกิจการแสนล้านที่ลังเลจะเรียกตัวเองว่า ‘นักธุรกิจ’ และหงุดหงิดเสมอหากถูกจัดอันดับโดย Forbes ในทำเนียบการจัดอันดับของมหาเศรษฐี และเลือกยกทั้งบริษัทเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของเขา ไปจนถึงการดูแลพนักงานที่เน้นไปที่ความยั่งยืน (ที่พวกเขาไม่กล้าเรียกว่ายั่งยืน) และกลายเป็นส่วนประกอบของความยิ่งใหญ่ของการ ‘ให้’ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ถือเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่มากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
หมายเหตุ: มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดกลับคืนมา
อ้างอิง:
- https://www.patagonia.com/one-percent-for-the-planet.html
- https://fortune.com/2021/11/02/patagonia-doesnt-use-the-word-sustainable-cop26/
- https://www.washingtonpost.com/climate-solutions/2022/09/15/patagonia-chouinard-environmental-activism-climate/
- https://www.nytimes.com/2022/09/14/climate/patagonia-climate-philanthropy-chouinard.html
- https://www.nytimes.com/2022/09/16/climate/yvon-chouinard-patagonia-philanthropy.html