×

“ผมขอเวลา 6 เดือน ผมหวังว่าจะเปลี่ยนใจพวกเขาได้” ถอดบทสนทนาตอนหนึ่งของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ กับความในใจ…ทำไมไทยยังตามหลังเวียดนาม?

22.09.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • บทสัมภาษณ์สื่อนอกในการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ยอมรับว่า ณ เวลานี้ประเทศไทย ‘ยังตามหลังเวียดนาม’ โดยหลังจากนี้จะรับบทเซลส์แมน และเดินหน้าหารือดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้คำมั่นสัญญาว่า ‘ขอเวลา 6 เดือน’
  • ส่องเสน่ห์เวียดนามปี 2023 เหตุใดบริษัทระดับโลกถึงดาหน้ากันเข้าคว้าโอกาสในการกระจายห่วงโซ่อุปทาน จนกลายเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่สามารถดึงดูด FDI มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
  • ขณะที่นักธุรกิจอันดับต้นๆ ของไทยที่ไปลงทุนในเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, บี.กริม เพาเวอร์ หรืออมตะ ต่างเห็นพ้องกันว่า เวียดนามยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

“เวียดนามอีกแล้วเหรอ?” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งไทยมักจะถูกนำมาเปรียบเทียบถึงศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามอยู่เสมอ แม้ในระยะหลังไทยจะหันไปโฟกัสอีกเพื่อนบ้านหนึ่งอย่างอินโดนีเซียมากขึ้น โดยที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การเปรียบเทียบด้านความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่เมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจและการลงทุนของเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแล้ว ต้องนำกลับมาเล่าใหม่ในเวลานี้ เพราะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เวียดนาม ยังคงขยายตัวถึง 13.67% ในปีที่แล้ว และปีนี้ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถกอดสถานะ ‘เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย’ ไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง

 

จึงเป็นที่มาของความน่าสนใจในบทสัมภาษณ์บางช่วงของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆ นี้ และแม้จะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวกับมุมมองของบทบาทผู้นำประเทศไทยคนใหม่บนเวทีโลก แต่หนึ่งในบทสนทนานั้น เศรษฐายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ณ เวลานี้ประเทศไทย ‘ยังคงตามหลังเวียดนาม’ 

 

เพราะฉะนั้นหลังจากนี้การบ้านที่ต้องให้น้ำหนักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ไม่ใช่แค่ในประเทศที่เป็นงานหินของเศรษฐา แต่โจทย์ใหญ่คู่ขนานที่ต้องเร่งสปีดคือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะต้องยอมรับว่า ถ้าไม่มีการลงทุน GDP ของประเทศจะไม่ถึงฝั่งฝันที่ 5-7% 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อย่างไรก็ตาม บทสรุปของการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ เศรษฐาย้ำว่า ผมต้องทำให้โลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ ด้วยการทำหน้าที่เป็นเซลส์แมน และบอกต่อว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีโอกาสออกไปบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ของเศรษฐกิจไทยมานานมากแล้ว

 

“ผมขอเวลา 6 เดือน และผมหวังว่าจะเปลี่ยนใจพวกเขา (นักลงทุน) ได้” 

 

เวียดนาม หนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่เศรษฐกิจโตถึง 2 ปีซ้อนหลังวิกฤตโควิด

 

สำนักข่าว The Financial Time วิเคราะห์เศรษฐกิจเวียดนามผ่านบทความ Vietnam’s Economic Moment has Arrived ว่า เวียดนามผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายทศวรรษ จนหลุดพ้นกับดักประเทศยากจนที่สุดในโลก ณ วันนี้เวียดนามช่วงชิงจังหวะชุลมุนของสงครามการค้า จนสามารถผลักดันเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว นอกจากได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียด้วยอัตราการเติบโตถึง 8% แล้ว เวียดนามยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่เติบโตติดต่อกันถึง 2 ปีซ้อนนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด 

 

ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เวียดนามขึ้นแท่นผู้ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนไปโดยปริยาย  ซึ่งจะเห็นได้จากการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนของผู้ผลิตสินค้า และบริษัทระดับโลกโยกย้ายฐานผลิตเข้ามา เพื่อ ‘ลดความเสี่ยง’ จากตลาดจีน 

 

สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบทศวรรษในปีที่ผ่านมา และยิ่งสะท้อนชัดขึ้นไปอีก เมื่อมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Dell, Google, Microsoft และ Apple ต่างก็ย้ายห่วงโซ่อุปทานบางส่วนไปยังประเทศเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

 

แน่นอนว่าอาวุธสำคัญคือ เวียดนามเองมี ‘แต้มต่อสองทาง’ ทั้งข้อตกลงเสรีการค้า FTA และยุทธศาสตร์ ‘จีนบวกหนึ่ง’ เป็นกลยุทธ์เด็ดที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยอาจจะไม่มี

 

แท้จริงแล้วเสน่ห์ของเวียดนามคืออะไร

 

หากย้อนไปดูที่มาของเสน่ห์ของเวียดนามจริงๆ ต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้พลิกเศรษฐกิจภายใน จากที่มีการควบคุม ปรับไปสู่รูปแบบที่เปิดกว้างและเป็นทุนนิยมมากขึ้น บวกกับความใกล้ชิดสนิทสนมกับประเทศจีนและแรงงานรุ่นใหม่ อัตราค่าจ้างแรงงานที่มีราคาถูก และประชากรต่างมีการศึกษาดี มีทักษะจำนวนมาก จึงดึงดูดบรรดาผู้ผลิตระดับโลกให้ย้ายฐานการลงทุนมาที่เวียดนาม 

 

แม้ว่าคำว่า ‘Made in Vietnam’ ในตอนแรกจะมีความหมายคล้ายการผลิตสินค้าที่เน้นปริมาณ เช่น สินค้าเครื่องแต่งกาย หรือรองเท้า Nike แต่ปัจจุบันการผลิตเปลี่ยนไปสู่สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง อย่างเช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับไฮเอนด์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AirPods ของ Apple หรือ Microsoft

 

ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มคว้าโอกาสในการกระจายห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรักษาระดับต้นทุนแรงงานและพลังงาน ทั้งยังหวังลดความเสี่ยงทางการเมืองที่กำลังกัดกร่อนความได้เปรียบของจีน เวียดนามจึงเป็นจุดหมายปลายทางของธุรกิจ ทำให้มีการลงทุน FDI เข้ามามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน รวมทั้งสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ ก็มาจากเวียดนามที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2%   

 

การเติบโตที่แข็งแกร่งและรวดเร็วดึงดูดผู้คนหลายล้านคนออกจากความยากจนในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจของเวียดนามขณะนี้จะอยู่บนทางแยก หลายข้อที่จำเป็นต้องเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในระยะยาว และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของรัฐบาลในการเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงภายในปี 2045

 

ดังนั้นรัฐบาลยังต้องใช้ประโยชน์จากการเติบโตของการผลิต เพื่อกระจายเศรษฐกิจในประเทศควบคู่ไปด้วย

 

ความท้าทายของเวียดนาม

 

ในทศวรรษหน้า เวียดนามอาจต้องเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของแผนการลงทุนบริษัทระดับโลก แม้กลุ่มแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาว แต่การแข่งขันด้านทักษะและด้านเทคนิคก็ร้อนแรงอย่างมากในภูมิภาค ดังนั้นการผลักดันการศึกษาจึงสำคัญ ดังจะเห็นได้จากโรงเรียนในเวียดนามที่มีประสิทธิภาพระดับโลก แต่การฝึกอบรมสายอาชีพและมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีส่วนเสริม โครงสร้างทางการเมืองแบบกระจายอำนาจ 

 

หมายความว่า จำเป็นต้องมีมาตรฐานรองรับ เพื่อแสดงถึงความพร้อมในการลงทุน รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จำเป็นต้องมีการอัปเกรด เนื่องจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศเองก็ยังคงตึงเครียดภายใต้แรงกดดันของความต้องการที่มากเกินการผลิตอุตสาหกรรมที่จะรองรับได้ 

 

เทียบอัตราเร่งเชิงเศรษฐกิจของเวียดนาม มาเลเซีย และไทย 

 

อย่างไรก็ตาม การก้าวสู่ประเทศไปสู่สถานะผู้มีรายได้สูง หากเทียบมาเลเซียและไทยก็อยู่ในวิถีที่คล้ายคลึงกันกับเวียดนาม โดยนับตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ต่างก็อยู่ในสถานะประเทศที่กำลังติด ‘กับดักผู้มีรายได้ปานกลาง’ เมื่อประเทศต่างๆ ไม่สามารถเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่มีต้นทุนต่ำไปเป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงได้ ทำให้ยากต่อการแข่งขัน 

 

แต่ไม่ใช่กับเวียดนาม เพราะเมื่อเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตขึ้น ค่าจ้างก็จะเพิ่มขึ้นและผลิตสินค้าก็จะมีมูลค่าสินค้าสูงขึ้น แม้ว่าการเติบโตที่พึ่งพาการส่งออกจะทำให้มีความเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อมการค้าโลก ซึ่งเวียดนามก็ต้องรับมือกับความผันผวนให้ได้ 

 

ดังนั้นในอนาคตเวียดนามจะต้องลงทุนกับการพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2045 ทั้งภาคบริการ เช่น การเงิน โลจิสติกส์ และบริการด้านกฎหมายสร้างงานที่ต้องใช้ทักษะสูงและเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมที่มีอยู่ โดยธนาคารโลกแนะนำให้มีการสนับสนุนมากขึ้นในการนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมสร้างทักษะการจัดการ และลดข้อจำกัดด้าน FDI ในภาคบริการเพิ่มเติมให้มากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยหลายปัจจัยในวันนี้เวียดนามจึงยังแข็งแกร่ง และถึงเวลาที่แท้จริงของเวียดนามในการก้าวขึ้นมาบนเวทีโลกอย่างเต็มรูปแบบ

 

บิ๊กคอร์ปไทยมองเวียดนาม

 

ในบริบทของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแพร่กระจายจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจของเวียดนามยังคงขยายตัว 6.3-6.5% ในปีนี้ โดยในระหว่างการประชุมทางธุรกิจระหว่างไทยและเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ นักธุรกิจไทยจำนวนมากเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจเวียดนามยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และอาจจะสูงที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิกของปีนี้ด้วย 

 

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานและซีอีโอของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเวียดนามได้ฟื้นตัวเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิดอย่างรวดเร็ว และโครงการลงทุนของบริษัทก็มีความก้าวหน้าไปด้วยดี  ด้วยนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นสาเหตุที่บริษัทไทยและบริษัทอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการลงทุนเพิ่มเติมในเวียดนาม

 

สมหะทัย พานิชชีวะ หนึ่งในซีอีโอของอมตะ เสริมว่า ขอเรียกเวียดนามว่าเป็นหนึ่งประเทศที่เป็นแสงสว่างของเศรษฐกิจของเอเชีย เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่เศรษฐกิจเติบโตหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด จากประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการสวนอุตสาหกรรมมานาน เวียดนามจึงเป็นเสมือนบ้านเกิด 

 

ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เผยว่า บริษัทเข้าไปลงทุนด้านพลังงานตลอด 22 ปีที่ผ่านมา มองว่ารัฐบาลและประชาชนเวียดนามมีจิตวิญญาณในการพัฒนาประเทศอยู่เสมอ เชื่อมั่นว่าหลังจากนี้เวียดนามจะมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น เนื่องจากมีประชากรที่ทำงานหนักและมีรัฐบาลที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนและเปิดกว้างต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างมากด้วย

 

โดยปัจจัยหนุนและความท้าทายเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้มีดังนี้

 

  • โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปี 2022-2023 โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคอสังหาริมทรัพย์, หุ้น, การธนาคาร, การก่อสร้าง, โรงแรมและการจัดเลี้ยง ตลอดจนการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน รวมถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะ CPTPP และ RCAP
  • การเปิดประเทศของจีนตั้งแต่ต้นปี 2023 ส่งผลให้การนำเข้า-ส่งออกและ FDI ของเวียดนาม มีทิศทางที่ดี เนื่องจากจีนและฮ่องกงเป็นคู่ค้าสำคัญและเป็นนักลงทุนอันดับที่ 4 ของเวียดนาม
  • แนวโน้มการลดลงของอัตราเงินเฟ้อโลก คาดว่าอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อการลดดอกเบี้ยของ SBV และอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน (ดอง) ของเวียดนาม
  • การขยายตัวของธุรกิจบริการและภาคการค้าปลีกภายในประเทศในสภาวะที่การส่งออกลดลง

 

หลังจากนี้คงต้องติดตามตอนต่อไปว่า การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาและได้พบปะกับนักลงทุนระดับโลกของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย จะทำได้สำเร็จเพียงใด เมื่อในวันนี้ไทยอยู่ในสมรภูมิการแข่งขันอันร้อนแรง ซึ่งคู่แข่งไม่ได้มีเพียงแค่เวียดนามเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับทั้งภูมิภาค

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising