*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ*
คนรักหนังสือหลายคนมักชอบอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวกับหนังสือ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในห้องสมุด (เช่น ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ และเรื่องสั้นอื่นๆ โดย โอ๊ต มณเฑียร) การเข้าไปท่องโลกในหนังสือ (เช่น หนังสือที่กลืนกินคุณพ่อของผม โดย อะฟงซู ครุช) รวมถึงหลายเล่มที่มีหนังสือเป็นตัวชูโรง (เช่น จอมโจรขโมยหนังสือ โดย มาร์กัส ซูซัก) และที่ขาดไม่ได้เลยคือเซ็ตติ้งร้านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ โดย แกเบรียล เซวิน ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ และ ดัชเชสแห่งถนนบลูมสบรี ของ เฮเลน แฮฟฟ์
รวมถึงสองเล่มที่เราหยิบมาพูดถึงในวันนี้ ซึ่งก็คือ รถหนังสือเร่ของคนพเนจร (Parnassus on Wheels) และ ร้านหนังสือหลอนของคุณมิฟฟลิน (The Haunted Bookshop) ผลงานของ คริสโตเฟอร์ มอร์ลีย์ นักประพันธ์ชาวอเมริกันที่สำนักพิมพ์ Bookmoby Press ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น “ผู้มีคุณูปการต่อวงการหนังสืออเมริกา ในฐานะนักเขียนนวนิยาย ความเรียง บทละคร และบทกวี ทั้งยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรม”
หนังสือชุด พาร์นาซัส (Parnassus) เล่มแรกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1917 ส่วนเล่มสองตามมาในปี 1919 ดูจากปีก็รู้เลยว่าไม่ใช่หนังสือใหม่ แต่ในปี 2021 นี้ทางสำนักพิมพ์ Bookmoby Press ได้จัดตีพิมพ์ รถหนังสือเร่ของคนพเนจร เป็นครั้งที่ 2 รวมถึงเล่มต่อ ร้านหนังสือหลอนของคุณมิฟฟลิน เป็นครั้งแรก บวกกับความมหัศจรรย์ที่เราในฐานะผู้อ่านได้รับจากหนังสือทั้งสองเล่มนี้ เลยอดไม่ได้ที่จะเล่าต่อให้ฟังว่า ‘หนังสือเกี่ยวกับหนังสือ’ มันทำงานแบบไหนกับ ‘คนรักหนังสือ’ อย่างเรา
เมื่อคุณขายหนังสือให้ใครสักคน คุณไม่ได้แค่ขายกระดาษหนักสิบสองออนซ์กับหมึกและกาวให้เขา แต่คุณขายชีวิตใหม่ที่เขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนให้เขาด้วย
– รถหนังสือเร่ของคนพเนจร
เล่มแรกนี้เล่าเรื่องของ โรเจอร์ มิฟฟลิน เจ้าของเกวียน Parnassus on Wheels ที่อธิบายง่ายๆ ก็คือร้านหนังสือเคลื่อนที่เทียมด้วยม้า ด้วยความที่โรเจอร์อยากกลับนิวยอร์กไปเขียนหนังสือของตัวเอง เลยอยากขายเกวียนให้มีคนสืบทอดกิจการต่อ ซึ่งผู้ซื้อก็คือ เฮเลน แม็คกิลล์ หญิงวัยกลางคนผู้อยู่ติดบ้าน คอยดูแลสารทุกข์สุกดิบให้กับพี่ชายที่เป็นนักเขียน
เรารู้จักกับหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกตอนฟัง Readery Podcast Ep.15 อยู่บ้านก็ออกเดินทางได้ อ่านเล่มไหนดี? แต่ไม่เคยคิดที่จะหามาอ่านเลย จนกระทั่งพบว่าตัวเองตกอยู่ในโหมด ‘Reading Slump’ ที่เปรียบเสมือนฝันร้ายของนักอ่าน เป็นช่วงที่หมดแพสชัน เบื่อหน่าย ไม่อยากเปิดหนังสืออ่าน เลยตัดสินใจหยิบ รถหนังสือเร่ของคนพเนจร ด้วยความหวังที่ว่าเรื่องราวในหน้ากระดาษจะช่วยฉุดเราออกจากหล่ม แล้วก็ไม่ผิดหวังเลย
รถหนังสือเร่ของคนพเนจร พาเราเดินทางไปกับโรเจอร์และเฮเลน แกนหลักของเรื่องเลยก็คือโรเจอร์สอนงานและส่งต่อเคล็ดลับในการขายหนังสือให้เฮเลน ทั้งคู่ก็พากันขับเกวียนไปขายหนังสือตามบ้าน ตามชนบท ตามเมืองเล็กๆ และซึมซับความรู้สึกนึกคิดของกันและกันในระหว่างทาง
สิ่งที่นักอ่านอย่างเรากรี๊ดกร๊าดตลอดเวลาเลยคือ ตอนที่โรเจอร์กล่าวถึงหนังสือเล่มต่างๆ แบบไม่หยุด เช่น Treasure Island โดย Robert Louis Stevenson, Paradise Lost โดย John Milton และ The Jungle Book โดย Rudyard Kipling จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมคลาสสิก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะตัวผู้เขียนมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1890-1957
เรามองว่าการ ‘Name-drop’ หนังสือไม่ใช่การอวดรู้อวดดี แต่เป็นเหมือนคำใบ้ที่ทำให้เราเข้าถึงและเข้าใจความคิดและมุมมองต่อประเด็นทางการเมือง สังคม หรือแม้กระทั่งรสนิยมส่วนตัวของตัวผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์มากขึ้น
ตัวตนของโรเจอร์อัดแน่นไปด้วยเลือดของคนขายหนังสือ ไม่ใช่ว่าสักแต่ขายให้ได้เงิน แต่ขายด้วยจิตวิญญาณของคนที่มุ่งมั่นเผยแพร่วรรณกรรมให้เข้าถึงคนธรรมดาสามัญ ตามที่โรเจอร์ได้กล่าวว่า “สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ มีใครไหมที่ออกนอกทางหลวงและรั้วกั้นเพื่อนำพาวรรณกรรมไปสู่คนสามัญ เพื่อให้คนเหล่านั้นได้นำมันไปสู่ธุรกิจการงานและความคิดจิตใจของพวกเขา”
สิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างหนังสือที่ ‘ดี’ ไม่มีหรอกครับ หนังสือ ‘ดี’ เฉพาะเมื่อมันตอบสนองความหิวโหยหรือลบล้างความผิดพลาดบางอย่างของมนุษย์
– ร้านหนังสือหลอนของคุณมิฟฟลิน
สำหรับเล่มสองนี้เป็นเรื่องราวภาคต่อของโรเจอร์และเฮเลน ทั้งคู่ลงเอยแต่งงานกันในตอนจบของเล่มแรก จากนั้นจึงพากันย้ายกลับมานิวยอร์ก และเปิดร้านหนังสือมือสอง Parnassus at Home ในบรูกลิน ซึ่งโรเจอร์แปะป้ายไว้หน้าประตูทางเข้าว่า ‘ร้านนี้หลอน’ ซึ่งไม่ใช่ผีแม่ชีหรือผีตุ๊กตา แต่เป็นภูมิผีวรรณกรรมและจิตวิญญาณนักเขียนที่คอยหลอกหลอนผู้อ่านผ่านเรื่องราวที่ร้อยเรียงมาจากตัวหนังสือบนหน้ากระดาษนั่นเอง
ร้านหนังสือหลอนของคุณมิฟฟลิน ดำเนินเรื่องในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงไม่นาน เนื้อเรื่องก็จะมีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่น แผนสันติภาพของวูดโรว์ วิลสัน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สิ่งที่เราได้เห็นชัดๆ ในเล่มนี้คือมุมมองเกี่ยวกับสงครามและการเมืองของตัวผู้เขียนเองที่สื่อสารออกมาผ่านตัวละครหลักอย่างโรเจอร์ รวมถึงตัวละครใหม่ๆ ที่เข้ามาโลดแล่นและเพิ่มสีสันให้กับหนังสือชุด พาร์นาซัส ที่ถึงล้อเกวียนจะหยุดเคลื่อนไหวแล้ว แต่ความสนุก ความเนิร์ดของคนขายหนังสือเคราแดงก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย
เล่มแรกเราได้เห็นภาพการเดินทางไปในชนบทของอเมริกา ส่วนเล่มสองคือการผจญภัยในเมืองใหญ่ ท่ามกลางแสงสีเสียง ความจอแจ และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ค่อยๆ ดึงความสนใจของมนุษย์ให้ออกห่างจากการอ่านวรรณกรรม ร้านหนังสือหลอนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนศูนย์บรรเทาภาวะทุพโภชนาการทางการอ่าน อย่างที่โรเจอร์ได้กล่าวไว้ว่า “คนเราไม่ไปหาคนขายหนังสือหรอกครับ จนกว่าอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยทางจิตใจขั้นรุนแรงจะทำให้พวกเขาตระหนักถึงอันตรายที่เผชิญ เมื่อนั้นแหละพวกเขาถึงจะมาที่นี่”
ยอมรับเลยว่าเล่มสองนี้เหนือความคาดหมายมากๆ เพราะมีการสืบสวนสอบสวนเข้ามาเป็นแกนหลัก นอกจากนี้ตัว Narrator หรือผู้บรรยายในเรื่องยังไม่ได้จำกัดไว้แค่คาแรกเตอร์ดั้งเดิมอย่างโรเจอร์หรือเฮเลน แต่ยังเปิดโอกาสให้ตัวละครใหม่ๆ มาเล่าเรื่องและมีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กัน
บางช่วงบางตอนในเล่มสองนี้อาจจะต้องใช้ความพยายามและอดทนในการอ่านสักหน่อย เพราะผู้เขียนใส่มุมมองเกี่ยวกับสงครามและผลลัพธ์มาแบบจัดเต็ม ไม่มีกั๊ก มีการพูดถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ นักเขียน นักประพันธ์ และหนังสือต่างๆ เป็นจำนวนมาก (มีเชิงอรรถรวมแล้วถึง 304 รายการ) ซึ่งสารภาพเลยว่าเราไม่ได้รู้จักทุกคนหรือทุกเล่ม อาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อแบบทะลุปรุโปร่ง 100% แต่ไม่ได้มีผลกับความบันเทิงหรือความสนุกในการอ่านขนาดนั้น
View this post on Instagram
ถ้าคุณรักหนังสือ รักการอ่าน และคาดหวังสุดหัวใจว่าสักวันหนึ่งหนังสือจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เรามั่นใจว่าไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยที่จะตกหลุมรักตัวตน รักอุดมการณ์ รักเรื่องราวของชาวพาร์นาซัส ไม่ว่าจะ On Wheels บนเกวียนเทียมม้าที่ตะลอนไปตามชนบทในอเมริกา หรือ At Home ที่อาคารก่ออิฐสีน้ำตาลหลังเก่าในย่านบรูกลิน