×

ชัยธวัชบอก ครม. เศรษฐา 1 ยังอยู่ใต้กองทัพแม้พลเรือนคุม ไม่กล้าแตะ เปรียบเหมือนเขตทหารห้ามเข้า

โดย THE STANDARD TEAM
12.09.2023
  • LOADING...

วันนี้ (12 กันยายน) ที่ประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 746 คน แบ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)  

 

ชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายถึงนโยบายด้านการเมืองของรัฐบาลว่า นโยบายทางการเมืองของรัฐบาลนั้นกว้างและไม่ชัดเจน ไม่มีรูปธรรมหรือเป้าหมายตัวชี้วัด ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แต่สำหรับนโยบายทางด้านการเมืองสามารถสะท้อนให้เห็นรากฐานทางการเมืองและสัมพันธ์อำนาจของรัฐบาลชุดนี้ 

 

การเมืองไทยเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้วยกฎหมาย การเมืองการปกครองที่มีความเห็นต่างและแบ่งแยกทางความคิด รวมถึงการไม่เคารพอัตลักษณ์ และความหลากหลาย ทำให้สังคมอยู่ในจุดที่น่ากังวล รัฐบาลจะดำเนินการต่อไปอย่างไรก็ไม่แน่ใจ ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการต่อไปอย่างไรที่สามารถครอบคลุมทุกมิติทางการเมือง นายกรัฐมนตรีได้วางเป้าหมาย มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พบว่า 7 หัวข้อ 

 

  1. การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
  2. รัฐธรรมนูญ
  3. ฟื้นฟูหลักนิติธรรม
  4. การกระจายอำนาจ
  5. การปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติด
  6. การผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ
  7. การพัฒนากองทัพ 

 

ชัยธวัชได้อธิบายทั้ง 7 หัวข้อ โดยไฮไลต์การอภิปรายอยู่ที่การอภิปรายในนโยบายพัฒนากองทัพตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือมีความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงให้มีความทันสมัย ตนต้องชื่นชม อย่างน้อยนโยบายในด้านนี้มีความพยายามอยู่บ้างที่จะลงรายละเอียด 

 

นโยบายเกี่ยวกับกองทัพสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นแบบนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องรัฐประหารเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย กองทัพกลายเป็นกระดูกสันหลังของระบบอำนาจนิยมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่แก้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร การปฏิรูปการเมืองที่ปราศจากการปฏิรูปกองทัพจะทำให้ไม่มีหลักประกันในการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย

 

ชัยธวัชกล่าวว่า สังคมไทยเราเคยพลาดการปฏิรูปกองทัพมาแล้วหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เพราะตอนนั้นเราต่างคิดว่า เมื่อทหารที่ลุกขึ้นมาทำการรัฐประหารถูกประชาชนขับไล่กลับเข้ากรมกองไปแล้ว กองทัพจะเลิกยุ่งกับการเมืองไปเองโดยอัตโนมัติ แม้จะไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด แต่มาถึงวันนี้เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าความคิดนั้นผิด เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าในรัฐบาลใหม่ชุดนี้เรามีรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกที่เป็นพลเรือนและไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ตนคิดว่ามีความน่าสนใจ หมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่พลเรือนอยู่ในกองทัพใช่หรือไม่ หรือเอาเข้าจริงแล้วการส่งพลเรือนมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งนี้จะกลับกลายเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่ง จะไม่แตะกองทัพ

 

ชัยธวัชกล่าวว่า พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีนโยบายที่เรียกว่าปฏิรูปกองทัพเป็นทหารอาชีพ ตนตามไปดูเอกสารที่ส่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้บรรยายว่าจะปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่าย แทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้มีความเป็นทหารอาชีพ เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหารและแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ ปรากฏว่าตอนแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวานนี้ความมุ่งมั่นชัดเจนของแกนนำรัฐบาลหายไปไหน

 

“ดูน่ารักนะครับ จากบอกว่าจะเสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านรัฐประหารหายไปเลยครับ ไม่แม้แต่จะพูดถึงคำว่ารัฐประหารสักคำในการแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเรือนครั้งแรก หลังการรัฐประหารปี 2557 ทั้งๆ ที่เรื่องการรัฐประหารเป็นปัญหาสำคัญมากของการเมืองไทยและพี่น้องประชาชนหลายล้านคนที่ออกมาเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ต่างก็คาดหวังว่าเมื่อเรามีรัฐบาลที่นำโดยพลเรือนชุดใหม่ รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก” ชัยธวัชกล่าว

 

ชัยธวัชยังตั้งคำถามว่า คำว่ารัฐประหารนี้หน้าแสลงใจมากใช่หรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้เกรงใจ พล.อ. ประยุทธ์ และคณะรัฐประหารมากขนาดนั้นเลยใช่หรือไม่ แล้วที่เคยบอกว่าจะแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ พอตนฟังและอ่านซ้ำในการแถลงนโยบายช่างเต็มไปด้วยความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ได้ให้สัมภาษณ์บอกว่าจะค่อยๆ ลดสัดส่วนการบังคับเกณฑ์ทหารและเพิ่มสัดส่วนคนที่สมัครใจมาเป็นทหารเกณฑ์

 

“ตกลงท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเอาอย่างไร จะไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วใช่หรือไม่ แล้วที่รัฐบาลแถลงนโยบายว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ท่านรัฐมนตรีต้องตอบ ท่านนายกฯ ช่วยตอบด้วยยิ่งดี หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ตกลงเราจะเปลี่ยนรูปแบบการบรรจุกำลังพลทหารให้เป็นแบบสมัครใจไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารอีกต่อไปแล้ว หรือบังคับอยู่แต่ค่อยๆ เพิ่มจำนวนผู้สมัครใจเป็นทหารเกณฑ์เท่านั้น” ชัยธวัชกล่าว

 

ชัยธวัชย้ำว่า ต้องถามให้ชัด เพราะการเลิกและการลดการเกณฑ์ทหารมันต่างกันมาก ถ้าแค่ลดเท่านั้น ตนสงสัยว่าจะมีอะไรใหม่ เพราะต่อให้ไม่มีรัฐบาลชุดใหม่หลายปีมาแล้ว กองทัพก็ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว

 

“ลองสลับท่านสุทินเป็น พล.อ. ประยุทธ์ไปนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในคณะรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่มีอะไรต่างออกไป สภากลาโหมที่ พล.อ. ประยุทธ์นั่งเป็นหัวโต๊ะเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ก็ได้ประกาศแผนการปฏิรูป มีเรื่องนี้ เนื้อหาสาระเดียวกันเลย แถม พล.อ. ประยุทธ์ยังได้ย้ำในที่ประชุมสภากลาโหมครั้งนั้นด้วยว่านี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไม่ ท่านนายกฯ เศรษฐา รัฐมนตรีสุทินได้ยินไหมครับ” ชัยธวัชกล่าว

 

ชัยธวัชถามอีกว่า แบบนี้รัฐบาลใหม่จะให้สุทินไปนั่งแค่โฆษกกองทัพใช่หรือไม่ ท่านรัฐมนตรีสุทินอาจจะบอกว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดในที่สุด แต่ที่ไม่สามารถยกเลิกได้ทันที เพราะกลัวจะไม่มีคนมาสมัครเป็นคนทหารพอกับจำนวนกำลังคนที่ต้องการ คำถามคือสามารถบอกได้หรือไม่ว่ามีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดในกี่ปี คนรุ่นใหม่ของประเทศที่ยังต้องสูญเสียช่วงวัยที่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานอีกนานเท่าไร พร้อมถามว่า ยังมีพลทหารถูกใช้ให้ไปซักผ้า ถูบ้าน ขับรถ หรือไปเป็นทหารรับใช้ส่วนตัวของใครอีกหรือไม่ แล้วท่านรัฐมนตรีจะจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทหารเกณฑ์เสียชีวิตโดยปริศนาอีก ปัญหาทหารผีจะมีอีกหรือไม่ 

 

ชัยธวัชแนะนำว่า การกำหนดนโยบายควรจะเริ่มต้นจากจำนวนกำลังพลว่าต้องการเท่าไร เราต้องการกำลังพลทหารประจำการมากขนาดนี้เพื่อไปเตรียมกำลังรบภาคพื้นดินขนานใหญ่กับใคร ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ปัจจุบันโจทย์ได้เปลี่ยนไปแล้ว กองทัพขนาดใหญ่มีกำลังพลเยอะซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรองรับภัยคุกคามและสงครามแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงสมัยใหม่แล้ว

 

“กองทัพไทยหลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา แทบไม่ต่างจากยุคสงครามเย็น ถือเป็นปัญหาใหญ่ การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปกองทัพ เพราะเมื่อกำลังพลลดลงจำนวนผู้หมวด ผู้การ ไปจนถึงนายพลก็ถูกบีบให้ลดลงไปด้วย นำไปสู่การปฏิรูปทั้งระบบ” 

 

ชัยธวัชกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นการทำไอโอ พวกตนอภิปรายมา 3 ครั้งซ้อนแล้ว อยากเปลี่ยนเรื่องอภิปรายบ้าง หากเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นการปล่อยให้กองทัพเป็นคู่ขัดแย้งกับพลเรือนหรือไม่ นี่ไม่ใช่นโยบายพัฒนากองทัพร่วมกันหรือไม่ แม้แต่จะใช้เรื่องการปฏิรูปกองทัพ แต่คือนโยบายเขตทหารห้ามเข้า 

 

ชัยธวัชกล่าวอธิบายถึงหมายความว่า คำแถลงนโยบายเกี่ยวกับกองทัพได้ส่งสัญญาณว่าการปฏิรูปกองทัพโดยพลเรือนจะไม่เกิดขึ้น นอกจากสิ่งที่กองทัพออกแบบมาเองและอนุญาตให้ทำ ผมคิดว่าไม่ใช่เป็นเพราะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตระบัดสัตย์ ไม่ใช่เพราะนโยบายที่พูดในตอนหาเสียงเป็นแค่เรื่องเทคนิคหรือคำโฆษณา และไม่ใช่เพราะเป็นรัฐบาลผสมด้วย แต่สะท้อนให้เห็นรากฐานทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นจริงในรัฐบาลเศรษฐา 1 

 

“ผมฟังและอ่านหลายรอบ เราไม่ได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนอย่างที่นายกฯ แถลงไว้ รัฐบาลเศรษฐา 1 ได้เข้าไปเป็นส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์ เพื่อพยายามหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านเหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่กับระบบการเมืองแบบเดิม โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมแบบเก่า และวัฒนธรรมแบบจารีตต่อไป” ชัยธวัชกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X