วันนี้ (11 กันยายน) ที่ประชุมอาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ ประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายใจความระบุว่า หวังว่าช่วงเวลาที่เหลือของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ไม่มากจะสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้อย่างราบรื่น
สำหรับนโยบายต่างๆ ที่ตนได้อ่านแล้ว ยอมรับว่ายังไม่เห็นนโยบายไหนชัดเจนว่ารัฐบาลจะต่อสู้กับความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตนอยากให้รัฐบาลทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ
ประภาศรีกล่าวว่า ประเทศเราได้พ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนามาเป็นประเทศกำลังพัฒนา ณ ขณะนี้ แต่เราติดกับดักการเป็นประเทศกำลังพัฒนามานานถึงกว่า 20 กว่าปี หลายรัฐบาลไม่สามารถก้าวไปถึงประเทศพัฒนาแล้วสักที
ใน 4 ปีนี้ ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ประเทศเราพ้นจากกับดักนี้ตนจะถือว่าเป็นรัฐบาลที่วิเศษที่สุด การวัดกันว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วเราวัดได้หลายวิธี วิธีที่ง่ายที่สุดคือการนำรายได้ต่อหัว ต่อประชากร ต่อเดือน มาคิดคำนวณ ในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ใช่แค่ 600 บาทต่อวัน แต่จะต้องได้ถึง 4 หมื่นบาทต่อเดือนต่อคน จึงจะนับว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
จากรายงานของนายกรัฐมนตรีที่ได้แถลงในวันนี้ ตนได้อ่านแล้วพบว่า นายกฯ ระบุมาว่าประชาชน โดยเฉพาะครัวเรือนต่างๆ ที่ยากจน ยังเป็นหนี้สินอยู่ประมาณ 3 แสนบาทต่อ 1 ครัวเรือน รวมทั้งมีคนยากจนที่ต้องการความช่วยเหลืออีก 14 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายพุ่งเป้าไปที่การขจัดหนี้สินของแต่ละครอบครัว แต่ไม่ใช่การแจกเงินลงไป
ส่วนนโยบายที่รัฐบาลระบุว่าจะเร่งทำทุกอย่างเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด ความจริงแล้วตนมองว่าการท่องเที่ยวเราไม่ต้องลงทุนมาก เราเพียงใช้ทรัพยากรที่มี แต่อยากให้รัฐบาลได้คิดระมัดระวังไว้เสมอว่าการท่องเที่ยวในประเทศเราเป็นการตลาดไกล ฉะนั้น การตลาดไกลจะยากกว่าการตลาดใกล้ เพราะจะมีอุปสรรคมากมาย เช่น การเกิดโรคระบาดขึ้น การท่องเที่ยวก็จะหยุดชะงัก หรือปัญหาการเมืองในประเทศที่ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักได้
ประภาศรีกล่าวต่อว่า นโยบายการแจกเงินตนไม่เห็นด้วยมากๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนที่แจกเงินท่านก็จะบอกว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ตนคิดว่าท่านกำลังสร้างประชาชนให้ติดนิสัยการรอรับเงิน ยิ่งทำให้ประชาชนอ่อนแอ ตนคิดว่ารัฐบาลดูถูกประชาชน ทำให้ประชาชนไม่สามารถสร้างอาชีพ สร้างฐานะความเป็นอยู่ได้ด้วยตัวเอง ตนคงต้องขอตำหนิเรื่องนี้
ตนอยากให้นำเงินจำนวนมากก้อนนี้ไปสร้างอาชีพ สร้างกิจกรรมระดับเล็กให้กับประชาชน เช่น ค้าขาย นำมาสร้างเงิน สร้างฐานการผลิตคนค้าขายออนไลน์ สนับสนุนให้ประชาชนสร้างกิจการเป็นของตัวเอง ครอบครัวละ 100,000 บาทก็ทำได้ โดยมีระบบช่วยเหลือดูแลใกล้ชิด สร้างวินัย สร้างโอกาสให้แต่ละครอบครัวมีกิจการที่ยั่งยืน มีศักดิ์มีศรีแห่งความเป็นมนุษย์มากกว่าการรอรับการแจกเงิน
ประภาศรีกล่าวว่า เมื่อเราเป็นเจ้าของกิจการสามารถตั้งตัวได้ ก็ให้ทยอยคืนเงินรัฐบาลภายใน 2 ปีโดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องคิดดอกเบี้ย ตนคิดว่าไม่กี่ปีเขาก็คงจะสามารถคืนเงินได้หมด ที่สำคัญที่สุดคือประชาชนจะได้มีกิจการเป็นของตัวเองอย่างยั่งยืน ไม่ต้องรอรับเงินแจกอีกต่อไป
อีกประเด็นที่รัฐบาลจะต้องประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติคือ เรื่องป้องกันปราบปรามต่อต้านการคอร์รัปชัน การวิ่งเต้นซื้อ-ขายตำแหน่งในวงการข้าราชการ ทำให้องค์กรประชาชนหรือประชาชนเข้าไปมีส่วนรับรู้ มีส่วนในการป้องกันคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลอย่าทิ้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ข้างหลัง ต้องขอบคุณท่านนายกฯ ที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตนพูดถึงภาคอีสานเพราะส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือพัฒนาช้ามาก