วันนี้ (23 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีว่าเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เช่น
การแก้ไขให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 11
แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดวันและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 12 (4)
แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 26
แก้ไขเพิ่มเติมการตรวจสอบสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยตัดเรื่องการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อออก ตามมาตรา 53 และมาตรา 54 วรรคสอง
แก้ไขเพิ่มเติมการจัดทำบัญชีรายชื่อในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง
กำหนดให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้บังคับแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โดยเพิ่มมาตรา 57 วรรคห้า
แก้ไขเพิ่มเติมการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการเลือกตั้ง และการตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย โดยอภิปรายว่าขอแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้มี ส.ส. จำนวน 500 คน ที่มาจากการแต่เขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้งแบบละ 1 ใบ และมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
ร่างของพรรคเพื่อไทยมีความจำเป็นที่ขอแก้ไขกฎหมายลูกฉบับนี้ทั้ง 31 ประเด็น ซึ่งประเด็นแรกคือเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งไปพรรคเพื่อไทยได้เน้นเรื่องนี้ เนื่องจากการใส่เขตเลือกตั้งที่ผ่านมาในปี 2562 นั้นก่อปัญหาให้กับการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนำมาสู่การปฏิบัติแล้วมีปัญหาในการไปเขตเลือกตั้งเป็นอย่างมาก และ ส.ส. ทุกคนทราบดีว่ากลไกในการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความเที่ยงธรรม และไม่เอื้อต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม เช่น เขตติดต่อในการเลือกตั้งเป็นเขตติดต่อแบบเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นการลากเขตยาวแบบตามอำเภอใจ ซ้ำร้ายที่สุดคือเรื่องของจำนวนประชากรที่บางเขตห่างกันกว่า 5 หมื่นคน
จากนั้นพรรคเพื่อไทยเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมให้จังหวัดใดที่ได้รับการเลือกตั้งเกิน 1 คน ให้แบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวน ส.ส. พึงมี โดยแบ่งพื้นที่เลือกตั้งของแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มี ส.ส. แต่ละเขตใกล้เคียงกัน และต้องให้มีผลต่างของจำนวน ส.ส. ไม่เกินร้อยละ 10 เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น
“รัฐสภาเป็นระบบส่วนข้างมาก ยากที่กฎหมายของฝ่ายค้านจะได้รับการเห็นชอบให้เป็นร่างหลักในการพิจารณา จึงจำเป็นที่จะต้องเขียนหลักการเชิงกว้างไว้ ช่วยรับนำไปปรับเถอะครับ เพื่อให้ระบบการเมืองเราเข้มแข็ง และมีระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านยังกล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือการกำหนดหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง เนื่องจากร่างของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีความต่างกันที่ชัดเจน โดยร่างของรัฐบาลเป็นการใช้หมายเลขที่ไม่ตรงกันกับแบบบัญชีรายชื่อ แต่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้