วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง ข้อกังวลในการยื่นเรื่องต่อศาล รัฐธรรมนูญ กรณีที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จากฝ่ายค้าน และ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จากพรรคร่วมรัฐบาล
วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการประสานงาน หรือวิป 3 ฝ่ายแล้ว ว่าจะบรรจุในระเบียบวาระเพื่อพิจารณา ในวันที่ 13 และ 14 กุมภาพันธ์นี้ ตามกรอบเวลา 19 ชั่วโมง ส่วนข้อกังวลว่าจะมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ยังไม่ทราบว่าเป็นประเด็นใด หากมาจากสมาชิกรัฐสภา จะต้องอาศัยเสียงผู้ที่ลงชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 40 ท่าน ซึ่งจะต้องขอเสียงในที่ประชุมว่ามีผู้เห็นด้วย ให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ หากสมาชิกเสียงข้างมากเห็นด้วย ประธานสภาก็จะดำเนินการส่งต่อไป แต่หากเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็เดินหน้าพิจารณาต่อไป
ส่วนควรจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาก่อนเข้าสู่รัฐสภาเพื่อความสบายใจดีกว่าหรือไม่นั้น ประธานรัฐสภาระบุว่า ความเห็นแต่ละฝ่ายอาจไม่เหมือนกัน แต่ส่วนตัวมองว่าควรบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เพราะเรื่องนี้ได้ผ่านที่ประชุมของที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เสียงข้างมากในที่ประชุมก็เห็นว่าสามารถบรรจุได้
นอกจากนี้ ประธานรัฐสภายังได้ชี้แจงต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ให้ทราบถึงการบรรจุญัตตินี้ด้วยเหตุผลดังที่กล่าว ขณะที่การต้องจัดทำประชามติก่อนจึงจะสามารถบรรจุได้นั้น ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า หากรัฐสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ให้ถามประชาชน จึงต้องตีความว่า “สภาหมายถึงอะไร” ซึ่งก็หมายถึงที่ประชุมของรัฐสภา
“ผมก็ตีความว่า การที่รัฐสภาต้องการจะแก้ ก็ต้องถามมติ ดังนั้นต้องมีการประชุม ผมจึงต้องนัดประชุม ถ้าสภาในวาระแรกเห็นว่าตามหลักการต้องเสียงข้างมาก และวุฒิสภาต้องมีคนเห็นชอบมากกว่า 1 ใน 3 และคนที่ไม่เห็นชอบต้อง เกินกึ่งหนึ่งของ สว. ก็ถือว่าญัตตินั้นตกไป” วันมูหะมัดนอร์กล่าว
วันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อไปว่า หากแก้ไขในวาระที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว หมายถึงว่าสภาต้องการแล้ว ตนเองก็จะหยุดกระบวนการของรัฐสภา และนำความต้องการของรัฐสภาไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำประชามติต่อไป เพราะหากจัดทำประชามติก่อน แล้วประชาชนเห็นด้วย แต่รัฐสภาไม่เห็นด้วย จะทำให้เสียงบประมาณถึง 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากจะมีผู้ไปยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการบรรจุดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ประธานรัฐสภาชี้ว่า ก็เป็นเรื่องความเห็นของแต่ละฝ่ายไป และหากมีสมาชิกขอให้ถอนญัตติ โดยมีเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ ก็สามารถดำเนินการถอนญัตติได้เช่นเดียวกัน