วันนี้ (24 มิถุนายน) กลุ่มคณะราษฎรนัดหมายในกิจกรรมรำลึก 89 ปี การปฏิวัติเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองสู่ประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2547 โดยตั้งขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินเท้าระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร ไปยังรัฐสภา เกียกกาย
ก่อนการเคลื่อนขบวนกลุ่มคณะราษฎรจุดไฟเผากองกระดาษที่เขียนเนื้อหารายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยด้านบนมีการวางพานรัฐธรรมนูญและตัวเงินตัวทองไว้เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
ต่อมากลุ่มคณะราษฎรเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังรัฐสภาเกียกกาย โดยมี เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำกลุ่มราษฎรนำขบวน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครือข่ายราษฎร กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มราษฎร์ดรัมป์ กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่ม iLaw และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมด้วย
สำหรับเส้นทางในการเคลื่อนขบวนผ่านถนนหลานหลวงถึงแยกอุรุพงษ์ ไปทางเส้นพระราม 6 และแวะพักบริเวณปั๊มน้ำมันและเดินต่อถึงหน้ารัฐสภา เกียกกาย จากนั้นก็ปักหลักชุมนุมหน้ารัฐสภา เกียกกาย ก่อนที่จะมีตัวแทนของฝ่ายค้านจะออกมารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมรับตัวแทนของกลุ่มราษฎรเข้าไปในสภา โดยตัวแทนราษฎร 4 คนที่จะเข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าสู่สภา ประกอบด้วย เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก
โดย ส.ส. ที่ออกมารับยื่นหนังสือของกลุ่มราษฎร นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย และ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล รวมถึง ส.ส. บางส่วนของพรรคก้าวไกล
ออกมารับหนังสือจากกลุ่มคณะราษฎร พร้อมรับของที่ระลึก ได้แก่ หมุดคณะราษฎรขนาดใหญ่ สำเนารัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรปี 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้กลุ่มราษฎรได้อ่านจดหมายเปิดผนึกบริเวณหน้าอาคารัฐสภา โดยมีใจความดังนี้
“เนื่องในวันครบรอบ 89 ปี อภิวัฒน์สยาม ถึงสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน เพื่อสืบสาน รักษาอำนาจสูงสุดที่เป็นของราษฎรตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรผู้ปฏิวัติการปกครองในปี 2475 การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปโดยให้ราษฎรมีอำนาจสูดสุด โดยกลุ่มคณะราษฎรยืนยัน 3 หลักการดังนี้”
1. รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน การแก้ไข ยกร่างใหม่ ต้องทำผ่าน สสร. ที่มาจากประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งทั้งหมด
2. รัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ ต้องไม่มีบทบัญญัติใดที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ เช่น การให้อำนาจ ส.ว.
3. รัฐธรรมนูญจะต้องแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตราโดยไม่มีข้อยกเว้น รัฐธรรมนูญเป็นสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ การยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามเจตจำนงของราษฎร หากไม่เคารพหลักการนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ในฐานะของการเป็นรัฐธรรมนูญ
ชัยธวัชกล่าวภายหลังการรับยื่นหนังสือจากกลุ่มคณะราษฎรว่า หลังจากนี้ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร 2475 จะต้องถูกบรรจุอยู่ในแบบเรียนทุกเล่ม และรัฐธรรมนูญจะต้องทำให้เกิดระบอบที่อิงอยู่กับอำนาจของประชาชน ไม่ใช่การทำนาอยู่บนหลังราษฎร อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 จะต้องเรียบง่ายเหมือนรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 ในปี 2475 ที่ไม่ต้องตีความใดๆ
ในส่วนของรัฐธรรมนูญที่กำลังลงมติแก้ไขอยู่ ชัยธวัชกล่าวว่า จะแก้อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าไม่แก้ อำนาจของ ส.ว. นี่คือละครปาหี่ครั้งใหญ่ของรัฐสภา อีกทั้งตนเห็นด้วย และจะรับข้อเสนอทั้งหมดของกลุ่มคณะราษฎร การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่จำกัดอำนาจของประชาชนว่าห้ามแตะหมวดนั้นหมวดนี้ ต้องแก้ได้ทั้งฉบับ
ขณะที่ช่วงท้าย สิระ เจนจาคะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ออกมารับหนังสือจากกลุ่มคณะราษฎร ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของประชาชน กลุ่มคณะราษฎรได้มีการยื่นสำเนารัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 ให้จำนวน 2 ชุด สำหรับฝ่ายรัฐบาลหนึ่งชุด และฝากอีกฉบับให้ ส.ว. ทั้ง 250 คน เพื่อศึกษาหลักการของประชาธิปไตย พร้อมกับอ่านจดหมายเปิดผนึกอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนที่ในช่วงเย็นจะมีการนัดหมายจัดกิจกรรมของกลุ่มราษฎรที่บริเวณสกายวอล์กปทุมวัน ในเวลา 17.00 น. หลังจากช่วงเช้าที่ผ่านมาจัดกิจกรรมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลา 05.30 น.