วันนี้ (14 มกราคม) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ประกอบด้วย สส. 492 คน และ สว. 200 คน จากเดิมที่วันนี้เคยมีวาระพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงเรื่องสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ท้ายสุดวาระดังกล่าวก็ถูกเลื่อนออกไปในเดือนกุมภาพันธ์แทน
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน ในฐานะเจ้าของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็น โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “เพื่อไม่ให้เสียเวลาการประชุมที่นัดไว้แล้วโดยเปล่าประโยชน์ ผมและพรรคประชาชนจึงตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา”
เป็นเหตุให้วันนี้รัฐสภานัดพิจารณาร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมฯ ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจหลักของรัฐสภาแห่งนี้ ตัวข้อบังคับกำหนดกฎเกณฑ์การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิกรัฐสภาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน แล้วพริษฐ์เสนอแก้ไขข้อบังคับในเรื่องไหนบ้าง และเพื่ออะไร
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (ซ้าย) ผู้จัดการ iLaw และแกนนำกลุ่ม Con for All และ พริษฐ์ วัชรสินธุ (ขวา)
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
เสนอปลดล็อกประชาชนเป็น กมธ. ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ
พริษฐ์อธิบายหลักการและเหตุผลของร่างแก้ไขข้อบังคับ โดยสรุปเรื่องที่จะเสนอแก้ไขได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้
- เสนอให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการ เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหรือ สว. สามารถเสนอชื่อบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็น สส. หรือ สว. เข้าไปเป็นกรรมาธิการ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมีความรอบคอบรอบด้านมากขึ้น
- ลดการใช้กระดาษ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์สำหรับงานธุรการของรัฐสภา เพราะปัจจุบันในการดำเนินการต้องจัดทำเป็นหนังสือให้แก่สมาชิก จึงเสนอให้การนัดประชุมและการส่งเอกสารดังกล่าวสามารถทำได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
- เสนอให้ยกเลิกบทบัญญัติข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ไม่ได้มีความจำเป็นเกี่ยวกับหมวดการปฏิรูปประเทศ และหมวดที่เกี่ยวกับการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้อำนาจในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จากเดิมที่ให้ สว. ชุดเฉพาะกาล 250 คนร่วมโหวตด้วย
สส. ข้องใจ ให้ประชาชนแก้กฎหมาย ไม่เชื่อมือรัฐสภา?
ประธานรัฐสภาเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง และบางพรรคการเมืองก็แสดงจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้น อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ วิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค ลุกขึ้นประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับที่ 123/1 คือการปลดล็อกให้บุคคลทั่วไปเข้ามาเป็นกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วิทยาเปรียบเทียบว่า เหมือนการ “ไม่ไว้วางใจสมาชิกรัฐสภา” และ “ดูแคลนว่าไม่มีฝีมือในการแก้กฎหมาย” ถึงขั้นที่ระบุว่า หากไม่เชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะร่างและกลั่นกรองกฎหมายได้ ก็ถือว่าระบบรัฐสภานี้ล้มเหลว
วิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ด้าน สส. จากพรรคเพื่อไทยเอง แสดงความเห็นก้ำกึ่งว่าจะเห็นชอบกับร่างแก้ไขข้อบังคับหรือไม่ และยังติดใจกับการปลดล็อกให้บุคคลทั่วไปเข้ามาเป็นกรรมาธิการเช่นกัน
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส. จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ควรรับหลักการทั้งร่าง แม้จะมีข้อถกเถียงเรื่องบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภามาเป็นกรรมาธิการ เรื่องนี้ก็สามารถนำไปหาข้อสรุปทางกฎหมายในวาระ 2 ได้ พร้อมทิ้งข้อสังเกตไว้ว่า ข้อบังคับเดิมก็กำหนดไว้แล้วว่าบุคคลภายในสามารถเป็นที่ปรึกษาของกรรมาธิการได้
สว. เสียงแตก ‘กลุ่มพันธุ์ใหม่’ หนุนเต็มที่
ในฟากของ สว. ที่แบ่งออกเป็นหลายเหล่า ต่างฝ่ายก็แสดงความเห็นของตนเอง ตั้งแต่ก๊ก ‘สีน้ำเงิน’ ที่ครองเสียงข้างมาก พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. มองว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญในชั้นกรรมาธิการ ในทางปฏิบัติ หากประชาชนที่ผ่านการคัดเลือกมาได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง จะลดทอนกลไกถ่วงดุลของรัฐสภา และลดเสียงคัดค้านในการแก้รัฐธรรมนูญ
“การเสนอแก้ไขแบบนี้เท่ากับว่าจะตั้งใครก็ได้ใน 45 คน ไม่ต้องมีสมาชิกรัฐสภาแม้แต่คนเดียวก็ได้ ผมมองว่าไม่เป็นเหตุที่สมควร เพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่และสิทธิแก่สมาชิกรัฐสภา อีกทั้งการเสนอให้มีตัวแทนประชาชนที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญนั้น ผมติดใจในกระบวนการคัดเลือกที่ต้องโปร่งใส ยุติธรรม ไม่ใช่ถูกเลือกเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง” พิสิษฐ์กล่าว
นันทนา นันทวโรภาส (ซ้าย) และ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ (ขวา) สว. จากกลุ่ม ‘พันธุ์ใหม่’ และ ‘อิสระ’ ซึ่งมักจะผนึกกำลังกัน แต่คราวนี้เห็นต่าง
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
แม้แต่ ‘กลุ่มอิสระ’ อย่าง นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ก็ยังกังขากับแนวคิดปลดล็อกบุคคลภายนอก และเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเกือบ 700 คน ต้องมีผู้เหมาะสมทำหน้าที่กรรมาธิการอยู่แล้ว ทั้งย้ำว่าไม่เห็นด้วย หากจะเลือกเอาบุคคลซึ่งขาดสมาชิกภาพไปแล้วมาทำหน้าที่ เพราะจะเป็นการดูแคลนรัฐสภา
ขณะที่ ‘พันธุ์ใหม่’ อย่าง นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวขอบคุณพรรคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขข้อบังคับ และเห็นความสำคัญของการปรับปรุงข้อที่ 123/1 ส่วนที่มีการเรียกประชาชนว่าคนนอกนั้น คิดว่าประชาชนที่ฟังอภิปรายอยู่คงเสียใจอย่างยิ่ง
“เมื่อเขาเลือกพวกคุณเข้ามาแล้ว พวกคุณเรียกเขาว่าเป็นคนนอกหรือ ตอนที่คุณจะให้เขาเลือกก็ไปกราบขอคะแนนเขา แต่พอเขาเลือกเสร็จแล้ว คุณบอกว่าเขาเป็นคนนอก เขาไม่มีสิทธิเข้ามาในวงอำนาจนี้ กำลังหลงผิดและหวงอำนาจกันอยู่หรือเปล่า” นันทนาอภิปราย
ที่ประชุมรับหลักการ ‘ปดิพัทธ์’ หวนคืนสภา
เวลา 12.00 น. สมาชิกรัฐสภาออกเสียงลงมติ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 415 เสียง ไม่เห็นด้วย 185 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เท่ากับว่าที่ประชุมรับหลักการแห่งร่างข้อบังคับการประชุมฉบับแก้ไข จากนั้นต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 18 คน เพื่อแก้ไขร่างในรายละเอียด ก่อนนำกลับเข้าสู่ที่ประชุมในวาระ 2
ปดิพัทธ์ สันติภาดา กลายเป็นกรรมาธิการวิสามัญคนเดียวในชุดนี้ที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา และเคยพ้นสมาชิกภาพ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
การตั้งกรรมาธิการจะแบ่งสัดส่วนเป็นกรรมาธิการจากฝั่ง สว. 5 คน ส่วนฝั่ง สส. สัดส่วนเป็นไปตามจำนวน สส. ในพรรคที่ทำหน้าที่อยู่ พบว่ามีรายชื่อที่น่าสนใจคือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และอดีต สส. จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลังพรรคก้าวไกลถูกยุบ ได้กลับมาเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคประชาชนด้วย
ส่วนกรรมาธิการฝั่ง สว. เจรจาสัดส่วนกันไม่ลงตัว ทำให้ต้องพักการประชุมชั่วครู่ ก่อนจะกลับมาเสนอรายชื่ออีกครั้ง ดังนี้
กรรมาธิการในสัดส่วน สว. 5 คน
- นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ
- น.ต. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ร.น.
- พ.ต.อ. กอบ อัจนากิตติ
- พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์
- พรชัย วิทยเลิศพันธุ์
กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคประชาชน 4 คน
- พริษฐ์ วัชรสินธุ
- นิติพล ผิวเหมาะ
- นิตยา มีศรี
- ปดิพัทธ์ สันติภาดา
กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย 4 คน
- นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
- ประยุทธ์ ศิริพานิชย์
- วรวิทย์ บารู
- ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ
กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย 2 คน
- สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง
- ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ
กรรมาธิการในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน ได้แก่ วิทยา แก้วภราดัย, พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ได้แก่ กาญจน์ ตั้งปอง และพรรคกล้าธรรม 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ จีนาคำ
โดยที่ประชุมให้แปรญัตติภายใน 7 วัน และให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน จากนั้นประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุมในเวลา 13.20 น.