กลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายคนกำลังสงสัยใคร่รู้ หลัง กทม. ออกประกาศข้อบังคับเรื่องการกำหนดที่จอดยานยนต์และอัตราค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์ฉบับใหม่บนถนนกว่า 66 สายทั่วกรุงเทพฯ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา
คำถามที่เกิดขึ้นตามมามีมากมาย ตั้งแต่ประกาศฉบับนี้มีความหมายอย่างไร ไปจนถึงจะเก็บค่าที่จอดรถตอนไหน แล้วใครเป็นคนเก็บ
THE STANDARD ต่อสายไปยังเจ้าหน้าที่กองรายได้ สำนักการคลัง กทม. เพื่อไขข้อสงสัยถึงประเด็นดังกล่าว เพื่อให้ชาวกรุงได้รับรู้กระบวนการเก็บค่าบริการจอดรถของ กทม. ว่ามีกระบวนการอย่างไร
ไม่ต่างจากเดิม เพิ่มเติมคือถนนราชดำริ
หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าข้อกฎหมายเรื่องการเก็บค่าที่จอดรถมีอยู่แล้วกว่า 20 ปี แต่ต่างกันตรงที่แต่เดิมจะมีชั่วโมงที่ได้รับการยกเว้นค่าจอดรถบริเวณถนนราชดำริ แต่ข้อบังคับชุดใหม่จะไม่มีการยกเว้นแล้ว
ซึ่งเดิมที ปี 2547 กทม. เคยออกประกาศเพื่อยกเว้นค่าจอดรถบริเวณถนนราชดำริ แต่ล่าสุด กทม. มีการปรับเปลี่ยนให้ยกเว้นเฉพาะเวลา 04.00-08.00 น. ของทุกวัน ซึ่งรวมกับเส้นทางตามประกาศเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 65 เส้นทางอีกครั้ง จึงกลายเป็น 66 เส้นทางตามที่ประกาศได้ระบุไว้
เริ่มเก็บกี่โมง แล้วใครเป็นคนเก็บ
สำหรับการเก็บค่าที่จอดรถบนถนนสายต่างๆ 66 สายทั่วกรุงเทพฯ โดยทั่วไปทางเจ้าหน้าที่ กทม. จะเริ่มเก็บตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
ส่วนพนักงานที่เก็บค่าจอดรถเป็นข้าราชการในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 71 ตำแหน่ง ซึ่งถนนบางสายอาจจะไม่มีการเก็บค่าจอดรถ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่อาศัยใน กทม. หลายคนไม่เคยทราบว่าแท้จริงแล้วมีการเก็บค่าบริการจอดรถมาก่อน
ทั้งนี้ในแต่ละเส้นทางจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยเก็บค่าที่จอดรถอยู่แล้ว โดยไม่มีการสุ่มเลือกเส้นทางแต่อย่างใด
วิธีสังเกตเจ้าหน้าที่เก็บค่าจอดรถของ กทม.
เจ้าหน้าที่เก็บค่าจอดรถดังกล่าวจะแต่งชุดข้าราชการสีกากีพร้อมติดป้ายชื่อ ซึ่งจะมาจากกองรายได้โดยตรง
โดยเจ้าหน้าที่แต่ละคนจะถือตั๋วจอดรถที่แบ่งเป็นสีตามวันต่างๆ ประจำสัปดาห์ เช่น วันจันทร์ ตั๋วสีเหลือง วันอังคาร ตั๋วสีชมพู เป็นต้น เป็นการการันตีได้อีกทางว่าเจ้าหน้าที่ที่คุณพบเจอมาจาก กทม. ตัวจริงเสียงจริง ไม่ได้แอบอ้างแต่อย่างใด
คิดค่าจอดรถอย่างไร
อัตราค่าที่จอดรถตามประกาศของ กทม. จะแบ่งตามประเภทรถต่างๆ ดังนี้
รถจักรยานยนต์ ชั่วโมงแรก 5 บาท ชั่วโมงต่อไป 10 บาท
รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ ชั่วโมงแรก 10 บาท ชั่วโมงต่อไป 20 บาท
รถยนต์ขนาด 6 ล้อ ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไป 30 บาท
รถยนต์ขนาด 8 ล้อ ชั่วโมงแรก 30 บาท ชั่วโมงต่อไป 40 บาท
รถยนต์ขนาด 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 40 บาท ชั่วโมงต่อไป 60 บาท
รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 50 บาท ชั่วโมงต่อไป 80 บาท
แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรณีที่มีผู้มาจอดรถ เจ้าหน้าที่จะไม่ได้นับเวลาจอดตามจริง แต่จะสอบถามเจ้าของรถว่าจะจอดนานแค่ไหน จากนั้นจึงจะคิดค่าบริการตามเวลาที่ผู้ใช้บริการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ หรือพูดง่ายๆ คือใช้ระบบความเชื่อใจมากกว่าจะนับตามชั่วโมงจอดรถจริงเหมือนอาคารต่างๆ
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จากกองรายได้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับแนวคิดการติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญบริเวณจุดจอดรถเช่นเดียวกับในต่างประเทศว่า จริงๆ แล้ว กทม. มีแผนที่จะทำ และมีหน่วยงานจากเอกชนมาหารือร่วมกันแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ไหมและเมื่อไร
มาเฟียเก็บค่าจอดรถ ร้องเรียนได้ไหม
อีกหนึ่งปัญหาคาใจคนกรุงเทพฯ คือ กรณีที่บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ กทม. มาเก็บค่าจอดรถ เราควรทำอย่างไร
เรื่องนี้เจ้าหน้าที่จากกองรายได้ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาเคยมีข้อร้องเรียนกรณีดังกล่าวเข้ามาทาง กทม. เยอะพอสมควร ซึ่ง กทม. จะเป็นฝ่ายตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าว ส่วนบทลงโทษของมาเฟียเก็บค่าที่จอดรถ คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของตำรวจที่จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทั้งนี้การเก็บค่าที่จอดรถของ กทม. ไม่ได้รวมถึงการรับผิดชอบความเสียหายที่อาจจะเกิดกับรถยนต์ที่มาจอด เพราะเป็นแค่การให้บริการที่จอดรถชั่วคราวเท่านั้น
ดังนั้นสรุปได้ว่า หากรถสูญหายหรือเสียหายขณะจอด ทางเจ้าหน้าที่ กทม. จะไม่มีส่วนในการรับผิดชอบแต่อย่างใด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า