วันนี้ (16 พฤษภาคม) พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล และผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน โดยมีรายละเอียดระบุว่า
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ในการรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมยืนยันมาตลอดว่าในบรรดาเนื้อหาทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นมาตราที่เป็นปฏิปักษ์ที่สุดต่อระบอบประชาธิปไตย
ผมเชื่อว่าท่านเข้าใจดีว่าการวิจารณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้มาจากอคติส่วนบุคคล แต่มาจากการยึดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ในการมี 1 สิทธิ 1 เสียง เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศผ่านคูหาเลือกตั้ง
ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่เป็นประชาธิปไตยที่ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจในการมาร่วมเลือกนายกฯ และเปิดช่องให้ขัดเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้ง
หากท่านจะอ้างว่าบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมี ส.ว. แต่งตั้ง (เช่น สหราชอาณาจักร) ก็พึงตระหนักไว้ว่า ส.ว. ในประเทศเหล่านั้นมีอำนาจน้อยมาก (เช่น ชะลอร่างกฎหมาย) เพื่อให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน
หากท่านจะอ้างว่าบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมี ส.ว. ที่มีอำนาจเยอะ (เช่น สหรัฐอเมริกา) ก็พึงตระหนักไว้ว่า ส.ว. ในประเทศเหล่านั้นมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน
และหากท่านจะอ้างว่าการมี ส.ว. แต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกฯ มาจากการลงประชามติเมื่อปี 2559 ก็พึงตระหนักไว้ว่าประชามติครั้งนั้นไม่ได้เป็นประชามติที่เสรีและเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล หลายคนที่รณรงค์คัดค้านถูกจับกุมดำเนินคดี ในขณะที่คำถามพ่วงก็ถูกเขียนในลักษณะที่กำกวมและชี้นำโดยเจตนา
พริษฐ์ระบุว่า ดังนั้นในเมื่อมาตรานี้ยังไม่ถูกยกเลิกไป วิธีการเดียวที่ท่านจะทำได้เพื่อเคารพหลักการขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย คือการสนับสนุน ‘นายกฯ และรัฐบาล’ ที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (งดออกเสียงไม่พอ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่านายกฯ ต้องได้รับการ ‘เห็นชอบ’ เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ‘ที่มีอยู่’ (ไม่ใช่ ‘ที่ลงมติ’)) โดยไม่แสดงท่าทีหรือความเห็นเป็นอื่นใด ที่ไปกระทบต่อกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลและการตัดสินใจของพรรคการเมืองหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ลึกๆ ผมก็เข้าใจว่าการอ้างอิงหลักประชาธิปไตยอย่างเดียวคงไม่สามารถโน้มน้าวทุกท่านได้ เพราะหากทุกท่านยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ทุกท่านคงเห็นด้วยกับการยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ไปแล้วตอนที่ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วง 2563-2565 (รวมกันถึง 3 ครั้ง)
ดังนั้นผมเลยขอยกอีก 5 เหตุผล ที่เพียงแต่ขอให้ท่านเพียงยึดคำพูดของตัวในอดีต
1. บางท่านเคยโหวตสนับสนุนการยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ในรัฐสภา
เรามี ส.ว. ทั้งหมด 64 คนที่เคยสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ (อย่างน้อย 1 ครั้ง จาก 3 ครั้งที่ถูกเสนอในรัฐสภาในช่วง 2563-2565) แม้แต่ละท่านอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่การลงมติของท่านแสดงให้เห็นว่าท่านเห็นตรงกันว่ามาตรา 272 มีปัญหาและไม่มีความจำเป็นต้องคงไว้อยู่
ดังนั้นผมขอเรียกร้องไม่ให้ท่านเอามาตราที่ท่านเองก็เห็นว่าเป็นปัญหา มาขัดเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง
2. หลายท่านเคยบอกว่าไม่จำเป็นต้องยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เพราะอำนาจนี้ตามมาตรา 272 ‘ไม่มีความหมาย’ ‘ไม่มีน้ำยา’ และ ‘ไม่มีราคา’
ส.ว. บางท่านเคยบอกว่าการมีอยู่หรือไม่ของอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะใครก็ตามที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องได้รับเสียงข้างมากจาก ส.ส. เสียก่อน โดยหาก ส.ว. เลือกคนที่ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็ย่อมทำให้เกิดทางตันทางเมือง เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะไม่สามารถผ่านกฎหมายใดๆ ได้
ดังนั้นหากท่านยืนยันคำเดิมว่ามาตรานี้ไม่ได้มี ‘ราคา’ อะไร ก็อย่านำอำนาจที่ท่านมีจากมาตรานี้มาโก่งราคาเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง
3. หลายท่านเคยอ้างว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ รอบที่แล้ว เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากของ ส.ส.
แม้ผมต้องยืนยันจุดยืนเดิมว่าการมีอยู่ของอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ส่งผลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองและกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น แต่ ส.ว. หลายท่าน (รวมถึง ส.ส. ซีกรัฐบาลเดิม) มักอ้างหลายครั้งว่าที่ ส.ว. โหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ ในการโหวตนายกฯ เมื่อปี 2562 เป็นเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (250+) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ดังนั้นหากท่านใช้ตรรกะเดิมที่ท่านเคยอ้างว่าท่านใช้ในการสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อปี 2562 ท่านก็ควรต้องสนับสนุนนายกฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (250+) ในการเลือกนายกฯ ในปี 2566 เช่นกัน
4. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของการให้ประเทศได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เจอทางตัน
หากท่านต้องการให้ประเทศได้ ‘ไปต่อ’ โดยไม่เจอทางตัน ผมไม่เห็นเหตุผลใดที่ท่านจะไม่สนับสนุนนายกฯ และรัฐบาลที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ว่าท่านจะมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไรกับนายกฯ คนนั้น หรือพรรคที่อยู่ในรัฐบาลชุดนั้น แต่หากท่านไปสนับสนุนนายกฯ หรือพรรคที่ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร นายกฯ หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยชุดนั้นจะไม่สามารถบริหารประเทศให้ไปต่อได้ กฎหมายจะไม่ผ่านสักฉบับ งบประมาณจะไม่ผ่านสักบาท และรัฐบาลก็จะล้มทันทีที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ดังนั้นในเมื่อท่านเองก็น่าจะเห็นเหมือนผมว่าการสนับสนุนนายกฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากแค่เสียงข้างน้อยของ ส.ส. จะนำไปสู่ทางตัน ผมก็หวังว่าท่านจะไม่เลือกนำพาประเทศไปเจอทางตันนั้น
5. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของ ‘การตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล’
หากท่านไม่ประกาศสนับสนุนหลักการว่าท่านจะโหวตให้นายกฯ และรัฐบาลที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. (เกิน 250 คน) แต่บีบให้เขาต้องรวบรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา (เกิน 375 คน) ท่านกำลังกระทำสิ่งที่เสี่ยงจะบีบให้ฝ่ายค้าน (ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลมีความอ่อนแอลงหรือมีเสียงน้อยลง
แม้พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าเราจะไม่หลงกลนี้ และเราจะไม่ตัดสินใจดึงพรรคที่อุดมการณ์ไม่ตรงกับเราเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล (โดยยังคงหวังว่าพรรคที่แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกับเรา แต่เห็นถึงความวิปริตของอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ จะมาร่วมโหวตให้เราเป็นกรณีพิเศษ) แต่ผมเพียงอยากชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งของท่านระหว่างการโยนให้พรรครัฐบาลต้องรวบรวมเสียงได้เกิน 375 เสียง กับคำพูดของท่านว่าต้องการจะสร้างระบบรัฐสภาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลอย่างเข้มข้นโดยฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง
6. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของการไม่อยากเห็น ‘บ้านเมืองขัดแย้ง’
ผมขอยืนยันว่าแม้การมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติของสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่ควรต้องหลีกเลี่ยง แต่การบริหารจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ให้ทวีคูณไปเป็นความขัดแย้งที่ดีที่สุด คือการมีกระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ดังนั้นในเมื่อการเลือกตั้ง คือกระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่มความคิด เพราะเป็นการให้ประชาชนทุกคนทุกความคิดมี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่าเทียมกัน หากท่านใช้อำนาจของท่านในทางใดที่เสี่ยงจะฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง ท่านเองจะเป็นคนที่นำบ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้ง
ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน สนับสนุน ‘นายกฯ และรัฐบาลที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร’
มันเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตยที่จะไม่เชื่อว่านายกฯ และรัฐบาลนี้ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดของประเทศ แต่มันไม่ควรเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตยที่จะขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกมาชัดเจนผ่านคูหาเลือกตั้งถึงความต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดโชยมาถึงแล้ว และหากจะต่อยอดจากคำพูดของคุณหนุ่มเมืองจันท์ ถึงเวลาที่ท่านต้องเลือกว่าท่านจะเลือกเป็นอะไรระหว่าง ‘กังหันลม’ ที่โอบรับและก้าวไปด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงที่สังคมปรารถนา กับ ‘กำแพง’ ที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงที่สังคมต้องการไว้แค่เพียงชั่วคราว แต่ทิ้งรอยร้าวและซากปรักหักพังไว้ทั่วแผ่นดิน เมื่อวันที่สายลมมันแรงเกินกว่ากำแพงใดๆ จะต้านทานไว้ได้” พริษฐ์ระบุทิ้งท้าย