×

พริษฐ์ลงพื้นที่หนองคาย เสนอรัฐบาลสนับสนุนกลไกท้องถิ่นช่วยฟื้นฟูหลังน้ำลด

โดย THE STANDARD TEAM
23.09.2024
  • LOADING...
พริษฐ์ วัชรสินธุ

วานนี้ (22 กันยายน) พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน พร้อมด้วยทีมงานของพรรค ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อติดตามสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม โดยในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาประชาชนผู้ประสบภัยในอำเภอท่าบ่อ ก่อนจะไปร่วมทำความสะอาดฟื้นฟูโรงเรียน และรับฟังข้อเสนอจากประชาชนและอาสาสมัครในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่

 

พริษฐ์กล่าวว่า ถึงแม้หนองคายจะอยู่ในสภาวะน้ำลดแล้ว แต่เหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงวันที่ 15-21 กันยายนที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่รวมกัน 6 อำเภอ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการฟื้นฟูเยียวยาไปแล้วบางส่วน รวมงบประมาณ 3,045 ล้านบาท ซึ่งมองว่าการฟื้นฟูเยียวยาอาจแบ่งออกเป็นโจทย์หลัก 3 ข้อด้วยกัน

 

ข้อแรกคือ การฟื้นฟูทางการเงิน ซึ่งโจทย์เร่งด่วนที่สุดคือต้องทำให้เงินเยียวยาถึงมือประชาชนโดยเร็ว เพราะเงินเยียวยาไม่ได้สำคัญเฉพาะในมิติของการชดเชยค่าเสียหายที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ยังมีความสำคัญในการช่วยประชาชนให้ลุกกลับมาตั้งหลักและเริ่มหารายได้ได้อีกครั้งหนึ่ง

 

พริษฐ์กล่าวว่า ในระหว่างการลงพื้นที่ ตนได้พบกับประชาชนที่ทำอาหารที่บ้านเพื่อขายผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งระหว่างนี้จะยังไม่มีรายได้จนกว่าจะซ่อมแซมบ้านเสร็จและซื้ออุปกรณ์เข้ามาใหม่ รวมถึงได้พบกับประชาชนที่ทำสวน ซึ่งก็จะยังกลับมาปลูกใหม่ไม่ได้ หากน้ำที่ขังอยู่จำนวนมากยังไม่มีคนมาช่วยสูบออก สำหรับคนกลุ่มนี้ ทุกวันที่ผ่านไปโดยไม่ได้รับการเยียวยาจึงเป็นอีกหนึ่งวันที่พวกเขายังกลับมาทำมาหากินแบบเดิมไม่ได้

 

“ถึงแม้ ครม. จะอนุมัติเงินเยียวยาตั้งต้น 5,000-9,000 บาทต่อครัวเรือนไปแล้ว รวมถึงเงินเยียวยา 230,000 บาทในกรณีที่บ้านเสียหายมากกว่า 70% ขึ้นไป แต่ประชาชนหลายคนที่ผมไปคุยด้วยยังไม่ทราบข้อมูลว่าต้องดำเนินการต่ออย่างไร และบางพื้นที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เดินทางมาให้คำแนะนำ”

 

พริษฐ์จึงมีข้อเสนอว่ารัฐบาลควรพิจารณาใช้วิธีส่งเงินเยียวยาให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด สำหรับเงินเยียวยาตั้งต้น 5,000-9,000 บาทต่อครัวเรือน รัฐบาลควรใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) มาซ้อนทับกับข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้เงินชดเชยผู้ประสบภัยโดยอัตโนมัติผ่านแอปทางรัฐได้เลยทันที เพื่อลดขั้นตอนและภาระทางเอกสารที่ยุ่งยากเกินไป ส่วนเงินซ่อมแซมบ้าน รัฐบาลควรให้เงินซ่อมแซมบางส่วน (เช่น 10,000 บาท) ทันทีสำหรับบ้านทุกหลังที่ประสบภัย จากนั้นเมื่อสำรวจและประเมินความเสียหายเสร็จสิ้นก็ค่อยจ่ายส่วนต่างที่เหลือตามสภาพจริง

 

รวมถึงควรเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นใช้ในการออกนโยบายฟื้นฟูเยียวยาประชาชนในพื้นที่ตนเองเพิ่มเติมอย่างเต็มที่มากขึ้น เนื่องจากกลไกเยียวยาของท้องถิ่นมีแนวโน้มที่จะรวดเร็วกว่าและมีรายละเอียดที่คำนึงถึงปัจจัยเฉพาะรายพื้นที่ได้มากกว่า

 

นอกจากนี้ยังควรเพิ่มและเจรจากลไกในการให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% กับประชาชนผู้ประสบภัย เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการหรือซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพของตนเองโดยเร็ว รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้กับผู้ประสบภัย

 

“รัฐบาลยังควรพิจารณาถ่ายโอนอำนาจในการประกาศเขตภัยพิบัติและการบริหารจัดการงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้แก่ท้องถิ่นในอนาคต เพื่อให้สามารถใช้เงินได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น หากมีความกังวลว่าจะมีการประกาศเขตภัยพิบัติที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ก็ให้มีกลไกที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำเรื่องเสนอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพิจารณาทบทวน ยืนยัน หรือยับยั้ง การประกาศเขตภัยพิบัติที่ท้องถิ่นประกาศไปแล้วได้”

 

พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า นอกจากการทำให้เงินถึงมือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วแล้ว รัฐบาลยังต้องกำหนดเงินชดเชยเยียวยาให้เป็นธรรมกับทุกกรณีด้วย โดยตัวอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบคือ มาตรการเงินเยียวยาตั้งต้นของรัฐบาลซึ่งมีระดับไม่เท่ากันสำหรับแต่ละกรณี (5,000 / 7,000 / 9,000 บาท) ถึงแม้ระยะเวลาที่ถูกน้ำท่วมขังจะถูกใช้เป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดระดับเงินเยียวยา แต่ความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้สัมพันธ์กับระยะเวลาเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกี่ยวข้องกับลักษณะของการเกิดอุทกภัยด้วย เช่น หากเป็นน้ำป่าไหลหลากและมีโคลนหรือหน้าดินไหลลงมาด้วย ความเสียหายก็จะสูง แม้ว่าระยะเวลาที่น้ำท่วมขังจะไม่ถึง 7 วัน หรือบางกรณีน้ำอาจท่วมไม่ถึง 1 วันด้วยซ้ำ แต่เกิดความเสียหายสูงมาก ก็จะได้รับความช่วยเหลือเพียงขั้นต่ำสุดเท่านั้น

 

พริษฐ์จึงมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรพิจารณาเสริมเกณฑ์ในการกำหนดระดับการเยียวยาที่คำนึงถึงหลายปัจจัยมากขึ้น โดยดึงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุด รวมถึงควรทบทวนเกณฑ์ในการกำหนดเงินเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เสียหายจริงด้วย

 

โจทย์หลักข้อที่สองคือ การฟื้นฟูเมือง โดยพริษฐ์กล่าวว่า ถึงแม้พื้นที่เมืองหนองคายจะไม่ได้รับความเสียหายมากเท่ากับพื้นที่อื่นๆ (เช่น เชียงราย) แต่สถานที่ให้บริการหลายส่วนที่ได้รับความเสียหาย เช่น โรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก อาจต้องยุติการให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนชุมชนบ้านหม้อที่ตนไปร่วมทำความสะอาด อาจต้องปิดทำการรวมกัน 2-3 สัปดาห์ ถึงแม้จะเปิดกลับมาได้ แต่ก็มีอาคารเรียนบางส่วนที่ชำรุดและต้องเร่งซ่อมแซมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุกับนักเรียน

 

พริษฐ์จึงมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อซ่อมแซมบริการสาธารณะต่างๆ เช่น ถนน ไฟส่องสว่าง โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมถึงออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการลดหย่อนภาษีสำหรับ ‘เมืองน้ำลด’ ในลักษณะคล้ายกับที่เคยใช้กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง

 

ส่วนโจทย์หลักข้อที่สามคือ การฟื้นฟูสุขภาพจิต พริษฐ์กล่าวว่า รายงานการศึกษาจากหลายประเทศชี้ชัดว่า คนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ มีแนวโน้มจะเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป เช่น ภาวะป่วยทางใจหลังประสบภัยในชีวิต (PTSD) ภาวะวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ถึงแม้ความเครียดและความกังวลบางส่วนอาจมีความสัมพันธ์กับปัญหาทางการเงินและความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่การเฝ้าดู คัดกรอง และดูแลรักษาความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยทุกคน เป็นภารกิจที่ไม่ควรถูกละเลย

 

พริษฐ์เสนอว่า รัฐบาลควรพัฒนาทักษะและสนับสนุนเครื่องมือให้ประชาชนเป็น ‘แนวหน้าสุขภาพจิต’ ที่มีความรู้พื้นฐานในการสังเกตอาการด้านสุขภาพจิตของคนรอบข้าง มีทักษะขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพจิต เช่น การรับฟัง การสร้างกำลังใจ และการให้คำปรึกษา และเข้าถึงเครื่องมือประเมินความเสี่ยงพื้นฐานที่นำไปใช้งานต่อได้ นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรให้เพียงพอสำหรับสายด่วนสุขภาพจิต หรือช่องทางอื่นในการได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising