×

‘พริษฐ์’ ผิดหวัง แต่ไม่ผิดคาด กกต. ไม่ทบทวนวันเลือกตั้ง อบจ. หวังทุกพรรคดันแก้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ให้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขต

โดย THE STANDARD TEAM
03.12.2024
  • LOADING...
พริษฐ์ วัชรสินธุ

วานนี้ (2 ธันวาคม) พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu’ ถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวว่าไม่เลื่อนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

 

ระบุว่า “ผิดหวัง แต่ไม่ผิดคาดที่ กกต. ตัดสินใจไม่ทบทวนวันเลือกตั้ง อบจ. จากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ

 

“ผมเข้าใจดีว่าแต่ละทางเลือกย่อมมีข้อดี-ข้อเสีย แต่ผมเคยหวังว่า กกต. จะยึดความสะดวกของประชาชนในการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหลัก ยิ่งในเมื่อทาง กมธ. ได้พยายามนำเสนอแนวทางในการคลี่คลายปัญหาเรื่องความสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายที่ กกต. อาจจะมีไปแล้ว

 

“แม้จะไม่ทันสำหรับการเลือกตั้ง อบจ. 2568 แต่ทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นให้อำนวยความสะดวกต่อประชาชนมากขึ้นในการใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น

 

“- สิทธิในการเลือกตั้งล่วงหน้า (ในเขต-นอกเขต)

– สิทธิในการเลือกตั้งด้วยวิธีอื่นๆ (เช่น ไปรษณีย์ ออนไลน์)

– สิทธิในการเลือกตามที่อยู่อาศัยจริง (เช่น คนที่ทำงานหรือใช้ชีวิตมาสักพักในจังหวัด ก. แต่ทะเบียนบ้านอยู่จังหวัด ข. สามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นในจังหวัด ก. แทน จังหวัด ข. หรือไม่)

– ทบทวนเรื่องวาระของผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่น (โดยเฉพาะ อบจ.) เกิดขึ้น ‘พร้อมกัน’ มากขึ้น (ทั้งพร้อมกันระหว่าง นายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง + พร้อมกันระหว่างทุกจังหวัด)

 

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้จะถูกรวบรวมในรายงาน กมธ. ที่เราจะเสนอต่อสภาภายในต้นปี 2568 โดยผมหวังว่าทุกพรรคการเมืองจะร่วมมือกันนำข้อเสนอในรายงานไปผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ให้สำเร็จต่อไปโดยเร็ว

 

“สรุปการประชุมระหว่าง กมธ.พัฒนาการเมือง กับ กกต. เรื่องการทบทวนเปลี่ยนวันเลือกตั้ง อบจ. จากวันเสาร์ 1 ก.พ. มาเป็นวันอาทิตย์ 2 ก.พ.

 

“1. เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว ทาง กกต. ได้ประกาศแผนว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับ อบจ. (สำหรับนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. ที่จะหมดวาระ) เป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

 

“2. ผมได้ออกมาทักท้วงและตั้งคำถามทันทีว่าทำไม กกต. ถึงกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์แทนที่จะเป็นวันอาทิตย์เนื่องจาก:

 

“- (1) ประชาชนโดยรวมน่าจะสะดวกกับการเลือกตั้งวันอาทิตย์มากกว่าวันเสาร์ โดยเฉพาะ (i) คนที่ทำงานในโรงงานที่มีแนวโน้มจะทำงานวันเสาร์มากกว่าวันอาทิตย์ และ (ii) คนที่ทำงานในจังหวัดที่แตกต่างจากจังหวัดที่ตัวเองมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจต้องการใช้เวลาวันเสาร์ในการเดินทางกลับบ้านเพื่อไปใช้สิทธิในวันอาทิตย์

 

“- (2) ประชาชนคุ้นชินกับการเลือกตั้งวันอาทิตย์มากกว่า โดยหากเราย้อนไปดูทุกการเลือกตั้งในระดับ สส. และในระดับท้องถิ่น ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 *ทุก*การเลือกตั้ง (ที่เป็นการเลือกตั้งตอนครบวาระ) เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ทั้งหมด 

 

“6. ถัดมาทาง กกต. ได้ออกแถลงการณ์โดยบอกว่าเหตุผลที่ กกต. ตัดสินใจเลือกเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ เพราะมีความกังวลว่าการจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ อาจจะมีความ ‘สุ่มเสี่ยงกับการจัดการเลือกตั้งเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด’ เนื่องจาก พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดให้ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน โดยในรอบนี้วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ไปตรงกับวันที่ 45 พอดี ซึ่งทำให้ กกต. มีการพูดถึง 2 ข้อกังวลหลัก

 

“- ข้อกังวลที่ 1: กกต. สามารถจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ (ซึ่งเป็นวันที่ 45) ได้หรือไม่

“- ข้อกังวลที่ 2: หาก กกต. เผชิญปัญหาเรื่องการนับคะแนนในเย็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จนไม่สามารถนับเสร็จได้ก่อนเที่ยงคืนจนทำให้เลยเข้าไปในห้วงเช้าตรู่ของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ จะมีปัญหาทางกฎหมายหรือไม่

 

“7. สำหรับข้อกังวลที่ 1 ผมได้แจ้งกับทาง กกต. ไปว่าทาง กมธ.พัฒนาการเมือง ได้ออกหนังสือเพื่อขอให้สำนักกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นเชิงกฎหมายว่า กกต. สามารถจัดการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ได้หรือไม่ โดยคำตอบของสำนักกฎหมายที่เราได้รับกลับมาและได้ส่งต่อให้ทาง กกต. ในที่ประชุมระบุชัดว่า กกต. สามารถกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ โดย ‘ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามความในมาตรา 11 วรรคหนึ่งแห่ง [พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่น 2562]’ ซึ่งเป็นคำตอบที่ผมหวังว่าจะคลายข้อกังวลทางกฎหมายส่วนนี้ของ กกต. ได้ (โดยผมเสนอว่าหากต้องการจริงๆ กกต. ยังสามารถออกหนังสือลักษณะเดียวกันไปขอความเห็นเชิงกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อีกทาง ซึ่งคงได้รับคำตอบไม่ต่างกัน)

 

“8. สำหรับข้อกังวลที่ 2 ผมได้แสดงความเห็นไว้ว่าหาก กกต. มีความกังวลเรื่องความล่าช้าในการนับคะแนนจริงๆ (ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความเสี่ยงต่ำที่ไม่ควรมีน้ำหนักมากกว่าความสะดวกในการใช้สิทธิของประชาชนในภาพรวม) กกต. สามารถหาทางออกได้ โดยการเริ่มต้นด้วยการหารือกับฝ่ายกฎหมายว่าการที่มาตรา 11 วรรคแรกระบุให้ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน คำว่า ‘จัดการเลือกตั้ง’ หมายถึงการดำเนินการถึงขั้นตอนใด

 

“- หาก ‘จัดการเลือกตั้ง’ หมายถึงการดำเนินการถึงแค่ขั้นตอนการปิดหีบลงคะแนน ก็เท่ากับว่าความล่าช้าในการนับคะแนน (ไม่ว่าจะล่าช้าแค่ไหน) จะไม่กระทบต่อกรอบ 45 วันและไม่ทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย

 

“- แต่หาก ‘จัดการเลือกตั้ง’ รวมถึงขั้นตอนการนับคะแนนด้วย กกต. ยังสามารถแก้ปัญหาได้ผ่านกลไกในมาตรา 11 วรรคสาม ที่ระบุไว้ว่า กกต. สามารถมี ‘คำสั่งให้ย่นหรือขยายระยะเวลาให้มีการจัดการเลือกตั้ง (ภายใน 45 วัน) ได้ตามความจำเป็นเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ’ – กล่าวคือหากจังหวัดไหนมี ‘พฤติการณ์พิเศษ’ ที่ก่อให้เกิดความล่าช้าเรื่องการนับคะแนนที่เสี่ยงจะเลยเที่ยงคืนจริง คณะกรรมการเลือกตั้งอาจออกคำสั่งเพื่อขยายระยะเวลาเกิน 45 วันได้

 

“9. นอกจากการทบทวนวันเลือกตั้ง ทาง กมธ. ยังได้หารือกับทาง กกต. ให้เร่งหารือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่องทบทวนวันรับปริญญาที่ปัจจุบันถูกกำหนดไว้เป็นวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะกระทบต่อความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นสำหรับ ‘บัณฑิต’ จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าวันเลือกตั้งจะยังคงเป็น 1 กุมภาพันธ์ หรือเปลี่ยนมาเป็น 2 กุมภาพันธ์

 

“10. หลังจากประชุมเสร็จ ทางเลขาฯ กกต. สัญญาว่าจะนำแนวทางดังกล่าวในการคลายข้อกังวลทางกฎหมายต่างๆ ไปหารือกับทางคณะกรรมการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาข้อเสนอของ กมธ. ให้มีการทบทวนวันเลือกตั้งจากวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ มาเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทาง กกต. ตัดสินใจไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว”

 

อ้างอิง:

  • เฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X