×

พริษฐ์ยืนยัน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหนนี้ไม่มีอะไรเกินเลยฉบับปี 2563 ที่รัฐสภาเคยเห็นชอบ ด้านนิกรเผย พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เอาด้วย

โดย THE STANDARD TEAM
11.02.2025
  • LOADING...
พริษฐ์

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ว่ามีความสำคัญ 2 ด้านคือ เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเข้าใกล้สู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากที่สุด นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในปี 2564 ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการของประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่เคยบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมมาก่อน

 

“อีกความสำคัญหนึ่งคือหากรัฐสภาไม่มีมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งในครั้งหน้า” พริษฐ์กล่าว 

 

พริษฐ์กล่าวอีกว่า วาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่เป็นแค่ข้อเรียกร้องของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน หรือเป็นนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกฯ เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา ฉะนั้น บุคคลที่ควรมีส่วนสำคัญในการที่จะพยายามช่วยผลักดันให้วาระดังกล่าวสำเร็จคือนายกฯ แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีกลับไม่เคยสื่อสารเรื่องนี้ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาประกบมีเพียงของพรรคเพื่อไทย ในอีก 2-3 วันนี้ จึงอยากเห็นบทบาทของนายกฯ เข้ามาผลักดันวาระดังกล่าวให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

 

พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นการประชุม ครม. ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็หวังว่าจะมีสัญญาณอะไรออกมา ส่วนที่มี สว. บางคนออกมาให้สัมภาษณ์ เหมือนกับรัฐสภาไม่สามารถที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ซึ่งหากไปเปิดดูคำวินิจฉัยเมื่อปี 2564 จะเห็นย่อหน้าสุดท้ายระบุว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ 

 

“หรือบางคนอาจจะบอกว่าแม้รัฐสภาจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็ต้องทำประชามติ ก่อนที่จะมีการพิจารณาในวาระที่ 1 ผมต้องบอกว่าแม้รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบแต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่ต้องมีการทำประชามติก่อนหลังวาระ 3 ตามมาตรา 256 (8) และหลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็จะต้องมีการทำประชามติอีกรอบ” พริษฐ์กล่าว 

 

พริษฐ์กล่าวว่า แม้เราจะคาดการณ์การลงมติล่วงหน้าไม่ได้ แต่เมื่อเทียบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเมื่อปี 2563 และที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการไปแล้ว และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ เราจะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกัน ไม่ได้มีการเสนอเนื้อหาอะไรที่เกินเลยไปกว่าที่เคยเสนอเมื่อปี 2563 เลย อย่างไรก็ตาม เรายินดีรับฟังทุกข้อทักท้วงและชี้แจงทุกข้อสงสัย

 

ส่วนหากมีการเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พริษฐ์ระบุว่า ต้องรอดู ว่ามีการเสนอญัตติให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อน ตนเองก็จะอภิปรายว่าไม่เห็นด้วย และขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกอย่าง รวมถึงเราต้องถามกลับไปว่า ผู้ที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นคาดหวังที่จะได้รับผลอะไร อย่างไรก็ตาม แม้จะลงมติแล้วไม่ผ่าน พรรค ประชาชนคงจะต้องมีการหาแนวทางต่อไปในการผลักดันที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่คำถามนี้ก็ควรที่จะทำรัฐบาลด้วย เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน

  • ชาติไทยพัฒนาจ่อโหวตไม่เห็นชอบร่างของพรรคประชาชน

 

ด้าน นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญฯ สภาผู้แทนราษฎร คาดการณ์ถึงการประชุมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ว่า โอกาสที่จะผ่านน่าจะยาก เพราะยังมีปัญหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับจำนวนครั้งในการออกเสียงประชามติ ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันจนมีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการเพิ่มมาตรา 256/1 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฉะนั้น จะต้องประชามติสอบถามประชาชนก่อน จนทำให้ที่ประชุมรัฐสภา ที่เคยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256/1 นี้ ต้องชะลอไป 

 

ส่วนการพิจารณาของรัฐสภาในครั้งนี้ ก็ยังมีปัญหาการพิจารณาว่า รัฐสภา สามารถพิจารณาได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงมติของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งหากสมาชิกรัฐสภาลงมติ ก็อาจถือว่าเข้าข่ายมีความผิดทันที เพราะกระทำการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และมั่นใจว่าในประเด็นนี้จะต้องมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน 

 

นิกร ยังกล่าวถึงกรณีที่อาจจะมีผู้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการเสนอ แต่ใครจะเป็นผู้เสนอ เพราะวุฒิสภา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยื่น เพราะหากไม่ลงคะแนนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่า จบปัญหา หรือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยื่น เพราะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง ดังนั้น ส่วนตัวจึงยังเชื่อว่า จะมีผู้ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ยื่น เพราะถือว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีประเด็น เพราะสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติไปแล้ว สุ่มเสี่ยงที่จะได้จริยธรรมได้ 

 

นิกรเปิดเผยด้วยว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะไม่ลงมติเห็นชอบให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคประชาชน เนื่องจากมีการแก้อย่างเป็นนัยสำคัญในมาตรา 256 (8) ที่ไปเปิดช่องให้สามารถแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ได้ ซึ่งขัดกับหลักการของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 พรรคชาติไทยพัฒนาจึงจะไม่ลงมติให้แน่นอน และหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาชนเสนอในร่างแก้ไข ในวาระแรกที่ให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยเสียงวุฒิสภา 1 ใน 3 ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายถือเป็นกฎหมายแม่ จะต้องไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย แต่จะต้องไม่ถึงขั้นแก้ไขไม่ได้ รวมถึงยังมีปัญหาทางการเมืองถึงที่มาของ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ดังนั้น จึงมั่นใจว่า การแก้ไขครั้งธรรมนูญครั้งนี้ “ยากถึงยากมาก” 

 

ส่วนหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องจัดการออกเสียงประชามตินั้น นิกรมองว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็ยังรอการพิจารณา ซึ่งคาดว่า อย่างน้อยคือในช่วงกรกฎาคมนี้ ถ้าระหว่างนี้ จะจัดการออกเสียงประชามติ ก็จะต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority ก็ยังไม่มั่นใจว่า จะผ่านหรือไม่ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising