×

เหรียญทองของหัวใจ ‘เทนนิส พาณิภัค’ จอมเตะในดวงใจตลอดกาล

08.08.2024
  • LOADING...

“หนูคิดมานานมากแล้วว่าอยากจะเลิกเล่นตั้งแต่ก่อนโอลิมปิกที่โตเกียว” คือความในใจของ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่เก็บซ่อนไว้ในใจมาโดยตลอด

 

เหตุผลของคนที่อยากจะอำลาไปนั้นเรียบง่าย เพราะร่างกายของเธอเต็มไปด้วยอาการบาดเจ็บที่สะสมตลอดช่วงระยะเวลา 17 ปีที่ได้เริ่มเข้าสู่วงการเทควันโด และอีก 13 ปีในนามของนักกีฬาทีมชาติไทย ไม่นับรายละเอียดอีกมากมายของการฝึกซ้อมและการดูแลร่างกายที่ต้องบอกว่าแสนสาหัส

 

ความจริงแล้วพาณิภัคไม่ต้องทนแล้วก็ได้ เธอประสบความสำเร็จทุกอย่างและอยู่ในสถานะของ ‘ตำนานตลอดกาล’ ไปแล้ว

 

แต่เธอยังคงลงแข่งขันใน ‘ปารีส 2024’ ที่เป็นการแข่งขันรายการสุดท้ายของชีวิต

 

 

การกลับมาอีกครั้งของพาณิภัคถือเป็นเรื่องที่เคยอยู่เหนือความคาดหมายของใครหลายคน ที่คิดว่าหลังการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในชีวิตและปลายทางแห่งความฝันของเธอ บางทีเธอควรจะลาวงการในระหว่างที่ยังอยู่บนจุดสูงสุด

 

แต่นั่นก็เป็นเพียงความคิดและความรู้สึกของคนนอก

 

ด้วยวัยที่ยังน้อย วันนี้อายุของเธอเพียงแค่ 26 ปี ร่างกายและกำลังวังชายังดีพอสำหรับการแข่งขัน การตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อจึงเกิดขึ้น แม้ว่านั่นจะหมายถึงการที่เธอจะต้องอดทนและพยายามอย่างหนักหน่วงเป็นระยะเวลาอีกอย่างน้อย 3 ปีก็ตาม

 

พยายามแค่ไหน?

 

โปรแกรมการซ้อมของนักเทควันโดทีมชาติไทยภายใต้การดูแลของ โค้ชเช-ชัชชัย เช หรือ ชเวยองซอก เป็นที่รู้กันว่าสุดโหด แต่สำหรับนักกีฬาระดับพาณิภัค คู่ซ้อมของเธอโหดไปอีก เพราะไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นการไปลงเตะกับผู้ชาย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและฝึกความรวดเร็ว

 

จะบอกว่าลงเตะกับผู้ชายก็ใช่ แต่ในชีวิตจริงคือการที่เธอก็ต้องโดนคู่ซ้อมชายไล่เตะเหมือนกัน

 

ความเจ็บปวดมันมากเสียจนไม่รู้จะบอกอย่างไร และอาการบาดเจ็บที่สะสมมานั้น หากรวมๆ กันแล้วก้อนอาจจะใหญ่เท่าโลกเลยก็ว่าได้

 

อาจมีคนที่ไม่เคยรู้ว่าเอ็นหัวเข่าของพาณิภัคฉีกขาดไปข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งเธอบอกแค่ว่า ‘พัง’ ไปแล้ว 

 

ซ้อมทุกวันก็เจ็บทุกวัน

 

แข่งที่ไหนก็เจ็บที่นั่น

 

 

แต่สำหรับพาณิภัคแล้ว อย่างน้อยที่สุดขอให้เธอได้โอกาสในการลงป้องกันแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกอีกสักครั้งเถอะ

 

ภายใต้รูปร่างที่ผอมบางและขายาวที่สามารถพลิกแพลงลูกเตะจนยากที่คู่แข่งจะหารับมือได้ สิ่งที่แข็งแกร่งที่สุดของเทนนิสคือหัวใจ

 

เธออาจจะเสียน้ำตานับไม่ถ้วนในระหว่างการซ้อม หรือหากพบกับความผิดหวังในการแข่งขัน แต่ทุกครั้งที่ ‘ล้ม’ เธอจะ ‘ลุก’ ขึ้นมาใหม่เสมอ


ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอคือลูกสาวครอบครัวคนรักกีฬาที่ถูกปลูกฝังทัศนคติมาเป็นอย่างดีจาก คุณพ่อศิริชัย วงศ์พัฒนกิจ

 

แต่อีกส่วนเป็นเพราะหัวใจเธอก็ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน

 

ในวัยเด็ก พาณิภัคไม่ใช่นักกีฬาพรสวรรค์อะไร เธอมาเล่นเทควันโดแบบ ‘หลวมตัว’ เพราะลองเล่นกีฬาอื่นแล้วไม่รอด และจากที่คิดว่าจะลงเตะเล่นสนุกๆ กับเพื่อนในวัยใกล้เคียงกัน ไปๆ มาๆ จับพลัดจับผลูกลายเป็นนักกีฬาเฉยเลย

 

จากรายการแรกที่โดนคุณพ่อหลอกให้ลงแข่งโดยใช้อุบายในการพาไปเที่ยว แถมยังแพ้ขาดลอยด้วย แต่หนูน้อยเทนนิสกลับค่อยๆ ตกหลุมรักกีฬาชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

แพ้ได้แพ้ไปไม่ยอมแพ้ จนวันหนึ่งเธอก็ชนะขึ้นมา และหลังจากนั้นก็กลายเป็นดาวเด่นของวงการเทควันโดภายในประเทศ

 

แต่ถึงอย่างนั้นเธอเองก็เคยผ่านบทเรียนชีวิตที่เจ็บปวดที่สุดมาแล้วในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต

 

พาณิภัคในวัยยังไม่ถึง 20 ปีกำลังอยู่ในช่วงที่มั่นใจได้เจอกับ คิมโซฮุย จอมเตะทีมชาติเกาหลีใต้ ชาติผู้ให้กำเนิดกีฬาชนิดนี้ ในการแข่งรอบ 8 คนสุดท้าย ซึ่งจอมเตะสาวไทยทำคะแนนนำไปก่อน 4-2 โดยที่เหลือเวลาอีกไม่มากนัก

 

ปรากฏว่าในช่วง 4 วินาทีสุดท้ายเธอพลาด และกลายเป็นคนแพ้แทน เพราะไม่เหลือเวลาพอที่จะแก้ตัว

 

วันนั้นสาวสุราษฎร์ธานีร้องไห้แบบไม่อายใคร เพราะเจ็บปวดกับบทเรียนชีวิตที่ได้รับ

 

 

ยังดีที่ตามกฎของการแข่งเทควันโด เธอได้โอกาสแก้ตัวในกฎ Repechage เพราะคิมโซฮุยได้เข้าชิงชนะเลิศ และเมื่อมีโอกาสแล้วพาณิภัคจะไม่ยอมพลาดอีก เธอเอาชนะคู่แข่ง คว้าเหรียญทองแดงจากโอลิมปิกครั้งนั้นมาเป็นรางวัลปลอบใจตัวเองได้สำเร็จ

 

แต่รางวัลที่ใหญ่ที่สุดคือบทเรียนที่เธอได้รู้ซึ้ง

 

บทเรียนนั้นคือ ‘ตราบใดที่เวลายังไม่หมด เธอจะไม่ยอมหยุด’ จะเตะต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเวลาการแข่งขันจะหมดลง เพราะไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ผ่อนเกมแล้วพลาดโดยที่ไม่มีโอกาสจะได้แก้ตัวอีก

 

เพียงแต่มันมีช่วงเวลาที่เธอรู้สึกท้อแท้และหนีหายไปจากเทควันโดเหมือนกัน

 

แต่สุดท้ายหัวใจก็บอกกับตัวเธอเองว่า กลับมาเถอะ เธอคิดถึงมันมากเกินใจจะอดทนแล้ว

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพาณิภัคเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะทางจิตใจ ฟอร์มของเธอทั้งดุดันและเยือกเย็นในเวลาเดียวกัน

 

ในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พาณิภัคที่ไล่เตะคู่แข่งกระเจิงทุกรอบ (ในรอบรองชนะเลิศเธอชนะ มิยู ทาคาดะ ทีมชาติญี่ปุ่น ถึง 34-12) ด้วยความคิดที่ไม่อยากจะต้องผิดหวังอะไรอีก

 

แต่ถึงรอบชิงชนะเลิศ เธอต้องตกเป็นรอง เซเรโซ อิเกลเซียส จอมเตะสาวกระทิงดุจากทีมชาติสเปน ในยกสุดท้าย โดยโดนแซงนำ 10-9 และเหลือเวลาอีกแค่ 37 วินาที

 

สาวไทยไม่มีทางเลือกนอกจากจะเดินหน้าเข้าใส่ แต่เวลานั้นเหลือน้อยลงไปทุกที จนคิดว่าความหวังอาจจะไม่มีแล้ว

 

แต่พาณิภัคไม่คิดแบบนั้น เธอพยายามต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือเวลาอีกแค่ 7 วินาที ลูกเตะของเธอเข้ากลางลำตัวของคู่แข่ง ทำให้คะแนนพลิกกลับมานำ 11-9 และกลายเป็นลูกเตะ 7 วินาทีแห่งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของวงการเทควันโดไทย

 

 

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2004 ด้วยเหรียญทองแดงของ วิว-เยาวภา บุรพลชัย ฮีโร่คนแรก เทนนิสพาเทควันโดไทยยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกได้สำเร็จ

 

หลังจากนั้นเรายังได้เห็นตำนานอีกบทของเธอในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่เมืองหางโจวเมื่อปีที่แล้ว เมื่อเธอตกเป็นฝ่ายตามหลัง กั๊วจิง จอมเตะสาวเจ้าถิ่น 6-0 และมีช่วงที่ไม่ว่าจะเตะเท่าไรคะแนนก็ไม่ขึ้น 

 

ในทางตรงกันข้าม คะแนนของคู่แข่งกลับขึ้นเอาๆ จนเป็น 23-0

 

สีหน้าแววตาของเธอมองไกลๆ ก็รู้ว่าใจเสียไปแล้ว เพียงแต่ด้วยความพยายามของโค้ชเชและ พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ที่ประท้วงเรื่องคะแนน แบบหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ยอมรับการตัดสินที่ผิดปกติอย่างเด็ดขาด

 

สุดท้ายสถานการณ์กลับมาอยู่ ณ จุดเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ พาณิภัคคิดอะไรได้บางอย่าง หลังเห็นทุกคนไม่ว่าจะโค้ช นายกสมาคม รวมถึงครอบครัวที่ส่งกำลังใจเชียร์อยู่บนอัฒจันทร์ ไม่มีใครสักคนที่ทำให้รู้สึกว่าต้องยอมแพ้

 

“ช่างแม่ง”

 

สองคำที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของทุกสิ่ง เพราะจอมเตะสาวไทยไม่คิดอะไรแล้วทั้งนั้น

 

หลังจากนั้นคือตำนาน เมื่อเธอกลับมาไล่หวดจนแซงเอาชนะ คว้าเหรียญทองที่บีบหัวใจมากที่สุดครั้งหนึ่งมาครองได้สำเร็จ

 

แต่เพราะรู้ดีว่าร่างกายของเธอกำลังถึงขีดจำกัด ฮีโร่สาวของชาวไทยจึงตั้งใจที่จะทิ้งทวนให้ดีที่สุดในโอลิมปิกที่กรุงปารีส

 

นี่คือรายการสุดท้ายของเธอแล้ว ซึ่งหมายถึงการเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

 

ซ้อมวันละ 3 เวลา มีเวลาว่างก็ศึกษาเทปการเล่นของคู่แข่ง ลองคำนวณความเป็นไปได้ว่าจะต้องพบกับใครบ้าง และหากเจอกับคู่แข่งเหล่านั้นจะรับมืออย่างไร โดยมีคุณพ่อเป็นทีมงานคอยช่วย ‘แกะท่า’ ของคู่แข่งไว้ให้ว่าใครเล่นแบบไหน และเจอแบบนี้ควรจะทำอย่างไร

 

เพราะวันนี้เธอไม่ใช่นักกีฬาหน้าใหม่ แต่เป็นนักกีฬามือหนึ่ง (เท้าก็หนึ่ง) เธอเก่งที่สุดและทุกคนจ้องที่จะโค่นเธอลงมาจากบัลลังก์ให้ได้

 

เพียงแต่สำหรับพาณิภัคแล้ว ‘ตำแหน่ง’ นั้นไม่สำคัญ จะมือหนึ่ง สอง หรือสาม เมื่อลงสนามทุกคนก็ถือว่าเริ่มต้นใหม่เหมือนกันหมด ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน

 

สิ่งเดียวที่เธอต้องการคือการทำให้ดีที่สุด ‘ใส่ให้เต็มแม็กซ์’ 

 

เพราะสุดท้ายไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เธอทำดีที่สุดแล้วและไม่มีอะไรที่จะต้องเสียใจอีก

 

และเธอก็ทำได้อย่างดีที่สุดแล้วจริงๆ

 

บรรดาคู่ต่อสู้ที่ดาหน้าเข้ามา อูเมมะ เอล บุชชี, ดุนยา อาบูตาเลบ, เลนา สตอยโกวิช เทนนิสโชว์เพลงเตะที่เหนือกว่าจัดการได้หมด

 

จนถึงรอบชิงชนะเลิศที่เป็นการรีแมตช์ ‘ช่างแม่ง’ กับกั๊วจิง คู่ปรับเก่าชาวจีน ที่เป็นการต่อสู้ที่สูสีและตึงเครียดอย่างยิ่ง

 

แต่พาณิภัค และด้วยการทำหน้าที่ข้างสนามของโค้ชเชที่ขอรีวิวจังหวะสำคัญ โดยเฉพาะในยกสุดท้าย เรียกคะแนนที่ควรได้ของเธอและนำไปสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่

 

 

จอมเตะสาวไทยร้องลั่นด้วยความดีใจหลังได้รับชัยชนะ ก่อนจะก้มกราบขอบคุณโค้ชเชที่สอนสั่งจนมาถึงวันที่เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยด้วยน้ำตานองหน้า

 

ทำเอาคนดูทั้งในสนามและทางบ้านน้ำตาไหลตามไปด้วย

 

ที่สำคัญวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของเธอด้วย

 

ไม่มีของขวัญใดจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว

 

แต่บทสรุปสุดท้ายสำหรับตำนานจอมเตะโลกไม่ลืมคนนี้ยังเหลืออีกอย่าง

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยหยุดพยายาม จากเด็กที่ร่างกายอ่อนแอ ลงแข่งก็แพ้ พลาดในการแข่งขันรายการใหญ่จนเกือบถอดใจ

 

สุดท้ายความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร เธอก้าวสู่การเป็นฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย และกวาดแชมป์ทุกรายการบนโลกใบนี้มาครอง

 

 

นี่คือ เหรียญทองของหัวใจ ที่พาณิภัคคว้ามาครองได้ด้วยความพยายามของเธอเอง

 

และคนที่คล้องเหรียญนี้ให้คือคนไทยทุกคนที่ได้รับแรงบันดาลใจและไฟฝันจากเธอ

 

17 ปีมาแล้วที่ลูกสาวบ้านวงศ์พัฒนกิจกลายเป็นนักกีฬาเทควันโด

 

13 ปีมาแล้วที่เธอลงแข่งขันในนามนักกีฬาทีมชาติไทย

 

วันนี้คือวันสุดท้ายที่เราจะได้เห็นเทนนิสในภาพนี้ แต่ความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้นแล้วยังคงอยู่ และจะอยู่ตลอดไป

 

ขอบคุณจากหัวใจสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมานะเทนนิส

 


 

เข้าชมเว็บไซต์พิเศษได้แล้ววันนี้: https://thestandard.co/paris2024/

 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

FYI
  • เทนนิสมีพี่ชายชื่อ ‘เบสบอล’ และพี่สาวชื่อ ‘โบว์ลิง’ สมกับเป็นครอบครัวคนกีฬา
  • เธอมีโรงเรียนสอนเทควันโดเป็นของตัวเองแล้วชื่อว่า ‘Panipak Taekwondo’
  • เธอยังเป็น Content Creator คนหนึ่งที่แชร์เรื่องราวของตัวเองผ่านช่อง TikTok @Panipak2540 ด้วย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising