×

Chariots of Fire ด้วยดวงใจและไฟฝัน บันทึก 100 ปี โอลิมปิกเกมส์ ปารีส

26.07.2024
  • LOADING...

เย็นย่ำวันนี้ที่ปารีส โลกจะได้เห็นพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ยิ่งใหญ่และตระการตาที่สุด เมื่อทุกอย่างถูกเปลี่ยนจากการจัดในพื้นที่สนามกีฬามาเป็นสายน้ำของ ‘ลา แซน’ (La Seine) 

 

ที่นั่งของผู้ชมเปลี่ยนจากอัฒจันทร์ในสนามมาอยู่ริมสองฝั่งของสายน้ำที่โรแมนติกที่สุดในโลก โดยที่ขบวนเรือจะนำนักกีฬานับหมื่นคนค่อยๆ เดินทางจากสะพาน Pont d’Austerlitz ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ Pont d’Lena และจัตุรัส Trocadéro

 

ณ ที่แห่งนั้นเราจะได้ชมการแสดงช่วงสุดท้ายของพิธีเปิด ก่อนจะถึงช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดคือการจุดคบเพลิงโอลิมปิกเกมส์ด้วยเปลวไฟที่จุดตามพิธีโบราณที่วิหารศักดิ์สิทธิ์บนเทือกเขาโอลิมเปีย ประเทศกรีซ ต้นกำเนิดกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

โอลิมปิกเกมส์ที่ปารีสจึงจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ณ ตอนนั้น หลังจากที่ห่างหายไปนานถึง 100 ปี

 

แต่เชื่อไหม ถึงทุกอย่างบนโลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากวันนั้น เรื่องราวของการแข่งขัน ‘ปารีส 1924’ ยังคงเป็นนิทานโอลิมปิกที่อยู่เหนือกาลเวลา

 

เรื่องราวของสองนักวิ่ง คนหนึ่งวิ่งเพื่อชัยชนะ อีกคนวิ่งเพื่อศรัทธา ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์อมตะ Chariots of Fire

 

 

กลุ่มนักวิ่งพลังหนุ่มที่สวมเสื้อเชิ้ตและกางเกงสีขาวที่เปรอะเปื้อนไปด้วยคราบทรายและน้ำทะเลที่กระเซ็นในทุกฝีก้าว ทุกคนมีสีหน้าที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น แววตาที่เปี่ยมไปด้วยความฝัน และรอยยิ้มของมิตรภาพ

 

นั่นคือฉากการลงซ้อมวิ่งริมชายหาดเซนต์แอนดรูว์ส ชายฝั่งสกอตแลนด์ ของกลุ่มนักวิ่งทีมชาติสหราชอาณาจักร ที่อยู่ในช่วงต้นของภาพยนตร์เรื่อง Chariots of Fire ผลงานการกำกับของ ฮิวจ์ ฮัดสัน ที่ออกฉายเมื่อปี 1981 และได้รับรางวัลออสการ์ถึง 4 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย

 

โดยที่ในเบื้องหลังนั้นคือ Chariots of Fire ผลงานเพลงบรรเลงโดย Vangelis ที่กลายเป็นหนึ่งในเพลงที่เพราะที่สุดตลอดกาลสำหรับโลกกีฬา ที่แทบทุกคนบนโลกต้องเคยได้ฟังสักครั้งหนึ่ง

 

องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ฉากนี้ เพลงนี้ และภาพยนตร์เรื่องนี้ อยู่ในความทรงจำของผู้คนมายาวนานกว่า 43 ปี นับจากวันที่ออกฉาย

 

เดวิด พัตต์แนม ในฐานะโปรดิวเซอร์ เล่าถึงความงามของสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “สิ่งที่เป็นความงดงามเกี่ยวกับกรีฑาที่อยู่ตรงข้ามกับกีฬาอื่นๆ คือการเป็นกีฬาที่ไม่มีความซับซ้อน”

 

“พวกเขาก็แค่ขว้างอะไรสักอย่าง กระโดด หรือวิ่งแข่ง มันเป็นแก่นแท้ในเรื่องความพยายามของมนุษย์”

 

ภาพ: Britannica

เอริก ลิดเดลล์ (เอียน ชาร์ลสัน) และ แฮโรลด์ อับราฮัมส์ (เบน ครอสส์) ในภาพยนตร์

 

แต่สิ่งที่เป็นแก่นแท้จริงๆ สำหรับ Chariots of Fire ไม่ได้อยู่กับเรื่องเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องราวของ 2 นักวิ่งที่เป็นตัวแทนแต่ละด้านของความเชื่อระหว่าง เอริก ลิดเดลล์ มิชชันนารีผู้เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ เพราะพระเจ้าติดปีกไว้ที่ปลายเท้า ทำให้เขาคือคนที่วิ่งได้เร็วที่สุด กับ แฮโรลด์ อับราฮัมส์ นักวิ่งผู้ที่อาจมีพรสวรรค์ไม่เท่า แต่ก็ทดแทนด้วยความมานะพยายามไม่แพ้ใคร

 

ฉากในชีวิตจริงของทั้งคู่เกิดขึ้นในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปารีส ในปี 1924 กีฬาโอลิมปิกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น เพราะเป็นมหกรรมกีฬาที่มีการ Reinvent รูปแบบการแข่งขันขึ้นใหม่ เพื่อให้ดีขึ้นและเป็นที่นิยมมากขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้นมีตั้งแต่การเติมพิธีการต่างๆ เข้ามาเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีปฏิญาณตนของนักกีฬา ขบวนพาเหรด ไปจนถึงการจุดคบเพลิงในกระถางคบเพลิงขนาดใหญ่ ไม่นับการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่เพื่อใช้รองรับการแข่งขัน และมีนักกีฬาที่คัดมาแล้วว่าเก่งกาจจริงๆ จากทั่วโลก

 

เพราะความเข้มข้นนั้นทำให้การคัดตัวนักกีฬาที่จะติดทีมชาติไปโอลิมปิกเกมส์เต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทาย

 

นักกีฬาไม่ได้เพียงแค่พิสูจน์ฝีมือหรือฝีเท้ากับคู่แข่ง

 

พวกเขาต้องพิสูจน์หัวใจของตัวเองด้วย

 

เราได้เห็นสิ่งนี้ในเรื่องราวส่วนของอับราฮัมส์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ถูกตีตราเพียงเพราะมีเลือดต้องสาปของครอบครัวชาวยิวที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้คนในยุคนั้น สิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขามีความสุขได้คือการได้เข้าร่วมทีมกรีฑาของชมรมในมหาวิทยาลัย

 

อับราฮัมส์นับว่าเป็นนักวิ่งที่เก่งกาจ อย่างน้อยก็สร้างตำนานด้วยการวิ่งรอบมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายทำลายสถิติที่ยืนยาวมาเป็นระยะเวลากว่า 700 ปี

 

ความทะเยอทะยานนี้ทำให้เขาถูกท้าทายโดยรุ่นพี่คนหนึ่ง ท่ามกลางคำกระแทกแดกดันชาติกำเนิดของเขาที่ไม่ได้มีเพียงเพื่อนนักศึกษา ที่บางทีอาจไม่ควรนับเป็นเพื่อนด้วยซ้ำ แต่ยังรวมถึงคณาจารย์ที่มีกลุ่มคนที่มีความคิดเหยียดเชื้อชาติอยู่

 

สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันให้อับราฮัมส์ไม่ยอมแพ้และทำลายสถิติ 700 ปีได้สำเร็จ 

 

มากไปกว่านั้นคือเขาตั้งใจเอาดีทางการเป็นนักกรีฑาให้ได้

 

แต่ความพยายามของอับราฮัมส์ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความต่างและความห่างของมนุษย์ เมื่อเทียบกับความไม่ต้องพยายามของ เอริก ลิดเดลล์ บุตรชายของครอบครัวหมอสอนศาสนาผู้เคร่งครัดในการอุทิศตัวแก่พระผู้เป็นเจ้า

 

ลิดเดลล์ว่องไวไปมาเหมือนลมพัด ชื่อเสียงของเขาขจรขจายไปทั่วแดนไฮแลนด์ จนสุดท้ายได้ติดทีมชาติสกอตแลนด์ด้วยการสนับสนุนของพ่อและชาวเมือง และลงแข่งขันในรายการภายในของสหราชอาณาจักรในการวิ่งแข่ง 400 เมตร

 

การแข่งวันนั้นเขาเกิดพลาดสะดุดหกล้ม ซึ่งควรจะพ่ายแพ้ไปแล้ว แต่กลับลุกขึ้นมาสับเต็มฝีเท้าและแซงทุกคนเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ 

 

ภาพนั้นอยู่ในสายตาของ แซม มาสซาวินี โค้ชกรีฑาผู้โด่งดัง รวมถึงอับราฮัมส์ที่มองเห็นความต่างของสิ่งที่เรียกว่า ‘พรสวรรค์’

 

เพราะรู้ตัวว่าจะต้องแพ้แต่ไม่อยากแพ้ อับราฮัมส์พยายามขอร้องมาสซาวินีให้ช่วยฝึกฝนเพื่อเอาชนะลิดเดลล์ให้ได้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง 

 

จนกระทั่งทั้งสองได้มีโอกาสวัดฝีเท้ากันจริงๆ ในการแข่งวิ่ง 100 เมตรที่ลอนดอน

 

ลิดเดลล์เอาชนะอับราฮัมส์ได้อย่างง่ายดาย จนทำให้ฝ่ายหลังทดท้อใจ คิดอยากจะเลิกวิ่ง แต่ได้คนรักช่วยเตือนสติไว้ และการยื่นมือมาช่วยในนาทีสุดท้ายของมาสซาวินีที่พบวิธีฝึกฝนที่จะทำให้วิ่งได้ไวขึ้น ทำให้อับราฮัมส์ตัดสินใจพยายามต่อไป สุดท้ายทั้งสองได้ไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ปารีสด้วยกันในฐานะนักกรีฑาทีมสหราชอาณาจักร

 

และตำนานก็เกิดขึ้นที่นั่นเอง

 

‘The Flying Scotsman’ เอริก ลิดเดลล์ ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 1924

 

ลิดเดลล์ตั้งใจลงแข่งเพื่อคว้าเหรียญทองให้กับทีมชาติให้ได้ โดยที่หลังจากนั้นจะหันหลังให้กับการวิ่งและเดินทางไปสอนศาสนากับครอบครัวในประเทศจีน – ประเทศที่เขาเกิดมา – แต่ปรากฏว่าการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรที่ถูกวางตัวไว้ดันมีขึ้นในวันอาทิตย์

 

สำหรับศาสนิกชนผู้เคร่งครัดในศรัทธา ลิดเดลล์ไม่อาจไปร่วมแข่งขันได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

 

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับประเทศ ถึงขั้นขึ้นพาดหัวตัวไม้บนหนังสือพิมพ์ ผู้คนพูดถึงไปทั่ว แต่ลิดเดลล์ยืนยันว่าเขาไม่มีวันเปลี่ยนใจ 

 

สุดท้ายทางออกคือต้องเปลี่ยนแปลงผู้ลงแข่งขันแทน

 

ลิดเดลล์ต้องไปแข่งวิ่ง 200 เมตรและ 400 เมตร หรือในขณะนั้นเรียกกันว่าการวิ่งแบบ ‘ควอเตอร์ไมล์’ ซึ่งเป็นการวิ่งระยะไกลที่เขาไม่ช่ำชองนัก ส่วนอับราฮัมส์ต้องมาวิ่งในระยะ 100 เมตรแทน

 

อับราฮัมส์ ผู้ที่ฝึกฝนมาอย่างหนักทำได้สำเร็จด้วยการคว้าเหรียญทอง วิ่ง 100 เมตรชาย เหรียญแรกมาครองได้ และยังไม่มีใครทำได้อีกเลยจนเวลาผ่านมา 100 ปี พิสูจน์คุณค่าของตัวเองว่าสายเลือดในกายไม่สำคัญเท่าหัวใจที่ไม่ยอมแพ้

 

ขณะที่ลิดเดลล์สร้างตำนาน ‘The Flying Scotsman’ อันยิ่งใหญ่ เมื่อลงแข่งวิ่งประเภท 400 เมตร ที่ถูกมองว่านักวิ่งระยะสั้นอย่างเขาต่อให้เร็วแค่ไหนก็ไม่น่ายืนระยะได้ไหว

 

แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เสียงปืนให้สัญญาณดัง ลิดเดลล์วิ่งเต็มความเร็วของฝีเท้า ผ่านครึ่งทางได้ด้วยเวลา 22.2 วินาที ซึ่งทุกคนคิดว่าไม่นานเขาคงหมดแรง แต่ปรากฏว่าพ่อนักวิ่งชาวสกอตไม่ยอมหยุด เขายังวิ่งต่อด้วยความเร็วที่ไม่มีใครตามทัน สุดท้ายลิดเดลล์เข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งด้วยเวลา 47.6 วินาที ทิ้งห่างคู่แข่งไกลถึง 5 เมตร

 

“พระเจ้าสร้างผมมาด้วยประสงค์บางอย่าง ซึ่งเมื่อพระองค์สร้างให้ผมวิ่งได้เร็ว ในเวลาที่ผมวิ่งผมจึงวิ่งด้วยความรู้สึกปีติยินดี”

 

2 เหรียญทองของ 2 นักวิ่งที่ยืนอยู่คนละด้าน เป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ในเรื่องของพรสวรรค์และความพยายาม

 

2 คนที่พร้อมจะเผาหัวใจให้เป็นจุณเพื่อไปสู่ชัยชนะ 

 

นี่คือจิตวิญญาณของการแข่งขันกีฬาที่เคยลุกโชติช่วงในปารีสเมื่อ 100 ปีที่แล้ว และยังคงร้อนแรง เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายจนถึงปัจจุบัน

 

และหวังว่าเราจะได้เห็นจิตวิญญาณแบบเดียวกันนี้อีกครั้งใน ‘ปารีส 2024’ ที่กำลังจะเริ่มต้นในวันนี้

FYI
  • ชัยชนะและเหรียญทองทำให้ทั้งลิดเดลล์และอับราฮัมส์ได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษ และคงสถานะนั้นตราบจนสิ้นลมหายใจ
  • หลังจบปารีส 1924 ลิดเดลล์เดินทางไปประเทศจีนเพื่อสอนศาสนา และมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือชาวจีนในช่วงที่ถูกประเทศญี่ปุ่นรุกรานครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยไม่ยอมเดินทางออกจากประเทศ จนสุดท้ายเสียชีวิตในค่ายกักกันของกองทัพญี่ปุ่นในปี 1945 ด้วยอาการป่วยเนื้องอกในสมอง ไม่กี่เดือนก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X