×

ครบรอบ 5 ปีข้อตกลงปารีส ย้อนดูคำสัญญานานาชาติกู้วิกฤตโลกร้อน เชื่อได้แค่ไหน?

14.12.2020
  • LOADING...
ครบรอบ 5 ปีข้อตกลงปารีส ย้อนดูคำสัญญานานาชาติกู้วิกฤตโลกร้อน เชื่อได้แค่ไหน?

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นานาประเทศมีความคืบหน้าที่ดีต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน
  • สหราชอาณาจักรจะมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของที่ประชุมโลกร้อน COP26 ที่ถูกมองว่าเป็นเวทีสำคัญที่สุดนับแต่การประชุมในปรุงปารีส ปี 2015
  • ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ออสเตรเลียต้องทบทวนตัวเองใหม่ และกำลังถูกกดดันให้ต้องออกนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความสำเร็จในการลดคาร์บอนของ EU มาจากการตั้งเป้าหมายที่ต่ำเกินไป
  • ฟิลิปปินส์อาจเป็นต้นแบบให้ชาติอาเซียนอื่นๆ สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นเศรษฐกิจพลังงานผสม

 

ย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส สมาชิกองค์การสหประชาชาติ 196 ประเทศ บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อยับยั้งมหันตภัยใหญ่ของโลก นั่นคือปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ด้วยการยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือหากทำได้ จะพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

นับแต่นั้นมา ประเทศที่ให้สัตยาบันเป็นภาคี ‘ความตกลงปารีส’ ต้องนำเสนอแผนงานต่อองค์การสหประชาชาติ เพื่อชี้แจงว่าแต่ละประเทศจะดำเนินมาตรการอย่างไรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัจจัยก่อปัญหาโลกร้อน 

 

ความตกลงปารีสไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และยึดหลักคำสัญญาภายใต้ ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ หรือ Nationally Determined Contributions (NDS) ที่แต่ละประเทศเสนอต่อ UN 

 

จึงไม่น่าแปลกที่หลายคนอาจคลางแคลงใจว่า ประเทศที่ให้สัตยาบันนั้นจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ โดยเฉพาะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก

 

ในโอกาสครบรอบ 5 ปี การบรรลุข้อตกลงปารีส บริษัทผู้ให้คำปรึกษา Systemiq เปิดเผยรายงานที่มีเนื้อหาน่าสนใจว่า แนวทางการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จมากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ 

 

 

บทความนี้ THE STANDARD จะพาไปดู 5 ประเทศที่เป็นกุญแจสำคัญ หรือต้นแบบที่น่าสนใจต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน พร้อมประเมินว่าประเทศเหล่านี้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่

 

สหราชอาณาจักร

ไม่เพียงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 5 ของโลก แต่สหราชอาณาจักรจะเป็นประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ในเมืองกลาสโกว์ เดือนพฤศจิกายน ปี 2021 

 

ผู้นำโลกจะมารวมตัวกันเพื่อหารือถึงแนวทางและก้าวต่อไปของการแก้ปัญหาโลกร้อน ถือเป็นการประชุม COP ครั้งสำคัญที่สุด นับแต่การประชุมในกรุงปารีสเมื่อ 5 ปีก่อน และเจ้าภาพมีบทบาทมากต่อความสำเร็จ หรือล้มเหลวของการประชุม

 

นับแต่ปี 2008 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้บัญญัติกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 16% ของปริมาณในปี 2005 ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change Committee (CCC)

 

สหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จกับเป้าหมายนี้ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งประเทศได้ลดลงถึง 45% เมื่อเทียบกับช่วงปี 1990

 

หลังสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือที่เรียกกันว่า ‘Brexit’ ส่งผลให้ต้องเสนอแผนใหม่ต่อองค์การสหประชาชาติ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 80% ภายในปี 2030 และชดเชยส่วนที่ลดลงไม่ได้ ด้วยการปลูกต้นไม้ เป็นต้น

 

สตรีทอาร์ตเมืองกลาสโกว์

 

ภายใต้แผน NDS ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม รัฐบาลให้คำมั่นว่า ไฟฟ้าราว 87% จะต้องมาจากแหล่งคาร์บอนต่ำภายในปี 2030 จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 50% นอกจากนั้น รถยนต์เกือบครึ่งบนท้องถนนจะต้องเป็นรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 6% 

 

ทั้งนี้ ด็อกเตอร์อลิสัน ดูอิก (Alison Doig) จาก Energy and Climate Intelligence Unit (ECIU) ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า การแก้ปัญหาในประเทศอย่างเดียวไม่พอ สหราชอาณาจักรต้องแข็งกร้าวกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ที่ผลิตโดยกระบวนการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อกดดันประเทศที่ยังไม่ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง

 

ออสเตรเลีย

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยสถานะผู้ส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก 

 

เว็บไซต์ Climate Analytics ชี้ว่า ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ออสเตรเลียส่งออกนั้น คิดเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.6% ของทั้งโลก และหากคำนวณแบบรายหัวประชากรแล้ว ชาวออสเตรเลีย 1 คน ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 4 เท่าของชาวอเมริกันทีเดียว

 

ออสเตรเลียเองก็เป็นประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างมาก เห็นได้จากไฟป่าครั้งใหญ่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลกลับไม่ตื่นตัวกับการแก้ปัญหาโลกร้อนเท่าที่นานาประเทศคาดหวัง 

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลของชาติภาคีข้อตกลงปารีสได้เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขยับเป้าหมายขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มาตรการของออสเตรเลียไม่ได้มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน 

 

เป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2020 ของออสเตรเลีย ยังไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้อีกด้วย โดยออสเตรเลียตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 26-28% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2005 แต่ Climate Action Tracker ประเมินเมื่อปลายปีที่แล้วว่า หากออสเตรเลียยังไม่ออกมาตรการเพิ่มเติม จะลดคาร์บอนลงได้ 16% เท่านั้น

 

ไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลีย

 

ด็อกเตอร์บิล แฮร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของ Climate Action Tracker ระบุว่า “ออสเตรเลียควรลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 2 เท่าจากเป้าหมายปัจจุบันด้วยซ้ำ ตามแนวทางของความตกลงปารีส ดังนั้นแผนของออสเตรเลียตอนนี้ถือว่าขาดประสิทธิภาพ

 

“แทบไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่ว่าจะรถยนต์ไฟฟ้า หรือการปรับมาตรฐานการประหยัดพลังงานของรถยนต์ทั่วไป ออสเตรเลียยังเป็นประเทศเดียวใน OECD ที่ไม่มีมาตรฐานการประหยัดพลังงาน ไม่มีอะไรที่ออสเตรเลียทำ หรือพยายามทำแล้วจะนำไปสู่การประหยัดพลังงานเลย

 

“มันเป็นเรื่องที่น่าขายหน้ามาก” 

 

การเมืองโลกที่กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ ยิ่งทำให้สายตาของนานาชาติจับจ้องมาที่ออสเตรเลียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทกับจีนที่เป็นผู้นำเข้าถ่านหินรายสำคัญ และความพ่ายแพ้ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หมายความว่าออสเตรเลียได้ขาดพันธมิตรที่มีจุดยืน ‘นิ่งเฉย’ กับปัญหาโลกร้อนเหมือนออสเตรเลียไปอีกหนึ่งประเทศ

 

ด็อกเตอร์ดูอิก จาก ECIU มองว่า “ถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ออสเตรเลียคงมองตนเองอยู่ในก๊กเดียวกับบราซิล ซาอุดีอาระเบีย และอีกบางประเทศ” แต่ “พอโจ ไบเดนขึ้นรับตำแหน่ง ออสเตรเลียรู้ดีว่าจะถูกมองเป็นพวกแตกแถว จึงอธิบายได้ว่าทำไมท่าทีและวาทกรรมของรัฐบาลจึงเริ่มโอนอ่อนลง”

 

แรงกดดันเหล่านี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทำนายว่า ออสเตรเลียอาจประกาศเป้าหมาย ‘ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ ในอีกไม่นานนี้ 

 

ออสเตรเลียเปลี่ยนท่าทีหลังทรัมป์พ่ายแพ้?

 

สัญญาณบวกนี้มาจากรายงานของหนังสือพิมพ์ The Sydney Morning Herald ว่า นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย เตรียมประกาศเลิกใช้ ‘คาร์บอนเครดิต’ หรือการซื้อขายมลพิษ ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต จากเดิมที่ออสเตรเลียมีแผนใช้เงินแก้ปัญหาความล้มเหลวที่ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้า

 

แต่หากออสเตรเลียเปลี่ยนทัศนคติต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริง จะกลายเป็นประเทศที่เปลี่ยนผ่านสู่ชาติปลอดคาร์บอนได้อย่างรวดเร็ว ด็อกเตอร์แฮร์ ชี้ว่า อุตสาหกรรมพลังงานในออสเตรเลียมีศักยภาพอย่างมาก “ทุกคนทราบดีว่าออสเตรเลียขึ้นชื่อเรื่องแสงอาทิย์ ลม และพื้นที่กว้างขวาง หมายความถึงพลังงานทดแทนที่ราคาย่อมเยา แทนที่ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว”

 

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรป (EU) เป็นกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันอันดับ 5 ของโลก และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 9% ของทั้งโลก ถือเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดอันดับ 3 

 

ด้วยสถานะผู้นำโลก การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ผู้นำชาติ EU เองยังมองว่า ตัวเองต้องเป็นต้นแบบที่ดีของการแก้ปัญหาโลกร้อน

 

ขณะที่สหรัฐฯ ลดบทบาทในยุคนี้ สหภาพยุโรปกลับแสดงความเป็นผู้นำชัดเจนมากขึ้น รวมถึงพยายามเชื่อมสัมพันธ์กับจีน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาตินี้ ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกาะขนาดเล็กต่างชื่นชมในความพยายามของ EU 

 

เราจึงมองได้ว่า นโยบายลดก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นเครื่องมืออีกอย่างของสหภาพยุโรปเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศไปแล้ว 

 

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่สหภาพยุโรปทำได้ ‘เกิน’ เป้าหมายที่กำหนดไว้ เมื่อปี 2007 EU ตั้งเป้าลดก๊าซฯ ให้ได้ 20% ภายในปี 2022 ซึ่งจากรายงานในปี 2018 EU ทำได้แล้ว 23.2% 

 

นิคลัส โฮห์น (Niklas Hohne) จาก Climate Action Tracker เห็นต่างว่า ที่สหภาพยุโรปทำผลงานเกินเป้า เป็นเพราะตั้งเป้าหมายไว้ต่ำเกินไป เช่นเดียวกับเป้าหมายใหม่ที่เล็งลดก๊าซฯ ให้ได้ 40% ในปี 2030 ว่า “เป็นเป้าหมายแบบเด็กสิบขวบ”

 

 

“ถ้า EU พยายามทำตามเป้าหมาย ครอบคลุมไปถึงภาคพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานแล้วล่ะก็ ควรจะลดไปได้ 45% แล้ว ดังนั้นเป้าหมายอย่างเป็นทางการจึงถือว่าล้าหลังไปมาก ต้องแก้ไข”

 

สำหรับเป้าหมายระยะยาว อย่างการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน สหภาพยุโรปตั้งใจจะทำให้ได้ภายในปี 2050 ขณะที่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ประชุม EU ลงมติว่า จะลดก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยรวมกันของทุกชาติสมาชิกลงให้ได้ 55% ภายในปี 2030 

 

เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ก่อให้เกิดอุปสรรคที่น่าปวดหัวเช่นกัน เพราะชาติสมาชิกในแถบยุโรปตะวันออกมองว่า เป็นเป้าหมายที่สูงและเร็วเกินไป

 

“มันเหมือนเปิดกล่องแพนโดราอีกครั้ง เพราะชาติยุโรปตะวันออกจะต้องการสิ่งตอบแทน” ด็อกเตอร์ซูซาน โดรเก (Susanne Droge) จากสถาบันเยอรมนีว่าด้วยการต่างประเทศและความมั่นคง ให้สัมภาษณ์กับ BBC

 

“Brexit จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันนี้ จนท้ายสุดมหาอำนาจใน EU ก็ต้องยอมประนีประนอมและจ่ายค่าตอบแทน เพราะท้ายสุดการแก้ปัญหาโลกร้อนก็คือเรื่องการเมืองและค่าตอบแทนนั่นเอง”

 

จีน

แน่นอนว่าจีนเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และยังเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2

 

ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างก้าวกระโดด นั่นหมายถึงปริมาณการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตพลังงานไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นมหาศาล จนปัจจุบันจีนปล่อยก๊าซฯ คิดเป็น 28% ของทั้งโลก

 

เป็นเหตุผลว่า เมื่อรัฐบาลจีนขยับเพื่อแก้ปัญหา ทั่วโลกต่างเริ่มเห็นความหวัง โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จีนจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060

 

 

ในช่วงที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา จีนไม่กล้าตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนที่ทะเยอทะยานนัก อ้างว่าชาติตะวันตกควรเริ่มแก้ปัญหาก่อน จีนจึงหันไปควบคุม ‘ความเข้มข้นของคาร์บอน’ (Carbon Intensity) หรือปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำสำเร็จได้ง่ายกว่า 

 

พอมาถึงการประชุมโลกร้อนในกรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปี 2009 จีนประกาศลดก๊าซฯ ให้ได้ 40-45% เมื่อเทียบกับปริมาณในปี 2005 ซึ่งช่วงปลายปี 2017 พบว่า จีนทำสำเร็จด้วยการลดก๊าซฯ ต่อหน่วย GDP ลงได้ 46% 

 

และเมื่อเข้าร่วมเป็นชาติภาคีข้อตกลงปารีส รัฐบาลจีนสัญญาจะลดความเข้มข้นของคาร์บอนลง 60-65% ภายในปี 2030 ซึ่งงานวิจัยของ Carbon Brief ชี้ว่า จีนจะทำได้สำเร็จเช่นกัน และอาจเร็วกว่าเส้นตายหลายปีอีกด้วย

 

ด็อกเตอร์โฮห์น มองว่า “จีนดำเนินมาตรการแบบสงวนเนื้อสงวนตัวกับข้อตกลงปารีส รัฐบาลจีนจะเสนอสิ่งที่คิดว่าทำได้จริงเท่านั้น เมื่อจีนเสนอเป้าหมายปี 2030 หมายความว่า รัฐบาลเชื่อแล้วว่าจะทำได้เกินเป้า”

 

กุญแจสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายปี 2060 ของจีนจะอยู่ที่ ‘แผนพลังงาน 5 ปี’ ที่รัฐบาลจะประกาศในต้นปีหน้า โดยจะเปลี่ยนผ่านสู่แหล่งพลังงานทดแทน ละลดการใช้ถ่านหิน โดยมีความเป็นไปได้ว่า จีนจะเสนอ ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ ฉบับใหม่ต่อสหประชาชาติ ก่อนการประชุม COP26 ในเมืองกลาสโกว์ ปลายปีหน้า

 

ฟิลิปปินส์

 

ประเทศหมู่เกาะแห่งอาเซียนนี้ เป็นชาติที่เผชิญผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหนักที่สุด 

 

ฟิลิปปินส์เผชิญพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงขึ้นทุกปี

 

ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลต้องการใช้พลังงานเพื่อดึงประชาชนออกจากความยากจนและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ในอดีตเคยมีความพยายามเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหินเพื่อเสริมการพัฒนาประเทศ ซึ่งในปี 2019 ไฟฟ้าราวครึ่งหนึ่งของประเทศมาจากการเผาผลาญถ่านหิน และมีแผนจะสร้างโรงเผาถ่านหินเพิ่ม

 

แต่นโยบายปัจจุบันสวนทางกับอดีต เพราะตั้งใจลดการใช้ถ่านหินอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการประกาศระงับการสร้างโรงงานแห่งใหม่ มุ่งสร้างเศรษฐกิจพลังงานผสม คือถ่านหินและพลังงานทดแทน จนผู้เชี่ยวชาญมองว่า ฟิลิปปินส์อาจเป็นต้นแบบให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน

 

ฟิลิปปินส์ต่างจาก 4 ประเทศที่กล่าวไปข้างต้น เพราะไม่มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ประกาศในระดับสากล แต่ภายใต้ความตกลงปารีส ฟิลิปปินส์ให้คำมั่นจะลดก๊าซฯ ลงให้ต่ำกว่าปกติ 70% ภายในปี 2030 ซึ่งผลการวิเคราะห์จาก Climate Action Tracker พบว่า ฟิลิปปินส์กำลังทำได้ตามเป้า 

 

ด็อกเตอร์บิล แฮร์ มองว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จของฟิลิปปินส์มาจากการลงทุนในด้านพลังงาน

 

“ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง คือการเมืองนำเศรษฐกิจในประเทศอย่างเวียดนามหรืออินโดนีเซีย” แต่ฟิลิปปินส์ “ใช้การขับเคลื่อนของตลาดเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนของภาครัฐ สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือ การลงทุนพุ่งเป้าไปยังพลังงานทดแทน”

 

ซึ่งหากฟิลิปปินส์ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund และธนาคารระหว่างประเทศต่างๆ จะยิ่งทำให้ฟิลิปปินส์ถอยห่างจากพลังงานฟอสซิลได้เร็วยิ่งขึ้น 

 

แม้ฟิลิปปินส์จะยังไม่ประกาศแผนระยะยาว รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่รัฐบาลระบุว่า จะนำเสนอแผนแก้ปัญหาโลกร้อนฉบับใหม่ ด้วยเป้าหมายที่ก้าวหน้ามากขึ้นต่อองค์การสหประชาชาติ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising