×

ทำไมโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ถึงอยากจัดแข่งโต้คลื่นในพื้นที่ที่ห่างออกไปอีกเกือบครึ่งโลก

09.11.2023
  • LOADING...

15,706 กิโลเมตร คือระยะทางจากปารีสไปตาฮิติ ซึ่งหากมองแค่ที่ตัวเลข หลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่ามันไกลขนาดไหน เพื่อให้เห็นภาพมากกว่านั้นก็อาจต้องยกเส้นรอบวงของโลกใบนี้มาเทียบ โดยเส้นรอบวงที่เส้นศูนย์สูตรยาว 40,077 กิโลเมตร ขณะที่เส้นรอบวงที่ขั้วโลกยาว 40,009 กิโลเมตร (คงทราบกันดีว่าโลกไม่ได้เป็นทรงกลมโดยสมบูรณ์) 

 

นั่นหมายความว่า ระยะทางจากปารีสไปตาฮิติ แม้จะไม่ถึงระยะทางราวครึ่งโลก แต่ก็ถือว่าใกล้เคียง ถ้าจะตีเป็นตัวเลขกลมๆ ก็อยู่ที่ราว 2 ใน 5 ของเส้นรอบวงของโลกใบนี้เลยทีเดียว

 

แต่ระยะทางไกลขนาดนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับฝ่ายจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 หรือ OCOG ที่จะเลือกชายหาดทีฮูโป (Teahupo’o) ให้มาเป็นสังเวียนในการแข่งขันกีฬาโต้คลื่นในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

ทีฮูโปสวรรค์ของนักโต้คลื่น

 

ไม่ใช่แค่ทีฮูโปเท่านั้น แต่เกาะตาฮิติทั้งเกาะขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักโต้คลื่น เพียงแต่ว่าทีฮูโปนับเป็นพื้นที่ที่โด่งดังที่สุดในตาฮิติที่มักจะถูกใช้แข่งขันกีฬาโต้คลื่น

 

อันที่จริงแล้วในแวดวงนักกีฬาโต้คลื่นจะรู้จักทีฮูโปกันเป็นอย่างดี และรู้จักมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะหากย้อนกลับไป เวิลด์เซิร์ฟลีก หรือ WSL ซึ่งคือลีกการแข่งขันโต้คลื่นอันดับ 1 ของโลก ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1976 เลือกที่จะใช้ทีฮูโปเป็นสนามประจำในการแข่งขันแต่ละฤดูกาลมาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว

 

เมื่อกีฬาชนิดนี้แพร่หลายและมีคนติดตามมากขึ้นหาดทีฮูโปยิ่งกลายเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักโต้คลื่นว่าเป็น ‘ปลายทางในฝัน’ ที่ต้องไปลองโต้คลื่นให้ได้สักครั้ง

 

 

สาเหตุที่ทำให้ทีฮูโปเป็นสุดยอดหาดโต้คลื่นเบอร์ต้นๆ ของโลก นอกจากคลื่นสูงที่มีมาเกือบตลอดปีทำให้การโต้คลื่นเป็นไปอย่างสนุกแล้ว ทิวทัศน์ของทีฮูโปเรียกได้ว่าเหมือนสรวงสวรรค์ เพราะนอกจากน้ำทะเลสีครามใสตรงหน้า ด้านหลังยังเป็นภูเขาสูงเขียวชอุ่ม นอกจากนี้ทีฮูโปยังเป็นหาดที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทำให้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งในตาฮิติอีกด้วย

 

นอกจากเรื่องของการแข่งขันแล้ว ทีฮูโปยังมีแนวปะการังที่สวยงาม และไม่จำเป็นต้องออกจากฝั่งไปไกลนักก็สามารถดำน้ำลงดูได้แล้ว (แม้ว่ายิ่งออกไปไกลก็แนวปะการังจะยิ่งสมบูรณ์ก็ตาม)

 

เหตุผลที่ว่ามาจึงไม่ใช่เรื่องแปลที่ OCOG จะมองว่า นี่คือตัวเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการแข่งขันกีฬาโต้คลื่นในโอลิมปิกเกมส์ 2024 และนอกจากฝ่ายจัดอยากจัดที่นี่แล้ว นักโต้คลื่นจำนวนมากก็อยากไปแข่งขันที่นี่เช่นเดียวกัน

 

ข้อจำกัดด้านเวลาพาไปไกล

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่กลายเป็นเรื่องสำคัญทำให้ทีฮูโปกลายมาเป็นตัวเลือกแรกๆ ของ OCOG คือปัญหาด้านเวลาและสถานที่ในฝรั่งเศสเอง

 

แม้ว่าฝรั่งเศสจะมีชายหาดขึ้นชื่อหลายแห่งที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกอย่าง บียาร์ริตซ์, ลากานู, เลส์ ลองด์, ลา ทอร์กช์ แต่ด้วยระยะเวลาในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่มีคลื่นซึ่งมีคุณภาพเพียงพอจะแข่งขันโต้คลื่นได้เลย

 

ต่างจากในตาฮิติที่ฤดูคลื่นจะมีขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงตุลาคม อันที่จริงแล้วต้องกล่าวว่าช่วงเวลาในเดือนสิงหาคม แทบจะเป็นโกลเดนพีเรียดสำหรับการโต้คลื่นเลยด้วยซ้ำ 

 

ดังนั้นตัวเลือกของฝ่ายจัดการแข่งขันจึงต้องมองไปยังตาฮิติเป็นหลัก เพราะนอกจากเรื่องของความเหมาะสมสภาพสนามแล้ว ปัจจัยอื่นๆ อย่างความต้องการของนักกีฬา และความสนุกในการแข่งขันก็ล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น

 

เพราะหากสุดท้าย พวกเขาฝืนจัดการแข่งขันในฝรั่งเศส แต่วันแข่งขันคลื่นเกิดสูงแค่ 2 เมตร หรือแทบไม่มีคลื่นขึ้นมา การแข่งขันกีฬาโต้คลื่นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกคงกร่อยน่าดูทีเดียว

 

 

ไกลแต่อย่างไรก็คือบ้าน

 

ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันว่าโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 จะจัดขึ้นที่ทีฮูโปจริงหรือไม่ เพราะต้องรอการอภิปรายและศึกษาเพิ่มเติมที่จะได้ข้อสรุปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดเกี่ยวกับสถานที่ที่จะใช้จัดการแข่งขันกีฬาชนิดนี้

 

แต่ถ้าหากทีฮูโปกลายมาเป็นเวทีในการจัดการแข่งขันโต้คลื่นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกจริง นี่จะกลายเป็นการจัดแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่การชิงเหรียญรางวัลในกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งห่างไกลจากเมืองเจ้าภาพที่สุดในประวัติศาสตร์ทันที ด้วยระยะทางถึง 15,706 กิโลเมตร

 

โดยสถิติเดิมที่หลายคนเชื่อว่าไม่มีทางถูกทำลายได้ เกิดขึ้นในโอลิมปิกเกมส์ เมลเบิร์น 1956 ที่การชิงเหรียญทองกีฬาขี่ม้าต้องไปแข่งขันกันที่กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน ห่างออกไปประมาณ 15,589 กิโลเมตร โดยการแข่งขันดังกล่าวยังเกิดขึ้นก่อนพิธีเปิดการแข่งขันถึง 5 เดือนด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันโต้คลื่นที่ตาฮิตินั้นจะต่างออกไป เพราะอย่างไรก็ตาม ตาฮิติก็เป็นส่วนหนึ่งของเฟรนช์โปลินีเซีย ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมโพ้นทะเลของฝรั่งเศสมาก่อน

 

แม้ปัจจุบันเฟรนช์โปลินีเซียจะได้รับการยกสถานะจากฝรั่งเศสให้เป็นประเทศโพ้นทะเลเพื่อเน้นความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของดินแดนแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติพวกเขายังต้องรับความช่วยเหลือทางการเงินจากฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่อยู่ดี

 

อำนาจของฝรั่งเศสที่อยู่เหนือเฟรนช์โปลินีเซียทำให้กลายเป็นภาวะจำยอม ที่ส่งผลให้ฝ่ายจัดการแข่งขันสามารถเป็นฝ่ายเลือกให้ตาฮิติจัดการแข่งขันโต้คลื่นได้ ซึ่งต่างจากในปี 1956 ที่ออสเตรเลียต้องขอความร่วมมือไปยังสวีเดนเพื่อขอให้จัดการแข่งขันแทนนั่นเอง

 

ผลพลอยได้ที่มองไม่เห็น

 

แม้ที่เล่ามาจะดูเหมือนว่าฝ่ายจัดการแข่งขันฯ จะเป็นฝ่ายชี้นิ้วสั่งและเลือกให้ทีฮูโปจัดแข่งขันกีฬาโต้คลื่น แต่สิ่งหนึ่งที่เฟรนช์โปลินีเซียและตาฮิติจะได้รับหลังจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 จบลง คือการที่ดินแดนแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสายตาชาวโลก และน่าจะมีคนอยากมาท่องเที่ยวในตาฮิติเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

จากรายงานเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยเฟรนช์โปลินีเซียระบุว่า รายได้หลักของประเทศขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว แต่ตัวเลขในปี 2022 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเยือนตาฮิติเพียงแค่ 219,000 คนเท่านั้น ซึ่งพวกเขาตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนแตะหลัก 300,000 คนหลังจบปีนี้ (2023)

 

แม้จะถึง 3 แสนคนตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่นั่นยังไม่ใช่ตัวเลขที่มากมายอยู่ดีหากเทียบกับประเทศที่มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ทว่าหากชาวโลกนับพันล้านคนที่ได้เห็นความงดงามของเกาะแห่งนี้ผ่านการแข่งขันกีฬาโต้คลื่นในโอลิมปิกเกมส์ 2024 น่าจะทำให้หลายคนอยากลองมาท่องเที่ยวที่นี่อย่างแน่นอน

 

ซึ่งนั่นจะกลายมาเป็นเงินรายได้เข้าประเทศมหาศาลสำหรับเฟรนช์โปลินีเซีย แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีมุมที่สวยงามเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันมีมุมที่น่าวิตกกังวลตามมาด้วยเช่นกัน

 

เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

 

 

การที่ OCOG เลือกที่จะใช้ทีฮูโปเป็นสังเวียนในการแข่งขันโต้คลื่น ทำให้พวกเขาต้องเผชิญแรงต่อต้านจำนวนมาก จากทั้งคนในพื้นที่ นักอนุรักษ์ และนักท่องเที่ยวบางส่วนด้วย

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะโครงการในการจัดการแข่งขันโต้คลื่นในตาฮิตินั้น พวกเขาอยากให้ได้มาตรฐานในการจัดการแข่งขันระดับโลกอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องก่อสร้างหอสังเกตการณ์ใหม่ โดยพวกเขาจะใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียม เพื่อให้ได้มาตรฐานของการแข่งขัน และจุดนั้นเองที่เป็นปัญหา

 

การก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติอย่างอะลูมิเนียม มีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบกับแนวปะการังอันสวยงามใต้ทะเลในย่านนั้น และผลกระทบจะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเลยทีเดียวไม่ใช่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว

 

นอกจากนี้ทางฝ่ายจัดการแข่งขันยังวางแผนที่จะเดินสายไฟใต้น้ำจากชายฝั่งไปยังหอสังเกตการณ์ที่จะก่อสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ตัดสินที่จะต้องไปประจำการในหอนั้นเกือบตลอดเวลาที่ทำการแข่งขัน เพราะการมีไฟฟ้า ณ หอสังเกตการณ์ จะสามารถช่วยเรื่องความสะดวกในการตัดสินอื่นๆ อย่างการสื่อสาร เป็นต้น

 

นั่นเองที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่าสิ่งที่แลกมากับการจัดการแข่งขันนั้นมากเกินไป และเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ส่งผลให้ฝ่ายจัดการแข่งขันฯ ต้องเจอกับแรงต่อต้านอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งเมื่อพวกเขา ‘ยืนกราน’ จะจัดการแข่งขันที่ทีฮูโปให้ได้ก็ยิ่งเจอกับแรงกดดันเพิ่มเติม 

 

ในทางกลับกันฝั่ง WSL ที่มาจัดการแข่งขันโต้คลื่นที่นี่เกือบทุกปีแต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา เพราะพวกเขายอมใช้หอสังเกตการณ์ซี่งก่อสร้างด้วยไม้ที่มีอยู่แต่เดิม ทำให้พวกเขาแทบไม่เจอกับแรงต่อต้านเลย

 

ปัจจุบันแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อหวังให้โอลิมปิกเกมส์ 2024 ไม่จัดแข่งขันโต้คลื่นในทีฮูโปบนเว็บไซต์ Change.org มีคนลงชื่อในแคมเปญนี้ทะลุ 1.5 แสนคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และดูเหมือนจะมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวันด้วย

 

ดังนั้นนี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ OCOG ด้วยเช่นกัน ว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ในเมื่อการจัดการแข่งขันกีฬาที่ทิ้งรอยบาดแผลเอาไว้ให้ธรรมชาติก็ดูเหมือนไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันการตัดสินที่ไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยก็อาจไม่ได้มาตรฐาน

 

คำตอบของคำถามที่ว่า ‘ฝ่ายจัดการแข่งขันฯ จะทำอย่างไร?’ อาจต้องรอต่อไปอีกสักเล็กน้อย ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า พวกเขาจะเจอกับทางออกที่ทั้งไม่ทำร้ายธรรมชาติและยังได้การตัดสินที่ดีมีมาตรฐานไปพร้อมๆ กัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X