ปี 2024 เป็นปีที่โอลิมปิกเกมส์ มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลับมาแข่งขันอีกครั้ง โดยกรุงปารีส เจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งนี้ เป็นเมืองที่ 3 ของโลกที่ได้รับสิทธิ์จัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อนเป็นครั้งที่ 3 ร่วมกับลอนดอน และลอสแอนเจลิส เจ้าภาพในปี 2028
การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ยังจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีที่กรุงปารีสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อปี 1924 อีกด้วย และแน่นอนว่าทุกครั้งโอลิมปิกเกมส์เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าติดตามทั้งในและนอกสนาม ด้วยการที่มหกรรมกีฬาถูกใช้เป็นเวทีระดับสูงสุดของนักกีฬา เป็นเวทีแสดงศักยภาพของประเทศเจ้าภาพ รวมถึงเป็นเวทีสื่อสารทางการเมืองตลอดมา
ปารีส 2024 ครั้งนี้มีอะไรน่าติดตาม THE STANDARD จะขอพาทุกท่านไปสำรวจความพร้อมของโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 33 กัน
โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 33 ความหวังของสันติภาพท่ามกลางไฟของสงคราม
แนวคิดของโอลิมปิกเกมส์ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณคือ ทุกครั้งที่จัดโอลิมปิกเกมส์ รัฐต่างๆ ในกรีกต้องหยุดสงครามระหว่างรัฐ เพื่อมาแข่งขันกีฬาบูชาซูส
ซึ่งแม้ว่าตามประวัติศาสตร์แล้วอาจไม่จริงทั้งหมดที่แต่ละรัฐในกรีกจะหยุดสงครามเพื่อกีฬา แต่ก็เป็นแนวคิดที่การแข่งขันยึดมั่นมาตลอดว่าเป็นมหกรรมกีฬาเพื่อสันติภาพ และการนำพาผู้คนจากทั่วโลกจากร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
แนวคิดนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใหม่ในชื่อว่า Olympic Truce หรือสัญญาสงบศึกของโอลิมปิกเกมส์ ตั้งแต่ปี 1992 ที่บาร์เซโลนามาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้กับชาติต่างๆ ทั่วโลกว่า อย่างน้อยที่สุดในช่วงของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ก็ขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิง หยุดสงคราม เพื่อมาร่วมแข่งขันกีฬา และส่งเสริมสันติภาพให้เกิดขึ้นบนโลก
INFORMATION FOR THE MEDIA
The Olympic Truce draft resolution will be introduced to the @UN General Assembly in New York on Tuesday, 21 November.
There will be a media opportunity with IOC President Thomas Bach and @Paris2024 President @TonyEstanguet.
Details:… pic.twitter.com/sHY09AqSJS
— IOC MEDIA (@iocmedia) November 16, 2023
โดยทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ก็ได้เสนอดราฟต์ของ Olympic Truce ให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส และสหประชาชาติ หรือ UN ซึ่งในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติก็ได้โหวตรับรอง Olympic Truce และเรียกร้องให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นในการแข่งขันที่ปารีสกลางปีหน้า
แต่มองไปที่ในเวทีใหญ่ของการเมืองโลกในปีหน้า จากสงครามที่เกิดขึ้นทั้งในยูเครนและปาเลสไตน์ ไปจนถึงความตึงเครียดในคาบสมุทรทะเลจีนใต้ ดูเหมือนว่าสถานการณ์นอกสนามแข่งขันโอลิมปิกเกมส์จะดูห่างไกลจากภาพฝันที่โอลิมปิกเกมส์ต้องการให้คนทั้งโลกร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
โดยผลกระทบสำคัญที่สงครามมีต่อโอลิมปิกเกมส์คือ การเลือกที่จะให้ชาติใดลงแข่งขันในมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อทางยูเครนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ IOC ที่อนุญาตให้นักกีฬาจากรัสเซียและเบลารุส สองชาติที่บุกรุกเข้ามายังประเทศของพวกเขา ลงแข่งขันได้ภายใต้ธงของโอลิมปิกเกมส์ แบบไม่มีสัญชาติ
วาดิม กุตต์เซต รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาของยูเครน มองว่ามีนักกีฬาและโค้ชหลายคนของยูเครนที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และได้รับผลกระทบจากสงครามที่รัสเซียบุกรุกเข้ามา จึงไม่ควรที่จะให้นักกีฬาจากประเทศนี้เข้ามาแข่งขันเวทีเดียวกับยูเครน
ขณะเดียวกันก็มีหลายฝ่ายมองว่านักกีฬารัสเซียและเบลารุสหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับสงคราม และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรุกรานยูเครนในครั้งนี้ จึงมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมแข่งขันได้
รวมถึงความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ที่ในอดีตเคยเกิดโศกนาฏกรรมในโอลิมปิกเกมส์ มิวนิก 1972 ที่กลุ่มผู้ก่อการร้าย Black September บุกเข้าไปยังที่พักนักกีฬาของอิสราเอล จับตัวนักกีฬาทั้งหมด 9 คน และสังหารพวกเขาในเวลาต่อมา
ในประวัติศาสตร์การแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ถูกยกเลิกทั้งหมด 3 ครั้งจากสงครามโลก ในปี 1916, 1940 และ 1944
ความขัดแย้งในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงโอกาสเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การยกเลิกโอลิมปิกเกมส์อีกครั้ง
แต่ทาง โธมัส บาค ประธาน IOC ยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกโอลิมปิกเกมส์ แม้ว่าจะมีความขัดแย้งอยู่ทั่วโลกทั้งในยูเครนและปาเลสไตน์
“เรามีความตึงเครียดทางการเมืองทั่วโลก การบอกว่าเราต้องเสียสละโอลิมปิกเกมส์ จะเป็นการตัดสินใจที่ผิด” บาคกล่าว
“เรามีสงครามระหว่างรัฐบาลและประเทศ แต่นักกีฬาก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ตลอดมา นั่นคือเส้นแบ่งของภารกิจโอลิมปิกเกมส์
“ผมไม่รู้ว่าจะเกิดสงครามโลกหรือไม่ แต่การทรยศต่อไอเดียของกีฬาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และจากรายงานของ UN ตอนนี้เรามีสงคราม 28 แห่งทั่วโลก เป้าหมายของเราคือเป้าหมายเพื่อมวลมนุษยชาติ นักกีฬา และกีฬา เราจะพยายามยึดมั่นในสิ่งนี้ และผู้คนยังคงต้องการสิ่งที่จะสามารถยึดโยงพวกเขาเข้าหากันได้”
ปารีส 2024 คิดใหม่-ทำใหญ่
ภาพ: Paris 2024
แม้ว่าโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้อาจเกิดขึ้นภายใต้ไฟของสงครามทั่วโลก แต่กรุงปารีส มหานครที่ขึ้นชื่อเรื่องแฟชั่นและการออกแบบ ก็ได้นำเสนอคอนเซปต์ใหม่ที่น่าสนใจ ด้วยความต้องการให้โอลิมปิกเกมส์เป็นมหกรรมกีฬาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
เริ่มต้นจากการจัดพิธีเปิดการแข่งขันรูปแบบใหม่บนแม่น้ำแซน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกเกมส์ที่จัดพิธีเปิดการแข่งขันนอกสนามกีฬา
โดยนักกีฬาที่เข้าร่วมทั้งหมด 10,500 คนจากทั่วโลกจะพาเหรดบนเรือกลางแม่น้ำไปทั่วกรุงปารีส ผ่านสนามกีฬาต่างๆ ที่จะใช้ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดการแข่งขัน
รวมถึงแฟนกีฬาจะได้รับโอกาสเข้าชมพิธีเปิดบางส่วนโดยไม่เสียค่าตั๋วเช้าชม ซึ่งคาดว่าจะมีแฟนกีฬากว่า 600,000 คนเข้าร่วมการพิธีเปิดครั้งนี้
https://www.youtube.com/watch?v=ay4ghAR1DD0
นอกจากนี้ ปารีสยังได้นำเสนอธีมของการแข่งขันที่น่าสนใจ ทั้งการเปลี่ยน Pictogram ของกีฬาแต่ละชนิดจากรูปตัวนักกีฬาเป็นอุปกรณ์กีฬา รวมถึงการตกแต่งสนามแข่งขันแต่ละชนิดให้มีสีสันและรูปแบบที่น่าสนใจมากขึ้น
ภาพ: Paris 2024
โดยเฉพาะสตาดเดอฟรองซ์ในเมืองแซงต์-เดอ นีส์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปารีส ที่ใช้สำหรับการแข่งขันกรีฑา จะเป็นครั้งแรกที่ลู่วิ่งถูกเปลี่ยนจากสีแดงมาเป็นสีม่วงตามธีมการแข่งขัน
ส่วนกีฬาที่จะเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกในปารีสคือเบรกแดนซ์ ซึ่งน่าสนใจว่าจะสามารถสร้างปรากฏการณ์ได้เหมือนกับ 3 ชนิดกีฬาใหม่ในโตเกียว ทั้งสเกตบอร์ด เซิร์ฟ และปีนหน้าผา ได้หรือไม่
นอกจากนี้ ปารีส 2024 ยังหวังจัดแข่งกีฬาโต้คลื่นที่ตาฮิติ ซึ่งอยู่ห่างจากปารีสออกไปอีกกว่า 15,000 กิโลเมตร ในพื้นที่บริเวณทีฮูโป (Teahupo’o) ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นหนึ่งในสถานที่โต้คลื่นที่ดีที่สุดในโลก
เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ กับ The Last Dance ในโอลิมปิกเกมส์
เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อ 3 ปีก่อน ได้ประกาศชัดแล้วว่าในปารีส 2024 จะเป็นการแข่งขันกีฬารายการสุดท้ายของเธอในนามทีมชาติ ซึ่งจะเป็นการปิดฉากอาชีพที่เต็มไปด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม หลังจากที่สร้างสถิติไว้มากมายในเวทีเทควันโดระดับสากล
ซึ่งสถิติสำคัญที่สุดที่เทนนิสมีโอกาสทำสำเร็จคือ เธอจะกลายเป็นนักกีฬาไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถป้องกันแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกได้ ซึ่งแฟนกีฬาชาวไทยต้องมาร่วมเชียร์ ร่วมลุ้น และเหมือนกับนักกีฬาชั้นนำทั่วโลก ที่เราต้องร่วมชมในช่วงเวลาที่ยังไม่มีโอกาสได้เห็นเทนนิสลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติในการแข่งขันระดับสูงสุดของโลก
นอกจากนี้ แฟนกีฬาชาวไทยยังมีนักกีฬาดาวรุ่งที่มีโอกาสก้าวขึ้นมาหยิบเหรียญทองโอลิมปิกเพิ่มให้กับทัพนักกีฬา เริ่มจาก วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่สร้างสถิติกลายเป็นนักแบดมินตันชายเดี่ยวคนแรกของไทยที่คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จในปีนี้
เช่นเดียวกับ บิว-ภูริพล บุญสอน ที่ถือสถิติโลก วิ่ง 100 เมตรชาย รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ที่เพิ่งคว้าเหรียญเงินมาได้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งแรกของบิวที่หางโจวเกมส์ ประเทศจีน เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ก็กำลังทำเวลาเพื่อควอลิฟายไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงปารีสเป็นครั้งแรก
รวมถึง เหลิม-ธิติสรรค์ ปั้นโหมด นักมวยสากลทีมชาติไทย ที่ต้องถอนตัวจากโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่แล้วเนื่องจากอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า ก็ไม่พลาดกลับมาคว้าตั๋วไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์สมัยที่ 2 ได้ที่กรุงปารีส และมีโอกาสที่จะได้แก้ตัวในความฝันที่หลุดลอยไปเมื่อ 3 ปีก่อน และกลับมาแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ในปารีส 2024 ครั้งนี้
ความพร้อมของเจ้าภาพ ปารีส 2024
ปารีส 2024 แม้ว่าจะมีการออกแบบใหม่ภายใต้แนวคิดใหม่ กีฬาใหม่ และนักกีฬาหน้าใหม่ แต่สิ่งที่เป็นเหมือนกับโอลิมปิกเกมส์ทุกครั้งที่ผ่านมาคือเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเวทีหนึ่งที่เป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพของนักกีฬาทุกคน รวมถึงการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองของชาติมหาอำนาจผ่านกีฬา และเป็นโอกาสสำคัญของเจ้าภาพในการนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า Soft Power Projection
สื่อต่างประเทศมองว่า ฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะเป็นโอกาสสำคัญที่เขาจะได้ใช้เวทีโอลิมปิกเกมส์แสดงศักยภาพการเป็นผู้นำของยุโรป และเป็นโอกาสสำคัญของฝรั่งเศสที่จะร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวและแสดงศักยภาพของประเทศออกมาในช่วงเวลาที่ยากลำบากของทั้งทวีปยุโรป ภายใต้สายตาของผู้คนจากทั่วโลกที่จะจับจ้องไปยังฝรั่งเศสในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ของโอลิมปิกเกมส์ และ 2 สัปดาห์ของพาราลิมปิกเกมส์
แต่ความท้าทายที่รอเจ้าภาพครั้งนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก เมื่อมีรายงานว่าประชากรเกือบครึ่งของปารีสไม่ชอบไอเดียการจัดโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและการเดินทาง
โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเมื่อปี 2022 ที่เรอัล มาดริด เอาชนะลิเวอร์พูล แต่สำหรับแฟนบอลลิเวอร์พูล พวกเขาพบเจอกับประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด จนแฟนบอลหลายคนโดนทำร้าย ปล้น และโจมตีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสบริเวณหน้าสนาม แม้ว่าจะมีบัตรเข้าชมการแข่งขัน
จนสุดท้ายทั้งยูฟ่าและสำนักงานตำรวจของปารีสต้องออกมาแถลงขอโทษแฟนบอลต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายและการกระทำที่รุนแรงต่อแฟนบอลในวันนั้น
ส่วนความนิยมในประเทศ ประชากร 44% ของปารีส จากกลุ่มคนปารีส 1,207 คนที่ทำแบบสำรวจ มีมุมมองในแง่ลบต่อโอลิมปิกเกมส์ แต่ประชากร 65% ของฝรั่งเศส จากกลุ่มคน 1,005 คน มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีโอลิมปิกเกมส์เกิดขึ้นที่ปารีส
ทางด้านการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากพิธีเปิดการแข่งขันในปีนี้จะจัดแบบเปิดกว้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัย และการป้องกันการก่อการร้ายและภัยคุกคามจากโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นเป็นอย่างมาก
ซึ่งทางปารีส 2024 ได้จ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย โดยจะมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 17,000-22,000 คนต่อวัน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งหมด 30,000 นาย โดยมีงบประมาณรักษาความปลอดภัยทั้งหมด 320 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับการรักษาความปลอดภัยในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้
แต่สิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลอีกอย่างคือการคมนาคมในกรุงปารีส ที่ แอนน์ ไฮดาลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีส ยอมรับว่าจะไม่เสร็จพร้อมสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์อย่างแน่นอน
“เรากำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการเดินทางทุกวัน เราไม่สามารถรักษาความตรงต่อเวลาและการเดินทางของคนปารีสได้” ไฮดาลโกกล่าว
“ความจริงคือเราจะมีบางสถานที่ที่ไม่มีขนส่งสาธารณะเข้าถึง เพราะจะไม่มีรถไฟเพียงพอ”
สำหรับปารีส 2024 จะจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อด้วยพาราลิมปิกเกมส์ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน