×

‘ปารีส 2024’ กีฬาโอลิมปิกของเหล่าแบรนด์ สนามรบแบรนด์ดัง! ตั้งแต่ชุดแข่งขันถึงสารพันแคมเปญ ใครจะคว้าเหรียญทองการตลาด?

19.07.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ชุดที่ได้รับเสียงปรบมือดังที่สุดคือชุดประจำชาติของทัพนักกีฬามองโกเลีย ที่แม้จะเป็นชาติเล็กๆ ที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมเพียง 42 คน แต่ผลงานการออกแบบชุดของ Michel & Amazonka แบรนด์แฟชั่นท้องถิ่นที่อยู่ในเมืองอูลานบาตอร์ ต้องบอกว่าเอาเหรียญทองเรื่องชุดไปเลยก็ได้
  • ภาพลักษณ์นั้นไม่ได้เกิดเพียงแค่กับนักกีฬาหรือประเทศชาติ แต่รวมถึงผู้ออกแบบเองก็เหมือนได้เหรียญทองในการแข่งขันไปด้วย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะในโอลิมปิกเกมส์ที่จัดขึ้นในเมืองแห่งแฟชั่นอย่างกรุงปารีส ซึ่งใส่ใจกับทุกรายละเอียดของการแข่งขัน แม้กระทั่งสีสันในจุดเล็กๆ
  • แบรนด์หนึ่งที่ชิงออกตัวโกยเหรียญทองไปก่อนเพื่อนคือแบรนด์ในเครือ LVMH ที่ปรากฏตัวอยู่ในแทบทุกส่วนของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 
  • ที่ต้องจับตามองคือการท่องเที่ยวที่เริ่มน่ากังวล เพราะค่าใช้จ่ายในการมาเยือนปารีสช่วงการแข่งขันพุ่งทะยานสูงมากอย่างน่ากลัว ทำให้นักท่องเที่ยวเลี่ยงจะมาเยือนในช่วงการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อสายการบินและโรงแรมที่พักอย่างมาก

เหลืออีกเพียงไม่กี่วันแล้วที่กีฬา ‘โอลิมปิกเกมส์’ จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้การแข่งขันจะมีขึ้นที่กรุงปารีส ในระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2024

 

‘ปารีส 2024’ จัดเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ นับตั้งแต่ส่งมอบธงเจ้าภาพจากกรุงโตเกียวมาสู่เมืองหลวงของฝรั่งเศสด้วยเหตุผลที่หลากหลาย แต่หนึ่งในเหตุผลที่ดีที่สุดคือเมืองแห่งนี้คือมหานครแห่งความรัก ศิลปะ วัฒนธรรม และแฟชั่น

 

ดังนั้นคนที่ต้องเตรียมลงสนามเพื่อแข่งขันในปารีส 2024 จึงไม่ได้มีเพียงแค่เหล่านักกีฬาผู้ต้องการไปให้ถึงความฝันด้วยการคว้าเหรียญทองเท่านั้น แต่แบรนด์ต่างๆ ไปจนถึงประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันเองก็ต้องเตรียมตัวอย่างดีที่สุด เพื่อจะใช้โอกาสนี้แสดงฝีมือให้โลกได้เห็นด้วย

 

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่าไม่มีใครยอมใครคือชุดของนักกีฬาที่เปิดตัวกันแทบทุกวัน

 

เรียกว่าชุดใครสวยกว่าถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง?

 

 

ภาพ: Courtesy of Ralph Lauren

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ชุดใครทำไมสวยจัง!

 

ความจริงเทรนด์การออกแบบชุดสำหรับนักกีฬาที่สวมใส่เริ่มเป็นเรื่องเป็นราวมาในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง ซึ่งเป็นผลจากเทรนด์แฟชั่นแต่งกายแบบกีฬา (Sporty) ที่กำลังมาแรง และได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนสมัยใหม่

 

แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะประกวดประขันชุดนักกีฬาแบบไม่เป็นทางการเท่าโอลิมปิกครั้งนี้

 

เริ่มจากชาติเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสที่ไม่ยอมแพ้ใครแน่นอนในเรื่องนี้ ชุดของนักกีฬาที่ลงแข่งขันเป็นผลงานการออกแบบของ สเตฟอง อาชปูล (Stéphane Ashpool) ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์สตรีทแวร์ชื่อดัง PIGALLE ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากแฟชั่นยุค 90 และใช้สีสันของธงชาติฝรั่งเศสมาแต่งแต้ม

 

ในขณะที่ชุดประจำชาติของนักกีฬาที่ใช้ระหว่างขบวนพาเหรดในพิธีเปิดและปิดการแข่งขันเป็นผลงานการออกแบบของ Berluti แบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์ในเครือ LVMH ที่ออกแบบมาได้สวยและงามสง่าสมฐานะเมืองแห่งแฟชั่นอย่างแท้จริง

 

ชุดของทีมชาติสหรัฐฯ ที่ออกแบบโดย Ralph Lauren ก็เป็นหนึ่งในชุดที่ได้รับเสียงชื่นชมไม่แพ้กัน เพราะทั้งดูมีความสวยงามแบบเรียบง่าย ทะมัดทะแมงแบบนักกีฬา แต่ก็ยังดูมีเสน่ห์ลึกซึ้งตามเอกลักษณ์ของแบรนด์ด้วย

 

ส่วนชุดที่ได้รับเสียงปรบมือดังที่สุดคือชุดประจำชาติของทัพนักกีฬามองโกเลีย ที่แม้จะเป็นชาติเล็กๆ ที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมเพียง 42 คน แต่ผลงานการออกแบบชุดของ Michel & Amazonka แบรนด์แฟชั่นท้องถิ่นที่อยู่ในเมืองอูลานบาตอร์ ต้องบอกว่าเอาเหรียญทองเรื่องชุดไปเลยก็ได้

 

 

ภาพ: Courtesy of Michel & Amazonka

 

เพราะชุดนี้ออกแบบและตัดเย็บได้อย่างงดงาม สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของมองโกเลียผ่านลวดลายบนชุด แต่ก็ดูทันสมัยและสามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ด้วย

 

ใส่หัวใจลงไปในชุด

 

สิ่งที่ทำให้แบรนด์และทีมชาติแต่ละชาติต้องใส่ใจการออกแบบขนาดนี้ อย่างที่บอกว่านี่เป็นเวทีใหญ่ เป็นเวทีสำหรับทุกคนไม่ว่าใครก็ตาม ซึ่งชุดก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนทั้งโลกจะได้เห็นในช่วงการแข่งขัน แน่นอนว่าถ้าชุดออกแบบมาได้ดีก็นับว่ามีชัยไปกว่าครึ่งในการแข่งขันด้านภาพลักษณ์

 

ภาพลักษณ์นั้นไม่ได้เกิดเพียงแค่กับนักกีฬาหรือประเทศชาติ แต่รวมถึงผู้ออกแบบเองก็เหมือนได้เหรียญทองในการแข่งขันไปด้วย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะในโอลิมปิกที่จัดขึ้นในเมืองแห่งแฟชั่นอย่างกรุงปารีส ซึ่งใส่ใจกับทุกรายละเอียดของการแข่งขัน แม้กระทั่งสีสันในจุดเล็กๆ

 

ขณะที่ชุดแข่งขันของนักกีฬาทีมชาติไทยโดยผลงานการออกแบบของ Grand Sport ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน เพราะนำแรงบันดาลใจจากศิลปะบ้านเชียงมาผสมผสานในการออกแบบ 

 

จะมีแค่ชุดพิธีการที่กระแสตอบรับปฏิเสธไม่ได้ว่าออกมาไม่ดีนัก เสียงสะท้อนจากแฟนกีฬาชาวไทยรู้สึกเสียดายโอกาสที่จะได้อวดฝีมือการออกแบบของศิลปินชาวไทยที่เก่งกาจไม่แพ้ใคร 

 

แบรนด์โอลิมปิก

 

เพราะโอลิมปิกเกมส์ที่ปารีสครั้งนี้เป็นโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกนับจาก ‘รีโอ 2016’ ที่ประเทศบราซิล ที่บรรยากาศทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง หลังจากที่โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่แล้ว ‘โตเกียว 2020’ เป็นไปอย่างเงียบเหงาเพราะโลกยังเผชิญกับโรคระบาดโควิด

 

ดังนั้น ปารีส 2024 จึงเป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการลงสนามเพื่อช่วงชิงผู้บริโภคของตัวเอง สมกับคติประจำการแข่งขัน ‘Games Wide Open’

 

การแข่งขันที่น่าจับตามองคือการดวลกันระหว่างแบรนด์ที่เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ (Official Sponsorship) ซึ่งมีทั้งแบรนด์ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับการแข่งขันโดยตรง และแบรนด์ที่เป็นผู้สนับสนุนทีมชาติต่างๆ (ดังชุดที่เราได้เล่าไปข้างต้น) หรือเหล่านักกีฬาคนดัง กับแบรนด์ที่ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนใดๆ ที่ต้องใช้กลยุทธ์การตลาด Ambush Marketing เพื่อดึงความสนใจมาให้ได้มากที่สุด

 

ตัวอย่างเช่นในโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2012 Nike ซึ่งไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างสรรค์มากมายในแคมเปญ ‘Find Your Greatness’ หรือค้นหาความยิ่งใหญ่ในตัวคุณ เพื่อต่อสู้กับ adidas ที่เป็นผู้สนับสนุนหลัก ปรากฏว่าในปีนั้นมีคนเข้าใจว่า Nike เป็นผู้สนับสนุนกีฬาโอลิมปิกถึง 37% ในขณะที่ adidas ได้แค่ 24% เท่านั้น 

 

แน่นอนว่าการหักเหลี่ยมเฉือนคมแบบนี้มีให้เห็นตลอดช่วงการแข่งขันอย่างแน่นอน

 

LVMH โกยเหรียญทองก่อนเพื่อน

 

แต่มีอยู่แบรนด์หนึ่งที่ชิงออกตัวโกยเหรียญทองไปก่อนเพื่อน คือแบรนด์ในเครือ LVMH ที่ปรากฏตัวอยู่ในแทบทุกส่วนของการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ตั้งแต่เหรียญรางวัลที่ออกแบบโดย Chaumet, บริการด้านที่พักและการรับรองแขกคนสำคัญโดย Moët & Chandon ไปจนถึงพิธีมอบเหรียญรางวัล ถาดที่ใส่เหรียญรางวัลก็ยังเป็นของ Louis Vuitton 

 

 

ภาพ: Courtesy of LVMH

 

ขณะที่ Corona แบรนด์เบียร์แรกที่ได้เป็นผู้สนับสนุนของกีฬาโอลิมปิก ไม่ได้ชูผลิตภัณฑ์เบียร์แต่อย่างใด เพราะผิดกฎของกีฬาโอลิมปิก (ที่จะไม่อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา) แต่ได้ชูเครื่องดื่มปลอดแอลกอฮอล์ Corona Cero แทน ซึ่งในเชิงของแบรนด์เป็นการสร้างภาพจดจำของเครื่องดื่มในฐานะทางเลือก และสร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ตัวนี้แทนด้วย

 

Samsung ในฐานะ Global Official Partner ที่มาพร้อมแคมเปญ ‘Open Always Wins’ ที่สะท้อนถึงคุณค่าแบรนด์ของ Samsung ที่โอบรับนวัตกรรมและผลักดันให้ก้าวผ่านขีดจำกัดต่างๆ ซึ่งเหมือนกับสปิริตเกมกีฬาของโอลิมปิกเกมส์ที่นักกีฬาจะต้องพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดความสามารถของตัวเองเพื่อชัยชนะในการแข่งขัน

 

แค่ตัวอย่างเหล่านี้ก็เชื่อได้ว่าจะมีแบรนด์อีกมากมายที่พร้อมเดินเครื่องเต็มกำลังไม่แพ้เหล่านักกีฬาในสนาม เพื่อช่วงชิงเหรียญทองของตัวเองอย่างแน่นอน 

 

ปารีส 2024 ไม่ได้สวยงามขนาดนั้น?

 

ลงทุนลงแรงขนาดนี้ เจ้าภาพกรุงปารีสย่อมคาดหวังผลตอบแทน ซึ่งนอกจากการ Reinventing มหานครปารีสให้กลับมามีชีวิตชีวา สดสวยและสดใส รวมถึงวาระสุดยิ่งใหญ่ในการชุบชีวิตแม่น้ำแซน สายน้ำที่โรแมนติกที่สุดของโลก เรื่องเงินทองก็เป็นของที่ต้องได้เหมือนกัน

 

จากการประเมินของ INSEE ระบุในรายงาน ‘On GDP, Games and uncertainties’ ว่า การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้จะส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสในทางที่ดี โดยจะเพิ่มจาก 0.3% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้าการแข่งขันเป็น 0.5% ซึ่งจะใกล้เคียงกับในโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2012

 

แต่ส่วนที่ต้องจับตามองคือการท่องเที่ยวที่เริ่มน่ากังวล เพราะค่าใช้จ่ายในการมาเยือนปารีสช่วงการแข่งขันพุ่งทะยานสูงมากอย่างน่ากลัว ทำให้นักท่องเที่ยวเลี่ยงจะมาเยือนในช่วงการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อสายการบินและโรงแรมที่พักอย่างมาก

 

 

Air France สายการบินแห่งชาติของฝรั่งเศส คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้สูงถึง 180 ล้านยูโร หรือประมาณ 7.1 พันล้านบาท หลังนักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังกรุงปารีสในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม และสิ้นสุดในวันที่ 11 สิงหาคมนี้

 

เช่นกันกับ Ed Bastian ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Delta Air Lines ที่เผยว่า การที่นักท่องเที่ยวต่างพากันเลี่ยงการเดินทางไปปารีสและเลือกจองไปยังประเทศอื่นแทน ส่งผลกระทบต่อรายได้บริษัทกว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.6 พันล้านบาท สวนทางกับสภาวะปกติในช่วงฤดูร้อนที่การท่องเที่ยวยุโรปจะคึกคักกว่านี้

 

ขณะที่ยอดจองโรงแรมในระดับไฮเอนด์นั้นลดลง 20-50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดย American Express Global Business Travel ทำนายว่าจะมีคนเข้าพักโรงแรมในปารีสเพียง 50% เท่านั้น ห่างจากตัวเลขที่วาดฝันเอาไว้มาก

 

อย่างไรก็ดี บอร์ดการท่องเที่ยวของปารีสคาดว่าจะมีแฟนกีฬาจากทั่วโลกเดินทางมาปารีสในช่วง 2 สัปดาห์ของการแข่งขันราว 11.3 ล้านคนด้วยกัน

 

บนความหวังว่าทุกอย่างจะออกมาสวยงาม เป็นความทรงจำที่ดีสำหรับทุกคน

 

 


ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

เว็บไซต์ https://thestandard.co/paris2024 

Facebook :  https://www.facebook.com/thestandardsport

YouTube : https://www.youtube.com/@TheStandardSport 

TikTok : https://www.tiktok.com/@thestandardsport

Instagram : https://www.instagram.com/thestandardsport

 

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising