×

ความสำเร็จของ Parasite, ก้าวสำคัญของ แก้ม วิชญาณี บนเวทีออสการ์ บทเรียนของคนมีฝัน ที่ควรลงมือทำอย่างเป็นระบบ

18.02.2020
  • LOADING...

งานประกาศรางวัลออสการ์ผ่านไปได้กว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่เราก็ยังได้เห็นข่าวควันหลงจากเวทีดังกล่าวอยู่เป็นระยะๆ เหตุผลที่ทำให้งานออสการ์ปีนี้น่าติดตามเป็นพิเศษ คงไม่ใช่เพราะมันคืองานที่รวมคนดังที่สุดในโลกไว้ในโรงละครโรงเดียว แต่เป็นเพราะงานปีนี้มีฟังก์ชันที่ทำงานกับจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แตกต่างออกไปจากปีก่อนๆ

 

นอกจากที่ผมจะต้องมานั่งลุ้นตัวโก่งและคอยรายงานผลว่า ใครจะเป็นผู้คว้าตุ๊กตาทองกลับบ้าน ยังเป็นอีกหนึ่งที่มีโมเมนต์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งของวงการภาพยนตร์จากฝั่งเอเชีย กับการที่ภาพยนตร์แห่งปีอย่างเรื่อง Parasite คว้ารางวัลใหญ่ได้ถึง 4 รางวัล ไม่ว่าจะเป็นบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม และแน่นอน ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

 

 

ส่วนอีกหนึ่งภาพประวัติศาสตร์เมื่อ แก้ม-วิชญาณี เปียกลิ่น นักร้องสาวชาวไทยได้ไปเดินพรมแดงงานออสการ์ และขึ้นร้องเพลงเพลง Into The Unknown จากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องดังอย่าง Frozen 2 ร่วมกับ อีดิน่า เมนเซล ราชินีน้ำแข็งต้นฉบับ และราชินีน้ำแข็งอีก 8 ประเทศ กลายเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวทีอันทรงเกียรติยศนี้

 

 

 

ในหน้าฟีดของเฟซบุ๊กผมจึงเต็มไปด้วยทั้งเพื่อนๆ นักแสดง พี่ๆ ผู้กำกับ และคนที่อยู่เบื้องหลังมากมายร่วมแสดงความยินดีกับภาพยนตร์แห่งปี ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนผมคนหนึ่งที่แสดงความยินดีกับ บงจุนโฮ ที่ได้รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และหวังว่าสักวันหนึ่งพี่ชายของเธอที่เป็นผู้กำกับเช่นกัน จะได้ไปยืนอยู่ในจุดนั้นบ้าง หรือจะเป็นโพสต์ของเพื่อนนักแสดงคนหนึ่ง เธอโพสต์เป็นสเตตัสแสดงความยินดีที่ซ่อนความฝันของเธอไว้ไม่อยู่ว่า ‘Oscar is not far away anymore’ ราวกับว่ามีคนกรุยทางให้ความฝันของเธอเขยิบเข้ามาใกล้แค่เพียงคืบ

 

แต่จะใกล้เข้ามาเพียงใด สิ่งที่ใหญ่กว่า ตัวเธออาจเป็นตัวกำหนด

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันวงการบันเทิงฝั่งเอเชียไม่มีเจ้าไหนมาแรงไปกว่าประเทศเกาหลีใต้ ที่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตเนื้อหา จนกลายเป็นสินค้าส่งออกเชิงวัฒนธรรมได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งในวงการดนตรี ภาพยนตร์ ซีรีส์ แฟชั่น ความงาม อาหาร ท่องเที่ยว และอีกมากมายที่เราเรียกกันว่า Korean Wave หรือ Hallyu

 

 

ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Parasite จึงกลายเป็นผลผลิตของระบบอุตสาหกรรมที่ได้รับการร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่ได้รับแรงอัดฉีด วางแผน ดูแล สั่งสม และบ่มเพาะ โดยไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามคืนก่อนงานประกาศรางวัล

 

ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากศักยภาพของทั้งบุคลากรเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ตั้งแต่นักแสดง ผู้กำกับ นักเขียนบท ช่างภาพ เสียง เอฟเฟคต์ โปรดักชันดีไซน์ คนดู โรงภาพยนตร์ และการผลักดันและต่อยอดจากภาครัฐที่จัดสรรงบประมาณไปยังกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ที่ได้รับหน้าที่สำคัญในการจัดตั้งหน่วยงานมากมายจนได้ Soft Power แบบใหม่ที่ทรงอำนาจและสามารถแย่งส่วนแบ่งจากวัฒนธรรมอย่าง J-Pop, Brit Pop หรือแม้กระทั่ง Pop Culture จากฝั่งอเมริกาที่ครองตลาดโลกนานนับศตวรรษ 

 

 

ยกตัวอย่างบทความจากเว็บไซต์ Financial Post ที่รายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ได้แบ่งงบประมาณประจำปี 1% ไปยังหน่วยงานทางวัฒนธรรมที่เป็นทั้งเงินสนับสนุน ปล่อยกู้ให้บริษัทต่างๆ ก่อตั้งองค์กรโปรโมต และจัดตั้งหน่วยงานทางวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย และในปี 2012 ทางกระทรวงได้ออกมาประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจของ Korean Wave ว่ามีมูลค่าสูงถึง 83,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และราวๆ 5,260 ล้านดอลลาร์ คือตัวเลขเฉพาะจากอุตสาหกรรมดนตรี หรือเมื่อปี 2012 ราวๆ 279.8 พันล้านวอน ถูกจัดสรรไปยังอุตสาหกรรมผลิตเนื้อหา และ 118.8 พันล้านวอน ในอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งมากกว่าประเทศญี่ปุ่นถึง 8 เท่า ตามรายงานของ Asia Nikkei Review นั่นจึงเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการขับเคลื่อนระดับมหภาค

 

เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์บ้านเรา ปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงกันคงหนีไม้พ้นภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ของผู้กำกับมาแรงอย่าง บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่กวาดรางวัลทั้งในและต่างประเทศมากมาย ทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม อย่าง ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ที่ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทั้งในเอเชียและอเมริกาเหนือ แถมยังถูกแปลไปหลายภาษา และกวาดรายได้อย่างถล่มทลาย เช่น ในประเทศจีนที่ทำเงินไปได้ถึง 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.2 พันล้านบาท

 

 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความสำเร็จที่ไม่ได้มีมาบ่อยๆ ในวงการบันเทิงไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพที่ซ่อนไว้อยู่ในตมของทั้งทีมงานและผู้ผลิต และรอวันที่ถูกค้นพบในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เหมือนช้างเผือกในอุตสาหกรรมท้องถิ่นอันแสนซบเซา ดูได้จากรายได้ภาพยตร์ในปี 2562 ที่มีเพียง 2 เรื่อง (จากค่ายเดียว) เท่านั้นที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท จากทั้งหมด 54 เรื่องตลอดปี

 

เช่นเดียวกับ แก้ม วิชญาณี ที่หลายคนคงยกให้เธอเป็นต้นแบบของการต่อสู้ ฝึกฝนและน้ำพักน้ำแรงที่กลั่นออกมาจากความทุ่มเทและแพสชันของแท้ เพราะหนึ่งในความทรงจำวัยเด็กของผมคือ การนั่งเชียร์ผู้หญิงคนหนึ่งบนเวที The Star 4 จนคว้าดาวดวงนั้นมาได้ในที่สุด ใครจะไปคิดว่า สาวใต้เราเชียร์อยู่ตอนนั้น วันนี้เธอได้ขึ้นไปอีกเวทีที่ยิ่งใหญ่อย่างออสการ์ แต่ไม่ว่าผมจะยินดีกับเธอมากเท่าไรก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลในภาพรวมอุตสาหกรรมบันเทิงไทยยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งต้องขอบคุณโอกาสจากผู้สร้างที่เลือกเธอเป็นตัวแทนประเทศไทย เป็นช้างเผือกอีกหนึ่งเชือกที่มีศักยภาพพร้อม

 

แต่สิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่การควานหาเพชรในตมอย่างที่ผ่านมา หรือออกตามหาช้างเผือกเชือกต่อไป แต่คือจะทำอย่างไรให้ระบบขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยตัวของมันเอง ระบบอุตสาหกรรมที่เป็นเหมือนบ่อเพชรที่สร้างบุคลากร ใครๆ ก็อยากได้ตัวไปร่วมงานอยู่เรื่อยๆ ระบบที่ให้คุณค่าแก่ความคิด จิตวิญญาณ ความพยายาม ความสร้างสรรค์ของพวกเขาเหล่านั้น จนเกิดเป็นสินค้าที่มีคุณค่าขึ้นมา

 

จึงปฏิเสธไม่ได้ที่หลังจากจบงานออสการ์ปีนี้ สิ่งที่ทั้ง Parasite และแก้ม วิชญาณี ได้สร้างไว้ให้กับคนรุ่นใหม่บ้านเราอย่างมหาศาลคือ การมอบความหวังในช่วงเวลาที่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใครพูดออกมาก็หาว่าเป็นเรื่องตลก ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสน ก็มีสิ่งนี้แหละที่เป็นแรงผลักดันให้เขายังสามารถใช้ชีวิตอยู่เพื่อไล่ล่าหาความฝันได้ 

 

แต่กว่าที่รางวัลแด่คนช่างฝันนั้นจะเป็นจริง เขาจะยังต้องเดินทางอีกยาวไกลเท่าไร หรือจะปล่อยให้เขานั่งรอปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะกลับมาอีกเมื่อใด เมื่อนั้น เมื่อคนรุ่นใหม่มีฝันแล้ว มีคนแง้มประตูบานใหม่ให้วิ่งคว้าฝันแล้ว ลำพังกำลังกายและกำลังใจของตัวพวกเขาเองจะยังควรค่าแก่การฝันไหม สิ่งใดที่พวกเขาสามารถยึดเหนี่ยวจิตใจไว้ได้ว่า ความฝันของพวกเขาจะไม่ใช่แค่วิมานลอยอีกต่อไป หรือสิ่งที่เขาต้องทำคือ รอเพียงแค่ใครมาค้นพบตัวเขา ในตม ในป่า เท่านั้นเอง

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X