วันนี้ (2 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา ปารมี ไวจงเจริญ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีการแก้กฎกระทรวงเรื่องเครื่องแบบและการแต่งกายชุดลูกเสือเนตรนารีของกระทรวงศึกษาธิการ โดยระบุว่า ตามหลักการส่วนตัวและของพรรคประชาชน พรรคเราต้องการให้เครื่องแบบนักเรียนเป็นสิทธิสำคัญที่ตัวนักเรียนเลือกเอง ประเด็นนี้ยืนยันมาตลอดว่า อยากให้เครื่องแบบต่างๆ ยกเลิกการบังคับ คือถ้าใครอยากจะใส่ ก็ใส่ไป แต่ถ้าใครยังไม่อยากใส่ ก็ปรับเปลี่ยนบ้าง แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการทำประเด็นนี้แบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่สะเด็ดน้ำ คล้ายเรื่องการยกเลิกทรงผม เหมือนเป็นการโยนภาระไปให้ครูและโรงเรียน
ปารมีระบุว่า ประกาศยกเลิกชุดลูกเสือก็มีกฎหมายเฉพาะ และมีประกาศของตัวเองในเรื่องเกี่ยวกับเครื่องแบบลูกเสือ เช่น การมีระเบียบให้ใส่ชุดลูกเสือแค่วันเปิดกองและปิดกอง ซึ่งไม่เห็นกระทรวงศึกษาพูดเรื่องนี้ พูดแค่ภาพกว้างๆ แต่สุดท้ายก็ต้องใส่และซื้ออยู่ดี
“อยากให้กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศเพิ่มเติม ให้สะเด็ดน้ำ ถ้าคุณจะยกเลิกแล้วเปลี่ยนเป็น เช่น ให้นักเรียนใส่แค่ผ้าพันคอ ก็พอแล้ว ดิฉันคิดว่าแบบนี้น่าจะชัดเจนกว่า และกรณีชุดลูกเสือดิฉันเห็นใจ และยืนยันตามหลักการของพรรคด้วยว่าไม่อยากให้มีการบังคับ เพราะค่าใช้จ่ายชุดลูกเสือสูง จึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน ทำแบบนี้เหมือนไม่สะเด็ดน้ำทำครั้งๆ คราวๆ ไป ไม่ดีเลย” ปารมีกล่าว
สำหรับผู้ประกอบการเครื่องแบบนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากระเบียบดังกล่าวนั้น ปารมียืนยันว่า การดำเนินนโยบายที่กระทบต่อสาธารณชนต้องทำล่วงหน้า เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ประณีตอีกแล้ว จะเปิดเทอมในอีกไม่กี่วันแต่เพิ่งประกาศ จึงเห็นใจผู้ประกอบการอยู่ส่วนหนึ่ง และขอย้อนกลับไปที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ว่าเหตุใดไม่มีการประกาศล่วงหน้าในเทอม 2 หรือเทอม 1 ปีการศึกษาหน้า ควรประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือนก็ยังดี
“ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการที่ไม่ทำล่วงหน้า แสดงถึงความไม่ประณีตรอบคอบ ลวกๆ เหมือนนึกนโยบายอะไรขึ้นมา หรือโดนสังคมกดดันด้วยเรื่องอะไร อย่างช่วงนี้ปัญหาเศรษฐกิจ พ่อแม่พี่น้องก็ร้องระงมด้วยพิษเศรษฐกิจ อยู่ๆ ก็ยกเลิกชุดลูกเสือ ไม่คำนึงถึงเรื่องต่างๆ ให้รอบด้าน” ปารมีกล่าว
ทั้งนี้ ปารมียังเปรียบเทียบกับหลักสูตรใหม่ของปฐมวัยและนักเรียนประถมต้น ที่กระทรวงศึกษาธิการจะนำร่องในโรงเรียนประมาณ 4,000 กว่าแห่ง และจะเลือกประมาณ 200 แห่ง เพื่อวิจัยทดลองหลักสูตร ซึ่งจะใช้ในเทอม 1 ที่จะถึงนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อจะขับเคลื่อนหลักสูตรนี้เมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่พอดีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเดิมต้องมีการอบรมช่วงหลังสงกรานต์ จึงเลื่อนออกมาเล็กน้อย เพิ่งจะมีการอบรมในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเรื่องหลักสูตรไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องใหญ่มาก
ปารมีย้ำว่า หลักสูตรเป็นสิ่งที่ต้องใช้ร่วมกันในโรงเรียน ต้องอบรมให้ครูที่นำไปใช้รู้ลึกรู้จริง และจัดการเรียนการสอน เรื่องนี้ต้องมีความประณีต
“ขอฝากไปยังกระทรวงศึกษาธิการ จะทำอะไรต้องมีความประณีต และมีการวางแผนล่วงหน้า เรื่องนี้เรื่องใหญ่ เรื่องหลักสูตรที่เร่งอบรม ดิฉันคิดว่าผลงานวิจัยไม่เกิดประโยชน์แม้ว่าตอนนี้ สพฐ. จะอ้างว่าเป็นแค่นำร่องเพื่อวิจัยก็ตาม แต่คล้ายกับกรณีชุดลูกเสือ อยู่ๆ ก็ประกาศเลย ไม่ดำเนินการล่วงหน้าไม่ได้” ปารมีกล่าว