10 ปีสำหรับอาชีพการงานของหลายคนอาจมีการเติบโตก้าวหน้าบ้าง แต่สำหรับ พารัก อัคราวาล แล้ว การก้าวหน้าของเขานับว่าน่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือระยะเวลาที่เขาเริ่มต้นจากการเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์มาสู่การเป็นซีอีโอคนใหม่ของยักษ์ใหญ่อย่าง Twitter ด้วยวัยเพียงแค่ 37 ปี ซึ่งทำให้กลายเป็นซีอีโอที่อายุน้อยที่สุดใน S&P 500 คนใหม่แทน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ไปเรียบร้อย
อัคราวาลกลายเป็นคนที่ถูกจับตามองทันทีเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอคนใหม่แทนที่ของ แจ็ค ดอร์ซีย์ (@jack) ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter สร้างความประหลาดใจให้แก่คนทั้งโลกด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยที่เขาเพิ่งอยู่กับบริษัทได้เพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น
จุดเริ่มต้นของอัคราวาลมาจากการรับตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ในปี 2011 แต่ด้วยความสามารถทำให้เขาไต่ขึ้นมาสู่การเป็น Chief Technology Officer (CTO) ได้ในเวลาเพียงแค่ 6 ปีเท่านั้น โดยผลงานสร้างชื่อคือการนำปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงมาช่วยพัฒนาให้ Twitter ก้าวไปข้างหน้า สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานได้อย่างมากมายมหาศาล
แจ็ค ดอร์ซีย์ ที่ร่วมก่อตั้ง Twitter ในปี 2006 กล่าวให้กำลังใจกับอัคราวาลว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของ “ความทะเยอทะยานและการพัฒนาศักยภาพ” ที่เขาได้เห็นจากการร่วมงานในทีมของ Twitter “พารักเริ่มต้นจากการเป็นวิศวกรที่ใส่ใจกับการทำงานของพวกเรา และตอนนี้เขาได้เป็นซีอีโอคนใหม่ของเรา”
ด้านซีอีโอคนใหม่กล่าวขอบคุณอดีตซีดีโอผู้ส่งไม้ต่อให้ว่า “ผมรู้สึกซาบซึ้งกับมิตรภาพและการให้คำปรึกษาของคุณตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา” พร้อมยังกล่าวสดุดีดอร์ซีย์ที่นำพา Twitter ฝ่าฟันอุปสรรคและความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่เผชิญกับข้อกล่าวหาว่าเป็นแหล่งรวมเฟกนิวส์บนโซเชียลมีเดีย
ในจดหมายที่อัคราวาลส่งถึงพนักงาน Twitter ทุกคนกล่าวว่า “ผมเพิ่งเข้าร่วมบริษัทได้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในตอนที่เรายังมีพนักงานไม่ถึง 1,000 คน” ก่อนที่ซีอีโอคนใหม่ที่จะต้องดูแลพนักงานที่มีมากกว่า 5,500 คนจะบอกต่อว่า “ผมจะเดินร่วมไปกับพวกคุณ ผมได้เห็นทั้งช่วงที่ดีและร้าย ได้เห็นความท้าทายและอุปสรรค ได้เห็นชัยชนะและความผิดพลาด”
ใครคือพารัก อัคราวาล?
ตามประวัติการทำงานใน LinkedIn ของ พารัก อัคราวาล ก่อนหน้าที่จะมาอยู่กับ Twitter เขาทำงานในตำแหน่งนักวิจัยให้กับหลายบริษัท อาทิ AT&T Labs, Microsoft และ Yahoo และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2012 นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีอินเดียในเมืองมุมไบ
ส่วนชีวิตส่วนตัว อัคราวาลสมรสกับ วินีตา (Vineeta) ทำงานให้กับบริษัทเงินทุน Andreessen Horowitz ที่ลงทุนในด้านเทคโนโลยีชีววิทยา
ด้วยความที่ไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในวงการ ทำให้อัคราวาลไม่ได้มีจำนวนผู้ติดตามมากนัก แต่เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของ Twitter ทำให้จำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจาก 24,000 คนไปถึง 140,000 คนได้อย่างรวดเร็ว
อัคราวาลกับผลงานให้นกสีฟ้า
ตามจดหมายข่าวจาก Twitter ระบุถึงผลงานของอัคราวาลว่าเป็นคนแรกในบริษัทที่ได้รับตำแหน่ง ‘Distinguished Software Engineer’ ก่อนหน้าจะเข้ารับตำแหน่ง CTO ในเวลาต่อมา
โดยในบทบาทของการเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ อัคราวาลเริ่มต้นจากการทำงานในแผนกโฆษณา และได้มีการนำแมชชีนเลิร์นนิงมาใช้ช่วยพัฒนาอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะการทำให้ทวีตที่เกี่ยวข้องปรากฏในไทม์ไลน์ของผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น
อัคราวาลเล่าในประวัติส่วนตัวของเขาว่า ความสำเร็จดังกล่าวทำให้จำนวนผู้ใช้ Twitter มีจำนวนเพิ่มขึ้น และทำให้เขากลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในบริษัทมาอย่างเงียบๆ เป็นเวลาหลายปี
และในบทบาทของเป็น CTO เขายังทำงานร่วมกับดอร์ซีย์ในโครงการ Blue Sky ทีมเฉพาะกิจของ Twitter ที่พยายามวิจัยและค้นคว้าหามาตรฐานกลางที่ทุกโซเชียลมีเดียจะใช้ร่วมกันในการทำให้คอนเทนต์ที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียหนึ่งสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นด้วย
ด้วยความโดดเด่นของผลงาน ทำให้บอร์ดบริหาร Twitter ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เขาเป็นซีอีโอคนใหม่ และยังแต่งตั้งให้อยู่ในบอร์ดบริหารด้วย ส่วนดอร์ซีย์จะยังอยู่ในบอร์ดบริหารของบริษัทจนกว่าจะหมดวาระในปี 2022 ซึ่งดอร์ซีย์เชื่อว่าอัคราวาลคือคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่ง
“เขาคือตัวเลือกของผมมานานแล้วจากการที่เขาเข้าใจบริษัทและความต้องการของบริษัท”
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP