วันนี้ (31 กรกฎาคม) เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่แอปพลิเคชันทางรัฐล่ม ประชาชนไม่สามารถเข้าลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์ขึ้นมา แต่ตามไทม์ไลน์การพัฒนาแอปพลิเคชันจะมีการอัปเดตในช่วงเวลา 19.00-22.00 น. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบทะเบียนราษฎร์ในการตรวจสอบข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนและหน้าตาของผู้ลงทะเบียนว่าตรงกันหรือไม่ จึงจะใช้เวลาในการสร้างชื่อผู้ใช้งาน (Username) รหัสผ่าน (Password) และรหัสลับบุคคล (PIN Code) ก่อนที่ปุ่มยืนยันตัวตนจะปรากฏขึ้นอีกครั้งในเวลา 08.00 น. ซึ่งกระบวนการในตอนนี้ตัวแอปพลิเคชันยังไม่มีระบบรอคิว ยืนยันว่าระบบไม่ได้ล่ม หรือปิดระบบเพราะเจอปัญหา แต่เป็นการปิดเพื่ออัปเดตเวอร์ชันให้เป็นระบบรอคิว
“ก็บอกแล้วไงครับต้องมีการรีเซ็ตระบบ เพื่ออัปเดตเวอร์ชัน ผมอยากบอกไปยังประชาชนว่าให้เริ่มลงทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคม เวลา 08.00 น.” เผ่าภูมิกล่าว
ระบบรอคิวเมื่อใช้งานเกิน 5 ล้านคน
เผ่าภูมิกล่าวด้วยว่า จะล่าช้าหรือไม่ล่าช้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับแอปพลิเคชันทางรัฐ แต่เป็นการรอระบบเพื่อตรวจทะเบียนราษฎร์ในการเข้าสู่ระบบ โดยหากผู้เข้าใช้งานเกิน 5 ล้านคนจะเข้าสู่ระบบรอคิว
หากประชาชนไม่สามารถลงทะเบียนได้ครบตามกรอบเวลาที่วางไว้ เผ่าภูมิกล่าวว่า ผู้ลงทะเบียนจะต้องลงทะเบียนภายในกรอบเวลาที่กำหนด ยืนยันว่าแอปพลิเคชันจะไม่มีปัญหา กรอบเวลา 45 วัน ไม่มีการขยายเวลา ซึ่งประชาชนมีไทม์ไลน์ตามที่ได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้
ยึดตามทะเบียนราษฎร์
ส่วนการย้ายสำมะโนครัวหรือที่อยู่ตามทะเบียนบ้านก่อนยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชันทางรัฐ เผ่าภูมิกล่าวว่า ระบบจะยึดตามวันที่ลงทะเบียน เพราะฉะนั้นก่อนหน้านั้นก็สามารถย้ายได้ เนื่องจากระบบถูกทำให้ง่ายต่อประชาชนที่มีสำมะโนครัวอยู่ไกลจากที่ทำงาน ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชนสะดวกขึ้น พร้อมย้ำว่า หากข้อมูลที่อยู่ในบัตรประชาชนไม่ตรงกับทะเบียนราษฎร์ระบบจะยึดตามทะเบียนราษฎร์เป็นหลัก
ด้าน ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป (หลังจากนั้นลงทะเบียนได้ 24 ชั่วโมง) จะเป็นวันแรกของการเปิดระบบลงทะเบียนและยืนยันตัวตนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เน้นย้ำว่าการลงทะเบียนของผู้ที่มีสมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ได้โดยตรงจากแพลตฟอร์มของระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android
เปิดจุดวอล์กอิน ช่วยลงทะเบียน-สอบถามข้อมูล
ชัยกล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกให้ประชาชนลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต สำหรับผู้ที่มีสมาร์ทโฟนตั้งจุดให้บริการ (Walk-in) เพื่อช่วยลงทะเบียนและสอบถามข้อมูลต่างๆ ใน 4 สถานที่หลักทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมจำนวน 5,199 จุด ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567
ชัยกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 รัฐบาลพร้อมด้วยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้บริการประชาชนผู้มีสมาร์ทโฟนแต่ต้องการความช่วยเหลือในการลงทะเบียน ตามระยะเวลาทำการใน 4 สถานที่หลักทั่วประเทศ ได้แก่
- ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 ศูนย์
- ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,200 แห่ง (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาตเอกชน (ปณอ.) และร้านค้าให้บริการ)
- ธนาคารออมสิน 1,047 แห่ง ทั่วประเทศ
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,238 แห่ง
กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน เริ่มลงทะเบียน 16 ก.ย.
ขณะที่กลุ่มของผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้นจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567 ณ สถานที่ที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งจะแจ้งสถานที่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยจะต้องใช้บัตรประชาชนในการใช้จ่าย และต้องตรวจสอบคุณสมบัติสถานะบุคคลตามทะเบียนบ้าน
31 ก.ค. รีเซ็ตระบบ หยุดทำงานก่อนเปิดลงทะเบียน
ทั้งนี้ ในหัวค่ำวันนี้ (31 กรกฎาคม) ระบบจะหยุดทำงานราว 2-3 ชั่วโมง เพื่อรีเซ็ตระบบอีกครั้ง เตรียมความพร้อมสำหรับเปิดรับการลงทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 สำหรับประชาชนที่สนใจศึกษาข้อมูล ข่าวสาร และรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และศูนย์บริการข้อมูล โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 ซึ่งพร้อมบริการให้คำแนะนำและคำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
“รัฐบาลเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการกระจายรายได้ เกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ระดับฐานราก พร้อมทั้งช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมถึงเป็นรากฐานสำคัญด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต” ชัยกล่าว