เผ่าภูมิยืนยัน ดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้น GDP ได้ถึง 1.8% เท่าประมาณการเดิม แม้หั่นงบเหลือ 4.5 แสนล้านบาท ด้านจุลพันธ์ยืนยัน ไม่ว่าประชาชนจะลงทะเบียนมากเท่าไร รัฐบาลก็จะมีงบประมาณมากพอที่จะ Earmark ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501
วันนี้ (11 กรกฎาคม) เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 1.8% (เท่าประมาณการเดิม) แม้คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท เตรียมเสนอคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต (ชุดใหญ่) ปรับกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับโครงการเหลือ 4.5 แสนล้านบาท จากเดิม 5 แสนล้านบาท
โดยเผ่าภูมิอธิบายว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลใช้ตัวเลขประชาชน 40 กว่าล้านคนมาประเมินผลทางเศรษฐกิจ (GDP) ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะกระตุ้น GDP ได้ 1.3-1.8% แต่ถ้ามีคนใช้มากกว่า (40 กว่าล้านคน) ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจก็จะมากขึ้น
“ตัวเลขประมาณการผู้เข้าร่วมโครงการ 80-90% อยู่ในฐานการประมาณการอยู่แล้ว เนื่องจากการประมาณการว่า 50.7 ล้านคนจะเข้าร่วมโครงการทุกคนเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นถ้าหน่วยงานใดประเมินเศรษฐกิจจากสิ่งนี้ (ผู้เข้าร่วมโครงการ 100%) จึงโอเวอร์เกินไป เราจึงประเมินจากสิ่งที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มีการปรับเปลี่ยนวันนี้คือเราไม่ตั้งงบประมาณเกินไป เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ของประเทศ แม้จะมีคนลงทะเบียนเกินกลไกงบประมาณก็สามารถรองรับได้” เผ่าภูมิกล่าว
พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “การหั่นงบประมาณเหลือ 4.5 แสนล้านบาท มาจากการประเมินโครงการเก่าๆ ของภาครัฐว่าไม่มีโครงการใดมีคนมาลงทะเบียนครบเต็มจำนวน 100% โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 80% จึงมีข้อห่วงกังวลจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐว่ารัฐบาลไม่ควรตั้งงบประมาณให้สูงเกินไป เนื่องจากจะเป็นการสูญเสียโอกาสของประเทศ เราจึงตั้งงบประมาณให้เพียงพอและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง” เผ่าภูมิกล่าว
สำหรับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่แน่นอน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท เปิดเผยในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่ารัฐบาลจะรู้ตัวเลขการลงทะเบียนของประชาชนก่อนสิ้นเดือนกันยายน โดยหากมีผู้ลงทะเบียนต่ำกว่า 45 ล้านคนก็สามารถปรับลดงบประมาณได้อีก แต่ยืนยันว่าสุดท้ายไม่ว่าประชาชนจะลงทะเบียนมากเท่าไร รัฐบาลก็จะมีงบประมาณมากพอที่จะ Earmark ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 แน่นอน
ย้ำผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ขึ้นกับเงื่อนไข
เผ่าภูมิกล่าวย้ำอีกว่า ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะขึ้นกับการตั้งเงื่อนไขของโครงการ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องตั้งเงื่อนไขให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากที่สุด ทำให้คณะอนุกรรมการกำกับโครงการปรับปรุงเงื่อนไขรายการสินค้าต้องห้ามร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Negative List) โดยเพิ่มสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสาร
โดยถึงแม้จะทำให้ประชาชนใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตได้ยากขึ้น แต่มีข้อดีคือเงินจะถูกหมุนในประเทศมากขึ้น เนื่องจากสินค้าประเภทดังกล่าวมีสัดส่วนการนำเข้าสูง (Import Content) เงินไหลสู่ต่างประเทศในรอบแรกทันที ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในประเทศ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ายังจำเป็นต้องขอความเห็นจากกฤษฎีกาอีกหรือไม่หลังจากนี้ เผ่าภูมิตอบว่า กฤษฎีกาอยู่ในกระบวนการเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทบทุกเรื่องอยู่แล้ว ดังนั้นการถามความเห็นจากกฤษฎีกาจึงเป็นกระบวนการปกติ
นอกจากนี้หลังจากคณะอนุกรรมการกำกับโครงการชงเรื่องนี้เข้าไปในคณะกรรมการนโยบาย (ชุดใหญ่) ในวันที่ 15 กรกฎาคม เพื่อลงมติให้เรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามนี้ (ใช้แค่จากงบประมาณปี 2567 และ 2568) ก็หมายความว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2-1.8% จากกรณีฐาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการ