×

‘ปัญญา’ เกมโชว์ไลฟ์ที่แจกเงินไปแล้ว 30 ล้านบาท ยอดคนเล่น 1.6 ล้านคน ตั้งเป้าสถานีโทรทัศน์อินเตอร์แอ็กทีฟ

20.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ปัญญาคือเกมโชว์ไลฟ์แจกเงินรางวัล ออกอากาศทุกวันจันทร์-อาทิตย์ วันละ 2 รอบ มีจำนวนเงินรางวัลแตกต่างกันตั้งแต่ 75,000-200,000 บาท หลักการง่ายๆ คือตอบคำถามให้ถูกครบทั้ง 12 ข้อ เพื่อลุ้นรับเงินรางวัลที่จะถูกหารแบ่งให้ผู้ชนะในแต่ละรอบเท่าๆ กัน
  • 3 กลยุทธ์เด่นที่ทำให้เกมปัญญาประสบความสำเร็จคือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายคนเล่นที่ชัดเจนผ่านช่วงเวลาเกมแต่ละรอบ, เงินรางวัลก้อนโต และการแก้ไขปัญหาบนตัวแพลตฟอร์มแบบวันต่อวัน
  • โมเดลทางธุรกิจในช่วงแรกไม่มีสปอนเซอร์ เพราะต้องการสะสมฐานผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด เงินที่ถูกแจกให้ผู้ชนะเกมมากกว่า 30 ล้านบาท จึงมาจากนักลงทุนล้วนๆ ก่อนที่ไม่นานมานี้ปัญญาเพิ่งจะมีแบรนด์ผู้สนับสนุนรายการเจ้าแรก
  • เป้าหมายในอนาคตของปัญญาคือ การเป็นสถานีโทรทัศน์แบบสื่อตอบโต้ (Interactive Media) ผู้ใช้จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของรายการคอนเทนต์ต่างๆ และมีบทบาทสามารถกำหนดคอนเทนต์ได้ด้วยตัวเอง

ช่วงนี้ถ้าเห็นเพื่อนร่วมงานนั่งจับกลุ่มสุมหัวกันที่ออฟฟิศหรือตามร้านอาหาร โดยเฉพาะตอนพักเที่ยงและช่วงหัวค่ำ สันนิษฐานเลยว่า พวกเขากำลังนั่งเล่นเกม ‘ปัญญา’ หวังลุ้นชิงเงินรางวัลก้อนโตกันอยู่

 

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ปัญญาคือเกมโชว์ไลฟ์บนแอปพลิเคชันรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS  และ Android หลักการง่ายๆ คือใครก็เล่นได้แบบฟรีๆ มีลุ้นชิงเงินรางวัลเหมือนกันได้ทุกคน โจทย์คือต้องตอบคำถามให้ถูกทั้งหมด 12 ข้อ แต่ละข้อมี 3 ตัวเลือก มีเวลาให้ตัดสินใจข้อละ 10 วินาที และมี ‘หัวใจ’ เป็นฟีเจอร์ชุบชีวิตกรณีตอบผิด เปิดให้เล่นวันละ 2 รอบ คือ 12.30 น. และ 20.00 น.

 

เป้าหมายเดียวกันของผู้เล่นทุกคน และหนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้คนติดเกมปัญญางอมแงมคือ ‘เงินรางวัล’ ที่แต่ละรอบจะมีจำนวนแตกต่างกันออกไป เริ่มต้นตั้งแต่ 75,000 บาท ไปจนถึง 200,000 บาท โดยเงินก้อนโตนี้จะถูกหารแจกจ่ายให้ผู้เล่นที่ตอบคำถามถูกครบทั้ง 12 ข้อ ทุกคนเท่าๆ กัน แต่จะเบิกเงินออกมาได้ก็ต่อเมื่อสะสมเงินครบหรือมากกว่า 1,000 บาท (บางครั้งมีรอบพิเศษ ‘Survival’ เพื่อเลือกคนที่ตอบถูกเพียงคนเดียวรับรางวัล ส่วนรอบวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคมนี้ เวลา 20.00 น. จะแจกเงินรางวัลสูงกว่า 500,000 บาทเป็นครั้งแรก)

 

 

ตัวเลขสถิติหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการแค่ 5 เดือน (มีนาคม-สิงหาคม) กับยอดคนเล่นเกมทั้งหมดกว่า 1.6 ล้านคน จำนวนคนเล่นเฉลี่ยต่อวันราว 150,000 คน และจ่ายเงินรางวัลไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท! น่าจะบอกได้ดีว่าปัญญา (ซึ่งไม่ได้หมายถึงพิธีกรเกมโชว์อันดับ 1 ของประเทศไทย) ‘ฮอตเปรี้ยงปร้าง’ และประสบความสำเร็จขนาดไหน

 

THE STANDARD เดินทางมายังปัญญาสตูดิโอ ฐานบัญชาการย่านสาทร เพื่อคุยกับ 2 หัวเรือใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง รัฐกิตติ์ นพรังษีธนนนท์ ผู้ให้กำเนิดเกม และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี และสุนันดา สัจจะตระกูล ผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ และผู้อำนวยการผลิต โดยมีเป้าหมายคือ ล้วงเอาเรื่องราวที่มาที่ไปของปัญญา กลยุทธ์เบื้องหลังความสำเร็จ โมเดลธุรกิจ และทิศทางในอนาคตของตัวเกมที่อยากจะเป็นสถานีโทรทัศน์แบบอินเตอร์แอ็กทีฟ กลับออกมาให้ได้มากที่สุด

 

 

เมื่อเทคโนโลยีฉีกขนบเกมโชว์แบบเดิมๆ คนดูจึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้เข้าแข่งขัน

ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ผลิตเกมโชว์ตอบคำถามยอดนิยมออกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไล่ตั้งแต่ เกมเศรษฐี (พ.ศ. 2543-2551) ดำเนินรายการโดย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ แฟนพันธ์ุแท้ (พ.ศ. 2543-2552, พ.ศ. 2555-ปัจจุบัน) เกมทศกัณฐ์ (พ.ศ. 2546-2551) และปริศนาฟ้าแลบ (พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน) ดำเนินรายการโดย ปัญญา นิรันดร์กุล นอกจากนี้ยังมีเกมโชว์อีกหลายรูปแบบที่มีเป้าหมายเพื่อชิงเงินรางวัล ซึ่งเราคงกล่าวถึงไม่หมด

 

ที่น่าสนใจก็คือ เกมโชว์สมัยก่อน ผู้เข้าแข่งขันกับคนดูจะถูกแยกบทบาทกันคนละหน้าที่ คนแข่งเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้ลุ้นเงินรางวัลแจ็กพอต ขณะที่คนดูอย่างเรากลับคาดหวังได้แค่อรรถรสความบันเทิงฆ่าเวลา

 

แต่เมื่อเทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก มันจึงลบช่องว่างระหว่างคนดูและผู้เข้าแข่งขันออกไป แล้วเปลี่ยนให้ทั้ง 2 องค์ประกอบของเกมโชว์กลายเป็นตำแหน่งเดียวกันไปโดยปริยาย

 

ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกคือ HQ Trivia เกมโชว์ไลฟ์ตอบคำถามชิงเงินรางวัลจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การผลิตของ Intermedia Labs ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่นิตยสาร Time จะยกย่องให้เป็นแอปพลิเคชันยอดเยี่ยมแห่งปี รวมถึงเป็นประตูสู่โลกของสื่อตอบโต้ (Interactive Media) ในอนาคต

 

รัฐกิตติ์ ผู้ให้กำเนิดเกมปัญญาและผู้ร่วมก่อตั้งปัญญาสตูดิโอเล่าว่า แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของเกมปัญญาก็มาจากการได้เห็นแพลตฟอร์มอินเตอร์แอ็กทีฟของต่างประเทศซึ่งเขาพบว่า รูปแบบฟังก์ชันการทำงานของสื่อตอบโต้ที่เปิดให้ผู้ชมได้เป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์มีศักยภาพมากพอจะกลายเป็นสื่อในโลกอนาคตได้

 

“ปลายปีที่แล้ว ผมมีโอกาสไปเห็นแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิงเกมที่น่าสนใจของสหรัฐอเมริกา แล้วพบว่า มันน่าสนใจและเจ๋งที่ประเทศไทยยังไม่มีอะไรแบบนี้เลย ผมเลยอยากทำให้มันเกิดขึ้นในไทยบ้าง เพราะมันเป็นแพลตฟอร์มการตอบโต้ระหว่างตัวผู้ใช้และเจ้าของรายการผู้ผลิตคอนเทนต์ ผมมองว่า มันคืออนาคตของสื่อเลยนะ แทนที่คนฟังจะรับสารอย่างเดียวก็ได้มีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ด้วย ผมอยากทำโปรดักต์ที่สนุกแล้วให้ความรู้คน ตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันคือแพลตฟอร์มใหม่ที่จะสามารถเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของคนได้

 

“พอได้ไอเดียว่าจะทำเกมโชว์ตอบคำถามแบบไลฟ์ วันรุ่งขึ้นก็ประชุมกัน แล้ววางแผนลงมือทำทันที ทีมผมมีกัน 4 คน ผมเป็นแกนหลัก มีนักพัฒนาแอปฯ ฝั่ง iOS และ Android อย่างละคน และดีไซเนอร์อีก 1 คน เราค่อนข้างเน้นความเร็วในการทำงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็เคยรีเสิร์ชเทคโนโลยีบางส่วนกันไว้แล้ว (เช่น เทคโนโลยี AR ที่ใช้แสดงภาพเฉลยคำตอบ) ก็เลยเอาสิ่งที่เรามีมาพัฒนาและปรับใช้ต่อด้วย

 

“ส่วนชื่อเกม ‘ปัญญา’ ผมได้ไอเดียมาจากการที่เราเป็นเกมโชว์ พอคิดถึงเกมโชว์ก็คิดถึงเวิร์คพอยท์และ ‘คุณปัญญา นิรันดร์กุล’ แล้วชื่อก็เป็นชื่อที่ดี เพราะเราทำรายการในไทย แถมเป็นรายการที่ให้ความรู้คนอีก เลยตั้งชื่อเกมว่าปัญญาไปเลย”

 

 

ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน รัฐกิตติ์ก็ได้ตัวเกมปัญญาเวอร์ชันโปรโตไทป์ออกมาในเดือนธันวาคม แต่เพราะกระบวนการอนุมัติแอปพลิเคชันที่ล่าช้าของ App Store เนื่องจากมีเรื่องการแจกเงินมาเกี่ยวข้อง ทำให้กว่าจะปล่อยให้ดาวน์โหลดปัญญาได้ ก็ลากยาวข้ามปีไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เลยทีเดียว

 

เมื่อผ่านการอนุมัติ รัฐกิตติ์ก็เริ่มทดลองระบบแบบปิด ผ่านการชักชวนเพื่อนๆ ที่รู้จัก และเพื่อนต่างออฟฟิศมาลองเล่น จากวันแรกที่มีคนเล่นแค่ 10 คน แต่กระแสบอกต่อแบบปากต่อปากก็ทำให้ปัญญาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีคนเล่นถึง 500-1,000 คน และก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จนเพิ่มเป็น 5,000 คนในที่สุด (ช่วงนั้นยังแจกเงินแค่ 500 บาท)

 

3 แท็กติกเด่น เจาะกลุ่มคนเล่นชัด มีเงินรางวัลเป็นแรงจูงใจ แก้ไขปัญหาระบบแบบวันต่อวัน

เกมโชว์ไลฟ์ ปัญญา เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 พวกเขาตั้งใจเจาะกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่คนวัยทำงานทั่วไป, พนักงานบริษัท, คนที่มีสมาร์ทโฟน และครอบครัว ผ่านการเปิดให้เล่นเกมทุกวัน วันละ 2 รอบ คือ 12.30 น. ที่เป็นช่วงเวลาพักทานข้าว และ 20.00 น. ช่วงที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาพร้อมหน้าพร้อมตากัน

 

แน่นอนว่า เป้าหมายของผู้เล่นทุกคนคือ ลุ้นชิงเงินรางวัล ซึ่งทำให้ปัญญามียอดผู้ใช้แอปพลิเคชันเติบโตแบบก้าวกระโดด จากผู้เล่นเกมหลักร้อย เพิ่มขึ้นมาเป็นหลักพัน และกลายเป็น 10,000 คน ในเวลาแค่เดือนเดียว หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

 

ความนิยมทั้งหมดเกิดขึ้นแบบออร์แกนิกล้วนๆ ส่วนหนึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้ผู้ใช้งานรายหนึ่งที่รัฐกิตติ์บอกว่า เป็นจุดเปลี่ยนของเกมปัญญา เพราะตั้งแต่ที่ผู้ใช้รายนี้เอาเกมไปแนะนำบนช่องทางโซเชียลมีเดียของตน โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไปมากกว่า 10,000 ครั้ง และส่งผลให้ปัญญามีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาตามลำดับ

 

แต่ใช่ว่าเส้นทางของพวกเขาจะราบรื่นเหมือนเดินชมทุ่งลาเวนเดอร์ตลอดเวลา เพราะข้อดีของตัวแพลตฟอร์มคือ ช่วยให้เกิดการสื่อสารแบบ 2 ทาง (Two Way Communication) ระหว่างผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้บริโภคแบบทันทีทันใด แต่ข้อเสียคือ หากแพลตฟอร์มเกิดปัญหาขึ้นมาเมื่อไร แอปฯ ค้างหรือเด้ง, กดตอบคำถามไม่ได้, เฉลยคำตอบผิด ฯลฯ ผู้ใช้ทุกคนก็พร้อมสะท้อนประสบการณ์แย่ๆ ที่ตนได้รับกลับไปที่ฝั่งเจ้าของระบบทันที มีตั้งแต่ข้อแนะนำดีๆ ไปจนถึงคำด่าทอ

 

 

สุนันดา ผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ หรือหัวหน้าทีมคิดคำถามและกระบวนการผลิตบอกว่า ช่วงแรกที่ระบบต่างๆ ยังไม่ลงตัว แล้วเกิดข้อบกพร่อง ทีมงานของเธอจะเครียดกันมากๆ เพราะผู้เล่นจะกระหน่ำส่งข้อความเข้ามาร้องเรียนแทบจะทุกช่องทาง

 

“เราเลยดีใจมากค่ะ ที่วันนี้ระบบตั้งคำถามและเช็กความถูกต้องลงตัวแล้ว ช่วงที่เพิ่งมาทำงานเดือนแรก เวลาพวกทำอะไรผิดหรือเฉลยคำตอบผิดนี่ โอ้ พระเจ้ามาก อินบอกซ์เหมือนจะระเบิดเลยค่ะ คนจะส่งข้อความมา 40,000-50,000 คนเลย ช่วงนั้นก็แก้ปัญหาด้วยการแจกหัวใจทันทีค่ะ แล้วเราก็รับฟังปัญหาเขา ขอโทษทุกคนตลอด”

 

“คนเล่นเขาซีเรียสกันมากครับ” รัฐกิตติ์บอกก่อนจะเล่าต่อว่า ทุกครั้งที่มีการแข่งขัน เขาจะสอดแนมเข้าไปสังเกตการณ์ในตัวเกมเสมอ เพราะยังไม่ไว้ใจระบบ จนทุกวันนี้เขาก็ยังคงทำเช่นนั้นอยู่

 

“ผมต้องเข้าไปดูว่าผู้ใช้เขาว่าอะไรเรา เราต้องฟังเขาแล้วช่วยเขาแก้ปัญหา ทีมของผมทุกคน เราคอยสังเกตการณ์ปัญหากันตลอด เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเราต้องรับฟังผู้ใช้ทันที ดูว่าเขาเจอปัญหาแบบใด เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน บางครั้งเราไม่รู้ว่าเขาเจอปัญหาอะไร ก็ต้องขอให้อัดวิดีโอมาให้ดู หรือบางครั้งก็ต้องเชิญเขาเข้ามาที่บริษัท แล้วจ่ายเงินค่าเสียเวลาให้เขา เพื่อดูว่าปัญหาที่เขาเจอคืออะไรกันแน่ แล้วเราก็แก้ตรงนั้นเลย

 

“ยอมรับว่าเครียดนะครับ แต่มันก็สนุก ในความเครียดมันก็มีความสนุกและความท้าทายว่า เมื่อปัญหามันเกิดขึ้นแล้วเราจะแก้มันได้อย่างไร ผมรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ทุกอย่างบนโลกนี้มันไม่มีอะไรยาก มันมีแค่ว่าเรายังไม่รู้ พอเรารู้ ทุกอย่างมันก็ง่ายไปหมด”

 

ปัจจุบันระบบการทำงานที่ดีและการพัฒนาอยู่ทุกวัน ช่วยให้เกมปัญญามีข้อบกพร่องน้อยลงมาก ทีมงานในวันนี้ที่จำนวนมากกว่า 20 คน จะมีหน้าที่ของตัวเองที่ชัดเจน บางคนก็มีหน้าที่มากกว่า 1 ตำแหน่งขึ้นไป แล้วด้วยความที่องค์กรยังเป็นสตาร์ทอัพ คนในทีมทุกคนจึงมีความคล่องตัวสูง สามารถทดแทนการขาดหายของกันและกันได้อย่างแนบเนียน ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ทีมปัญญาพึ่งพาระบบในการทำงานที่ดีมากกว่าตัวบุคคล และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

 

 

แจกเงินจริงไปแล้วกว่า 30 ล้านบาท แล้วโมเดลการหาเงินและทำธุรกิจมาจากไหน

นี่คือคำถามที่แฟนปัญญาและใครหลายคนสงสัยไม่ต่างกัน ในเมื่อพวกเขาแจกเงินไปมากกว่า 30 ล้านบาท มานานกว่า 5 เดือน โดยปราศจากสปอนเซอร์ หรือผู้สนับสนุนใดๆ (เพิ่งมีสปอนเซอร์รายแรกเป็น Kaidee (ขายดี) เมื่อวันอังคารที่ 14 สิงหาคม) แล้วพวกเขาไปเอาเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้มาจากไหน

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า แม้เกมแต่ละรอบจะประกาศแจกเงินรางวัลเป็นแสนๆ แต่พวกเขาก็ไม่ได้จ่ายทั้งหมดรอบละ 100,000 บาท หรือ 200,000 บาททันที เงินจะถูกจ่ายออกไปก็ต่อเมื่อผู้เล่นแต่ละคนสะสมเงินได้ครบ 1,000 บาท แล้วเบื้องหลังการกำหนดเงินรางวัลแต่ละรอบ รวมถึงรูปแบบเกมที่แตกต่างกันก็จะถูกออกแบบโดยอิงจาก ‘ข้อมูล’ ที่ทีมงานมีในระบบ เช่น รอบหัวค่ำจะมีคนเล่นเยอะ การแจกเงินรางวัลก้อนโตก็จะทำได้ เพราะมีการหารส่วนแบ่งเงินรางวัลผู้ชนะมาก หรือช่วงไหนที่ผู้เล่นมีจำนวนหัวใจในครอบครองเยอะ คำถามก็อาจจะยากขึ้นสักเล็กน้อย

 

ประเด็นต่อมาคือ ปัญญาเป็นสตาร์ทอัพ ช่วงที่ยังไม่เปิดรับสปอนเซอร์จึงใช้วิธีการระดมทุนจากนักลงทุนกลุ่มต่างๆ เข้ามาสนับสนุนเงินรางวัลและเงินเดือนพนักงาน ส่วนสาเหตุที่ปัญญาไม่ได้เปิดรับโฆษณาในช่วงแรก เพราะต้องการสร้างฐานผู้ใช้ในระบบให้เหนียวแน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน

 

รัฐกิตติ์เล่าว่า “หลักๆ ที่เราไม่เร่งนำโฆษณาเข้ามาเร็ว ก็เพราะผู้เล่นบางกลุ่มเขาอาจจะรู้สึกรำคาญ เลยต้องสร้างฐานผู้เล่นให้ได้มากที่สุดก่อน ส่วนโมเดลในการหาเงินในอนาคตก็จะมาจากการโฆษณาที่เราจะมองเฉพาะการโฆษณาในรูปแบบที่พรีเมียมไปเลย”

 

ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน ปัญญาเริ่มมีโฆษณาบนแพลตฟอร์มแล้ว และแบรนด์แรกที่เข้ามาสนับสนุนก็คือ อีคอมเมิร์ซ ‘ขายดีดอทคอม’ รูปแบบการโฆษณาหลากหลาย ตั้งแต่การแจ้งเตือนก่อนเริ่มเกม, คำถาม, การไทอินของพิธีกร และการแจกรางวัล เป็นต้น ซึ่งในอนาคตรัฐกิตติ์ก็เปรยเป็นนัยว่า ปัญญาอาจจะมีระบบ In App Purchase เปิดให้คนเข้ามาซื้อไอเทมต่างๆ ในเกม

 

เงินรางวัลเป็นปัจจัยรอง สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

ถึงคนเล่นปัญญาส่วนใหญ่ต่างหวังเงินรางวัลจำนวนมหาศาลด้วยกันทุกคน แต่เมื่อเราได้คุยกับรัฐกิตติ์และสุนันดา ทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เป้าหมายจริงๆ ของปัญญาสตูดิโอคือ การเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

 

สุนันดาบอกว่า เธอเข้าใจว่าเงินคือสิ่งที่ดึงดูดคนเข้ามาเล่นเกม แต่สำหรับเธอ เธอไม่อยากให้คนเล่นยึดติดกับเงินมากขนาดนั้น ส่วนเรื่องคำถามที่ทีมงานของเธอคิดขึ้นมา ก็ยอมรับว่า บางข้อค่อนข้างยากจริงๆ แต่ถ้าไม่ยากก็จะไม่ท้าทาย

 

“เราเป็นคนชอบเรียนอยู่แล้ว เลยอยากสนับสนุนให้คนอื่นมีความสนใจใคร่รู้ในสิ่งต่างๆ เหมือนกัน”

 

ฝั่งรัฐกิตติ์บอกว่า ก่อนจะมาเป็นปัญญาในวันนี้ เขาเคยสร้างแอปฯ เป็นของตัวเองมามากกว่า 5-6 ตัว แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย เมื่อได้เห็นผลตอบรับของปัญญาก็รู้สึกดีใจมาก และไม่คิดมาก่อนว่ามันจะสร้างผลกระทบให้คนไทยจำนวนหนึ่ง ต้องช่วยกันศึกษาหาความรู้ในด้านต่างๆ มากขนาดนี้

 

“บางทีผมเห็นเว็บไซต์พันทิปเขานำความรู้มาแบ่งปันกันก็รู้สึกว่ามันเจ๋ง พอเกิดปัญญาขึ้น คนเล่นก็ช่วยกันหาความรู้เพื่อมาตอบปัญหาในแพลตฟอร์มของเรา ที่สำคัญกว่านั้นคือ เดิมทีบางครอบครัว คนในบ้านไม่คุยกัน พอมีเกมปัญญา คนในครอบครัวก็เริ่มกลับมาคุยกัน นั่งเล่นเกมด้วยกัน บางทีคุณพ่อคุณแม่รู้คำตอบ ลูกๆ ไม่รู้ แต่ทุกคนก็จะช่วยกัน มันเกิดความสามัคคีในครอบครัว นี่เป็นเรื่องที่เราได้ยินจากตัวผู้ใช้เอง แล้วเราน้ำตาไหล ผมไม่เคยรู้สึกปีติขนาดนี้มาก่อน

 

“ความรู้สึกผมมันอิ่มใจนะที่ได้เห็นว่าสังคมไทยก็พร้อมจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เงินรางวัลมันก็ส่วนหนึ่ง แต่การที่เขาทำแบบนี้ (ช่วยกันหาคำตอบผ่านคำใบ้ ติวเข้มเก็งคำตอบ) เพื่อให้ได้เงินที่บางครั้งก็ไม่ได้เยอะ บางคนเขาก็ไม่ได้มองที่เงิน แต่มองเรื่องความสนุกของเกม”

 

สำหรับการทำงานเบื้องหลังของทีมทำคอนเทนต์ สุนันดาเล่าว่า ทีมคิดคำถามจะมีทั้งหมด 3 คน (ดูแลด้านการผลิตอีก 2 คน) แต่ละคนต้องช่วยกันคิดคำถาม 168 ข้อต่อสัปดาห์ ประกอบไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่นักเขียนแต่ละคนสนใจ เช่น ประวัติศาสตร์, กฎหมาย, สถานที่ท่องเที่ยว, ภูมิศาสตร์, อาหาร และแน่นอนสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งจะมีการแจกคำใบ้ก่อนเริ่มเกมในแต่ละรอบเสมอ

 

“เราต้องการให้คำถามทุกคำถามให้ความรู้และให้ความบันเทิง เพราะส่วนมากคนที่ดูโทรทัศน์ เล่นเกม ก็จะสนใจความบันเทิงมากที่สุด แล้วคนอีกกลุ่มที่ตั้งใจเล่นปัญญามาก เขาก็จะสนใจความรู้ อยากได้ความรู้ แข่งเพื่ออยากได้เงินรางวัล ส่วนสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเราก็คือ การปรับระดับความยากของคำถามที่แต่ละข้อก็ต้องสอดแทรกความตลกลงไปด้วย”

 

 

สู่เป้าหมายการเป็น ‘สถานีโทรทัศน์ 24 ชม.’ หรือ ‘Netflix เวอร์ชันอินเตอร์แอ็กทีฟ’

ถ้าให้เรานิยาม ปัญญาก็คือเกมโชว์ไลฟ์ในรูปแบบสื่อตอบโต้ที่มีศักยภาพพอจะทำเงินมหาศาลให้กับตัวผู้ผลิตเกม แจกเงินรางวัลและให้ความรู้กับผู้เล่นเป็นของสมนาคุณ รวมถึงเป็นช่องทางการทำการตลาดที่ดีของแบรนด์ต่างๆ ในยุคนี้ (วิธีรับโค้ดช่วงท้ายบทความคือคลิกลากคุมตัวอักษรหลัง = กรณีเปิดบนสมาร์ทโฟนสามารถลากคลุมตัวอักษรแล้ว copy ไปวางในแอปฯ ได้ทันที)

 

แต่ในเวลาเดียวกัน เป้าหมายของทีมงานปัญญาทุกคนกลับยิ่งใหญ่กว่านั้นอีกหลายเท่าตัว เพราะพวกเขาตั้งใจจะเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศแบบสดๆ 24 ชม. ตลอด 7 วัน ผ่านรูปแบบสื่อตอบโต้ คนดูเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดทิศทางคอนเทนต์ พูดง่ายๆ พวกเขาอยากเป็น ‘Netflix โลกอินเตอร์แอ็กทีฟ’ นั่นเอง

 

เรามีโอกาสได้พูดคุยสั้นๆ กับ เกียร์ วินสโวลล์ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งปัญญาสตูดิโอ และได้รับคำตอบว่า เป้าหมายในอนาคตของปัญญาคือ เป็น Netflix Short Content เปิดให้ผู้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์ แต่ก็ยอมรับว่า ยังเป็นเรื่องที่ไกลจากความเป็นจริงพอสมควร เพราะอุปสรรคในหลายๆ ด้าน เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่อาจยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ ส่วนแผนการเร็วๆ นี้คือ การพาปัญญาไปตีตลาดอาเซียน

 

 

รัฐกิตติ์เสริมในประเด็นนี้ว่า “เรากำลังผลักดันแพลตฟอร์มปัญญาไปทางนั้น เราจะเป็นเหมือนสตรีมมิง Netflix ด้านสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟไปเลย ในอนาคตจะมีรายการหลายๆ รายการบนแพลตฟอร์มอินเตอร์แอ็กทีฟมีเดีย ไม่ได้แค่ถ่ายทอดสดออกไปอย่างเดียว แต่ผู้ใช้ต้องมีการส่งสารกลับมาเพื่ออะไรบางอย่าง

 

“โลกมันเปลี่ยนไปแล้วครับ ต้องยอมรับว่า ผู้ใช้มีอิทธิพลกับแบรนด์มาก ถ้าเราสื่อสารไปแค่ฝั่งเดียว ก็จะไม่รู้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบสารที่เราส่งไป บางทีมันวัดผลไม่ได้ การที่เขาจะตอบโต้อะไรกลับมาก็เหมือนเราได้อะไรบางอย่างกลับเข้ามา แล้วก็ทำให้เขารู้สึกเอนเกจกับตัวแพลตฟอร์มด้วย ส่วนในอนาคตเราอาจจะพัฒนาปัญญาให้เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เพื่อหาความรู้บางอย่างไปเลยก็ได้”

 

จากมุมมองของผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ เธอบอกว่า ในอนาคตเราอาจได้เห็นปัญญาในรูปแบบของรายการเดตติ้ง หรือรายการทำอาหารก็ได้ แต่ส่ิงที่คาดหวังได้เลยคือ ทุกอย่างที่ปัญญาทำจะไม่เหมือนรายการโทรทัศน์รูปแบบเดิมๆ ที่เคยรู้จักแน่นอน เพราะคนดูทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมได้

 

สำหรับแผนการขยายตลาดผู้ใช้ในเร็วๆ นี้ ปัญญาสตูดิโอจะมุ่งทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น เริ่มจากโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศสิงคโปร์และฟิลิปปินส์เป็นที่แรกๆ ยึดรูปแบบรายการเกมโชว์ไลฟ์ตอบคำถามทั้ง 12 ข้อเหมือนกัน แตกต่างกันตรงที่เนื้อหาและพิธีกร ซึ่งจะอิงกับประเทศนั้นๆ เป็นหลัก

 

โดยสรุป ปัญญาคือจุดเริ่มต้นเล็กๆ และก้าวแรกของปัญญาสตูดิโอ ที่ตั้งใจจะบุกเบิกแพลตฟอร์มสื่อแบบตอบโต้ ช่วยให้ผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้ชมได้สื่อสารกันแบบ 2 ทาง คนดูและคนฟังจะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของเรื่องราวและคอนเทนต์ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

 

ต้องยอมรับว่า ด้วยมุมคิดและโมเดลธุรกิจที่วางไว้ของพวกเขามีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ที่เหลือต่อจากนี้ก็ต้องมาคอยดูแล้วว่า ปัญญาจะผลักดันตัวเองไปในทิศทางที่มุ่งหวังได้หรือไม่ แล้วจะกลายเป็นผู้บุกเบิกสื่อแบบตอบโต้อย่างเต็มรูปแบบในประเทศได้จริงหรือเปล่า

 

กรอกโค้ดรับหัวใจ 1 ดวงในเกมปัญญา = STANDARDXPANYA

(โค้ดมีอายุจนถึงวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคมนี้เท่านั้น)

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • เกมเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการวันที่ 1 มีนาคม 2561 (เวอร์ชันทดสอบเปิดตัววันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561) ปัจจุบันมีจำนวนเกมโชว์มากกว่า 300 โชว์ มีจำนวนคนเล่นเกมเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 360,000 คน (หมายเหตุ: สถิติทั้งหมดนับจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2561)
  • ชื่อเกมมาจาก ‘ปัญญา นิรันดร์กุล’ พิธีกรเกมโชว์อันดับ 1 ของประเทศไทย และคอนเซปต์เกมที่อยากให้ความรู้คน
  • โดเมนและเว็บไซต์ panya.me มีที่มาจาก panya.com ถูกจดโดเมนไปแล้ว ทำให้ทีมงานคิดชื่อดังกล่าวขึ้นมาซึ่งพ้องกับคำว่า ‘มีปัญญา’ พอดี
  • ทีมคิดคำถามต้องเตรียมคำถามมากกว่า 168 ข้อต่อสัปดาห์ (ทำล่วงหน้ากันประมาณ 2-3 สัปดาห์) แล้วหนึ่งในแหล่งต้นทางคำถามก็มาจากเว็บไซต์ thestandard.co ด้วย
  • นอกจากรายการปัญญา ยังมีรายการ ข่าวซัดปัญญา ออกอากาศช่วง 18.00 น. วันจันทร์, พุธ และศุกร์ คอนเซปต์คือ เป็นรายการถามตอบง่ายๆ ไม่มีถูกหรือผิด เพื่อรับหัวใจเป็นรางวัล
  • จากทีมงานแค่ 4 คน วันนี้ปัญญาสตูดิโอมีพนักงานประมาณ 20 คน และกำลังขยายองค์กรผ่านการเปิดรับสมัครพนักงานใหม่อยู่ตลอดเวลา
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising