พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปท่ามกลางโลกออนไลน์กำลังเบ่งบาน หนึ่งในคำถามที่ตามมาคือ ‘คนยังไปเดินห้างอยู่ไหม’ เพราะยุคนี้นอนอยู่บ้าน จิ้มหน้าจอไม่กี่ครั้งก็เตรียมรอรับของมาส่งที่บ้านได้เลย เผลอๆ จะเร็วกว่าออกไปซื้อเองด้วยซ้ำ
นั่นทำให้บรรดาศูนย์การค้าต่างๆ จำต้องปรับตัวเองกันยกใหญ่ เพื่อดึงให้คนออกมาจากบ้าน และผละออกมาจากหน้าจอให้มากที่สุด ด้วยกลยุทธ์แบบเดิมๆ ไม่สามารถใช้ได้อีกแล้ว ในวันที่พฤติกรรมของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของศูนย์การค้าที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้คือ ‘พันธุ์ทิพย์ พลาซา’ ศูนย์รวมไอทีคุ้นหูที่เปิดมานานกว่า 35 ปี กำลังจะไม่ได้ไปต่อ เพราะจะเกิดการปรับ Position ครั้งใหญ่ จากแหล่งรวมของไอทีไปสู่คอนเซปต์ที่รวมทั้งการช้อป กิน เล่น และชิล พร้อมกับรีแบรนด์ชื่อไปเลย
ในอดีตคอนเซปต์ของพันธุ์ทิพย์ฯ อาจจะประสบความสำเร็จ เพราะในวันนั้นแหล่งซื้อขายสินค้าไอทียังไม่มีตัวเลือกมากนัก แต่ปัจจุบันสินค้าเหล่านี้มีช่องทางให้ซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ที่ทำให้คนไม่จำเป็นต้องฝ่ารถติดออกมาซื้อสินค้าอีกแล้ว
เรื่องนี้พันธุ์ทิพย์ฯ รู้ดีอยู่แก่ใจ เพราะที่ผ่านมาก็พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตลอดในช่วง 1-2 ปีนี้ เพื่อทำให้ห้างไอทียักษ์เก่าแก่แห่งนี้กลับมามีมนต์เสน่ห์อีกครั้ง ทั้งการเพิ่มโซน E-Sports Arena เข้ามาเพื่อจับกลุ่มเกมเมอร์ หรือเพิ่มโซนโมเดล ของเล่นและการ์ตูน โดยใช้งบกว่า 50 ล้านบาทสำหรับสาขาประตูน้ำ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่อาจจะพลิกฟื้นได้
นี่จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (AWC) หนึ่งในธุรกิจหลักของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมี วัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนที่สองเป็นแม่ทัพ และรับไม้ต่อจากเจ้าสัวเจริญ ต้องหาทางออกให้กับเรื่องนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจที่กำลังจะติดนามสกุลมหาชนเติบโตขึ้นไปอีก
ต่อจากนี้พันธุ์ทิพย์ฯ จะถูกปรับโฉมใหม่ ตัวอย่างเช่น สาขาประตูน้ำที่ทุกคนรู้จักกันดี กำลังจะปรับลดพื้นที่ขายสินค้าไอทีจากเดิมคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ให้เหลือน้อยกว่า 50% โดยเติมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กับกิจกรรมที่ดึงดูดเข้ามาแทน เช่น ร้านอาหารที่เป็นธีมต่างๆ โดยเฉพาะซีฟู้ดเพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่มาช้อปปิ้งย่านประตูน้ำ และร้านนวด เพราะสาขานี้มีลูกค้า 50% เป็นชาวต่างชาติ ที่สำคัญขนาดพื้นที่กว่า 10 ไร่ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ยังมีศักยภาพให้พัฒนาเป็นมากกว่าศูนย์การค้าได้
ส่วนสาขาอื่นๆ เช่น งามวงศ์วาน และเชียงใหม่ ก็จะถูกปรับเช่นเดียวกัน หากแต่ละแห่งก็จะปรับไม่เหมือนกัน เพราะต้องอิงกับทำเลเป็นหลัก อย่าง 2 สาขาที่เหลือนอกจากร้านอาหารแล้ว กิจกรรมที่เติมเข้ามาต้องจับกลุ่มครอบครัวด้วย เช่น ลานเด็กเล่น เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ชื่อของพันธุ์ทิพย์ฯ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในเรื่องของไอทีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ชื่อนี้จะหายไป เพราะการจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักจำต้องใช้งบมหาศาล ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ที่ชื่อของพันธุ์ทิพย์ฯ จะลดพื้นที่ลงไปกลายเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าอื่นๆ ที่อยู่ในมือของ AWC
สำหรับ AWC กำลังอยู่ในระหว่างการยื่นไฟลิ่งแก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดย AWC เป็นการรวบรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้จากค่าเช่าเป็นหลักของเจ้าสัวเจริญเข้ามารวมไว้ด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 สาขาหลักคือ โรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักทั้งหมดกว่า 8,506 ห้อง รวม 27 แห่ง และ อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ค้าปลีก และอาคารสำนักงานให้เช่า
พันธุ์ทิพย์ฯ ทั้ง 3 สาขา เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ค้าปลีกที่มีศูนย์การค้าอีก 6 แห่ง ได้แก่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกตเวย์ แอท บางซื่อ, ลาซาล อเวนิว, ตะวันนา บางกะปิ, โอ.พี.เพลส แบงค็อก และเกตเวย์ เอกมัย รวมพื้นที่ 198,781 ตารางเมตร และยังมีโครงการที่กำลังพัฒนาอยู่อีก 2 แห่ง
ส่วนกลุ่มอาคารสำนักงานมีทั้งสิ้น 4 โครงการ รวมพื้นที่เช่า (NLA) 270,594 ตารางเมตร ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ มีพื้นที่มากที่สุดถึง 158,021 ตารางเมตร ประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 3 อาคาร สูง 58 ชั้น, แอทธินี ทาวเวอร์, 208 วายเลสโร้ด และอาคารอินเตอร์ลิ้งค์ ทาวเวอร์
ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์มีรายได้ 4,000 ล้านบาทในปี 2561 และมี EBITDA เท่ากับ 2,437 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา EBITDA เท่ากับร้อยละ 48 สำหรับปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์