×

จากแคมเปญเลือกตั้งถึงการบริหารจริง คุยข้ามช็อตกับ ‘พนิต วิกิตเศรษฐ์’ ในบทบาทอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

28.04.2022
  • LOADING...
พนิต วิกิตเศรษฐ์

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คนต่อไป ควรมองตัวเองว่าต้องชนะเพื่อไปทำงานให้กรุงเทพฯ ต่ออีก 8 ปี หรือ 12 ปี ไม่ใช่แค่เข้าไปทำงาน 4 ปี เพื่อสร้างอนาคตให้คนที่เลือกได้มองเห็นว่า เลือกวันนี้แล้วอีก 10 ปีข้างหน้า ชีวิตในกรุงเทพฯ ของเขาจะเป็นอย่างไร
  • 4 เรื่องสำคัญในการบริหารกรุงเทพมหานครสำหรับพนิต คือ หนึ่ง การเข้าใจและได้ใจข้าราชการกรุงเทพมหานคร สอง จัดลำดับความสำคัญของงาน สาม การบริหารงบประมาณ และสี่ การสร้างผลงานทางการเมือง

‘ใหม่ ใหม่ ใหม่ ไม่มีนักการเมืองอยู่ในทีมรองผู้ว่าฯ ยุคอภิรักษ์’ คือแคมเปญของผู้บริหารประชาธิปัตย์ยุคของ บัญญัติ บรรทัดฐาน และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ ในปี 2547 แต่ปี 2565 นี้ โจทย์เป็นคนละเรื่องกันแล้ว สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้ผู้บริหารพรรควันนี้ตัดสินใจเลือกคำตอบของโจทย์ไปแล้ว แต่จะอ่านโจทย์ถูกหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

โจทย์ของยุทธศาสตร์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่กำลังจะมาถึง คือทำอย่างไรให้คนกรุงเทพฯ เชื่อได้ว่าเมื่อชนะแล้วจะเข้าไปบริหารนโยบายให้เป็นจริงได้ ซึ่งมาจนถึงวันนี้ สนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ยุทธศาสตร์การหาเสียงก็ยังไม่ต่างกับครั้งหลังๆ ที่เน้นตัวแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. และกระแสพรรค ไม่เน้นการเปิดตัวทีมงานรองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งในการบริหารจริงนับว่ามีบทบาทไม่แพ้ตัวผู้ว่าฯ เลยทีเดียว 

 

THE STANDARD พูดคุยกับผู้มีประสบการณ์จริงอย่าง ‘พนิต วิกิตเศรษฐ์’ ในฐานะอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. สมัย อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นพ่อเมืองกรุงเทพฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นพรรคฝ่ายค้านภายใต้อำนาจรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่จะพูดคุยถึงการทำงานตลอด 4 ปี ความสำเร็จของยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ผลลัพธ์ทางการเมืองจากการบริหารกรุงเทพฯ รวมถึงมองต่อไปว่าโจทย์ตอนนี้ที่ทั้งบริบทการแบ่งขั้วทางการเมืองเปลี่ยนไปจากการแข่งขันสมัยอภิรักษ์ สมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และทั้งการที่กรุงเทพฯ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นตัวแปรในสมการสนามเลือกตั้ง สำหรับพนิต ถ้าต้องเลือกผู้ว่าฯ จะเลือกแบบไหน 

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

โจทย์ของประชาธิปัตย์กับสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้

พนิต วิกิตเศรษฐ์ จากอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ในวัย 39 ปี สู่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์วันนี้ ในวัย 58 ปี มองว่าสนามเลือกตั้งวันนี้ไม่เหมือนครั้งปี 2547 

 

“แน่นอน ก่อนหน้านั้นเราไม่มีผู้ว่าฯ กทม. ของประชาธิปัตย์เลย ตั้งแต่คุณธรรมนูญ เทียนเงิน ยุทธศาสตร์ของท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่เป็นหัวหน้าพรรค กับท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรค จึงมีสูตรง่ายมาก คือ ใหม่ ใหม่ ใหม่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน นักการตลาด นักบริหาร พนิต วิกิตเศรษฐ์ นักการเงิน อายุ 41 ปี กับ 39 ปี ใหม่มาก และบริบทวันนั้นเป็นการเมืองสองขั้ว ใครลงอิสระไม่อยู่ในสายตาเลย อดีตผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล ก็ยังลงอิสระ ได้คะแนนแสนกว่า ส่วนอดีตรองผู้ว่าฯ อีกคนก็ลง ก็ได้หลัก 3-4 หมื่น ไปเจอกับอภิรักษ์ 9 แสนกว่า เจอกับปวีณา หงสกุล 6 แสนกว่า แต่ในวันนี้หลังจากที่มีพรรคการเมืองบริหารมา พรรคการเมืองอาจเป็นตัวที่ทำให้คนตัดสินใจไม่เลือก”

 

พนิตมองต่อถึงประชาธิปัตย์ในวันนี้ ซึ่งมีประสบการณ์มามากกว่าพรรคอื่นๆ ในปัจจุบัน แต่พนิตตั้งคำถามว่าประชาธิปัตย์ได้สร้างคนไว้จริงๆ หรือไม่ 

 

“ในเรื่องการบริหาร กทม. ทุกระดับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ประชาธิปัตย์มีประสบการณ์ แต่เรานำประสบการณ์พวกนี้มาใช้ประโยชน์ได้จริงจังหรือเปล่า เราได้เตรียมคนในช่วงที่เราเป็นผู้ว่าฯ จริงๆ 4 สมัยหรือไม่ ทีมรองผู้ว่าฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา 4 สมัย 16 คน เราได้เอามาใช้ประโยชน์หรือไม่ ซึ่งองค์กรที่ดีต้องเตรียมคนไว้ตลอด ต้องสร้างคนแข่งกันขึ้น จะต้องมีระบบ”

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

ความคาดหวังต่อแคนดิเดตผู้ว่าฯ ต้องเข้าไปทำงานเพื่อจัดการอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่

พนิตเป็นอีกคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเขียนเฟซบุ๊กพูดถึงเรื่อง First Time Voter ที่มีอายุ 18-27 ปี ว่าคนรุ่นใหม่อยากได้ผู้ว่าฯ แบบไหน ซึ่งต่อประเด็นคนรุ่นใหม่นี้ พนิตมองว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปควรมองตัวเองว่าต้องชนะเพื่อไปทำงาน กทม. ต่ออีก 8 ปี หรือ 12 ปี ไม่ใช่แค่เข้าไปทำงาน 4 ปี 

 

“ผมวันนี้อายุ 58 ปี แต่วันนี้ผมก็ยังอยากเห็นว่าอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าที่ผมอายุ 68 ปี กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร คนอายุ 15 ปี อายุ 20 ปี วันนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า รถไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร คุณจะทำอย่างไรให้เข้าไปจัดการอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ได้ มันก็ต้องถูกขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่และคนที่เข้าใจคนรุ่นใหม่” 

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

“ถ้าประชาธิปัตย์ตอบโจทย์นี้ได้จริงจังและทำงานให้กับอนาคตได้ ผมก็จะเชื่อ และผมก็จะเลือก แต่ถ้าเกิดคนที่ลงเลือกตั้งทำเพื่ออย่างอื่น ผมก็จะไม่เลือก องค์ประกอบของทีมก็สำคัญ จะสามารถเป็นตัวแทนคนทุกรุ่นได้ไหม…”

 

ผู้ว่าฯ กทม. และทีมรองผู้ว่าฯ กทม. ของประชาธิปัตย์ต้องตอบโจทย์ที่จะทำงานให้กับอนาคตให้ได้

“ถ้าประชาธิปัตย์ตอบโจทย์นี้ได้จริงจังและทำงานให้กับอนาคตได้ ผมก็จะเชื่อ และผมก็จะเลือก แต่ถ้าเกิดคนที่ลงเลือกตั้งทำเพื่ออย่างอื่น ผมก็จะไม่เลือก องค์ประกอบของทีมก็สำคัญ จะสามารถเป็นตัวแทนคนทุกรุ่นได้ไหม ดังนั้นสูตรของการส่งผู้ว่าฯ ทีมรองผู้ว่าฯ ต้องชัดเจน อย่างที่บอกไป วันนั้นในปี 47 สูตรของคุณอภิสิทธิ์คือ ใหม่ ใหม่ ใหม่ ไม่มีนักการเมืองอยู่ในทีมอภิรักษ์ รองผู้ว่าฯ ผมนักการเงิน คุณวัลลภ สุวรรณดี คืออาจารย์ เจ้าของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรเรื่องระบบน้ำ ไม่มีนักการเมือง สูตรต้องชัดเจน และผมก็จะบอกว่าแคนดิเดตผู้ว่าฯ นั้นสำคัญ คำพูดของคุณจะเป็นนายของคุณไปตลอดชีวิต เมื่อคนไม่เชื่อคำพูดของคุณ คนก็จะตั้งคำถามกับคุณ” 

 

พนิตกล่าวทิ้งท้ายสำหรับประเด็นโจทย์ที่ประชาธิปัตย์ต้องหาให้เจอและอ่านให้ถูก ก่อนที่จะหาคำตอบที่ตรงกับโจทย์ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

จากนักการเงินสู่นักการเมือง สวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์

พูดถึงชื่อของ พนิต วิกิตเศรษฐ์ นอกจากการถูกรับรู้ในฐานะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และการเป็นหนึ่งในคนไทยที่ถูกศาลเขมรตัดสินโทษจำคุกเรือนจำเปรย์ซอร์ ขณะเป็นกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC เมื่อปี 2553 ร่วมกับ วีระ สมความคิด แล้ว 

 

ชื่อของชายคนนี้ยังเคยปรากฏบนหน้าสื่อในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม. อีกด้วย โดยหลังจากที่เริ่มงานในพรรคประชาธิปัตย์ ในบทบาทที่ปรึกษากรรมาธิการพัฒนาการเมืองที่มี จุติ ไกรฤกษ์ เป็นประธาน พนิตเล่าถึงการถูกทาบทามจากเพื่อนรักอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า 

 

“คุณอภิสิทธิ์บอกผมว่าขอให้มาช่วย ตอนนั้นผมทำงานเป็นนักบริหารการเงิน แล้วต่อมา ปี 2547 ก็ถูกชวนให้มาพูดคุยเรื่องกรุงเทพฯ ก็ทำให้ผมตัดสินใจออกจากงานนักการเงิน ในเวลานั้นวัย 39 ถึง 40 ผมทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน แต่เมื่อคนที่มีศักยภาพที่ผมนับถือ คือคุณอภิสิทธิ์มาทาบทาม ผมก็ต้องกลับไปคิด แล้วผมก็ตัดสินใจเข้าร่วมทีมคุณอภิรักษ์ 9 เดือนก่อนหย่อนบัตร ตอนนั้นมีความชัดเจนว่าท่าน สมัคร สุนทรเวช จะครบวาระแล้ว ก็จะต้องมีการเลือกตั้ง ก็เป็นที่มาของผมที่ตัดสินใจทำงานใน กทม.” 

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

ถอดบทเรียนจากประสบการณ์บริหาร กทม. จากมุมมอง พนิต วิกิตเศรษฐ์ กับ 4 เรื่องสำคัญในการทำงาน กทม.

ในการทำงาน กทม. พนิตมองว่ามี 4 เรื่องที่ต้องคิดอยู่ตลอดทุกวัน เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดในการบริหารกรุงเทพมหานคร คือต้องเข้าใจและได้ใจข้าราชการ กทม. ซึ่ง กทม .มีข้าราชการอยู่ประมาณ 4 หมื่นคน และลูกจ้างอีก 6 หมื่นคน มีประชากรที่ต้องดูแล 10 กว่าล้านคน ข้าราชการ กทม. มีจำนวนมากและมีหลายระดับ สำหรับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ วัย 39 ปี ที่ต้องทำงานกับระดับปลัดและรองปลัดนั้น พนิตเผยว่าต้องทำให้ได้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากข้าราชการ งานถึงจะสำเร็จ

 

“ผมเชื่อเสมอว่าตั้งแต่วันแรกที่ผมเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ผมไม่เคยบังคับบัญชา ไม่เคยสั่งงานเขาเลย ผมจะต้องมอบหมายงานให้เกิดความชัดเจนทั้งสองฝ่าย บางครั้งถึงขนาดต้องขอร้อง เพราะในเวลานั้นผมยังเด็ก แต่ทุกท่านที่ผมติดต่อทุกวันไม่มีใครอายุต่ำกว่า 50 ปี เพราะผมก็ต้องคุยกับปลัด รองปลัด ก็ต้องเรียกเขาว่าพี่ ต้องยกมือไหว้เขา เรายังเด็ก ผมเรียนการบริหารภาคเอกชนมา แต่ทุกคนบริหารราชการมา ข้าราชการ กทม. เติบโตมาจากระบบราชการ สิ่งที่ข้าราชการ กทม. จะทำ ก็จะอยู่ในกรอบของระเบียบกฎหมาย มีเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ที่มาคุมเขา ถ้าเราไม่ได้ใจเขา ถ้าเราไม่สามารถแสดงให้เขาเห็นได้ว่านโยบายนั้นๆ เป็นนโยบายที่ดีสำหรับประชาชน สำหรับเขา เขาสามารถพาคุณลงแม่น้ำเจ้าพระยา ออกอ่าวไทย ไปวนภูเก็ตแล้วกลับมา เรื่องก็ยังเดินไม่ได้ เพราะว่าไม่มีใครรู้ดีเรื่องระบบราชการ กฎหมาย ระเบียบ เท่าข้าราชการ แล้วคุณจะขับเคลื่อนนโยบายอะไรก็แล้วแต่ ต้องได้ความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมแรง จากข้าราชการ

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

“สูตรของผมคือความเป็นเพื่อนร่วมงาน มอบหมายงาน และติดตามงาน เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งข้าราชการกรุงเทพมหานครมีศักดิ์ศรี เขาให้เกียรติคุณได้อยู่แล้วในฐานะหัวโขนความเป็นผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ แต่ถ้าคุณสามารถชนะใจเขาได้ งานคุณจะเสร็จ

 

จุดบริการด่วนมหานครและการเคลียร์งบค้างท่อ คือตัวอย่างงานที่สำเร็จ

 

“BMA Express Service จุดบริการด่วนมหานคร ก็คือเอาสำนักงานเขตเล็กๆ ขึ้นไปอยู่บนสถานีรถไฟฟ้า ผมต้องไปสู้ ต้องไปขอร้องให้ข้าราชการยอมรับว่าการบริการประชาชนไม่ใช่รอให้เขามา ต้องไปหาเขา นี่คือจุดเริ่มต้น และยังมีเรื่องระบบงบประมาณ ระบบบัญชีใหม่ๆ เนื่องจากงบประมาณ กทม. ที่ผ่านมาใช้ไม่เคยหมด เพราะไปติดระเบียบข้อนั้นข้อนี้ ผมเคลียร์ค้างท่อหมดภายใน 2 ปี อะไรที่ตั้งเหลื่อมปีไว้ 5 ปี ผมตัดใหม่ อะไรที่ตั้งงบไว้เกิน 2 ปี กันเงินไว้แล้วยังก่อหนี้ไม่ได้ ผมยกเลิกหมด ข้าราชการเขาก็กลัว แต่ผมเห็นว่าเงินมันต้องเอาออกมาแก้ปัญหาประชาชน

 

“เรื่องที่สอง ก็คือการจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำให้เสร็จ แล้วติดตามให้จบ แน่นอนที่สุด กรุงเทพมหานครภารกิจเยอะมาก ประชาชนคาดหวังมาก แต่คุณต้องแยกให้ออก อะไรคืองานระดับนโยบายผู้บริหาร อะไรคืองานระดับเขต คุณจะให้ผู้ว่าฯ ไม่ทำเรื่องนโยบายที่เป็นเรื่องของอนาคต แล้วใครจะขับเคลื่อน กทม. ผมตั้งเป้าหมายว่าต้องแก้เรื่องงบประมาณการเงินการคลังของ กทม. จะทำอย่างไรให้งบประมาณที่มีจำกัด มีพอที่จะแก้ไขปัญหา เพราะ กทม. จะเดินหน้าได้ต้องมีเงิน เงินมาจาก 3 แหล่งหลัก หนึ่ง คืองบประมาณ กทม. ที่อนุมัติจากสภา กทม. สอง งบประมาณอุดหนุนที่จัดสรรผ่านกระทรวงมหาดไทย สาม นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มาจากวิสาหกิจของ กทม. บริษัทที่ กทม. ไปถือหุ้น โรงรับจำนำ รวมไปถึงการออกพันธบัตร ตราสารหนี้ ของ กทม. ซึ่งผมทำไว้เสร็จแล้ว แต่ไม่มีผู้ว่าฯ คนไหนกล้าและเข้าใจพอที่จะออกพันธบัตร กทม. เราต้องไม่ลืมว่างบประมาณ กทม. ส่วนใหญ่ไปอยู่กับรายจ่ายประจำ ข้าราชการประจำ แต่โครงการใหญ่ๆ มันไม่มีงบ ร้อยละ 60-70 ไปอยู่ในงบประจำ อีกร้อยละ 20 ไปอยู่ในงบผูกพัน ดังนั้นเหลืออีกแค่ 2 หมื่นล้านไว้แก้ไขปัญหาทั้งกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ ต้องทำงานในงบประมาณที่จำกัด แล้วพันธบัตรคืออะไร เมืองใหญ่ๆ โซล โตเกียว ลอนดอน ก็มีหมด เพราะเขารู้ว่าการสร้างโครงการสำคัญๆ ใหญ่ๆ คุณต้องเอาเงินของอนาคตก็คือกู้เงินมาสร้างโครงการ แล้วเสร็จประชาชนก็ได้ใช้”

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

เมืองหลวงต้องมีพ่อบ้านที่เข้าใจการเงิน

“สำหรับเรื่องที่สาม คือเรื่องการเงิน ผมไม่ได้บอกว่า กทม. ต้องมีเงินมหาศาล แต่ต้องมีวิธีการหาเงินให้ได้มากกว่าปัจจุบัน และที่สำคัญต้องมีวิธีการตรวจสอบ ซึ่งการแก้ปัญหาเมืองต้องการเทคโนโลยี มันคือการลงทุนเพื่ออนาคต สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือว่าเงินนอกจากแบมือขอรัฐบาลแล้ว พันธบัตรสำคัญมาก และนอกเหนือจากพันธบัตร กทม. ยังมีวิธีเก็บเงินให้โปร่งใสและได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก อย่างภาษีป้าย อย่างการมีแผนที่ภาษี ซึ่งภาษีบุหรี่ ภาษีน้ำมันที่หัวจ่าย ผมก็เป็นคนที่ริเริ่มให้มี เมืองหลวงต้องมีพ่อบ้านที่เข้าใจการเงิน”

 

สำหรับผลงานผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มีผลแค่กับคนกรุงเทพฯ แต่มีผลต่อพรรคการเมืองที่สังกัดและส่งผลต่อเส้นทางการเมืองด้วย อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า 

 

“ตำแหน่งผู้ว่าฯ จะเป็นใครก็แล้วแต่ ถ้าคุณทำได้ดีจะส่งผลต่อพรรคถ้าคุณสังกัดพรรค และถ้าคุณไม่ได้สังกัดพรรคก็จะส่งผลต่อเส้นทางทางการเมือง และไม่ใช่แค่ตัวผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ยังรวมถึงที่ปรึกษาอีกด้วย ทั้งหมดคือนักการเมือง

 

“การทำงานของผมในฐานะนักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือการทำงานการเมืองในพื้นที่ หลายคนที่เป็นผู้บริหาร กทม. ไม่กล้าใส่เสื้อพรรค แต่ผมมองว่าถ้าคุณมาจากพรรคและชนะการเลือกตั้งจากฐานเสียงของพรรค คุณก็ต้องกล้าทำงานให้กับพรรคและเปิดเผยโปร่งใส ไม่ใช่แอบๆ ทำ แต่ทุกอย่างต้องไม่มีการทุจริต โดยเป็นการทำงานในพื้นที่ นำนโยบายของพรรคมาสู่การปฏิบัติ อย่างตอนนั้นรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์มีนโยบายอาหารเช้าฟรี นมฟรี เราก็เอามาทำที่ กทม. ด้วย แล้วบอกว่านี่คือนโยบาย หรืออย่างตอนนั้นคุณอภิรักษ์ตั้งรองผู้ว่าฯ ให้ดูแต่ละโซน ผมดู 10 เขตชั้นใน เช่น สาทร บางรัก และดูกรุงเทพเหนือ หลักสี่, ดอนเมือง, บางเขน และจตุจักร ดังนั้นผมก็ใช้เวลานั้นพบปะประชาชนทั้งในเขตธุรกิจหรือ CBD ใจกลางเมืองซึ่งมีความต้องการต่างกันกับเขตรอบนอกที่เป็นรอยต่อ ความต้องการของ CBD ต้องการอะไร ก็จะไม่เหมือนกับชุมชนคลองเปรมประชากรที่หลักสี่ ดังนั้นในหลักสี่หาเสียงแบบไหน ในเมืองหาเสียงแบบไหนถึงจะได้ ชุมชนกับบ้านล้อมรั้วก็จะแตกต่างกัน แล้วตอนนี้ก็มีชุมชนใหม่เรียกว่าชุมชนตึกสูงที่นักการเมืองก็เข้าไม่ถึงด้วย จะทำอย่างไรจะเข้าถึงได้ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องการทำการเมือง”

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

ข้อจำกัดของการบริหาร กทม. และทางออก

“กทม. คือยักษ์ ไร้กระบอง เพราะมันใหญ่ มันเยอะ ความคาดหวังคนมหาศาล แต่อำนาจหน้าที่จำกัดมาก ดังนั้นไม่ควรจะไปเสียเวลากับเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องการเมืองภายใน กทม. แล้วควรหาเครือข่ายมาแก้ปัญหา กทม. ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง” พนิตกล่าวทิ้งท้าย 

 

พนิต วิกิตเศรษฐ์

 

รู้จัก พนิต วิกิตเศรษฐ์ 

งานส่วนใหญ่ที่พนิตรับผิดชอบตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มักจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจการเงินการคลัง ปากท้อง ไล่มาจนถึงการดูเรื่องการค้าการลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศ ตามประสบการณ์เก่าสมัยเคยเป็นนักการเงิน 

 

ในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ชุดปัจจุบัน นอกจากตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) อย่าง คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ และคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ 

 

พนิตยังมีตำแหน่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวข้องกับคนกรุงเทพฯ และเกี่ยวกับการลงทุน การเงิน อีกหลายคณะ ทั้ง กมธ.ศึกษาการต่อสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), กมธ.ศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส), กมธ.ศึกษาการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างฯ, กมธ.ศึกษาปัญหาการบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและหามาตรการแก้ไขปัญหาการบำรุงรักษาที่ดิน การพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกันในพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่เอกชนทั่วประเทศ, กมธ.ศึกษาปัญหายาเสพติด แนวทางการจัดตั้งศูนย์บำบัดยาเสพติดฯ 

 

ส่วนประสบการณ์การดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา นอกจากการดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. พนิตเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยของ กษิต ภิรมย์ และเคยเป็นที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X