×

ทำไม ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ถึง 50 ยังแจ๋ว และเป็นร็อกเกอร์ที่ยังไม่หมดอายุ?

23.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ เป็นคนมีเสน่ห์ เหมือนกับเพลงที่เขาแต่ง และสุภาพกว่าที่เคยคิด เกือบทุกประโยคที่ตอบคำถาม เขามักจะลงท้ายด้วยคำว่า ‘ครับ’
  • ยุคเทปผีซีดีเถื่อนและ MP3 เป็นช่วงที่ชีวิตนักดนตรีของป้างแขวนอยู่บนเส้นด้าย เขามองหาอาชีพเสริมโดยหุ้นกับเพื่อนสมัยมหา’ลัยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อ ‘บ้านแม่ยาย’ ขายอยู่แถวแจ้งวัฒนะ
  • เคล็ดลับที่ช่วยให้ป้างรอดจากวิกฤตดนตรีครั้งแล้วครั้งเล่าคือ “พี่เป็นคนเก็บเงิน” ด้วยสมการ ‘ได้ 10 เก็บ 7 ใช้ 3’ ป้างบอกว่าเขาใช้สมการนี้มาตั้งแต่ออกอัลบั้ม ไข้ป้าง (2537)

     ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ เป็น คนมีเสน่ห์ เหมือนกับเพลงที่เขาแต่ง และสุภาพกว่าที่เคยจินตนาการ

     เกือบทุกประโยคที่ตอบคำถาม เขามักจะลงท้ายด้วยคำว่า ‘ครับ’

     ถ้าไม่นับช่วงเวลาที่ทำเพลงในนามวง ‘ไฮดร้า’ กับปอนด์-ธนา ลวสุต ป้างออกอัลบั้มแรก ไข้ป้าง ใน พ.ศ. 2537

     ถึงวันนี้ (พ.ศ. 2560) เขาโลดแล่นอยู่ในวงการเพลงมา 23 ปี

     มี 6 สตูดิโออัลบั้ม กับ 1 มินิอัลบั้ม (ไม่นับอัลบั้มรวมฮิตและบันทึกการแสดงสด)

     ล่าสุดกำลังจะมีคอนเสิร์ต ‘50 ปี พรีแซยิด ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์’ คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่ 4 ของเขาในวันที่ 30 กันยายนนี้

 

สกู๊ปคอนเสิร์ต 50 ปี พรีแซยิดฯ

 

     ก่อนจะถึงคอนเสิร์ต ผมพบตัวเองนั่งคุยกับป้างบนชั้น 33 ออฟฟิศ Genie Records ตึกแกรมมี่

     วันนั้นเขาให้สัมภาษณ์เป็นคิวที่ 3 จากทั้งหมด 4 คิว

     ผมไม่แน่ใจว่าป้างเบื่อที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับคอนเสิร์ตใหม่ของเขาหรือยัง

     แต่ที่แน่ๆ ผมเบื่อถ้าตัวเองจะต้องคุยกับเขาเรื่องนี้

“เวลาพี่จะทำเพลงออกมาสักเพลงหนึ่ง กูต้องชอบมากถึงจะยอมให้ออก ไม่มีใครมาสั่งให้พี่ทำอะไรได้ถ้าพี่ไม่ชอบ พี่ไม่ยอมให้ใครมาสั่งแน่”

     ‘23 ปี ในวงการเพลงไทย ป้างอยู่รอดมาได้อย่างไร?’

     ประเด็นนี้ถูกจดลงสมุดบันทึกในวันที่คนและธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังโลกเข้าสู่ยุคสมัยดิจิทัล

     ‘Disruption’ และ ‘Transformation’ กลายเป็นคำที่เห็นได้รายวันบนนิวส์ฟีด

     ‘ทุกสิ่งเปลี่ยนไป บางสิ่งก็ต้องเปลี่ยนแปลง’

     ทุกคนรู้เป็นสัจธรรม แต่ไม่ง่ายที่จะยอมรับ โดยเฉพาะเมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง

 

 

     “ตอนนั้นไม่สนุกเลย”

     ป้างบอกถึงความรู้สึกในวันที่รายได้จากการขายเพลงหดหายกลายเป็น อากาศ

     ไม่แปลกหรอกที่เขาจะรู้สึกเช่นนั้น เพราะเขาเกิด พ.ศ. 2510 เคยอยู่ในช่วงที่อนาล็อกรุ่งเรืองจนล่มสลาย กระทั่งโลกหมุนสู่การแปลง ทุกสิ่งเป็นเลขฐานสอง

     ในฐานะนักร้อง-นักแต่งเพลงที่อยู่ในยุครุ่งเรืองกระทั่งล่มสลายของคาสเซตต์และซีดี หลังโลกรู้จักแผ่นผีและ MP3 ทำให้คนทำงานเพลงในยุคนั้นคล้ายอยู่ในห้องที่เคยเปิดไฟสว่าง แล้วจู่ๆ ไฟก็มืดดับลง

     สายตาท่ีเคยชินกับแสงสว่าง ทำให้ความมืดมืดมิดกว่าที่มันเป็น

 

     3 โมง 6 นาที 48 วินาที ผมเริ่มกดไอแพดมินิให้มันบันทึกเสียง

     ใกล้ๆ แอปฯ Recorder มีแอปฯ สตรีมมิงมิวสิก Spotify ที่เพิ่งโหลดมาทดลองใช้ หลังเพิ่งเปิดตัวในเมืองไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม

     ‘23 ปีในวงการเพลงไทย ป้างอยู่รอดมาได้อย่างไร?’

     ผมพยายามหาคำตอบ…

 

 

พ.ศ. 2537 ไข้ป้าง, ความพลุ่งพล่านของคนดนตรีและวงการเพลงอัลเทอร์เนทีฟ

     วันที่ยอดขายเพลงไทยยังเฟื่องฟู ‘อากู๋’ ยังไม่ลุยดิจิทัล ‘อาเฮีย’ ยังไม่คิดเก็บเงินศิลปินที่ทำเพลงกับค่ายและขายครีม

     วันนั้นป้างออกอัลบั้มเดี่ยวครั้งแรก

 

ปกอัลบั้ม ‘ไข้ป้าง’

 

     ป้างเล่าว่าช่วงที่ทำอัลบั้ม ‘ไข้ป้าง’ เขาอายุ 26-27 อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย

     คำตอบในช่วงวัยนั้น ง่ายๆ คืออยากมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง

     “พลุ่งพล่านมาก” ทำเองทุกอย่าง ทำนอง เรียบเรียง โปรดิวซ์ แม้กระทั่งออกแบบปกอัลบั้ม (ส่วนภาพปก หลายคนอาจไม่รู้ว่าถ่ายโดย อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร หรือเล็ก Greasy Cafe)

 

อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร (เล็ก Greasy Cafe)

 

     ป้างบอกว่าเพลง สบายดี น่าจะแทนอารมณ์ในช่วงวัยนั้นได้ดี

     “มันเป็นเพลงที่คอนทราสต์มาก เล่นเบาๆ แล้วอยู่ๆ ก็กระแทกเปรี้ยง!”

     ไม่ใช่แค่ทำนอง เนื้อร้องก็คอนทราสต์ เพราะคำที่พูดออกมากับความรู้สึกในใจขัดแย้งกัน

 

     ใจจริงแล้วไม่ยอมให้ไป

     มันโหดร้ายทารุณยิ่งกว่า

     เตรียมใจไว้นานมา ไม่ได้ดีขึ้นเลย

     อยากกอดขาลงคลานคุกเข่า

     ให้กราบเท้าก็คงต้องยอม

     เพราะฉันไม่พร้อมในการไม่มีเธอ

     อย่าไปเลยขอร้องเธอ

     สบายดี, ไข้ป้าง (พ.ศ. 2537)

 

     เพลงในอัลบั้มนี้เต็มไปด้วย ‘ความสด’ แต่ พ.ศ. นั้นไม่ใช่ป้างที่ ‘สด’ และพลุ่งพล่านอยู่คนเดียว

 

โมเดิร์นด็อก อัลบั้มแรก ‘เสริมสุขภาพ’

Photo: pantip.com

 

     เพราะปีนั้นเบเกอรี่มิวสิคถือกำเนิด ก่อนจะตัดสายสะดือ ‘โมเดิร์นด็อก’ ศิลปินเบอร์แรกของค่าย ด้วยอัลบั้ม เสริมสุขภาพ และ ซีเปีย ออกอีพีอัลบั้มชื่อ เกลียดตุ๊ด

 

ซีเปีย อัลบั้ม ‘เกลียดตุ๊ด’

 

     ปีนั้นศิลปินหน้าใหม่แนวอัลเทอร์เนทีฟหลายคนได้แจ้งเกิดโดยที่ไม่ต้องไปที่ว่าการอำเภอ

     ความสด ความมัน เนื้อหาดนตรีที่แหวกขนบ ‘เพลงสตริง’ ของสองค่ายใหญ่อย่างแกรมมี่-อาร์เอส ที่เน้นศิลปินวัยรุ่นหน้าตาดี เพลงป๊อปใสๆ เนื้อหาวนเวียนอยู่กับวังวน ‘ฉันรักเธอ-เธอรักเขา-เธอหักอกฉัน-เธอจากไป’ ทำให้เนื้อร้องและดนตรีของป้างกลายเป็นรสชาติใหม่ของวัยรุ่นที่กำลัง ‘เอียน’ เพลงสมัยนิยมที่แสวงหาตัวตนและความต่าง

     กระแสตอบรับ ไข้ป้าง ดีมาก จนกระทั่งปีต่อมา (พ.ศ. 2538) ป้างมีคอนเสิร์ต ไอ ซี ยู คอนเสิร์ต ที่ MBK Hall ห้างมาบุญครอง

     นี่คือความสำเร็จที่เกินคาดหมายของนักร้องหนุ่มหน้าใหม่ที่ตอนนั้นผมยังดกดำเต็มหัว

 

 

พ.ศ. 2540 ฉลองครบรอบ 30 ปี, หัวล้าน-วิกฤตต้มยำกุ้ง ขาลงกระแสเพลงอัลเทอร์เนทีฟ

     “เฮ้ย! ป้าง มึงหัวล้าน ทำไงดีวะ?”

     ค่ายเพลงโยนคำถามนี้ หลังเห็นผมบนหัวของป้างเร่ิมบางลง

     วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หลังรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทใน พ.ศ. นั้นอาจทำให้ผมหลายคนร่วง แต่ไม่ใช่สาเหตุผมร่วงของป้าง

     “เห็นๆ เลยว่ายอดเทปมันลดทั้งระบบ ตัวโชว์คอนเสิร์ตเองก็ลด …แต่ของพี่ยังมียอดในจุดที่พี่ไม่ได้รู้สึกว่าเดือดร้อนเท่าไร”

     ส่วนเรื่องหัวล้าน ป้างไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา

     “เราไม่ได้ขายหน้าตา เราขายเพลง”

     แถมมองในมุมสนุก เขาเลยแต่งเพลง หัวล้านใจน้อย ล้อตัวเอง และนำมาเป็นเพลงเปิดอัลบั้ม

 

อัลบั้ม ‘ฉลองครบรอบ 30 ปี’

Photo: kaidee.com

 

     ส่วน ฉลองครบรอบ 30 ปี ชื่ออัลบั้ม ก็มีที่มาคล้ายกัน

     “ยุคนั้นนักร้อง-ดาราคนไหนอายุ 30 เริ่มรู้สึกแล้วว่า ‘มีอายุ’ แล้วมักจะไม่บอกอายุ พี่ก็เลยรู้สึกอย่ากระนั้นเลย บอกไปเลย

     “พี่ชอบทำอะไรสวนๆ มันสนุก”

     ทว่าในความสนุกก็แฝงความกดดัน เพราะหวั่นๆ ว่าหนังภาคต่อจะไม่ดัง หลัง ไข้ป้าง ประสบความสำเร็จถล่มทลาย

     บวกกับเวลานั้นอัลเทอร์เนทีฟเฟื่องฟู มีวงและอัลบั้มออกเกลื่อนตลาด มีทั้งดีและห่วย สถานการณ์ในเวลานั้นคล้ายฟองสบู่ที่มีแนวโน้มว่าอีกไม่นานจะแตกโพละ

“เราไม่ได้ขายหน้าตา เราขายเพลง”

     ‘แล้วป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ จะรอดเหรอ?’ หลายคนถามเขา และบางเวลาเขาก็ถามตัวเอง

     คอนเสิร์ต ขุนช้างตกมัน คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้น ณ MCC Hall เดอะมอลล์ บางกะปิ ใน พ.ศ. ที่เศรษฐกิจตกต่ำ น่าจะตอบคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี

 

พ.ศ. 2542 ขายหน้า, การมาถึงของ smallroom แต่งงาน คนรักของนักแต่งเพลง

     หลังก่อตั้งและเป็นมือเบสวง ‘Crub’ อัลบั้ม View เมื่อ 5 ปีก่อน (พ.ศ. 2537) ในปีนี้ (พ.ศ. 2542) รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ หรือ ‘พี่รุ่ง’ เริ่มก่อตั้งบริษัท สมอลล์รูม จำกัด เพื่อรับทำเพลงโฆษณา ก่อนจะขยายมาทำค่ายเพลง ปั้นศิลปิน ‘อินดี้’ ชื่อดังหลายวง เช่น อาร์มแชร์, สี่เต่าเธอ, Superbaker ฯลฯ

 

รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท สมอลล์รูม จำกัด

Photo: tcdcconnect.com

 

     ขณะที่ยุคดนตรีอินดี้กำลังตั้งไข่ ชีวิตปีนี้ของป้างค่อนข้างราบรื่นและสวยงาม

     เขาออกอัลบั้มที่ 3 ขายหน้า และแต่งงานกับคนรัก

     คนที่ฟังอัลบั้มนี้จะรับรู้ถึง ‘รสหวาน’ ที่แทรกอยู่ได้ไม่ยาก

     สร้างมาเพื่อเธอ กับ ช้าเหลือเกิน ป้างแต่งสองเพลงนี้เพื่อมอบให้ภรรยา

 

อัลบั้ม ‘ขายหน้า’

 

     ส่วนเพลง Family Man น่าจะแปลกหูแฟนเพลงพอสมควร เพราะเกือบทั้งเพลงมีเพียงเสียงกีตาร์ ก่อนปิดท้ายด้วยคำร้องภาษาอังกฤษสั้นๆ ที่แปลได้ว่า ‘เพราะคุณ ทำให้ผมอยากเป็นแฟมิลี่แมน’ น่าจะเป็นเพลงเดียวของป้างที่เนื้อร้องสั้นที่สุด

     “ตั้งใจให้เป็นเพลงบรรเลงที่ฟังแล้ว…เลื่อนลอย” ส่วนคำร้องตบท้าย แค่ต้องการบอกให้รู้ว่าคนทำกำลังคิดอะไร

     ป้างบอกว่าเขาออกอัลบั้มนี้ก่อนแต่งงานไม่นาน

     พี่แต่งงานวันไหน? -ผมถาม

     “จำไม่ได้” เขาหัวเราะลั่นหลังคำตอบ

     “พี่กับแฟนพี่จะเป็นคนที่ไม่จำวันแต่งงานกัน แล้วเราจะมานั่งขำกันทุกปี บางทีก็สองปีขำกันที”

     เขาบอกว่าขำทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ “เฮ้ย! มันผ่านวันแต่งงานเราไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่หว่า”

 

 

     ชีวิตหลังแต่งงานเหมือนที่จินตนาการไว้ไหม?

     “พี่เลือกไม่ผิดที่เลือกภรรยาคนนี้” ป้างตอบแทบจะทันทีเหมือนไม่ต้องใช้ความคิด

     “เขาเข้าใจทุกอย่างที่เป็นเรา แล้วเราก็ได้เป็นแฟมิลี่แมนกับเขาอย่างที่เราอยากเป็น”

     ธรรมชาติของนักแต่งเพลงมักจะเป็นคนที่เต็มไปด้วยรายละเอียด มองอะไรทุกซอกทุกมุม ป้างบอกผมอย่างนั้น

     “มันจะเป็นคนที่…”

     เรื่องมาก?

     “ใช่ มันจะเรื่องมาก”

     จากนั้นเหมือนป้างจะต่อความคิดในสิ่งที่จะพูดได้แล้ว

     “แล้วก็จะเซ้นสิทีฟ ก็ในเมื่อคุณขยายอะไรไปซะทุกอย่าง เวลาคุณเสียใจ เวลาคุณเปราะบาง เวลาคุณดีใจ มันก็จะเต็มไปด้วยรายละเอียด

     “ต้องเข้าใจ ไม่งั้นรำคาญตาย!”

 

     อาจเป็นสวรรค์ที่สร้างฉันให้เธอ

     ให้ฉันเจอความสุขล้ำ

     จะไม่มีวันทำ ให้ใจของเธอร้าวราน

     ฉันสร้างมาเพื่อเธอ

     หมดคำถามงามทั้งกายใจ เธอใช่แล้วคนดี

สร้างมาเพื่อเธอ, ขายหน้า (พ.ศ.2542)

 

พ.ศ. 2545-2550 หัวโบราณ + เลี่ยมทอง + ดอกเดียว, กำเนิด Fat Radio ยุคเฟื่องฟูของ MP3

     ก่อนการมาถึงของอัลบั้มที่ 4 หัวโบราณ (พ.ศ. 2545) ที่ป้างตั้งใจให้เป็นอัลบั้มเพลงร็อกสวยๆ หนึ่งปีก่อนหน้านั้น (พ.ศ. 2544) ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม เปิดคลื่นโตๆ มันๆ Fat Radio และจัดงาน Fat Festival ครั้งแรก

 

ปกอัลบั้ม ‘หัวโบราณ’

 

     ดนตรีอินดี้เฟื่องฟู ‘เด็กอัลเทอร์’ เมื่อครั้งยุค 90s เติบโตและผันตัวมาทำงานในภาคธุรกิจต่างๆ ที่มีส่วนผลักดันเพลงอินดี้และสร้าง ‘เด็กแนว’ ในยุคหลังปี 2000

     ยุคนี้เทคโนโลยีการทำเพลงเริ่มถูกลง ส่งผลให้คนดนตรีเกิดขึ้นหลายกลุ่ม และอินเทอร์เน็ตที่เริ่มใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้ช่องทางเผยแพร่ผลงานมีมากขึ้น เช่น coolvoice.com, myspace.com และไม่ต้องพึ่งสื่อค่ายยักษ์เหมือนในอดีต

 

coolvoice.com

 

     การมาถึงของ MP3, ไดร์ฟซีดี burner และคอมพิวเตอร์ในราคาที่ทุกบ้านเอื้อมถึง ส่งผลให้ยอดขายคาสเซตต์-ซีดีถูกแทนที่ด้วยแผ่น MP3 อย่าง ‘ประเทือง’ และ ‘Vampires’ ที่บรรจุเพลงกว่า 200 เพลง ขายแผ่นละ 100 บาท (เฉลี่ยเพลงละ 50 สตางค์) ทำให้สินค้าอย่างคาสเซตต์-ซีดีกลายเป็น ‘ของแพง’

 

แผ่นประเทือง

 

     สวนทางกับเพลงที่เริ่มกลายเป็นสินค้า ‘ไร้ราคา’ เมื่อเทคโนโลยีช่วยให้ผู้บริโภค ‘คัดลอก’ และ ‘ผลิตซ้ำ’ ได้เองด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจนเกือบเป็น ‘ของฟรี’

     แค่มีเครื่องเล่น mp3 (จีนแดง) ไดร์ฟซีดีที่ burn แผ่นได้ ซีดีเปล่า ‘Princo’ (ยี่ห้อยอดนิยม) โปรแกรม Nero Burning Rom ก็สามารถก๊อบปี้และส่งต่อเพลงใหม่ๆ ได้แล้ว

     ในยุคนี้ค่ายเพลงเริ่มปรับราคาซีดีให้ถูกลง และเร่ิมหยุดสายพานการผลิตคาสเซตต์

 

อัลบั้ม ‘เลี่ยมทอง’

 

     หลังร็อกบัลลาดสวยๆ อย่าง เธอมีจริง, อากาศ, คู่ชีวิต ใน หัวโบราณ (พ.ศ. 2545) ป้างกลับมาทำร็อกแรงๆ อีกครั้งในอัลบั้มที่ 5 เลี่ยมทอง (พ.ศ. 2547) ที่มีเพลงอย่าง แมน, สัตว์ร้ายในตัวฉัน แต่ก็มีเพลงน่ารักๆ อย่าง ทำอะไรสักอย่าง

 

อัลบั้ม ‘ดอกเดียว’

 

     กระทั่ง ดอกเดียว (พ.ศ. 2550) สตูดิโออัลบั้มที่ 6 ก่อนอุตสาหกรรมดนตรีจะถูกสายธารของเทคโนโลยีพัดพาจนไม่มีใครกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

     ระหว่างให้สัมภาษณ์ ป้างพูดถึงอัลบั้ม ดอกเดียว ด้วยท่าทีผ่อนคลาย คล้ายกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงยังซัดมาไม่ถึง

 

 

     “ชีวิตส่วนตัวมีผลต่อการดีไซน์อัลบั้มนี้ คือตอนนั้นฟังเครื่องเสียง (หัวเราะ) ชอบ ชอบฟังเครื่องเสียงดีๆ มีความสุขกับตรงนี้

     “ใช้เครื่องดนตรีน้อย คอร์ดน้อย น้อยทุกอย่าง เพราะความน้อยทำให้จัดมิติเครื่องดนตรีได้เหมาะสม”

     หลังจากปล่อยอัลบั้ม ดอกเดียว ป้างคงไม่คิดว่านี่จะเป็นสตูดิโออัลบั้ม (10-11 เพลง) สุดท้ายของเขา

     ปีนั้น (พ.ศ. 2550) ป้างอายุครบ 40 ปี

 

พ.ศ. 2553-2556 ซิงเกิล + มินิอัลบั้ม กลางคน, วิกฤตวัยกลางคน เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว สิ้นสุดยุค MP3 เริ่มเล่นเฟซบุ๊ก การกลับมาของคอนเสิร์ตใหญ่

     คงจะจริงที่เขาบอกว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40

     ‘เราจะทำอาชีพที่เรารักไปได้อีกนานแค่ไหน?’

     ป้างเกิดคำถามกับตัวเองในวันที่วงการเพลงไทยเกิดความผันผวนอย่างรุนแรงหลังอัลบั้ม ดอกเดียว (พ.ศ. 2550) ซึ่งฉุดคร่าเพื่อนนักแต่งเพลงในแกรมมี่ชนิดที่ป้างใช้คำว่า

     “หายไปทั้งยวง”

 

แกรมมี่รณรงค์ซื้อแผ่นแท้ ต่อต้านเทปผีซีดีเถื่อน พ.ศ. 2554

 

     ตัวเลขสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังคงพุ่งสูง แกรมมี่-อาร์เอสหันไปขายเพลงแบบดิจิทัลผ่านการดาวน์โหลดและริงโทน ซีดีถูกลดการผลิต การออกอัลบั้มกลายเป็นสิ่งผิดของยุคสมัย

     “ออกมา 10 เพลง เหนื่อยหนาสาหัส”

     ขายไม่ค่อยได้?

     “ไม่มีที่จะขายด้วยซ้ำไป” ป้างถอนใจ “มันเป็นยุคของซีดีล่มสลาย ซีดีแทบจะไม่มีที่วางขาย ร้านขายซีดีไม่มีแล้ว”

     ท่ามกลางคลื่นลมแห่งความผันผวนที่ยากจะคาดเดา การล่มสลายของยุคอนาล็อกที่ทำให้คาสเซตต์และซีดีเปลี่ยนสถานะเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ โมเดลธุรกิจตลาดเพลงที่ฉีกทุกตำราธุรกิจที่เคยมี สำหรับนักดนตรี นี่คือยุคสมัยแห่งความมืดมิด

     อับจน ไร้คำตอบ ไร้หนทาง ป้างบอกว่าช่วงนั้นเขาเหมือนเผชิญวิกฤตวัยกลางคน

 

 

     “ซึ่งพี่ไม่รู้ว่ามันเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวกับวิกฤตวัยกลางคนของพี่หรือเปล่า พี่แยกไม่ออก

     “และพี่ไม่รู้ว่าพี่ผ่านมันมายังไง แต่ก็มีบางครั้งที่พี่รู้สึกว่า บางทีมันก็น่าหดหู่นะ”

     ยอดขายตก รายได้ลด บวกกับภาระในฐานะผู้นำครอบครัวบีบคั้นให้ชีวิตเกิดคำถาม

     “เราจะทำสิ่งที่เรารักไปได้อีกนานแค่ไหนวะ …หรือว่าเราต้องเปลี่ยนอาชีพ?

     “นี่เป็นคำถามที่หนักสำหรับพี่ เพราะเป็นสิ่งที่เรารักมาก”

     ป้างยอมรับว่าช่วงที่ชีวิตนักดนตรีแขวนอยู่บนเส้นด้าย เขาได้มองหาอาชีพเสริมประเภทธุรกิจ SMEs จนสุดท้ายมาจบที่หุ้นกับเพื่อนสมัยมหา’ลัยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อ ‘บ้านแม่ยาย’ ขายอยู่แถวแจ้งวัฒนะ

     “ขายดีนะครับ ขายดี แต่สุดท้ายเราก็คัน”

 

ร้านก๋วยเตี๋ยว ‘บ้านแม่ยาย’ ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2552

Photo: edtguide.com

 

     ป้างตัดสินใจเลิกกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวด้วยการ “ทำสิ่งที่เรารักต่อไป เท่าที่เราทำได้” และ “มันจะเป็นอะไรก็ให้มันเป็นไป”

     ส่วนเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนก็ขอโบกมือลาด้วยเหตุผล ‘ถ้าทำคนเดียว ก็ไม่ทำ’

 

เพลง เจ็บปวดที่งดงาม

 

     ระหว่าง พ.ศ. 2551-2553 ป้างมีซิงเกิลออกมาทั้งหมด 6 เพลง ทั้งซิงเกิลส่วนตัว (เล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่, ปมด้อยของฉัน, เจ็บปวดที่งดงาม, ปอดแหก) ซิงเกิลประกอบละคร (หีบเล็ก หีบใหญ่ – ละคร ‘ตะวันเดือด’ ช่อง 3) และภาพยนตร์ (เกลียดคำขอโทษ – ‘โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต’ ค่าย GTH)

     “ทีละเพลงแบบนี้ก็โอเค เพราะวัยเราไปทำอะไรหนักหน่วง 10 เพลง หายไป 5 เดือนแบบนี้ไม่ไหวแล้ว”

     พ.ศ. 2553 ในวิกฤตมีจุดเปลี่ยน ปัญหาชีวิตมักบังคับให้คนมองหาทางออก

 

ภาพจากแฟนเพจ Nakarin Kingsak -ป้าง นครินทร์

 

     ในปีนั้น ป้างที่เคย “ไม่ค่อยชอบเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ” หันมาใช้ ‘เฟซบุ๊ก’ ครั้งแรก หลังผู้บริหารค่าย Genie Records ให้เหตุผลว่า “ถ้าใช้แล้ว ป้างจะได้ติดต่อกับแฟนเพลงตัวจริงของป้างโดยตรง”

     ป้างบอก “เหตุผลนี้คลิก”

          การเล่นโซเชียลมีเดียไม่เพียงได้ติดต่อกับแฟนเพลงตัวจริง ป้างยังได้เห็น ‘ความจริง’ ที่ต่างจากสิ่งที่เคยคิดมาตลอด

     ป้างเคยจินตนาการว่าแฟนเพลงในยุค พ.ศ. 2537 วันนี้ทุกคนคงอยู่ในวัยทำงาน มีครอบครัว ไม่มีใครมีเวลามาสนใจนักร้องอย่างเขาอีกแล้ว “เป็นความคิดในจินตนาการของพี่เอง พี่นึกว่าคนอื่นจะคล้ายๆ พี่”

     แต่ทันทีที่เขาแนะนำตัวผ่านเพจ Nakarin Kingsak -ป้าง นครินทร์  แฟนเพลงได้หลั่งไหลเข้ามาทักทายเขาอย่างอบอุ่น

     “แฟนเพลงยังตามเรา…” นำ้เสียงป้างสั่นเครือเมื่อย้อนถึงความรู้สึกวันนั้น

 

มินิอัลบั้ม ‘กลางคน’

 

     เพจ Nakarin Kingsak -ป้าง นครินทร์  เป็นจุดเริ่มต้นของมินิอัลบั้ม กลางคน (พ.ศ. 2556) ที่มีเพลงดังอย่าง ภูมิแพ้กรุงเทพฯ, แค่ล้อเล่น, ที่เหลือคือรักแท้ หลังแฟนเพลงเรียกร้องว่าอยากได้ความรู้สึกของการจับแผ่นซีดีอีกครั้ง

 

คอนเสิร์ตบรรลุนิติภาวะ 21 ปี ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์

 

     และคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งที่ 3 บรรลุนิติภาวะ 21 ปี ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ณ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก หลังจากห่างหายจากการจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวของตัวเองนานถึง 16 ปี

     สองสิ่งนี้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2556

     ซึ่งเป็น พ.ศ. ที่โปรแกรม Winamp ประกาศหยุดให้บริการ ปิดฉากยุค MP3

     ขณะที่อุตสาหกรรมดนตรีกำลังก้าวสู่ยุคสตรีมมิงมิวสิก

 

พ.ศ. 2559-2560, ป้างล้านวิว และคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งที่ 4 ในวัย 50 ปี

     ไม่มีใครพูดถึง MP3 ซีดี และคาสเซตต์อีกแล้ว

     แผ่นเสียงกลับมาเป็นที่นิยม หลังโลกเคลื่อนสู่การเปลี่ยนข้อมูลให้อยู่บนก้อนเมฆ บางคนสันนิษฐานว่า อาจเพราะอารมณ์หวนหาอดีตและความเนิบช้า ทำให้แผ่นเสียงกลับมา

 

นิตยสาร happening ทำฉบับ Vinyl Republic หลังกระแสแผ่นเสียงเริ่มบูมในวงกว้าง วางแผงพฤษภาคม พ.ศ. 2559

 

     สำนักข่าว BBC รายงานรายได้จากการขายแผ่นเสียง (2.4 ล้านปอนด์) แซงรายได้จากการดาวน์โหลดเพลง (2.1 ล้านปอนด์) เป็นครั้งแรก เมื่อสัปดาห์แรกของธันวาคม ปี 2016

     ปี 2016 หรือ พ.ศ. 2559 ประชากรโลกกว่า 3 พันล้านคนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

     สมาร์ทโฟนกลายเป็นอวัยวะที่ 33 อย่างแท้จริงจนมีคำพูดว่า ถ้าลืมสมาร์ทโฟนและกระเป๋าสตางค์ สิ่งที่คนจะย้อนกลับไปหยิบคือสมาร์ทโฟน

 

JOOX

 

     ‘JOOX’ แอปพลิเคชันสตรีมมิงมิวสิกเปิดให้บริการในประเทศไทยด้วยโมเดล ‘ฟังฟรี’ (แต่มีโฆษณาแทรก) บวกกับราคาสมาร์ทโฟนที่ถูกลงเหลือไม่กี่พันบาท ส่งผลให้ยอดคนฟังสตรีมมิงมิวสิกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

     ป้างที่ห่างหายไปจากการออกเพลงใหม่กว่า 2 ปี ได้เปิดตัวซิงเกิล คนมีเสน่ห์ (21 มิ.ย.) จนมียอดคนดูในยูทูบทะลุ 100 ล้านวิวภายในเวลา 45 วัน

 

เพลง คนมีเสน่ห์

 

     สร้างสถิติเพลงไทยที่ทะลุ 100 ล้านวิวเร็วที่สุด และเป็นเพลงแรกของศิลปินค่าย Genie Records ที่แตะยอดวิวระดับร้อยล้าน

 

เพลง ทุกคนเคยร้องไห้

 

     ปีถัดมา (พ.ศ. 2560) ป้างได้ปล่อยซิงเกิล ทุกคนเคยร้องไห้ (1 ก.ย.) ผ่านไป 6 วัน ยอดวิวในยูทูบแตะ 7 ล้านวิว ผ่านไป 22 วัน แตะ 41 ล้านวิว ป้างบอกคิดไม่ถึงว่าจะเยอะขนาดนี้ เพราะเขาคิดว่าจังหวะของเพลงนี้ไม่ใช่เพลงฮิต แต่เสียงตอบรับกลับเกินที่คาดหมายไว้มาก

     เฟซบุ๊กได้เข้ามาเชื่อมแฟนเพลงรุ่นเก่าและสร้างฐานแฟนเพลงรุ่นใหม่ รวมถึงน่าจะเป็นเหตุผลของการจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2556) และครั้งที่ 4 คอนเสิร์ต 50 ปี พรีแซยิด ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ ในวันที่ 30 กันยายน

 

คอนเสิร์ต 50 ปี พรีแซยิดฯ

 

     มากกว่านั้น สองเพลงล่าสุดที่เขาแต่งล้วนได้วัตถุดิบมาจากเฟซบุ๊ก

     “โห มันโลกจำลองชัดๆ เลย พี่รู้ชีวิตของ นางสาว ก. นาย ข. หรือกระทั่งมิสเตอร์ x

     “ข้อมูลบานเลย”

     โลกออนไลน์เปิดประตูโอกาสหลายบานในชีวิตนักดนตรี งานโชว์มีเข้ามาไม่ขาด ป้างกลายเป็นนักดนตรีของยุคสมัย เป็น ‘พี่ป้าง’ ของเด็กอัลเทอร์ฯ พ.ศ. 2537 ถึงฮิปสเตอร์ พ.ศ. 2560

     รายได้จากโชว์ยังคงเป็นรายได้หลัก แผ่นผีซีดีเถื่อนกลายเป็นสิ่งหายาก เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงเพลงถูกลิขสิทธิ์ได้ในราคาที่ถูกมากจนอาจเรียกได้ว่า ‘ฟรี’ หรือเกือบฟรี

 

SPOTIFY

 

     ยูทูบและแอปฯ สตรีมมิงมิวสิกกลายเป็นช่องทางโปรโมต หวังให้เพลงดังเพื่อต่อยอดขายโชว์

     แต่ในฐานะคนฟังก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อเพลงขายอย่างถูกลิขสิทธิ์ผ่านสตรีมมิงมิวสิก รายได้จากการขายเพลงเพิ่มขึ้นไหม? ผมถามนักร้องเพลงร็อกวัย 50 กะรัต

     ป้างส่ายหัว “มันเป็นรายได้ซึ่งเล็กน้อยมากครับ น้อยมาก”

     น้อยแค่ไหน?

     “น้อยจนไม่เอามาคิดน่ะ” ป้างหัวเราะ

     แต่ผมคิดว่าเขาไม่ขำ

 

พ.ศ. 2537-2560, 23 ปีในวงการดนตรี ทำไมป้างยังไม่หมดอายุ?

     ต้องยอมรับว่าป้างไม่ใช่ศิลปินที่ดังจนทุกคนต้องรู้จัก แม้จะออกอัลบั้มอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มียอดขายถล่มทลาย

     กว่า 23 ปีในฐานะนักดนตรี ป้างผ่านความผันผวนและถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีมาหลายครั้ง

     แต่ป้างก็ไม่เคยหายไปไหน และยังคงผลิตพลังทางดนตรีที่สั่นสะเทือนหัวใจวัยรุ่นทุกยุค

     ทำไมป้างถึงรอดจากวิกฤตอุตสาหกรรมเพลง

     ทำไมเพลงของศิลปินรุ่นใหญ่อย่างป้างถึงครองใจคนรุ่นใหม่

     อะไรทำให้เขา ‘ยืนระยะ’ มาได้ 23 ปี?

 

     ป้างบอกว่า สิ่งที่ทำให้เขาผ่านวิกฤตและยืนระยะได้เป็นเพราะ…

     ข้อหนึ่ง “พี่เป็นคนเก็บเงิน”

     ป้างบอกเขาเป็นลูกครึ่งไทย-จีน พ่อไทย แม่จีน เขาได้นิสัยเก็บเงินมาจากแม่

     “แม่จะสอนอยู่เสมอว่า ‘ต้องขยันทำงาน และรู้จักคุณค่าของเงิน’

     “พี่เลยคิดของพี่เล่นๆ ว่า ถ้าหาเงินได้ 10 บาท จะเก็บ 7 บาท อีก 3 บาทเอาไปใช้ ใช้ทำอะไรก็ได้

     “พี่จะเก็บไว้ 7 บาทเสมอ”

     ‘ได้ 10 เก็บ 7 ใช้ 3’ ป้างบอกว่าเขาใช้สมการนี้มาตั้งแต่ออกอัลบั้ม ไข้ป้าง

     พอถึงยุควิกฤตซีดี-คาสเซตต์ สัดส่วนรายได้ขายเพลง/ทัวร์-โชว์เล่นคอนเสิร์ตที่เคยเป็น 50/50 ก็ ‘หายไปครึ่งหนึ่ง’ เหลือแต่รายได้จากทัวร์

     “แต่ไม่ได้เดือดร้อน เพราะมีเงินเก็บ”

“ให้พี่ไปเป็นซูเปอร์สตาร์ ทำไม่เป็น”

     ข้อสอง “พี่เป็นคนเก็บเงิน”

     “การที่เรามีเงินเก็บ มันช่วยทำให้ชีวิตเราคลายความกังวลไปได้ พอสมองเราไม่กังวลกับเรื่องพวกนี้ สมองเราจะเอาไปทำงานได้เยอะ

     “คนเป็นหนี้ พี่เชื่อว่าสมองกว่าครึ่งจะคิดเรื่องหนี้ อีกครึ่งจะเอาไปทำงาน ถ้าคุณไม่มีเรื่องเหล่านี้ คุณจะใช้สมองทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์”

 

     ข้อสาม “พี่เป็นคนเก็บเงิน”

     “ยิ่งอาชีพอย่างพี่ที่ไม่ได้มีเงินเดือนแน่นอน คุณต้องเก็บ มันไม่มีใครรับประกันหรอกว่าคุณจะเป็นพลุที่ส่องแสงถึงวินาทีที่เท่าไรถึงจะดับ…

     “ตอนที่คุณยังหารายได้ได้ คุณก็ต้องเก็บเงิน แค่นั้นเอง เพื่อรอรับเหตุการณ์ที่คุณไม่รับรู้ การเจ็บป่วยแรงๆ ของร่างกาย มันไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร มันใช้เงินก้อนเยอะทั้งนั้นแหละ ดังนั้นต้องมีเงินเก็บ”

     คนเก็บเงินอย่างคุณใช้เงินกับเรื่องอะไร?

     ป้างนิ่งคิดนานหาคำตอบ “ไม่ค่อยได้ใช้อะไรเลย ส่วนใหญ่ลูกเมียใช้”

 

 

     ข้อสี่ “ทำสิ่งที่เรารัก” (ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น)

     หลัง พ.ศ. 2550 ป้างเจอวิกฤตอย่างจังหลังยอดขายซีดีหดหาย เพื่อนนักแต่งเพลงล้มตายทางวิชาชีพจนเขาต้องหาทางหนีไฟด้วยการเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว

     “ไม่ว่าจะมีวิกฤตอะไรก็แล้วแต่ พี่ก็ยังออกซิงเกิลอยู่เรื่อยๆ ออกไปแบบ…เงินจะได้ไม่ได้ไม่รู้ บางเพลงคนรู้จัก บางเพลงคนก็ไม่รู้จัก อะไรก็ว่ากันไป

     “แต่รู้ว่านี่คือสิ่งที่เรายังรักอยู่”

     สำหรับป้างแล้ว การทำสิ่งที่รักคือสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาบอกลูกเสมอ

     “ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่เรารักมันจริงๆ แล้วเราจะมีความสุข”

 

 

     ข้อห้า “พี่เป็นคนซื่อสัตย์ต่องานที่ทำมาก”

     แม้จะดูเป็นคนง่ายๆ ไม่มีฟอร์ม แต่กับเรื่องงาน ป้างมีความยอมหักไม่ยอมงอ และไม่ทรยศงานตัวเอง

     “เวลาพี่จะทำเพลงออกมาสักเพลงหนึ่ง กูต้องชอบมาก (ลากเสียงยาว) ถึงจะยอมให้ออก ไม่มีใครมาสั่งให้พี่ทำอะไรได้ถ้าพี่ไม่ชอบ พี่ไม่ยอมให้ใครมาสั่งแน่

     “พี่ว่าความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเองมันทำให้ความรู้สึกในเพลงส่งไปถึงคนฟัง ผลตอบรับมันบอกพี่ ทำไมคนฮือฮา ก็เพราะเราทำการบ้านหนักมากจนเราชอบมาก

     “ใครจะมาบอกว่า คนมีเสน่ห์ เพลงง่ายๆ พี่ป้างโดนสั่งให้ทำหรือเปล่า ไม่มีทาง นี่คือสิ่งที่พี่อยากทำจริงๆ”

     เคยได้ยินว่าคอนเสิร์ตนี่จะจัดหรือไม่จัด ขึ้นอยู่กับความรู้สึกส่วนตัว ไม่ได้มองว่าอยากได้เงินแล้วถึงจะจัด?

     “ครับ” ป้างยืนยัน “คือเราไม่ได้ขายสบู่ เราขายอารมณ์ความรู้สึก มันจะมีคุณค่าต่อแฟนเพลงได้ต่อเมื่อมันจริงจังออกมาจากพี่ พี่คิดอย่างนั้น

     “แต่ถ้าขายสบู่คงไม่เป็นไร”

“ทำสิ่งที่เรารักต่อไปเท่าที่เราทำได้ ถ้ามันจะเป็นอะไรก็ให้มันเป็นไป”

     พีอาร์สาวเดินเปิดประตูเข้ามาทักทาย “คุยกันสนุกไหมคะ” เพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าคิวสัมภาษณ์ของผมใกล้จะหมดเวลาแล้ว

     ผมกวาดสายตาไปที่คำถามสุดท้าย

     วันนี้ทุกอาชีพและธุรกิจกำลังถูก disrupt ถามจริงๆ คุณกลัวไหม?

     “ก็มีความกังวลอยู่บ้าง แต่อย่าลืม สิ่งที่…” ป้างนิ่งคิดสักพักใหญ่ ก่อนตอบสั้นๆ ว่า “คือคนเราต้องมีเงินเก็บนะ” ก่อนปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะลั่น

 

 

อ้างอิง:

FYI

DID YOU KNOW?

  • เอกลักษณ์เสียงร้องเหมือนคนร้องไห้ มีที่มาจากตอนทำเดโมอัลบั้ม ไข้ป้าง ระหว่างที่อยู่ในห้องอัดและกำลังคิดว่า “เราจะร้องยังไงดีวะ แล้วลองปล่อยตัวเองไป มันมีเสียงอย่างนี้ออกมาในอารมณ์ตอนนั้น เฮ้ย! พี่ชอบ ก็เลยร้องแบบนั้น”
  • ป้างอยากเป็นนักร้องไม่ใช่เพราะอยากดัง แต่อยากมีอัลบั้มเป็นของตัวเอง “อยากเป็นนักร้องหรืออะไรก็ได้เกี่ยวกับดนตรี แต่ต้องทำผลงานตัวเอง”
  • “พี่เป็นชาวบ้านที่ชอบร้องเพลง ชอบแต่งเพลง” ป้างมักพูดประโยคนี้เสมอ และปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่ร็อกสตาร์หรือซูเปอร์สตาร์ “ให้พี่ไปเป็นซูเปอร์สตาร์ ทำไม่เป็น”
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X