สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ร่วมกับองค์กรสื่ออย่าง The Guardian, BBC Panorama, Le Monde และ The Washington Post เผยแพร่ผลการตรวจสอบข้อมูลเอกสาร Pandora Papers ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกสารลับทางการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่รั่วไหลออกมาตั้งแต่ปี 2016
ข้อมูลที่ถูกเปิดโปงออกมาพบว่า มีทั้งกษัตริย์และบรรดาผู้นำโลกกว่า 30 คน พร้อมด้วยมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์มากกว่า 100 คน ที่ทำข้อตกลงหรือใช้บริษัทนอกอาณาเขตในดินแดนปลอดภาษี (Tax Haven) ต่างๆ เช่น ปานามา, ดูไบ, โมนาโก, สวิตเซอร์แลนด์ และหมู่เกาะเคย์แมน เพื่อซุกซ่อนและใช้จ่ายทรัพย์สินอย่างลับๆ
ใครถูกเปิดโปงบ้าง
- ICIJ เผยว่ามีนักข่าวกว่า 600 คน จากองค์กรสื่อต่างๆ เข้าร่วมตรวจสอบเอกสาร Pandora Papers จำนวนกว่า 11.9 ล้านไฟล์ ขนาด 2.94 เทราไบต์ ซึ่งบันทึกข้อมูลลูกค้าจาก 14 บริษัทให้บริการทางการเงินในหลายประเทศ เช่น ปานามา, เบลีซ, ไซปรัส, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สิงคโปร์, สวิตเซอร์แลนด์ และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
- จากการตรวจสอบพบว่า มีรายชื่อผู้นำโลก 35 คน รวมทั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนกษัตริย์ และเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่นายกเทศมนตรี ผู้พิพากษา และนายพลในกองทัพมากกว่า 90 ประเทศ รวมกว่า 300 คนที่ปรากฏอยู่ในเอกสารข้อตกลงของบริษัทนอกอาณาเขต (Offshore Company)
- หนึ่งในรายชื่อที่ถูกเปิดเผย คือสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 กษัตริย์แห่งจอร์แดน ซึ่ง ICIJ ระบุว่าพระองค์ซ่อนทรัพย์สินไว้กับหลายบริษัทนอกอาณาเขตที่จดทะเบียนในดินแดนปลอดภาษี และใช้เงินกว่า 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านบริษัทเหล่านี้ เพื่อซื้อคฤหาสน์หรู 14 หลังทั้งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
- ทีมทนายของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 ชี้แจงว่า การซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดนั้นใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์และเป็นเรื่องปกติที่บุคคลระดับสูงจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ผ่านบริษัทนอกอาณาเขต ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
- นอกจากนี้ยังมีนายกรัฐมนตรี อันเดรจ บาบิส แห่งสาธารณรัฐเชก ที่เตรียมเลือกตั้งในปลายสัปดาห์นี้ ถูกกล่าวหาว่าใช้บริษัทนอกอาณาเขตซื้อคฤหาสน์มูลค่ากว่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐในหมู่บ้านบนยอดเขาทางใต้ของฝรั่งเศส
- ประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตา แห่งเคนยา ผู้ประกาศแคมเปญต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศ และสมาชิกครอบครัว 6 คน แอบจัดตั้งเครือข่ายบริษัทนอกอาณาเขตอย่างลับๆ โดยพบความเชื่อมโยงกับ 11 บริษัท ซึ่งหนึ่งในนั้นมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยภริยา ถูกเปิดเผยว่า สามารถประหยัดภาษีไปได้กว่า 312,000 ปอนด์ (ประมาณ 14.2ล้านบาท) จากการซื้ออาคารสำนักงานในลอนดอนมูลค่า 6.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 297 ล้านบาท) ผ่านบริษัทนอกอาณาเขตในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน แต่ไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมายและไม่พบการหลบเลี่ยงภาษี
- The Washington Post เผยการตรวจสอบกรณีของ สเวตลานา ครีโวโนกีฮ์ (Svetlana Krivonogikh) หญิงชาวรัสเซียที่ซื้ออพาร์ตเมนต์หรูในโมนาโก ผ่านบริษัทนอกอาณาเขตซึ่งจดทะเบียนในเกาะทอร์โทลา ของหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน โดยเธอกลายเป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2003 เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากให้กำเนิดบุตรสาว ซึ่งในขณะนั้นมีรายงานว่าเธอกำลังมีสัมพันธ์ลับๆ กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
- บรรดามหาเศรษฐีพันล้านมากกว่า 100 คน ซึ่งรวมทั้งเหล่าเซเลบริตี้ ศิลปินนักร้องและผู้นำทางธุรกิจที่ปรากฏรายชื่อใน Pandora Papers ใช้บริษัทนอกอาณาเขตเพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ เรือยอตช์ ของใช้ที่หรูหรา และงานศิลปะจำนวนมาก ตั้งแต่โบราณวัตถุของกัมพูชาที่ถูกปล้นมา ไปจนถึงภาพวาดของปีกัสโซและภาพจิตรกรรมฝาผนังของ Banksy นอกจากนี้ยังครอบครองบัญชีธนาคารที่ไม่เปิดเผยตัวตนในดินแดนปลอดภาษีหลายแห่ง
- บุคคลมีชื่อเสียงที่พบรายชื่อในเอกสาร มีทั้ง ชากีรา นักร้องหญิงชื่อดังชาวโคลอมเบีย คลอเดีย ชิฟเฟอร์ นางแบบชาวเยอรมนี และ ซาชิน เทนดูลการ์ นักคริกเก็ตระดับตำนานของอินเดีย ซึ่งตัวแทนของทั้ง 3 คน ชี้แจงต่อ ICIJ ว่าได้ลงทุนในบริษัทนอกอาณาเขตอย่างถูกต้องตามกฎหมายและปฏิเสธข้อกล่าวหาในการหลบเลี่ยงภาษี
การฟอกเงินผ่านอสังหาริมทรัพย์ใน UK
- เอกสาร Pandora Papers เผยให้เห็นด้านมืดของโลกการเงิน ซึ่งบรรดาบุคคลร่ำรวยระดับโลกสามารถใช้บริษัทนอกอาณาเขตในประเทศต่างๆ เพื่อซ่อนทรัพย์สิน และในบางกรณีก็ช่วยให้จ่ายภาษีเพียงเล็กน้อยหรือไม่ต้องจ่ายภาษีเลย
- ข้อมูลใน Pandora Papers มีเอกสาร 6.4 ล้านไฟล์ รูปภาพ 2.9 ล้านไฟล์ อีเมล 1.2 ล้านไฟล์ ตลอดจนบันทึกข้อความ บันทึกการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เอกสารถือหุ้น รายงานการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงาน ไปจนถึงไดอะแกรมของโครงสร้างองค์กรที่มีความซับซ้อน ซึ่งเอกสารหลายฉบับยังเผยให้เห็นตัวตนของเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตเป็นครั้งแรกด้วย
- หลายบุคคลที่ปรากฏชื่อในเอกสารถูกกล่าวหาว่ามีส่วนกับการคอร์รัปชัน ฟอกเงิน และหลบเลี่ยงภาษี โดยข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกเปิดเผยออกมา คือวิธีการที่บุคคลร่ำรวยและมีชื่อเสียงสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักรได้อย่างถูกกฎหมาย ผ่านการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต โดยพบว่ามีเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตกว่า 95,000 บริษัทที่อยู่เบื้องหลังการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักร
- เอกสาร Pandora Papers สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ในการกำกับดูแลและจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางความกังวลว่า การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักรอาจถูกใช้เป็นช่องทางการฟอกเงิน
- หนึ่งในตัวอย่างที่พบคือ ประธานาธิบดีอิลฮาม อาลีเยฟ แห่งอาร์เซอร์ไบจาน และครอบครัวของเขา ที่ถูกกล่าวหาว่าขโมยทรัพย์สินจากประเทศของตัวเอง โดยแอบทำข้อตกลงซื้ออสังหาริมทร้พย์ในสหราชอาณาจักรที่มีมูลค่ามากกว่า 400 ล้านปอนด์ (ประมาณ 18,200 ล้านบาท)
ข้อมูลที่หลุดออกมาสำคัญแค่ไหน?
- นอกจาก Pandora Papers ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ICIJ ยังได้เผยแพร่และตรวจสอบเอกสารการเงินระดับโลกที่รั่วไหลออกมา อาทิ
-
- Offshore Leaks ในปี 2013
- LuxLeaks (Luxembourg Leaks) ในปี 2014
- Panama Papers ในปี 2016
- Paradise Papers ในปี 2017
- FinCen ในปี 2020
- โดยหนึ่งในเอกสารชุดสำคัญที่สุดที่รั่วไหลออกมาและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ Panama Papers ที่มีข้อมูลกว่า 11.5 ล้านไฟล์ เปิดโปงการหลบเลี่ยงภาษีและซุกซ่อนทรัพย์สินในบริษัทนอกอาณาเขตของบรรดาผู้นำทั้งในอดีตและปัจจุบันกว่า 70 คน ตลอดจนมหาเศรษฐี นักธุรกิจ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 140 คน ใน 50 ประเทศทั่วโลก
- ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนอกอาณาเขตที่ถูกเปิดโปงและตรวจสอบเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวงการการเงินทั่วโลก โดยหลายประเทศยังคงมีการสืบสวนและขยายผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ภาพ: Photo By icij.org / investigations/pandora-papers
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/world-58780465
- https://www.aljazeera.com/news/2021/10/3/investigation-reveals-offshore-assets-of-heads-of-state
- https://www.reuters.com/world/pandora-papers-document-dump-allegedly-links-world-leaders-secret-wealth-2021-10-03/
- https://www.channelnewsasia.com/world/pandora-papers-massive-data-leak-exposes-world-leaders-offshore-millions-2219016
- https://www.icij.org/investigations/pandora-papers/