แม้เศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น แต่ไม่กระทบกับแบรนด์พรีเมียมที่เน้นโฟกัสลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ‘ธนจิรา’ ตัวแทนจำหน่ายผู้ปลุกปั้นแบรนด์ Pandora และ Marimekko มากว่า 13 ปี เดินหน้ายกระดับภาพลักษณ์ หาสิ่งที่แตกต่างให้กับแบรนด์ พร้อม IPO ภายในไตรมาส 4 ปี 2566
“ตลาดแบรนด์ระดับพรีเมียมมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องของราคา ดังนั้นเราจะต้องชูเรื่องจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ สื่อสารถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพราะหากลูกค้าชื่นชอบแบรนด์ก็จะตัดสินใจซื้อโดยที่ไม่สนใจเรื่องราคา และแบรนด์ที่ได้รับการตอบรับดีคือ Marimekko ยอดขายกลุ่มสินค้าของใช้และของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้นสูงถึง 30%” ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ TAN กล่าว
ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับระดับพรีเมียมแบรนด์ Pandora ตามด้วยแบรนด์ Marimekko รวมถึงแบรนด์ Cath Kidston และ HARNN โดยสัดส่วนรายได้ 50% มาจากแบรนด์ Pandora และ Marimekko 17% นอกนั้นเป็นแบรนด์ Cath Kidston และ HARNN ที่ยังมีสัดส่วนที่น้อย แต่อนาคตคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวถึงทิศทางธุรกิจต่อจากนี้ว่า บริษัทเตรียมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 77.5 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25.8% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้ว เพื่อนำเงินทุนที่ได้ไปชำระเงินกู้และขยายธุรกิจทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อนุมัติ คาดว่าจะสามารถเริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งได้เร็วๆ นี้ และน่าจะเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566
ตามแผนหลังจาก IPO บริษัทจะนำแบรนด์ที่ได้สิทธิ์ให้ไปขยายในต่างประเทศ ทั้งแบรนด์ Marimekko และ Cath Kidston จะขยายในสิงคโปร์และเวียดนาม ส่วนแบรนด์ HARNN จะขยายสาขาในญี่ปุ่นและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ๆ
ทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้กลยุทธ์การนำเสนอไลฟ์สไตล์แฟชั่นที่โดดเด่น หากเจาะลึกลงไปที่แบรนด์ Marimekko ได้นำแฟชั่นผ่านลายพิมพ์ผ้าลายดอกไม้ สร้างเอกลักษณ์ผ่านคอลเล็กชันใหม่ๆ
พร้อมต่อยอดมาเปิดร้าน Marimekko Cafe ในรูปแบบป๊อปอัพสโตร์ ปัจจุบันมี 1 สาขา ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากนี้เตรียมขยายเพิ่มอีก 1 สาขา เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มคนไทยและต่างชาติ
รวมถึง Pandora ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของแบรนด์เครื่องประดับจากประเทศเดนมาร์ก โดยการทำตลาดในช่วงแรกจะเน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้หญิงไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Pandora ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก
ส่วนแบรนด์ HARNN บริษัทเป็นเจ้าของเอง หลังจากปี 2018 ได้เข้าซื้อกิจการแบรนด์เครื่องหอมเข้ามาเสริมพอร์ตสินค้า จากนั้นมีการปรับภาพลักษณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนกลุ่มลูกค้าคนไทยยังไม่ได้รับการตอบรับมากนัก ทำให้เราต้องเร่งปรับไลน์โปรดักต์และช่องทางการให้บริการ อาทิ สปา เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้สินค้าจริง
ในปี 2567 ยังเตรียมนำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายเพิ่ม เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 แบรนด์ อยู่ในหมวดสินค้าแฟชั่นจากต่างประเทศ ซึ่งจะเลือกจาก Identity ที่ตรงกับบริษัทและสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีสาขาหน้าร้านและสาขาแฟรนไชส์แบ่งเป็น ในประเทศไทย 23 สาขา และต่างประเทศ 9 สาขา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น, ฮ่องกง, เวียดนาม และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
“ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ภาพรวมยอดขายสิ้นปี 2566 เติบโตขึ้นจากปีก่อนที่มียอดขาย 191.47 ล้านบาท หรือเติบโต 88.27% แน่นอน โดยคาดว่าแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว จะทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกภายในประเทศฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนจิรา กล่าว