Panasonic Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ ประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ รวมถึงการลดพนักงานทั่วโลกถึง 10,000 ตำแหน่ง หรือราว 4% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อหวังพลิกฟื้นสถานการณ์จากส่วนแบ่งการตลาดที่ลดน้อยถอยลง และรับมือการแข่งขันอันดุเดือดจากคู่แข่งสัญชาติจีน โดยการตัดสินใจครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรอย่างเร่งด่วน
การปรับลดพนักงานครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อพนักงาน 5,000 คนในญี่ปุ่น และอีก 5,000 คนในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะมีผลในช่วงปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2026 บริษัทคาดการณ์ว่าจะต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายจากการปรับโครงสร้างนี้เป็นจำนวนเงิน 1.3 แสนล้านเยน เพื่อรวมฝ่ายขายและฝ่ายสนับสนุนเข้าด้วยกัน รวมถึงยุติธุรกิจที่ขาดทุน แม้จะยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าจะลดขนาดธุรกิจใดบ้าง
Yuki Kusumi ประธานบริษัท ได้กล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์อย่างตรงไปตรงมาว่า “เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่ได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างไปแล้ว เรายังมีค่าใช้จ่ายด้านการขายและการบริหารสูงกว่ามาก” เขาย้ำว่า “เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนประจำของบริษัทอย่างเร่งด่วนและรอบด้าน” เพื่อให้บริษัทกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ประสบปัญหาอัตรากำไรต่ำมานานหลายปี โดยมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อปีอยู่ระหว่าง 3.4% ถึง 5.0% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งในประเทศอย่าง Sony Group และ Hitachi อย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นหน้าเป็นตา เช่น ตู้เย็นและไมโครเวฟ กำลังดิ้นรนเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการทะลักเข้ามาของสินค้าคุณภาพสูงจากคู่แข่งจีนอย่าง Haier Group และ Midea Group
ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการลดพนักงานครั้งนี้ ตามมาด้วยฝ่ายสนับสนุนต่างๆ นอกจากนี้ Panasonic ยังเผชิญความท้าทายอื่นๆ เช่น โอกาสที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีต่อห่วงโซ่อุปทานในอเมริกาเหนือ และตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ยังคงซบเซา ซึ่ง Panasonic เป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ EV รายใหญ่ให้กับ Tesla
ธุรกิจโทรทัศน์เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Kusumi เคยกล่าวไว้ในการแถลงข่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า บริษัท “เตรียมพร้อมที่จะขาย (ธุรกิจนี้) หากจำเป็น”
แม้จะยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ โดยเขายอมรับว่าธุรกิจทีวีนั้นมี ‘ความท้าทายเชิงโครงสร้างทั่วโลก’ และกำลังพิจารณา ‘ทางเลือกที่หลากหลาย’ เช่น การเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก ปัจจุบัน Panasonic ได้จ้างผู้ผลิตในเอเชียผลิตทีวีบางส่วนแล้ว
Panasonic ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะพลิกโฉมกลุ่มบริษัทให้มีผลกำไรสูง ในขณะที่ Hitachi และ Sony หันไปเน้นด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และความบันเทิง ทิศทางธุรกิจของ Panasonic กลับยังไม่ชัดเจนนัก Kusumi ซึ่งเข้ารับตำแหน่ง CEO ในปี 2021 ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสีเขียว เช่น แบตเตอรี่ EV และปั๊มความร้อน เพื่อเป็นหัวหอกในการเติบโตยุคใหม่
สำหรับปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2025 Panasonic รายงานยอดขายสุทธิ 8.5 ล้านล้านเยนซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แต่กำไรสุทธิกลับลดลง 17.5% เหลือ 3.66 แสนล้านเยน และยังคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิสำหรับปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2026 จะลดลงอีก 15.3% เหลือ 3.1 แสนล้านเยน
สถานการณ์นี้สะท้อนผ่านราคาหุ้นของ Panasonic ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3% เมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว สวนทางกับดัชนี Nikkei Stock Average ที่เพิ่มขึ้นถึง 85% และคู่แข่งอย่าง Hitachi และ Sony ที่เติบโตถึง 379% และ 414% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม Kusumi ให้คำมั่นว่าจะ ‘พลิกฟื้น’ กลุ่มบริษัทให้มีโครงสร้างที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นผ่านการปฏิรูปและลดต้นทุน โดยตั้งเป้าที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มบริษัทมากกว่า 3 แสนล้านเยน ภายในเดือนมีนาคม 2029 และตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วให้สูงกว่า 10% ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบัน
ภาพ: withGod / Shutterstock
อ้างอิง: