×

พานาโซนิคยันไม่ย้ายฐานผลิต-ไม่ลงทุนเพิ่ม เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ตั้งเป้า 1 แสนล้านบาทในปี 2563

10.08.2018
  • LOADING...

ฮิเดคาสึ อิโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าปี 2561 นี้เป็นการครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งแบรนด์พานาโซนิคซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นปีที่ 57 สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยชูแนวคิด ‘A Better Life, A Better World’ ซึ่งจะเน้นกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 ด้านคือ สินค้าเพื่อการอยู่อาศัย (Living Space), สินค้าเพื่อการสัญจร (Mobility) และกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร (B2B) โดยตั้งเป้าสร้างยอดขายเติบโตแตะ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2563 นี้

 

 

สำหรับผลประกอบการของกลุ่มพานาโซนิคในปีที่ผ่านมา พบว่าปีบัญชี 2560 มีรายได้ทั่วโลก 2.5 ล้านล้านบาท เติบโต 9% ขณะที่รายได้เฉพาะประเทศไทยอยู่ที่ 9.1 หมื่นล้านบาท แทบจะไม่เติบโตจากปีก่อนหน้า โดยโตเพียง 1% เท่านั้น หากพิจารณาสัดส่วนรายได้จะพบว่าตลาดของประเทศไทยคิดเป็น 3.64% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มพานาโซนิค

 

ฮิเดคาสึชี้แจงว่า เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวไทยพอสมควร ทั้งสถานการณ์ช่วงไว้อาลัยของคนไทยและปัจจัยด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้การบริโภคไม่เติบโตนัก โดยสินค้าโทรทัศน์ที่เป็นสินค้าหลักกลับมีราคาขายปรับลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศมีรายได้ไม่เป็นไปตามคาด เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยเข้าหน้าฝนเร็วกว่าปกติ ทำให้ความต้องการเครื่องปรับอากาศที่เป็นความหวังสำคัญช่วงฤดูร้อนตกลง

 

 

หากเปรียบเทียบการเติบโตของธุรกิจพานาโซนิคในไทยกับรายได้จากตลาดโลก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องมือยังเป็นสัดส่วนรายได้ใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็น 34% ของตลาดโลก ขณะที่ในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนรายได้สูงถึง 59% ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญในภูมิภาคนี้

 

รองลงมาคือกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยพานาโซนิคมีรายได้จากสินค้ากลุ่มนี้ 32% ของทั้งตลาดโลก ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนรายได้ในประเทศไทยที่คิดเป็น 30% ถือเป็นอีกกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีฐานลูกค้าอยู่พอสมควร ขณะที่รายได้จากกลุ่มสินค้าเพื่อการอยู่อาศัย เช่น หลอดไฟ ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น มีรายได้เป็น 20% จากทั้งตลาดโลก และคิดเป็นสัดส่วน 9% สำหรับตลาดประเทศไทย

 

สิ่งที่ท้าทายและยังเป็นโจทย์ยากสำหรับพานาโซนิคคือการรุกตลาดในกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) ซึ่งเป็นโซลูชันด้านการเชื่อมต่อระบบ การบำรุงรักษาระบบ ซึ่งเกี่ยวข้องเกือบทุกอุตสาหกรรมสำคัญ มีรายได้ส่วนนี้จากทั้งตลาดโลก 14% และสำหรับประเทศไทย พานาโซนิคยังเจาะตลาดนี้ได้น้อย คิดเป็นสัดส่วนรายได้แค่ 2% เท่านั้น

 

ฮิเดคาสึยกตัวอย่างว่าตลาดคอมพิวเตอร์พกพาหรือแล็ปท็อปสำหรับองค์กรของไทยเมื่อเทียบกับอเมริกาและยุโรปถือว่าต่างกันพอสมควร ในต่างประเทศจะเน้นเครื่องที่ทนทาน วัสดุแข็งแรง แต่กลับไม่เป็นที่นิยมในไทย เนื่องจากต้องการเครื่องที่น้ำหนักเบา สะดวกในการพกพามากกว่า หรือกรณีของกล้องที่ใช้ในการถ่ายทำชิ้นงานขนาดใหญ่ ความต้องการของสินค้ากลุ่มนี้ก็ลดลง เนื่องจากเกิดสินค้าทดแทนขึ้นเป็นกล้องขนาดเล็กและราคาที่ถูกกว่า ทำตลาดได้ดีกว่า ซึ่งนี่ยังเป็นโจทย์ที่พานาโซนิคต้องทำเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดลูกค้าองค์กรเพื่ออุดรูโหว่ที่มีอยู่

 

สำหรับการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Perception) พานาโซนิคในประเทศไทยยังถือว่าทำได้ดี ในปี 2561 นี้ขยับมาเท่ากับระดับในเอเชียคืออันดับที่ 3 จากเดิมเป็นอันดับที่ 6 ในปี 2560 ผู้บริหารของพานาโซนิคย้ำว่าจะไม่แข่งขันด้านราคา แต่จะเน้นการสร้างสินค้าระดับพรีเมียมขึ้นมาแทน โดยจะเน้นเรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น พร้อมประกาศเป้าหมายรายได้ในไทยปีนี้ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 4.4% ขณะนี้ยังไม่มีแผนลงทุนเพิ่มและไม่มีโครงการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นแต่อย่างใด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X