เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงจุดหนึ่งที่จำเป็นต้องยอมรับว่าจุดสิ้นสุดกำลังใกล้เข้ามาแล้ว เพราะความตายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นสัจธรรมที่ย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งบุคคลอันเป็นที่รัก หรือแม้กระทั่งตัวของเราเอง แม้หลายๆ คนอาจไม่อยากจะนึกถึงเรื่องความตาย แต่จะเป็นการดีกว่าไหม หากเรารู้จักที่จะโอบกอดส่วนหนึ่งของชีวิต และเรียนรู้วิธีการเตรียมการเดินทางครั้งสุดท้ายที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้ช่วงเวลาในวาระสุดท้ายนั้นยังคงคุณภาพชีวิตและเปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ องค์ความรู้ในเรื่องเช่นนี้เองที่เรียกกันว่า ‘Palliative Care’ หรือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง
Palliative Care คืออะไร
แม้องค์การอนามัยโลกจะได้ให้คำจำกัดความของ Palliative Care เอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ว่าเป็น ‘วิธีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษาไม่หาย โดยให้การป้องกันและบรรเทาอาการ ตลอดจนความทุกข์ทรมานด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการดูแลแบบองค์รวม ครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ ทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย การดูแลมีเป้าหมายหลักเพื่อลดความทรมานของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว และทำให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบหรือตายดี’ แต่ก็ดูเหมือนจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้สักเท่าไร นั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่า เป็นธรรมดาของคนเราที่ไม่อยากจะนึกหรือพูดถึงเรื่องร้ายๆ ทำให้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตของใครหลายคนไม่ได้รับการเตรียมพร้อมจนเกิดความทุกข์ทรมานกว่าที่ควรจะเป็นไปอย่างน่าเสียดาย
หลักการของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง
- ให้การดูแลแบบองค์รวม ทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ
- เมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวป่วยหนัก จึงเป็นธรรมดาที่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวย่อมจะได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยของผู้ป่วยตามไปด้วย Palliative Care จึงเน้นให้การดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัว
- แก่นสำคัญของ Palliative care คือต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิมนุษยชนบนฐานสิทธิสุขภาพ (human right to health) จึงให้ความเคารพสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวในการทราบข้อมูลการเจ็บป่วย ให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อแนวทางและเป้าหมายของการดูแล
- ให้ความเคารพในค่านิยม ความเชื่อของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปตามศาสนาและความเชื่อส่วนบุคคล ด้วยความเชื่อและหลักการดูแลอาการป่วย ตลอดจนเรื่องการจัดการการตายหลังเสียชีวิต
- การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองไม่ใช่การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์เพียงเพื่อยื้อความทรมาน โดยไม่เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เป็นการเร่งหรือช่วยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้นกว่าอาการของโรคตามธรรมชาติ
- เป้าหมายของ Palliative Care คือการให้ผู้ป่วยและญาติสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถจากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- ดูแลโดยทีมสหวิชาชีพ มีการประสานงานระหว่างบุคลากรสาธารณสุขหลายสาขา เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวให้มากที่สุด
แม้การแพทย์ก้าวหน้าก็ทำได้เพียงแค่ยื้อ ถ้าวันนี้ ‘ต้องเลือก’ คุณจะ ‘เลือก’ แบบไหน?
คนไทยในยุคสมัยก่อนนั้นส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตกันที่บ้าน จึงทำให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว ซึ่งสมัยก่อนเป็นครอบครัวขยาย ได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสว่าความตายนั้นเป็นเรื่องปกติของชีวิต ในขณะที่ปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนไป รูปแบบครอบครัวในสังคมไทยกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมถึงความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ เมื่อเจ็บป่วยก็เป็นธรรมดาที่ต้องส่งตัวไปรักษา เป็นเหตุให้ความตายนั้นมักจะเกิดขึ้นในโรงพยาบาล คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยได้สัมผัสกับประสบการณ์การเสียชีวิตของคนใกล้ตัวอย่างใกล้ชิดเท่าในสมัยก่อน
แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้จะเจริญก้าวหน้า สามารถช่วยรักษาได้หลายโรค และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้นานมากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ป่วยหนักที่แม้ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถช่วยยื้อความตายออกไปได้ ในทางตรงกันข้าม การยื้อชีวิตผู้ป่วยโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์นั้น บางครั้งก็ไม่เพียงแต่ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากกลับเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เพราะรู้หรือไม่ว่า บางครั้งความหวังดีของญาติหรือบุคคลอันเป็นที่รักพยายามยื้อชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้ให้นานที่สุด ด้วยเครื่องมือกู้ชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจ การใส่สายอาหาร หรือผลข้างเคียงจากการรักษาต่างๆ โดยหวังเพียงว่าจะเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นนั้น กลับกลายเป็นความพยายามยื้อความตายที่เปล่าประโยชน์ ซึ่งนั่นกลับเป็นการทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานยิ่งไปกว่าเดิม
Home: ความสุข ความรัก ความทรงจำ
ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ภาพยนตร์ที่แสดงถึงภาวะนี้ได้เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่แสดงถึงภาวะนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ Home: ความสุข ความรัก ความทรงจำ ของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่ฉายลงโรงภาพยนตร์เมื่อหลายปีที่แล้ว เป็นซีนในโรงพยาบาล ซึ่งพ่อ (ลุงจรัส) กำลังอาการทรุดหนักและกำลังจะเสียชีวิต แต่ก็มีเครื่องช่วยหายใจที่กำลังยื้อชีวิตอยู่ ทุกครั้งที่ ป้าจันลา คู่ชีวิตผู้เป็นภรรยาเข้ามาในห้อง สัญญาณชีพของลุงก็จะเต้นแรงขึ้น ราวกับว่าลุงกำลังพยายามต่อสู้ยื้อกับความตายเพราะเป็นห่วงป้า ลูกหลานต่างก็กำลังถกเถียงกันว่าจะทำอย่างไรดี จะพาพ่อกลับบ้านเหมือนอย่างที่พ่อเคยบอกว่าอยากกลับ แต่นั่นก็ดูเหมือนจะมีความวุ่นวายมากมายคอยตามมา จนเมื่อป้าจันลาได้ตั้งจิตบอกกับลุงว่า ขอให้ละสังขารไปเสีย เพราะการมัวจะยื้ออยู่ด้วยเป็นห่วงเธอก็จะมีแต่ทำให้ลุงเจ็บปวดทรมาน และบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ลุงจรัสจึงได้สิ้นใจไปอย่างสงบ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นความปรารถนาที่แท้จริงของผู้ป่วยก็เป็นได้
ดังนั้นเมื่อมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนหนึ่งที่ปรารถนาจะเลือกหนทางอีกอย่าง นั่นคือการโอบกอดวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยการเลือกที่จะกลับบ้านอันเป็นสถานที่ซึ่งทำให้รู้สึกอุ่นใจ และดูแลประคับประคองอาการไปจนถึงเวลาของการเดินทางครั้งสุดท้าย ไม่ว่าจะเลือกอย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นสิทธิ์ของผู้ป่วยที่ต้องการจากไปอย่างสงบให้สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเราทุกคนควรให้ความเคารพการตัดสินใจนั้น
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายราวๆ 40 ล้านคนทั่วโลก ทว่าน่าเสียดายที่มีเพียง 14% เท่านั้นที่ได้รับการดูแลแบบ Palliative Care ซึ่งสาเหตุสำคัญที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ส่วนใหญ่ถึง 78% เป็นผู้ป่วยในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง จึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเช่นนี้ได้นั่นเอง
ในประเทศไทยเราก็ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ด้วยวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้ครอบครัวสมัยใหม่ห่างจากประสบการณ์ตรงในเรื่องของความตาย เมื่อเวลานั้นมาถึง ทั้งคนที่เป็นคนไข้และญาติไม่รู้ว่าควรจะคิดหรือดีลกับเรื่องเช่นนี้อย่างไร และการรักษาแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายก็ยังถือเป็นองค์ความรู้ที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อโรคร้ายและความตายวนเวียนอยู่รอบตัวเรา คำถามสำคัญที่ทุกคนควรจะนึกถึงเอาไว้ก็คือ หากในวันหนึ่งความตายจะต้องมาเยือนเราจริงๆ (และแน่นอน… มันอาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด) ถ้าในวาระสุดท้ายเราปรารถนาจะจากไปด้วยสติสัมปชัญญะและทรมานน้อยที่สุด ทำให้คนที่เรารักลำบากและเป็นทุกข์ต่อการจากไปของเราน้อยที่สุด จิตวิญญาณไม่โดนทำร้ายจากอาการเจ็บป่วย ให้เป็นการจากลาที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพชีวิต เมื่อเวลานั้นกำลังจะมาถึง คุณจะเลือกอย่างไร?
ถ้าวันนี้ ‘ต้องเลือก’ คุณจะ ‘เลือก’ แบบไหน? เพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็ยังโชคดีที่ได้เลือก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ‘หลักการของ Palliative care’ โดย อ.นพ.กิติพล นาควิโรจน์ med.mahidol.ac.th/fammed/th/postgrad/doctorpalliative1th
- en.wikipedia.org/wiki/Palliative_care
- ผู้สนใจสามารถศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับ Palliative Care ได้ที่ www.cheevamitr.com ด้วยเชื่อว่าเมื่อถึงปลายทาง คนเราควรมี ‘สิทธิ์เลือกในการดูแลคุณภาพชีวิต’ แบบประคับประคองให้อยู่สบาย เพื่อพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นชีวามิตรจึงมีเจตนาในการช่วยสนับสนุนให้สังคมไทยมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถวางแผน ‘ชีวิตระยะสุดท้าย’ ที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ด้วยการเป็นศูนย์รวมข้อมูลและแนะนำทางเลือกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายอย่างเท่าเทียมและเท่าทัน แม้ในขณะที่ยังมีสุขภาพดีจนกระทั่งเข้าสู่สภาวะพึ่งพิงและระยะท้ายของชีวิต
- ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของ Palliative care เสียใหม่ว่า ‘วิธีการดูแลที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต โดยให้การป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ด้วยการเข้าไปดูแลปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะแรกๆ ของโรค รวมถึงทำการประเมินปัญหาสุขภาพ ทั้งทางด้านกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณอย่างละเอียดครบถ้วน’