รัฐบาลสเปน นอร์เวย์ และไอร์แลนด์ เตรียมประกาศรับรองสถานะ ‘รัฐปาเลสไตน์’ โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจสร้างความไม่พอใจให้อิสราเอลรวมถึงสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็อาจสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพของยุโรปมากขึ้น
ทำไมสเปน ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ตัดสินใจรับรองปาเลสไตน์
ทั้ง 3 ประเทศเชื่อว่า การรับรองสถานะความเป็นรัฐให้แก่ปาเลสไตน์เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนในตะวันออกกลางตาม ‘แนวทางสองรัฐ’ (Two-State Solution) ซึ่งจะผลักดันให้ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์มีสถานะ ‘การเป็นรัฐ’ ที่เท่าเทียมกัน และการแก้ปัญหาหลังจากนั้นจะมีลักษณะเป็นรัฐต่อรัฐ
ขณะเดียวกัน เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน เน้นย้ำว่า การรับรองสถานะให้กับปาเลสไตน์ไม่ได้เป็นการต่อต้านชาวยิวหรืออิสราเอล อีกทั้งยังไม่ได้เป็นการเข้าข้างกลุ่มฮามาส แต่เป็นการสนับสนุน ‘การอยู่ร่วมกัน’
ประชาคมโลกทยอยรับรอง ‘รัฐปาเลสไตน์’
นับตั้งแต่ปี 1988 จนถึงขณะนี้ มีรัฐสมาชิกสหประชาชาติอย่างน้อย 143 จาก 193 ประเทศ รับรองสถานะดังกล่าวนี้ให้กับปาเลสไตน์แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอาหรับและมุสลิมในตะวันออกกลาง รวมถึง 8 ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์และเมียนมา) โดยไทยรับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์ในปี 2012
ขณะที่ 3 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รวมถึงอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ยังไม่ได้รับรองสถานะนี้ ซึ่งหลายประเทศมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอล
ก่อนหน้านี้บาฮามาส ตรินิแดดและโตเบโก จาเมกา และบาร์เบโดส เป็นอีก 4 ประเทศที่ประกาศรับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์เมื่อช่วงต้นปี 2024
ท่าทีจากฝ่ายต่างๆ
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล มองว่า การรับรองสถานะให้ปาเลสไตน์จะเป็น ‘รางวัลให้กับการก่อการร้าย’ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “ความชั่วร้ายนี้จะต้องไม่ได้รับการกำหนดสถานะ”
เบื้องต้นอิสราเอลเรียกผู้แทนทางการทูตในสเปน นอร์เวย์ และไอร์แลนด์ กลับประเทศแล้ว เพื่อตอบโต้การตัดสินใจดังกล่าว
โฆษกสภาความมั่นคงสหรัฐฯ ระบุว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนแนวทางสองรัฐอย่างแข็งขัน โดยไบเดนเชื่อว่า รัฐปาเลสไตน์ควรเกิดขึ้น ‘ผ่านการเจรจาโดยตรงของทั้งสองฝ่าย’ ไม่ใช่ผ่านการยอมรับเพียงฝ่ายเดียว พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า หนทางที่จะนำพาสันติภาพและเสถียรภาพมาสู่ภูมิภาคนี้ได้คือ การสร้างรัฐปาเลสไตน์ควบคู่ไปพร้อมๆ กับการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงให้อิสราเอล
ด้าน เซอร์เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การรับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์จะไม่เกิดขึ้นหากกลุ่มฮามาสยังคงอยู่ในฉนวนกาซา แต่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจาระหว่างผู้นำของอิสราเอลและปาเลสไตน์ ขณะที่ สเตฟาน เซจอร์เน รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ชี้ว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์
แนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
อิสราเอลกำลังพิจารณามาตรการตอบโต้เพิ่มเติม โดยกำลังพิจารณาที่จะยกเลิกกำหนดการเดินทางเยือนอิสราเอลของคณะผู้แทนจากประเทศเหล่านี้และเพิกถอนวีซ่านักการทูต เพื่อจำกัดการเข้าถึงพื้นที่เขตเวสต์แบงก์ผ่านทางอิสราเอล
อิสราเอลยังเตรียมขอความร่วมมือทางการทูตจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเป็นตัวกลางในการขอคำชี้แจงจากรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ รวมถึงขอให้สหรัฐฯ โน้มน้าวประเทศอื่นๆ ไม่ให้ประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์
นอกจากสเปน นอร์เวย์ และไอร์แลนด์แล้ว สโลวีเนีย มอลตา และเบลเยียม ก็เป็นประเทศยุโรปที่กำลังพิจารณาการประกาศรับรองสถานะให้แก่ปาเลสไตน์เช่นเดียวกัน
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นี้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ให้กับปาเลสไตน์ในประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการที่ประชาคมโลกทยอยรับรองสถานะนี้ให้แก่ปาเลสไตน์ ยังเพิ่มแรงกดดันให้กับอิสราเอลที่เข้าไปทำสงครามในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ ตั้งแต่หลังเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ให้เปิดพื้นที่เจรจาหยุดยิง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากประชาคมโลกให้ยุติการสู้รบโดยเร็วที่สุด
อิสราเอลจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศตะวันตกจำนวนมากทยอยรับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้นตามแนวทางสองรัฐ ซึ่งอิสราเอลปฏิเสธและคัดค้านแนวทางนี้ พร้อมเดินหน้ากวาดล้างกลุ่มฮามาสต่อไป โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของอิสราเอลในอนาคต
แฟ้มภาพ: Volodymyr Tverdokhlib / Shutterstock, Getty Images / PA / Reuters via CNN
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2024/05/22/middleeast/palestinian-statehood-spain-norway-ireland-intl/index.html
- https://www.aljazeera.com/news/2024/5/22/mapping-which-countries-recognise-palestine-in-2024
- https://apnews.com/article/israel-hamas-war-palestinian-state-recognition-what-to-know-ed18d4cc50b20c8238e0de0068080eb0
- https://www.bbc.com/news/articles/c06684zn1vjo