ในยุคที่โลกการลงทุนไร้พรมแดน อีกทั้งสภาพคล่องยังล้นระบบ ส่งให้ปริมาณเงินวิ่งหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Gateway ที่สะดวกและเป็นมิตรต่อผู้ลงทุน คือสิ่งที่ดึงสายตาจากนักลงทุนทั่วโลกได้ดี
ปี 2563 ที่ผ่านมา ผลงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ในระดับที่น่าพอใจทั้งแนวลึกและแนวกว้าง
สภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555 โดยในปี 2563 มีวันที่มูลค่าซื้อขายเกิน 1 แสนล้านบาทถึง 22 วัน และวันที่ซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท เฉลี่ยมีมูลค่าซื้อขายต่อวัน 67,334.80 ล้านบาท
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหุ้น IPO รวมกันกว่า 5.55 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 2 ในเอเชีย และสูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดย บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าระดมทุนใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ และมีมูลค่าเสนอขายในกลุ่มค้าปลีกสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
จำนวนบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 662,678 บัญชี จากสิ้นปี 2562
สรุปตัวเลขบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2563 ประมาณ 3.4 ล้านบัญชี
แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าคือ ทำอย่างไรให้ในปี 2564 ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อจะเพิ่ม ‘เสน่ห์’ ที่มากขึ้นให้กับตลาดหุ้นไทยในยุคที่โลกแห่งการลงทุนไร้พรมแดน
ภากรกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า 3 โจทย์หลักที่ตลาดหลักทรัพย์จะเร่งดำเนินการคือ
- พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพให้สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น
- สร้างโอกาสให้ผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายในต่างประเทศ
- เพิ่มมูลค่าแก่บริษัทจดทะเบียนไทยด้วยชุดข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG
โจทย์แรกคือการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพ หรือ Live Platform
รูปแบบการพัฒนาจะเน้นสร้างแพลตฟอร์มและขยายความร่วมมือจนเกิดเป็น Ecosystem โดยจะเริ่มจากให้ความรู้เกี่ยวกับทำธุรกิจแก่ผู้ประกอบการที่สนใจและต้องการใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นที่ระดมทุน โดยจะให้ความรู้ที่ครอบคลุมตั้งแต่ระบบหลังบ้าน การเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล ภาษี กฎหมาย ตลอดจนการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยเสริมการเติบโต ทั้งนี้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ
ถัดมาคือการพบเจอกันระหว่าง SMEs และสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมกับนักลงทุน อาทิ Venture Capital, Private Equity และ Accredited Investor ซึ่งเป็นนักลงทุนที่มีความเข้าใจในธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพค่อนข้างดี และสามารถยอมรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงได้
ต่อมาคือการหากิจการที่มีความพร้อมและน่าสนใจเข้าลงทุนมานำเสนอแก่กลุ่มนักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนสามารถ Portfolio ได้ เป็นการช่วยกระจายความเสี่ยง
“มองว่าเป็นคอนเซปต์ที่จะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทั้งฝั่งสตาร์ทอัพและนักลงทุน แพลตฟอร์มนี้จะไม่ได้ตรงกับการรับความเสี่ยงได้ของนักลงทุนทุกคน เพราะฉะนั้นจึงเน้นไปที่นักลงทุนที่เหมาะสมกว่า”
โจทย์ถัดมาคือสร้างโอกาสให้ผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายในต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนการลงทุนในต่างประเทศต่ำลง อีกทั้งสินทรัพย์ทางการลงทุนก็มีความหลากหลาย
ตลาดหลักทรัพย์จึงเร่งศึกษาและดำเนินการนำสินทรัพย์จากต่างประเทศที่มีหลากหลาย เช่น DR (Depositary Receipt) DW EFT เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยมีตัวกลางอย่าง บล. บลจ. สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับลูกค้าได้แบบ One Stop Service โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะได้เห็นผลงานภายในปีนี้
“ในโลกยุคนี้ การกระจายความเสี่ยงหรือการลงทุนได้ในหลาย Asset Class อย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนจะชดเชยกัน”
โจทย์สุดท้ายในปีนี้คือ เพิ่มมูลค่าแก่บริษัทจดทะเบียนไทยด้วยชุดข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งโจทย์นี้ไม่ใช่โจทย์ใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญกับ ESG มาตั้งแต่ปี 2540
แต่แผนงานเกี่ยวกับ ESG ปีนี้ไม่ใช่การกระตุ้นภาคธุรกิจให้ใส่ใจเรื่อง ESG แต่จะเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ด้วยชุดข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ที่ บจ. นั้นๆ ดำเนินการมาตลอด โดยตลาดหลักทรัพย์ทำงานร่วมกับ Rating Agency ต่างๆ และจัดทำเป็นชุดข้อมูล เพื่อนำเสนอแก่นักลงทุนประเภทต่างๆ ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป ในรูปแบบที่นักลงทุนแต่ละประเภทให้ความสนใจ
“รวมไปถึงการเอาผลของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นออกมาแสดงให้นักลงทุนทั่วไปได้เห็น เพื่อแสดงถึงประโยชน์ของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และสนับสนุนให้ตัวกลาง อาทิ บล. บลจ. ออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนด้วย”
อีกภารกิจที่ตลาดหลักทรัพย์เร่งมืออยู่ ก็คือการพัฒนาบริการสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และสมาคมธนาคารไทย ตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อบริหารสายส่งสำหรับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีผู้กำกับดูแล
เนื่องจากเชื่อว่าในอนาคตธุรกรรมทางการเงินจะเป็น Decentralized หลายภาคธุรกิจจะเข้ามาให้บริการในสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ เช่น เรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์ การทำ Wallet เรื่องให้บริการลูกค้า โดยให้บริการอยู่บน Infrastructured ที่เชื่อมโยงกัน
หากถามว่าคริปโตเคอร์เรนซีจะเข้ามาซื้อขายบนแพลตฟอร์มหรือ Infrastructure นี้ได้ไหม ด้วยศักยภาพทางเทคโนโลยีสามารถทำได้ แต่ที่น่าสนใจคือ สินทรัพย์ที่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม หรือ Infrastructure เดียวกัน ควรอยู่ภายใต้การกำกับเดียวกัน
“โลกตอนนี้ซับซ้อนกว่าในอดีต การลงทุนต้องกระจายความเสี่ยง และเข้าใจในสินทรัพย์นั้นจริงๆ รวมทั้งต้องมีการติดตามดูผลการลงทุนว่าตรงตามแผนหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ปรับ ในอนาคตโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนักลงทุนต้องหมั่นศึกษาหาข้อมูล” ดร.ภากร ทิ้งท้าย
โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ
ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve
สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า