เจ้าหน้าที่ของปากีสถานเตือนว่า มีความเสี่ยงที่น้ำในทะเลสาบใหญ่ที่สุดของประเทศจะล้นทะลักออกมา ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายเมืองเลวร้ายลงไปกว่าเดิม แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามเร่งระบายน้ำในทะเลสาบแล้วก็ตาม แต่ระดับน้ำยังคงสูงมากจนน่ากังวล
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 กันยายน) เจ้าหน้าที่พยายามระบายน้ำออกจากทะเลสาบน้ำจืดมันชาร์ ซึ่งอยู่ในแคว้นสินธ์ หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักสุดของประเทศ โดยทางการได้ตัดสินใจระบายน้ำออกไปในเขตจาฟฟาราบัด และเขตบูบัค ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวราว 100,000 คน แต่ที่ต้องเลือกตัดสินใจเช่นนี้ เพราะหากไม่ระบายน้ำออกไป ในที่สุดจะมีหลายพื้นที่ซึ่งมีประชากรมากกว่าได้รับผลกระทบรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะเมื่อวานนี้ (5 กันยายน) เจ้าหน้าที่รายงานว่าระดับน้ำของทะเลสาบยังไม่ลดลง
ในวันเดียวกัน เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ได้เดินทางไปยังแคว้นสินธ์เพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยแคว้นสินธ์ถือเป็นแหล่งผลิตอาหารคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของปากีสถาน แต่ปัจจุบันพืชผลราว 90% ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ ส่วนหมู่บ้านหลายแห่งถูกน้ำซัดพังเสียหายหนัก
นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงวานนี้มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมแล้วถึง 1,325 คน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กกว่า 450 คน และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ขณะตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่กว่า 12,000 คน ส่วนบ้านเรือนได้รับความเสียหายถึง 1.6 ล้านหลังคาเรือน
เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน กล่าวโจมตีว่า ประเทศที่ร่ำรวยเป็นต้นเหตุที่ก่อมลพิษหนักจนทำให้สถานการณ์โลกรวนย่ำแย่ลงถึงขั้นวิกฤต พร้อมเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ออกมาตรการที่รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง รวมถึงการจ่ายค่าเสียหายเพื่อชดใช้ให้กับประเทศต่างๆ ที่เผชิญกับภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศ เพราะหากมาดูตัวเลขกันจริงๆ แล้ว ปากีสถานเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดการปล่อยก๊าซดังกล่าวทั้งหมดทั่วโลก แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากปัญหาโลกรวน ทั้งคลื่นความร้อน เหตุน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง
ภาพ: Hussain Ali/Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: