รัฐบาลปากีสถานประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับน้ำท่วมจากมรสุมที่ทำให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ จนส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 4 ล้านคน ขณะที่สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (NDMA) เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 900 คนแล้วในฤดูมรสุมปีนี้ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
มรสุมประจำปีมีความจำเป็นสำหรับการชลประทานพืชผล รวมทั้งทำให้น้ำในทะเลสาบและเขื่อนทั่วอนุทวีปอินเดียไม่เหือดแห้ง แต่ขณะเดียวกันมรสุมในแต่ละปีก็อาจนำมาซึ่งการทำลายล้างเช่นกัน
NDMA เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (26 สิงหาคม) ว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในหลายพื้นที่ของประเทศวานนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 34 คนในช่วง 24 ชั่วโมง
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า น้ำท่วมในปีนี้เทียบได้กับปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ปากีสถานประสบกับอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุด เมื่อมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน และเกือบ 1 ใน 5 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ
น้ำท่วมใหญ่ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทของปากีสถานต้องหาที่พักพิงข้างทางหลวง เนื่องจากถนนยกระดับเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งที่ไม่ถูกน้ำท่วม
สำนักงานจัดการภัยพิบัติระบุว่า ประชาชนกว่า 4.2 ล้านคนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยบ้านเรือนเกือบ 2.2 แสนหลังถูกทำลาย และเสียหายหนักอีกกว่า 5 แสนหลังคาเรือน
ขณะที่ในรัฐซินด์เพียงรัฐเดียว พื้นที่เพาะปลูกกว่า 2 ล้านเอเคอร์ถูกทำลาย ซ้ำเติมเกษตรกรที่มีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น ต้องหาเช้ากินค่ำกันอยู่แล้ว
เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรียกน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ว่า ‘ภัยพิบัติระดับมหากาพย์’ และได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ
ปากีสถานอยู่อันดับที่ 8 ในดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม Germanwatch ได้จัดทำขึ้น โดยรวบรวมรายชื่อประเทศต่างๆ ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อสภาพอากาศสุดขั้ว อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: