หลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องสำหรับ ทิดเอก-ไพรวัลย์ วรรณบุตร อดีตพระนักเทศน์ชื่อดัง ที่ล่าสุดออกมาชี้แจงประเด็นดราม่าที่ชาวเน็ตสงสัย พร้อมประกาศลาออกจากการเป็นพิธีกรรายการ นินทาประเทศไทย ทางช่อง Nanake555 ทันที
เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น THE STANDARD POP สรุปต้นสายปลายเหตุและคำชี้แจงของทิดไพรวัลย์ใน 10 ข้อต่อไปนี้
- หากย้อนกลับไปก่อนที่ ทิดเอก-ไพรวัลย์ วรรณบุตร จะสึกออกมาครองเพศฆราวาสนั้น เขาเป็นพระนักวิชาการด้านศาสนาชื่อดังและพระนักเทศน์ที่เป็นที่ชื่นชมของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นพระหัวก้าวหน้าที่พร้อมออกมาฉะเรื่องในวงการพระสงฆ์ นอกจากนี้ทิดเอกยังเคยกล่าวว่า หากสึกออกมาแล้วจะแจงการทำงานของสำนักพุทธฯ ให้สังคมได้รับรู้
- หลังละจากผ้าเหลืองเริ่มต้นเส้นทางสายอินฟลูเอนเซอร์ ทิดเอกสร้างคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียส่วนตัว เดินสายพิธีกรและแขกรับเชิญรายการต่างๆ พร้อมกันนั้นในเพจก็มักลงภาพและคลิปชีวิตส่วนตัว โดยมียอดติดตามในเพจในช่วงสูงสุดเกือบ 3 ล้าน
และเพราะบทบาทและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป แฟนเพจเดิมที่เคยติดตามหลายๆ คนค่อยๆ เริ่มคอมเมนต์เกี่ยวกับท่าทีหลายๆ อย่างของทิดเอก ซึ่งก็มีทั้งวิพากษ์วิจารณ์ ทวงถาม ติติง ด่าทอ ฯลฯ มีทั้งที่มีมูลความจริงและไม่เป็นความจริง
โดยทิดเอกมักจะใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียของตนเองตอบโต้กลับในรูปแบบต่างๆ ซึ่งท่าทีดังกล่าวก็เป็นอีกประเด็นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง
- ล่าสุดก็มีประเด็นดราม่าใหม่เกิดขึ้น เมื่อทิดเอกตอบโต้คอมเมนต์ล้อเลียนหน้าตาของเขาผ่านไลฟ์ส่วนหนึ่งว่า “ฉันหน้าเหมือนเต่า แต่ฉันหน้าดังเดิม พ่อแม่ฉันให้มา” และ “พวกที่บูลลี่ฉันไปส่องกระจก ปลอมทั้งหน้า สภาพ” ซึ่งทำให้หลายคนมองว่า การตอบโต้แบบนี้เหมือนเป็นการบูลลี่คนที่เคยศัลยกรรมมาเช่นกัน
- ทิดเอกเป็นหนึ่งในพิธีกรรายการ นินทาประเทศไทย ทางช่อง Nanake555 ร่วมกับ น้าเน็ก-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, ดีเจหมึก-โรจ ควันธรรม และ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ โดยรายการนี้จะหยิบเอาประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมมาร่วมพูดคุยและถกเถียงกันผ่านคนหลากหลายเจเนอเรชัน ซึ่งหลังจากอีพีแรกออกอากาศไปก็ได้กระแสตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก
- ในอีพี 2 (วันที่ 28 มกราคม) รายการ นินทาประเทศไทย ก็ได้เปิดพื้นที่ให้ทิดเอกได้ชี้แจงในประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจทั้ง 3 ประเด็น คือ เรื่องการออกมาเป็นกระบอกเสียงให้กับวงการพุทธศาสนา, เรื่องการบล็อก-ลบคอมเมนต์หรือบัญชีที่เห็นต่างจากตนเอง และเรื่องการนำคอมเมนต์จากเหล่าคนเห็นต่างมาแขวนด่าบนหน้าแฟนเพจ
- ทิดเอกได้ชี้แจงประเด็นความคาดหวังของสังคมเกี่ยวกับการเป็นกระบอกเสียงให้กับวงการพุทธศาสนาว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคาดหวังหรือจะมองเขาในมุมไหนก็ได้ แต่คนที่รู้จักตัวเขามากที่สุดคือตัวเขาเอง ซึ่งแฟนเพจส่วนตัวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อพูดเรื่องจิปาถะไปจนถึงประเด็นทางสังคมต่างๆ ดังนั้นเขาจะยังคงอัตลักษณ์ของเขาไว้ ใช้โอกาสของตนเท่าที่มีในการพูดประเด็นสาธารณะ แต่จะไม่เปลี่ยนแปลงตัวตนให้ถูกใจใครทั้งนั้น
- ส่วนประเด็นเรื่องบล็อก ลบ และแขวนคอมเมนต์หรือโพสต์ของคนเห็นต่างนั้น ทิดเอกชี้แจงว่า นี่เป็นสิทธิ์ที่เขาพึงมีในพื้นที่ของเขา ซึ่งไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และยืนยันว่าตนเองไม่เคยไปว่าร้ายใครก่อน โพสต์ที่ถูกแขวนในเพจทั้งหมดคือโพสต์ที่เริ่มต้น ‘ด่า’ ตนก่อนทั้งสิ้น
- หลังชี้แจงเรื่องทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย ทิดเอกก็ขอยุติบทบาทพิธีกรรายการ นินทาประเทศไทย ทันที ด้วยสาเหตุว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติพอในการดำเนินรายการนี้ และอาจทำให้ผู้คนพุ่งประเด็นมาที่ตัวเขามากกว่าเนื้อหาของรายการ ก่อนจะอำลาผู้ชมและลุกออกจากรายการไปทันที
- ด้านน้าเน็กก็พูดในรายการว่า นี่เป็นการตัดสินใจของทิดเอกที่เกิดขึ้นกลางรายการ ซึ่งตัวเขาเองก็ตั้งตัวไม่ทันเช่นกัน ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าใครจะมานั่งเป็นพิธีกรคนต่อไป แต่คนที่จะมารับบทนี้จะต้องเป็นคนที่คนดูเปิดใจรับฟัง เพื่อให้รายการสามารถสื่อสารประเด็นในสังคมต่างๆ ไปถึงผู้ชมได้มากที่สุด
- หลังรายการจบลงมีเสียงวิจารณ์ว่า การลาออกกลางรายการของทิดเอกเป็นการเสียมารยาทหรือไม่ เพราะพิธีกรอีกสามคนดูตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทิดเอกก็ได้โพสต์ชี้แจงใน Facebook ส่วนตัวว่า เขาได้แจ้งเรื่องนี้ให้น้าเน็กทราบตั้งแต่ก่อนจะเริ่มรายการแล้ว และขอเข้าร่วมการถ่ายทำเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อชี้แจงและอำลา
ท่ามกลางกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงโมเมนต์กลางรายการ นินทาประเทศไทย ที่ดูจะยิ่งเพิ่มประเด็นการพูดถึงเกี่ยวกับตัวทิดเอก สุดท้ายแล้วนี่คือการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนของ ทิดเอก-ไพรวัลย์ วรรณบุตร แม้ว่าจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่บางคนและบางกลุ่มคาดหวังจะให้เป็นก็ตาม
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (29 มกราคม) ทิดเอกได้โพสต์ข้อความสื่อสารทางเพจส่วนตัว https://www.facebook.com/paivan01 โดยมีข้อความทั้งหมดดังนี้
“ผมมีหลักคิดของผมแค่ว่า ถ้าสิ่งที่ผมเป็นอยู่ตอนนี้หรือสิ่งที่ผู้คนผิดหวังในตัวผม ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดจากการที่ผมไปทำร้ายหรือทำลายความปกติสุขในชีวิตของใคร ผมมีสิทธิ์ที่จะเป็นหรือมีสิทธิ์ที่จะเลือกมันได้
“วันหนึ่ง แม้ต่อให้ผู้คนเลิกติดตามและเลิกสนใจผมกันหมด ผมก็คิดว่านั่นก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดอะไร และมันสามารถเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ผมจะยอมรับนะครับ และผมไม่เสียใจ
“ในการมีชีวิตผมสนใจแค่ว่าผมทำอะไรผิดต่อคนอื่นหรือเปล่า ผมสร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้กับชีวิตของใครบ้างไหม ซึ่งแม้ถึงตอนนี้ผมก็ยังยืนยันกับตัวเองว่าผมไม่ได้ทำอะไรที่ว่านั้น
“ชีวิตผมผมไม่ได้ต้องการแค่การทำอะไรก็ได้เพื่อให้ถูกใจคนอื่น หรือทำตามที่คนอื่นต้องการ เพื่อแลกกับงานหรือแลกกับเงิน
“ผมดีใจนะครับถ้าผมได้ใช้ชีวิตในแบบของผมเอง แม้ชีวิตที่ว่านี้จะทำให้ผมต้องกลับบ้าน (ซึ่งก็อยากกลับมากแล้วเต็มที) เพื่อไปอยู่กับพ่อแม่หรือญาติพี่น้องที่ผมรักตามอัตภาพอย่างที่ควรจะเป็น”
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเรื่องราวทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นจากบทบาทในช่วงที่ทิดเอกยังครองเพศสมณะ และหลายส่วนก็มีความเชื่อมโยงกับบทบาทในอดีตที่เชื่อมโยงกับแวดวงพุทธศาสนา
THE STANDARD POP จึงถือโอกาสจบบทความนี้ด้วยน้อมนำ ‘หัวใจสำคัญ’ ของพระพุทธศาสนาที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ถามแก่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า คำสอนทั้งหมดของท่านสามารถสรุปรวมเป็นประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียวได้หรือไม่ พระพุทธองค์จึงได้บอกแก่ผู้นั้นว่า
“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” แปลได้ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
ซึ่งเราก็เชื่อเหลือเกินว่า ทั้งชาวพุทธและไม่ใช่ชาวพุทธหากนำประโยคดังกล่าวไปปรับใช้แล้วก็น่าจะได้รับประโยชน์สุขในชีวิตไม่แตกต่างกัน
อ้างอิง: