×

วิพากษ์ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ให้สิทธิไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผ่านครูกฎหมาย ไพโรจน์ กัมพูสิริ

15.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • 50 ประเทศมีกฎหมายนี้แล้ว สำหรับประเทศไทยอาจารย์ไพโรจน์มองอย่างมีความหวัง เจเนอเรชันใหม่ ใจกว้าง สังคมเปิดมากขึ้น
  • ในสายตาอาจารย์มองว่า ร่างกฎหมายนี้สมบูรณ์ถึง 90% ทั้งเรื่องสิทธิหน้าที่ของคู่ชีวิต ทั้งทางครอบครัว และโดยเฉพาะเรื่องมรดก ซึ่งเขียนไว้ในรูปแบบที่ดีมาก เพราะยกเอามาทั้งหมดจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • การไม่แก้ที่กฎหมายแพ่งโดยตรง แต่เริ่มด้วยการมีร่างกฎหมายคู่ชีวิตแยกออกมาเฉพาะ ถือเป็นยุทธวิธีค่อยเป็นค่อยไป ที่จะอธิบายได้กับคนที่ต่อต้าน ซึ่งฝรั่งเศสก็เริ่มจากคู่ชีวิต หรือ life partnership เช่นกัน

หลังจากสนามการเมืองเปิด เราได้เห็นหลากเวทีสัมมนาเชิญพรรคการเมืองไปแสดงทรรศนะต่อประเด็นหลากหลายที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับเวทีของกลุ่มรณรงค์ด้านความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องร้อนๆ อย่าง ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่จะเป็นหมุดหมายเริ่มต้นในการก่อหลักประกันความเสมอภาค ความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศให้เท่ากับคู่สมรสหญิงชาย

 

พรรคการเมืองประกาศจุดยืนหลากเฉด ตั้งแต่ค่อยเป็นค่อยไป จนถึงยืนยันหนักแน่นว่าต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพว่าด้วยครอบครัว มรดก โดยเปลี่ยนจากที่กำหนดบังคับชัดว่าต้องเป็นเพศชายและหญิง มาเป็นบุคคล 2 คน โดยไม่ระบุเพศ

 

แต่เมื่อมีที่มาจากฝ่ายการเมือง ก็มักถูกมองจากสังคมว่า นักการเมืองต้องคิดบวกลบคูณหารก่อนจะตัดสินใจผลักดันนโยบาย พอถึงเวลามีอำนาจจริง จะจริงจังอย่างที่ประกาศหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่สังคมต้องจับตาและรณรงค์กันอีกหน

 

THE STANDARD พูดคุยกับนักวิชาการ ผู้คลุกคลีกับกฎหมายครอบครัว มรดก มานับ 30 ปี ตลอดจนเคยใช้ชีวิตในประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องนี้อย่างฝรั่งเศสมาถึง 7 ปี ศาสตราจารย์ไพโรจน์ กัมพูสิริ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่ามีมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างไร

 

 

คำว่า สมรส การแต่งงาน การมีคู่ชีวิต ต่างกันอย่างไร

คำว่า สมรส คือการจดทะเบียน ส่วนคำว่า แต่งงาน จะหมายถึงการอยู่กินกันเฉยๆ อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา เท่ากับว่าไม่ได้จดทะเบียน กฎหมายไม่ได้เข้ามารับรอง หากมีลูก ลูกก็จะเป็นลูกนอกสมรส

 

ทีนี้สำหรับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ใช้ชื่อว่า ‘คู่ชีวิต’ เนื่องจากคำในกฎหมายคือ คู่สมรส จะใช้กับสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คำว่า คู่ชีวิต ถ้าเราพยายามนึกถึง partnership จะนึกภาพออก และที่ไม่ใช้คำว่า คู่สมรส ก็เพราะจะหมายถึงสามีภรรยา ซึ่งมันอาจจะต่างกันว่าต้องเป็นเพศชายและเพศหญิง

 

ดังนั้นในนิยามของร่างกฎหมายคู่ชีวิต เขาก็ไม่ได้ระบุเพศ แต่หมายถึงบุคคล 2 คนที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายครอบครัวไม่ได้เพราะปัญหาเรื่องเพศ

 

 

มันก็อาจเกิดคำถามว่า เราพยายามเรียกร้องสิทธิของบุคคลเพศเดียวกันให้เท่ากับสามีภรรยา แต่ทำไมพอเริ่มด้วยชื่อก็แตกต่างกันแล้ว แสดงว่าคุณจะไม่ให้สิทธิเท่ากับสามีภรรยาใช่หรือเปล่า ตรงนี้ผมศึกษาร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตทั้ง 44 มาตรา ผมก็ยืนยันเหมือนเดิมว่ามันรับรองสิทธิของคู่ชีวิตถึงร้อยละ 90 นะ โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นสำคัญ

 

หนึ่งคือเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่แทบจะลอกมาจากกฎหมายครอบครัวเกือบ 100%

 

และประเด็นที่ 2 ร่างกฎหมายได้นำบทบัญญัติในกฎหมายครอบครัวมาใช้บังคับโดยอนุโลม มันทำให้ผมอุ่นใจ

 

แม้ตัวบทจะเขียนลงไปในรายละเอียดถึงเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการจัดการศพ สิทธิในการดำเนินคดีอาญา การเรียกค่าสินไหมทดแทน ค่าอุปการะ เวลาไปอยู่กินกันเป็นสามีภรรยาว่ามีมาตรา 23 รับรองอยู่ ซึ่งถ้าเขียน ต้องเขียนให้หมดเลยนะ ต้องลงไปถึงขนาดบำเหน็จตกทอด หรือจะต้องลงไปถึงรายละเอียดขนาดนั้นหรือเปล่า ผมว่าไม่จำเป็นต้องเขียน เนื่องจากว่าพอเพศเดียวกันมาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนี้ มันจะเกิดสถานะทันที และให้นำกฎหมาย ทั้งกฎหมายครอบครัว และกฎหมายมรดก มาใช้บังคับกับสถานะที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อสถานะเกิด ผลมันก็ตามมาโดยอัตโนมัติ

 

 

แล้วอีก 10% ที่ยังขาดไปคือเรื่องอะไร

เป็นเรื่องเทคนิค คือเขียนผิด ผมพยายามชี้ให้เห็นว่ามันเขียนผิด แต่ไม่รู้จะไปถึงมือเขาหรือเปล่า คือเป็นไปได้ทั้งเพราะลอกมาผิด การเร่งรีบ และความวิตกว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่รับรองและคุ้มครองสิทธิเท่ากับสามีภรรยา จึงนำมาสู่การเขียนแบบนั้น ยกตัวอย่าง ในมาตรา 23 ว่า ‘เช่น ให้ผ่าตัด เช่น การมีสิทธิจัดการศพคู่ชีวิต’ มันไม่ควรเขียนอย่างนี้ เพราะพอรับรองสถานะ มันก็จะดึงเอาสิทธิ หน้าที่ ในกฎหมายครอบครัวและมรดกมาใช้เกือบ 100% อยู่แล้ว โดยในส่วนกฎหมายมรดก เขียนไว้ดี คือเอามาทั้งหมดเลย แต่กฎหมายครอบครัวจะเอามาเป็นท่อนๆ แยกมา เช่นว่า การจัดการทรัพย์สินให้เอามาตรานั้นมาตรานี้มาใช้

 

 

ถ้าเอามาจากกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดกที่มีอยู่แล้ว ทำไมไม่แก้กฎหมายครอบครัวมรดกทีเดียวไปเลย

ขนาดร่างกฎหมายแค่นี้เขายังพลาดเลย ถ้าเขาไปแตะประมวลแพ่ง ยังไม่พอ ต้องไปแก้กฎหมายประกันสังคม เปลี่ยนจากสามีภรรยาเป็นบุคคล 2 คน มันจะเกิดความผิดพลาดเยอะ ฝรั่งเศสเขาแก้ลงในกฎหมายแพ่งได้ เพราะระบบของเขามันไม่พลาด ระบบเขาแม่น อันนั้นเป็นเหตุผลแรก

 

เหตุผลที่สอง ผมคิดว่าเวลาเราพยายามอธิบายกับคนที่ต่อต้าน เราอาจจะอธิบายกับเขาว่าเราไม่ได้ไปก้าวล่วง แทรกตัวให้มีสิทธิเท่ากันเลย เรามีกฎหมายนี้ออกมา ก็เป็นไปในทางยุทธวิธี ผมยืนยันมาตลอดว่ามันน่าจะค่อยเป็นค่อยไป เราเลี่ยงมาใช้คำว่า คู่ชีวิต อย่างนี้มันน่าจะโอเคนะ ตอนที่ผมไปช่วยคนที่ร่าง ผมก็คุยว่าเอาอย่างฝรั่งเศสได้ไหม ที่เขาเริ่มจาก life partnership ก่อน ซึ่งจะมีสิทธิไม่เท่าเทียมกัน แล้วจากนั้นก็ให้จดทะเบียนได้ เอาแบบฝรั่งเศส ค่อยเป็นค่อยไป ผมกลัวกระแสต่อต้าน แต่ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าในปี 2562 หลังเลือกตั้งเดือนมีนาคม กระแสจะเป็นอย่างไร

 

 

ถ้ากลับมาตั้งต้นที่สถาบันครอบครัวในสังคมไทย อาจารย์คิดว่ามันขยายนิยามความรักของเพศเดียวกันไปถึงไหน และมีการยอมรับถึงขั้นไหน

ความจริงสังคมไทยเป็นสังคมที่ใจกว้าง ตราบใดที่ไม่ใช่ลูกผม เราใจกว้างนะ คือเราเห็นตัวอย่างฝรั่งแล้ว ฝรั่งเริ่มเข้ามา หรือคนจีนเข้ามา เรายอมรับมานานแล้ว

 

อย่างเรามองไต้หวัน ถ้าพูดถึง mentality ในแบบเอเชีย ศาลสูงไต้หวันก็มีคำพิพากษาว่ารัฐบาลต้องออกกฎหมายรับรองการสมรสของเพศเดียวกัน เพียงแต่น่าตกใจที่พอจัดประชามติอย่างไม่เป็นทางการ เสียงส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วย เพราะอย่างนั้นเคสไต้หวันผมคิดว่าต้องระวังนะ

 

กลับมาเมืองไทยผมคิดว่าเราพร้อม และผมคิดว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเขาจะมีความพิเศษของเขาบางอย่าง ผมทำงานรุ่นเดียวกับ อาจารย์เสรี วงษ์มณฑาตอนที่เขามาทำงานก็อยู่คณะใกล้ๆ กัน ตอนนั้นผมก็รู้สึกได้เลยว่าอาจารย์เขาจีเนียส นั่นเมื่อ 30 ปีก่อนนะ สังคมยังไม่ได้เปิด ผมว่ากฎหมายฉบับนี้ หลังเลือกตั้ง ถ้าผลักดันกันหน่อย ผมว่าสำเร็จ แต่ที่ผ่านมาในรัฐบาลนี้เราจะเห็นเหมือนว่ามีการบวกลบคูณหารตลอด ว่าจะเป็นคะแนนในกล่องเลือกตั้งอย่างไร

 

 

ถ้ามองอย่างนี้อาจารย์คิดว่าความจริงใจของรัฐ ที่จะพยายามผลักดันเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ถ้าพูดกันส่วนตัว ผมคิดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลทหาร พวกทหารจะมีภาพค่อนข้างลบกับความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นรัฐบาลหน้าถ้าเป็นรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เขาก็ต้องบวกลบคูณหารว่าคุ้มไม่คุ้มกับการที่เขามีคะแนนนิยมตอนนี้

 

จะเป็นไปได้ไหม ถ้าจะตั้งต้นกันจริงๆ จังๆ เพื่อแก้ไขกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

มันเกิดขึ้นได้ แต่ต้องใช้เวลา มันมีคนพูด เรื่องการแก้กฎหมายแพ่ง แต่สำหรับที่ผมได้เห็นร่างคู่ชีวิต ผมพอใจ คือช่วงเริ่มต้นมันคงเพอร์เฟ็กต์ 100% ไม่ได้

 

ในด้านการบังคับใช้กฎหมายนี้ ที่จะถูกใช้โดยข้าราชการ จะมีปัญหาไหม

ฝรั่งเศสก็มีปัญหานี้ นายกเทศมนตรีบางเมืองที่เขาต่อต้าน เขาไม่รับจดทะเบียนสมรสให้คู่เกย์หรือเลสเบี้ยน เขาต้องรับผิดนะในฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบันก็หมดไปแล้ว เริ่มต้นก็อาจจะมีการต่อต้านอยู่ คือถ้าเรามีกฎหมาย อำเภอ ก็ปฏิเสธไม่ได้นะ

 

 

ถ้ากฎหมายนี้ถูกประกาศใช้ จะทำให้บริบทของสังคมเป็นอย่างไรบ้างต่อเรื่องเพศในสังคมไทย

คนไทยอาจไม่ตื่นตกใจเพราะมันมีกระแสมานานแล้ว ถ้ามีกฎหมายนี้ เราต้องสอนกฎหมายนี้ในการบรรยายกฎหมายครอบครัว มันก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตนักศึกษา เริ่มจากนักศึกษาก่อน คนที่หลากหลายทางเพศก็จะเปิดตัวมากขึ้น

 

มีความเป็นไปได้ไหม หากเปลี่ยนรัฐบาล แล้วรัฐบาลใหม่ยกเลิกสิทธิที่จะมี partnership เช่นที่เคยเกิดในออสเตรเลียเมื่อมีรัฐบาลที่อนุรักษ์นิยมขึ้นมา

ออสเตรเลียจุดยืนเขาชัด เขากร้าวมาก แต่พัฒนาการของโลกมันต้านไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะมีทาส ที่จะไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง ในออสเตรเลีย ผมเห็นท่าทีนายกฯ ประกาศหัวเด็ดตีนขาดว่าไม่ยอม แต่นั่นเป็นลักษณะของผู้นำ แล้วการเมืองมันเปลี่ยนตลอดเวลา และการเมืองไทยมันไม่มีมิตรไม่มีศัตรู หยุดไม่อยู่หรอก ในต่างประเทศ โอบามาตอนแรกก็ต้าน แต่พอเห็นกระแส เขาก็ต้องหนุนเพศเดียวกัน นี่คือนักการเมือง

 

 

อยากให้อาจารย์สะท้อนว่า สังคมไทยมีเรื่องอะไรอีกบ้างที่ต้องตระหนักเกี่ยวกับกฎหมายนี้

ผมคิดว่าตอนนี้คนในประเทศส่วนใหญ่เข้าใจถึงวิถีชีวิตของคนหลากหลายทางเพศ

 

และการขยับกฎหมายนี้มาตั้งแต่สมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ มันนานพอสมควรแล้ว และท้ายสุดการรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลเพศเดียวกันในกฎหมายนี้มันค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว

 

ผมอยากจะให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าสื่อ อาจารย์ นักวิชาการ จับมือกันทำให้กฎหมายนี้มันเข้ากับกระแสโลกเสียที

 

 

ผมไม่อยากให้เราหยุดหรือเสียเวลา เหมือนกับที่เกิดกับกฎหมายอุ้มบุญ แบบเดียวกันเลย ถ้าไม่มีเรื่องญี่ปุ่นเอาสเปิร์มมาให้หญิงไทยอุ้มบุญ รัฐบาลนี้ก็ลังเลกับการประกาศใช้กฎหมายอุ้มบุญตอนสิงหาคม 2558 แต่ทีนี้เขาเห็นว่าเขาได้หน้าได้เสียง เขาก็สนับสนุนกฎหมายอุ้มบุญ

 

ผมไม่ได้ไว้ใจรัฐบาลนะ แต่ผมคิดว่าในทางยุทธศาสตร์เราต้องขอบคุณรัฐบาลชุดนี้ที่ผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้า สนช. และหวังว่าหลังเลือกตั้งจะได้มีประกาศใช้เป็นกฎหมายเสียที

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X