×

ควักเงินสดมันเจ็บปวด รูดก่อนจ่ายทีหลังสบายใจกว่า รู้จักอาการ ‘เจ็บปวดจากการจ่าย’ พร้อมวิธีง่ายๆ ในการเซฟเงิน

13.09.2019
  • LOADING...
Pain of paying

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เจ็บปวดทุกครั้งที่ต้องควักแบงก์พันออกจากกระเป๋า แต่กลับเป็นเรื่องง่ายในการรูดจับจ่ายในราคาเท่ากัน หากใครรู้สึกคล้ายๆ กัน ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีคำอธิบายเรื่องความรู้สึกเจ็บปวดจากการจ่าย (Pain of paying) มาเล่าให้ฟัง 
  • ความรู้สึกเจ็บปวดเวลาจ่าย หรือ Pain of paying เป็นความรู้สึกเวลาที่เราคิดถึงการต้องเสียเงินไป โดยความเจ็บปวดนี้มาจากความคิดของเราเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ยิ่งเราคิดถึงมันมากเท่าไร ความเจ็บปวดก็มากขึ้นเท่านั้น และความเจ็บปวดนี้อาจทำให้เรารู้สึกว่าความสุขที่ได้จากการซื้อของชิ้นนั้นลดลงไปได้ด้วย
  • บางครั้งที่เรามี Pain of paying ต่ำๆ จากการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตก็อาจจะส่งผลให้วันที่ถูกเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตเป็นวันที่เราเพิ่งมารู้ตัวว่าใช้เงินเพลินไปหน่อย 

เวลาไปซื้อของแล้วจ่ายด้วยบัตรเครดิต ความรู้สึกแตกต่างจากการจ่ายด้วยเงินสดกันไหมคะ 

 

หลายคนอาจรู้สึกว่าเวลาใช้บัตรเครดิตจ่ายเงินแล้วทำให้ใช้เงินง่าย ไม่ค่อยเจ็บปวดเท่าไร แต่พอต้องควักเงินสดออกจากกระเป๋าสตางค์จะแอบมีความรู้สึกเจ็บปวดบางอย่าง มันไม่ใช่ความเจ็บปวดทางกายแบบเดินสะดุดหกล้ม แต่เป็นความรู้สึกปวดใจ ทั้งๆ ที่เป็นเงินมูลค่าเท่ากัน

 

ตัวอย่างเช่น เราเพิ่งซื้อรองเท้ากีฬาราคาประมาณ 3,000 บาท โดยใช้บัตรเครดิตในการซื้อ ลองจินตนาการว่าถ้าเราจ่ายเงินสดโดยหยิบแบงก์พันจำนวน 3 ใบออกจากกระเป๋าเงินส่งให้คนขาย เราคงต้องรู้สึกปวดใจอยู่ไม่น้อย แล้วก็อาจจะถามตัวเองระหว่างที่นับเงินว่าเราคิดดีแล้วใช่ไหมที่ซื้อไป หรือจะใช้คู่เก่าไปก่อนดี

 

แต่พอเราใช้บัตรเครดิตกลับไม่ค่อยรู้สึกปวดใจ แถมยังดีใจที่ได้รองเท้าคู่ใหม่มาใส่วิ่งออกกำลังกาย 

 

หากใครรู้สึกคล้ายๆ กัน ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีคำอธิบายเรื่องความรู้สึกเจ็บปวดจากการจ่าย (Pain of paying) มาเล่าให้ฟัง 

 

หนังสือเรื่อง Small Change: Money Mishaps and How to Avoid Them ของ แดน อารีลีย์ และเจฟฟ์ ไครส์เลอร์ ได้อธิบายถึงความรู้สึกเจ็บปวดเวลาจ่าย หรือ Pain of paying เอาไว้ว่ามันเป็นความรู้สึกเวลาที่เราคิดถึงการต้องเสียเงินไป โดยความเจ็บปวดนี้มาจากความคิดของเราเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ยิ่งเราคิดถึงมันมากเท่าไร ความเจ็บปวดก็มากขึ้นเท่านั้น และความเจ็บปวดนี้อาจทำให้เรารู้สึกว่าความสุขที่ได้จากการซื้อของชิ้นนั้นลดลงไปได้ด้วย

 

สิ่งที่ทำให้เกิด Pain of paying มากหรือน้อยมีอยู่ 2 ปัจจัยคือ 

 

1. Time หรือระยะห่างระหว่างช่วงเวลาที่เงินออกจากกระเป๋ากับเวลาที่ได้รับสิ่งของที่เราซื้อมา 

 

2. Attention หรือความชัดเจนของเหตุการณ์ที่เราเห็นตอนจ่ายเงิน 

 

เวลาที่เราใช้บัตรเครดิต สังเกตได้ว่า Time จะยาว คือได้ของมาใช้เลย แต่กว่าจะจ่ายเงินก็ต้องรอรอบตัดบัตรเครดิตอีกสักพัก และ Attention จะต่ำ คือเหตุการณ์ตอนจ่ายเงินเกิดขึ้นรวดเร็ว ยิ่งปัจจุบันนี้สามารถใช้บัตรหรือมือถือแตะกับเครื่องแบบ Contactless ก็แทบจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าได้ใช้เงินไป เรียกได้ว่าอารมณ์ของเราถูกแยกจากเงินของเราไปด้วยความรวดเร็ว (Emotional detachment) 

 

ในทางกลับกัน เวลาที่เราใช้เงินสด Time จะสั้น คือจ่ายเงินทันทีเพื่อแลกของมา และ Attention จะสูง เช่น ตอนที่ต้องค่อยๆ นับเงิน กลัวแบงก์จะติดกันและจ่ายเงินเกิน รอรับเงินทอน นับเงินทอนว่าครบไหม และเก็บกลับเข้ากระเป๋าไป 

 

บางครั้งที่เรามี Pain of paying ต่ำๆ จากการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตก็อาจจะส่งผลให้วันที่ถูกเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตเป็นวันที่เราเพิ่งมารู้ตัวว่าใช้เงินเพลินไปหน่อย 

 

สำหรับการใช้ชีวิตในยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless society) หนทางการเพิ่ม Pain of paying ที่มีประสิทธิภาพอาจจะไม่ใช่การกลับไปใช้เงินสด เพราะจริงๆ แล้วการใช้บัตรก็มีข้อดีอยู่มาก เช่น ปลอดภัยกว่าเวลาถูกขโมย มีหลักฐานในการใช้จ่าย สามารถย้อนดูได้ว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง 

 

สำหรับคนที่อยากเพิ่ม Pain of paying เราขอแบ่งเทคนิคตามสุขภาพการเงินออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มสุขภาพการเงินปกติ และ 2. กลุ่มสุขภาพการเงินเริ่มไม่ปกติ

 

สำหรับกลุ่มสุขภาพการเงินปกติดี เป็นกลุ่มที่คิดว่าใช้บัตรเครดิตได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าอยากเพิ่ม Pain of paying เพื่อที่จะได้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เทคนิคที่สามารถทำได้คือการตั้ง SMS Alert ทุกครั้งที่ใช้จ่ายเพื่อเพิ่ม Attention ซึ่งนอกจากจะทำให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายเกิดขึ้นจริงๆ แล้วยังเพิ่มความปลอดภัย เวลามีใครแอบนำบัตรไปใช้ก็จะได้รู้ตัวไวด้วย โดยสามารถทำควบคู่ไปกับการตั้งวงเงินบัตรเครดิตที่คิดว่าพอเหมาะกับการใช้จ่ายในแต่ละรอบ 

 

โดยทั่วไปวงเงินบัตรเครดิตจะสูงกว่าเงินเดือนทั้งเดือน ถ้าใครกลัวเงินเดือนออกแล้วจ่ายไม่ไหวก็ไปขอลดวงเงินได้ และบางเดือนที่ต้องการซื้อของชิ้นใหญ่หรือเดินทางไปท่องเที่ยวก็ค่อยไปเพิ่มวงเงินกลับมาชั่วคราวได้ 

 

สำหรับกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่สุขภาพการเงินเริ่มไม่ปกติ เช่น เริ่มจ่ายค่าบัตรเครดิตไม่ไหวและคิดว่าอยากลดการใช้บัตรเครดิต วิธีเพิ่ม Pain of paying ของคนกลุ่มนี้สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนมาใช้บัตรเดบิต ซึ่งมีลักษณะคล้ายเงินสดมากกว่าบัตรเครดิต เนื่องจากเราต้องมีเงินก่อนจึงจะใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตได้ และการจ่ายแต่ละครั้งมี Time ที่สั้นลง เพราะต้องจ่ายเงินออกไปเลยเพื่อแลกของมา 

 

เทคนิคเพิ่มเติมคือให้โอนเงินเข้ามาในบัตรเดบิตในจำนวนแค่พอใช้ในแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือน แล้วค่อยๆ ใช้จากยอดที่ตั้งไว้ ก็จะช่วยให้จัดการค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น

 

หากใครอยากโอนเข้ารายสัปดาห์ ขอแนะนำให้โอนเข้าทุกวันจันทร์ และหลีกเลี่ยงการโอนเข้าทุกวันศุกร์ เพราะว่าอาจจะใช้เพลินในช่วงสุดสัปดาห์จนทำให้เงินไม่พอใช้ได้ 

 

สรุปก็คือเจ็บวันนี้น่าจะดีกว่าเจ็บตอนเห็นยอดบิลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิตแล้วจ่ายไม่ไหว เพิ่ม Pain of paying บ้างก็น่าจะดีต่อสุขภาพการเงินในระยะยาว

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • Ariely, D. and Silva, J., 2002. Payment method design: Psychological and economic aspects of payments. Center for e-Business MIT, Paper, 196, pp.68-73.
  • Ariely, D. and Kreisler, J., 2018. Small Change: Money Mishaps and how to Avoid Them. Pan Macmillan
  • งาน Behavioural Exchange 2019, London
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising