×

ไพบูลย์เสนอทำประชามติห้ามชุมนุมการเมือง 2 ปี เปิดทางนายกฯ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

โดย THE STANDARD TEAM
02.11.2020
  • LOADING...
ไพบูลย์เสนอทำประชามติห้ามชุมนุมการเมือง 2 ปี เปิดทางนายกฯ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

วันนี้ (2 พฤศจิกายน) ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่าตนได้อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เสนอทางออกของประเทศในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขั้นรุนแรงของไทย โดยเสนอให้ใช้การออกเสียงประชามติถามประชาชนทั้งประเทศแทนการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ เพราะเห็นว่าการยุบสภาจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจให้มีปัญหามากขึ้น และการยุบสภาไม่สามารถยุติความขัดแย้งจากการชุมนุมทางการเมืองได้

 

ไพบูลย์กล่าวต่อไปว่าตนขอเสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าหากจะหาทางออกของประเทศให้ได้ผลต้องให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมใช้อำนาจอธิปไตยตัดสินปัญหาสำคัญนี้ ตนขอเสนอให้ พล.อ. ประยุทธ์ พิจารณาให้คณะรัฐมนตรีมีมติจัดให้มีการออกเสียงประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งมีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ 52 ล้านคน ให้มีส่วนร่วมโดยตรงเพื่อตัดสินปัญหาสำคัญของชาติในครั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยทางตรง ให้ได้ข้อยุติว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการจัดชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย 

 

ไพบูลย์กล่าวด้วยว่า แต่ยังมีปัญหาข้อกฎหมายว่าจะตั้งคำถามอย่างไรจึงจะไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ดังนั้นตนขอเสนอให้ตั้งคำถามประชามติที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ดังนี้

 

“ท่านเห็นอย่างไร หากรัฐบาลใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ห้ามไม่ให้มีการจัดชุมนุมทางการเมืองที่ฝ่าฝืนกฎหมายชุมนุมสาธารณะ มีการกระทำก้าวล่วงรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 อันเป็นเหตุให้กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่มีผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะจากความขัดแย้งของคนในชาติ และให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนสามารถดำเนินการได้ลุล่วง รัฐบาลจึงจะใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ห้ามชุมนุมการเมืองดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปีนับจากวันออกเสียงประชามติ”

 

ไพบูลย์ยังระบุด้วยว่าทางออกของประเทศโดยการให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งประเทศ 52 ล้านคนออกเสียงประชามติ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามตินั้นให้มีผลเป็นข้อยุติ หากผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับรัฐบาล เมื่อเป็นมติของประชาชนเสียงข้างมากทั้งประเทศ ให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ห้ามชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปีนับจากวันออกเสียงประชามติ จะทำให้ยุติปัญหาที่เกิดจากการชุมนุมการเมืองไประยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเพียงพอที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้พ้นวิกฤตผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่หากประชาชนเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลตามคำถามประชามติ รัฐบาลก็ไม่ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายใดๆ ที่ขัดแย้งกับมติเสียงข้างมากของประชาชน 

 

แต่เพื่อให้การออกเสียงประชามติซึ่งเป็นทางออกของประเทศทำได้รวดเร็วและประหยัดงบประมาณแผ่นดิน จึงเสนอให้การออกเสียงประชามติทำพ่วงไปพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัดในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ และกำหนดเพิ่มเขตกรุงเทพมหานครให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดออกเสียงประชามติเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ใช้งบประมาณทำประชามติจำนวนไม่มาก

 

“การหาทางออกของประเทศด้วยการจัดให้ออกเสียงประชามติเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 ตราเป็นพระราชกำหนดว่าด้วยการออกเสียงประชามติขึ้นใช้เฉพาะครั้งนี้ เนื่องจากเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” ไพบูลย์กล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X