×

ไผ่​-​รุ้ง​-​มายด์​ บุกศูนย์ร้องทุกข์รัฐบาล ร้องให้สอบเหตุ บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิต ทวงสัญญาเพื่อไทย นโยบายคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2024
  • LOADING...
ไผ่​-​รุ้ง​-​มายด์​

วันนี้ (16 พฤษภาคม) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา​, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล​ นักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางมายื่นหนังสือถึง เศรษ​ฐา​ ทวี​สิน​ นายก​รัฐมนตรี​ เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ภายหลังจาก เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 28 ปี เสียชีวิตระหว่างคุมขัง โดยมี สมคิด​ เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี​ฝ่ายการเมือง​ เป็นผู้รับหนังสือ

 

นักกิจกรรมทางการเมืองทั้ง 3 คน ได้นำโปสเตอร์นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยให้ใช้รัฐสภาเป็นกลไกคืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง รวมถึงเปิดภาพบันทึกเทปโทรทัศน์​ของ ทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ และ ​แพทองธาร​ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่พูดถึงนโยบายการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองด้วย 

 

ปนัสยา​กล่าวว่า​​ ตนเองรู้สึกกังวลว่าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์​จะไม่เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด​ขณะนำตัวไปรักษายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ระบุไว้ว่าจะเก็บภาพในกล้องวงจรปิดไว้เพียง 3 วันเท่านั้น​ พร้อมกับตั้งคำถามถึงขั้นตอนกู้ชีพ​เนติพร​ และรู้สึก​เสียใจที่การสูญเสียของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นในรัฐบาลเศรษฐา​ ทวี​สิน​

 

ก่อนยื่นหนังสือ​ได้มีตัวแทนอ่านแถลงการณ์​ โดยได้ยื่นข้อเสนอ​ 4 ข้อ 

 

  1. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการเสียชีวิตของเนติพรให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน อย่างรวดเร็ว 
  2. ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด​ได้รับสิทธิในการประกันตัว 
  3. ชะลอการดำเนินคดี การจับคุมขังบุคคลในคดีการเมือง จนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม​ รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง​ ไม่ยื่นอุทธรณ์ ไม่ฎีกา​ ถอนคำร้อง​ ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา​ ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 
  4. เร่งรัดการออกกฎหมายนิรโทษกรรม​ประชาชนทุกฝ่าย​ ทุกข้อหา​ ที่มีมูลเหตุมาจากคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหวังว่าจะไม่มีบุคคลใดต้องเสียชีวิต​ และทุกคนจะได้รับสิทธิ​ในการประกันตัว สิทธิ​ในการแสดงออกทางการเมือง 

 

ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มจะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ 

 

ขณะที่สมคิด​ ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล กล่าวแสดงความเสียใจ​ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ก้าวล่วง​ฝ่ายตุลาการ ส่วนรายละเอียดทุกท่านทราบว่ากรณีที่ถูกถอนประกันเพราะอะไร ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็คุยกันว่าไม่สบายใจ​ นอกจากนี้ที่มีการตั้งคำถามว่า การศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถูกขยายออกไปเรื่อยๆ​ เมื่อไรจะเสร็จ ในฐานะที่ตนเป็นโฆษกกรรมการชุดนี้ บ่ายวันนี้ก็จะประชุม​ และยืนยันว่าไม่ได้มีความล่าช้า แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างปิดสมัยประชุมสภา

 

ส่วนที่ระบุว่าการนิรโทษกรรมไม่รวมผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 และมาตรา 110 นั้น สมคิดกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด มีกรรมาธิการส่วนหนึ่ง​ซึ่งเป็นความคิดของบุคคล ไม่บอกว่าพรรคใดคัดค้าน​ที่จะเอาฐานคดีในมาตรา 112 ด้วย แต่ยังไม่มีการพูดคุยในรายละเอียด ในแนวทาง ตนเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย 

 

สมคิดกล่าวอีกว่า เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยไม่พูดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เลย หลายพรรคก็มาด่า เพราะพรรคเพื่อไทยมีบาดแผลจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ มันเจ็บปวดมาแล้ว ถ้าบอกว่าเห็นด้วยกับมาตรา 112 ฝ่ายที่ไม่ชอบก็จะบอกว่าทำเพื่อทักษิณและยิ่งลักษณ์ 2 อดีตนายกรัฐมนตรี เราพูดไม่ได้เพราะจุดนี้​ แต่เสียงว่าอย่างไร​ เราเอาด้วย​ เราไม่คัดค้าน โดยพิจารณาตามเสียงส่วนมาก วันนี้พรรคเพื่อไทยเสนอให้ศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ เพื่อให้ทุกฝ่ายตกผลึกให้เร็วขึ้น​ ถ้าหากปล่อยแต่ละฝ่ายไป​ก็จะไม่จบ วันนี้เราเชิญทุกฝ่ายมา​ แต่จะจบแน่นอนก่อนสภาเปิด 

 

ส่วนรายละเอียดที่เรียกร้อง​นั้น ขอยืนยันว่าเกินกว่าที่ตนจะบอกว่าเสียใจ​ พูดไม่ออก​ มันจุกอก​ เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้มีความสบายใจ​ และจะเดินเรื่องนี้ต่อ หากรับเรื่องแล้วให้แจ้งว่าจะเอาอย่างไรต่อ ซึ่ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตนอยากให้เสร็จภายในปีนี้ด้วยความตั้งใจจริง ส่วนรายละเอียดเรื่องมาตรา 112 ยังไม่ได้คุย​ ยืนยันว่าถ้าคุยก็ยังไม่จบ ต้องเอาคดีฐานใหญ่ๆ ออกไปก่อน ผิด พ.ร.บ.ชุมนุม จะต้องได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด จึงอยากเรียนทุกคนที่มาว่า ผู้แทนรัฐบาล เราตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้

 

ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ​กรกฎาคม​ 2563 – 30 เมษายน 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 1,954 คน​ จาก​ 1,295 คดี​ โดยมีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากที่สุด​ 1,466 คน​ และอันดับที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 จำนวน ​ 272 คน​

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising