แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมเยือนจีนวันพุธนี้ (5 กุมภาพันธ์) และมีกำหนดพบหารือกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ณ กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ท่ามกลางการจับตาว่าประเด็นการแก้ปัญหาสแกมเมอร์และค้ามนุษย์จะเป็นประเด็นหนึ่งในการหารือ นอกเหนือจากวาระเรื่องการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน
ในขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ออกนอกประเทศไปพบกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไปในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ
ภารกิจของทั้งสองถูกโฟกัสไปที่บทบาทและความพยายามแก้ไขปัญหาสำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอย่างการค้ามนุษย์และขบวนการสแกมเมอร์ หรือการหลอกลวงทางออนไลน์ที่ก่อผลกระทบไปทั่วโลก
เสียดายโอกาส
กรณีแพทองธาร คาดว่าเรื่องสแกมเมอร์อาจเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือกับสีจิ้นผิง เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบไม่น้อย และเริ่มแสดงท่าทีออกมาว่าต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการหารือในประเด็นดังกล่าวกับผู้นำจีนอาจไม่ค่อยเหมาะสม และเสียดายโอกาสที่ควรได้ใช้ไปกับการต่อยอดความร่วมมือด้านต่างๆ ในวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ซึ่งปัญหาสแกมเมอร์ควรเป็นสิ่งที่ไทยต้อง ‘ปัดกวาดบ้านของตัวเอง’
รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อการที่แพทองธารมีโอกาสจะได้พบกับสีจิ้นผิงว่า ‘ไม่ใช่เรื่องง่าย’ ที่จะได้หารือกับประธานาธิบดีจีน โดยครั้งนี้เป็นวาระสำคัญในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน
รศ. ดร.ปิติ มองว่าประเด็นที่ควรพูดคุยอันดับแรกคือเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ แต่อีกเรื่องที่สำคัญกว่าคือนับจากนี้ในอีก 50 ปีข้างหน้า ไทยกับจีนจะกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนอย่างไรได้บ้าง และจะขยับเป็นหุ้นส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ได้ไหม โดยคำถามคือเรากับจีนจะทำอะไร และกำหนดอะไรที่ขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน
กรณีปัญหาขบวนการสแกมเมอร์ในเมียนมา โดยเฉพาะที่เมืองเมียวดี ติดชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย ซึ่งก่อผลกระทบมากมายทั้งต่อคนไทยและคนจีน ทำให้จีนเริ่มขยับท่าทีด้วยการส่ง หลิวจงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ มาพูดคุยกับทางการไทยและลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา
แต่ รศ. ดร.ปิติ มองว่าฝ่ายไทยควรที่จะแสดงออกในประเด็นนี้แค่การขอบคุณจีน และไม่ควรนำมาเป็นประเด็นหลัก เนื่องจากหากพูดกันตามตรง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไทยควร ‘ปัดกวาดบ้านของตัวเอง’ โดยจัดการกันเองภายในประเทศ เพราะมีหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องจัดการได้อยู่แล้ว
“การเอาเรื่องนี้ไปคุยกับสีจิ้นผิงเหมือนเสียโอกาสที่จะต่อยอดความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น ขบวนรถไฟไทย-จีน, เทคโนโลยี AI, การศึกษา, โทรคมนาคม และสิ่งที่เป็นมาตรฐานต่างๆ ของจีน” รศ. ดร.ปิติ กล่าว
ส่วนเรื่องปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาถือเป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค ซึ่ง รศ. ดร.ปิติ ชี้ว่าแพทองธารสามารถหารือกับผู้นำจีนได้ แต่โดยมารยาทก็ไม่ควรเอาปัญหาเรื่องประเทศอื่นไปคุยกับจีนในวาระนี้เป็นประเด็นหลัก โดยควรมุ่งเน้นไปที่เรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน
ทักษิณอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาเมียนมาได้ง่ายๆ
สำหรับกรณีปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาที่ปะทุรุนแรงนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีของทักษิณที่ไปพูดคุยกับอันวาร์นั้นอาจไม่ช่วยให้ปัญหาบรรเทาหรือยุติลงได้ง่ายๆ
รศ. ดร.จุฬณี ตันติกุลานันท์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อบทบาทของทักษิณในการไปพูดคุยกับอันวาร์ เพื่อแก้ปัญหาเมียนมา ต้องย้อนไปดูตั้งแต่ว่าการที่อันวาร์ตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการนั้นจะทำอะไรได้มากแค่ไหน
รศ. ดร.จุฬณี มองว่านอกเหนือจากเรื่องการเสริมภาพลักษณ์ของอันวาร์จากการที่ทักษิณถือเป็นอดีตผู้นำที่มีประสบการณ์ สิ่งที่อันวาร์ต้องการหลักๆ จากทักษิณคือความเชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา และคอนเน็กชันจากฝ่ายทหารและกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ซึ่งมีประโยชน์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของเมียนมา
แต่การหาทางแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมากว่า 4 ปี อาจต้องมีการหารือระหว่างทักษิณและอันวาร์อีกหลายรอบ และไม่น่าจะตกลงอะไรได้ในเร็ววัน สาเหตุหลักเป็นเพราะทักษิณยังเป็นเพียงที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเอากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกของเมียนมา ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้
รศ. ดร.ปิติ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ด้วยบทบาทของทักษิณในตอนนี้ การแก้ไขปัญหาเรื่องเมียนมาน่าจะยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
โดยแม้ว่าทักษิณจะมีความใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมาและ มิน อ่อง หล่าย แต่ก็มีสายสัมพันธ์กับแค่บางกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม
ขณะที่ทักษิณยังไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ ทำให้การมีบทบาทแก้ไขปัญหาของเขาไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ส่วนในมาเลเซีย แม้อันวาร์จะยอมรับทักษิณ แต่ผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ในมาเลเซียก็ไม่ได้ยอมรับและตั้งคำถามต่อความเหมาะสมในการแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากทักษิณยังมีประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเรื่องจุดไฟใต้ เรื่องคดีความ และความเป็นอภิสิทธิ์ชนจากการกลับไทยเพื่อรับโทษแต่ไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว โดยรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาด้านธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการ
สำหรับบทบาทการแก้ไขปัญหาเมียนมาของฝ่ายไทย รศ. ดร.ปิติ เห็นว่ารัฐบาลไทยควรมี ‘ทูตพิเศษ’ (Special Envoy) ด้านเมียนมาโดยตรง
ส่วนระดับอาเซียนควรมีคณะทำงานพิเศษเรื่องเมียนมา และเป็นคนที่เปิดกว้างทำงานกับทุกฝ่าย โดยประเด็นเมียนมาควรเป็น Agenda ของอาเซียน และไม่ใช่แค่ประเด็นของประธานอาเซียน ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการผ่านกลไกอาเซียน ที่ใช้ทั้งเวลา เงิน และความรู้
อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.จุฬณี มองว่าท่าทีของทักษิณนั้นดูมีความจริงจังในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเมียนมามากกว่าชาติอาเซียนอื่นๆ ที่ผ่านมา
เธอมองว่าบทบาทของทักษิณน่าจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทย ขณะเดียวกันอาจก่อให้เกิดคำถามว่า ‘ทำไมต้องเป็นทักษิณ?’ เช่นเดียวกับที่ชาวมาเลเซียตั้งคำถามว่า ‘ทำไมต้องเป็นต่างชาติที่เข้ามามีบทบาทนี้?’