ในวันที่ 12 กันยายนที่จะถึงนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเข้าห้องประชุมพระสุริยันเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
รายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญหลักในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ เริ่มเผยออกมาสู่สาธารณะ และจะเป็นเสมือน ‘สัญญาประชาคม’ ที่รัฐบาลนี้มอบกับประชาชน หลักประกันว่ารัฐบาลจะผลักดันให้สำเร็จ
THE STANDARD สกัดสาระสำคัญของ ‘นโยบายเร่งด่วน 10 ประการ’ ที่จะดำเนินการทันที รวมถึงนโยบายระยะกลางและระยะยาว เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นความเชื่อมั่นทางการเมือง และการรับมือกับภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ถ่ายภาพหมู่อย่างไม่เป็นทางการในอาคารสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
10 นโยบายเร่งด่วน
- นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์
- นโยบายที่สอง รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs
จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
- นโยบายที่สาม รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค
ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย ‘ค่าโดยสารราคาเดียว’ ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง
- นโยบายที่สี่ รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี
ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน
- นโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)
ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- นโยบายที่หก รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย
โดยใช้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) มาใช้ พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ ฟื้นนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร
- นโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว
ด้วยการสานต่อความสำเร็จ ในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย
- นโยบายที่แปด รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม
- นโยบายที่เก้า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน
- นโยบายที่สิบ รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดาของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
ต่อยอดภาคการผลิตและการบริการ วางรากฐานประเทศในอนาคต
- การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม โดย
1.1 รัฐบาลจะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (HEVs, PHEVs, BEVs และ FCEVs)
1.2 รัฐบาลจะส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ
- ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดย
2.1 รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy)
2.2 รัฐบาลจะต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)
2.3 รัฐบาลจะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub)
2.4 รัฐบาลจะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub)
- รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส โดย
3.1 รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม
3.2 รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่
3.3 รัฐบาลจะเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ
3.4 รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
3.5 รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญ
3.6 รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
พลิกฟื้นความเชื่อมั่นด้วยการพัฒนาการเมือง
- รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด
- รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency)
- รัฐบาลจะปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เปลี่ยนผ่านราชการไทยไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล (Digital Government)
- รัฐบาลจะยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
แปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นโอกาส
- รัฐบาลจะรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Non-Conflict)
- รัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกและการสร้าง Soft Power