วานนี้ (14 กันยายน) แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตั้งแต่ปักหมุดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ที่เพื่อไทยถูกตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงใช้คำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เราเข้าใจคำนี้จริงหรือไม่
แพทองธารระบุว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่เท่ากับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ซอฟต์พาวเวอร์ครอบคลุมทั้งการพัฒนาคนที่มีทักษะสูง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเมืองประชาธิปไตย และการต่างประเทศที่เรียกว่า การทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) ซอฟต์พาวเวอร์จึงไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือมิติทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่จะต้องทำงานอีกหลายด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนา จนสามารถส่งออกวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือคุณค่าไปสู่นานาประเทศ และกลายเป็นผู้นำในระดับโลกต่อไป
แพทองธารระบุอีกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจะต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อออกแบบนโยบายการส่งออกวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนในด้านงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและแรงงาน กระทรวงพาณิชย์มาช่วยสนับสนุนเรื่องการค้า การตลาด และอีกหลายกระทรวงที่ต้องเข้ามาร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลายท่านมาช่วยกันชี้เป้าอุปสรรค ปัญหา เพื่อนำไปสู่การปลดล็อก และช่วยกันออกแบบนโยบายสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโต เพื่อขยายตลาดค้าขายสินค้าทางวัฒนธรรมไปสู่ตลาดโลก
แพทองธารระบุว่า หัวใจของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ในครั้งนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อุตสาหกรรม และศักยภาพของคน
- อุตสาหกรรม จะตั้ง THACCA องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรม โมเดลเดียวกับ KOCCA ในเกาหลีใต้ หรือ TAICCA ในไต้หวัน ซึ่งช่วงก่อนเลือกตั้งได้เดินสายขอความเห็น และระดมความคิดกันว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร และพบว่ายังมีโอกาสอีกมากในอุตสาหกรรมสร้างซอฟต์พาวเวอร์
- การพัฒนาศักยภาพของคน อยู่ในนโยบาย OFOS – One Family One Soft Power นโยบายพัฒนาศักยภาพคน พัฒนาคนให้มีสกิลสร้างสรรค์ ขยับทักษะแรงงานไทยให้มีทักษะแรงงานขั้นสูง
“เพื่อไทยจะเดินหน้าร่วมทำงานกับภาคเอกชน ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณคณะทำงานจากภาคเอกชนที่จะมาร่วมกันทำงานหลังจากนี้ ขอฝากตัวกับทุกท่านด้วย เรามาร่วมกันทำงานอย่างหนัก พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง” แพทองธารระบุ
อ้างอิง: