×

ครบ 36 คน เปิดรายชื่อ ครม. แพทองธาร 1 ใครเป็นใคร?

โดย THE STANDARD TEAM
04.09.2024
  • LOADING...
ครม. แพทองธาร 1

HIGHLIGHTS

20 MIN READ
  • คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในรัฐบาลแพทองธาร สมัยที่ 1 มาจาก 6 พรรคร่วมรัฐบาล และอีก 1 กลุ่มจาก ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ได้รับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ทว่าขั้วการเมืองฝ่ายนี้ยังมีอีก 7 พรรค และบางส่วนที่พร้อมยกมือให้ ซึ่งจับมือเป็นฝ่ายรัฐบาล
  • แม้พรรคพลังประชารัฐถูกขับออกไปจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังคงมีรัฐมนตรีที่มาจากโควตา ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า นอกจากนี้รัฐบาลได้นำพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเสริมทัพ เพื่อคงตัวเลข สส. ในสภาให้เกิน 300 เสียงเช่นเดิม
  • ประชาชนไทยกำลังจะได้ผู้บริหารบ้านเมืองชุดใหม่ ที่บางคนอาจเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ซึ่งต้องพิสูจน์ทั้งฝีมือการบริหารงานและการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน
  • นับแต่แต่งตั้งแพทองธารเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเวลา 18 วันที่ได้คณะรัฐมนตรีแพทองธาร 1 ซึ่งมีจุดตัดที่ทำให้ต้องใช้เวลาในการแต่งตั้งคือการตรวจสอบประวัติรายบุคคล โดยเฉพาะประเด็นเรื่องจริยธรรมในอดีต เพราะเคยเป็นจุดตายของนายกฯ คนก่อนมาแล้ว

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เพื่อเข้าบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

มีหัวหน้าคณะรัฐมนตรีคือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 เป็นสมัยแรก ที่มาจากการโหวตโดยที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีองค์ประกอบคือ รัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน รวม 1 นายกรัฐมนตรี จึงเท่ากับ 36 คน

 

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้รับการจัดสรรเก้าอี้มีเพียง 7 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, ภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ประชาธิปัตย์, ประชาชาติ, ชาติไทยพัฒนา และกล้าธรรม แต่การจับมือเป็นขั้วการเมืองฝ่ายรัฐบาลยังมีพรรคการเมืองอีกจำนวน 7 พรรคที่ไม่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งใน ครม.

 

แม้พรรคพลังประชารัฐถูกขับออกไปจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังคงมีรัฐมนตรีที่มาจากโควตา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศอิสระ ขอแยกจากพรรคโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้รัฐบาลได้นำพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเล็กเข้ามาเสริมทัพ เพื่อคงตัวเลข สส. ในสภาให้เกิน 300 เสียงเช่นเดิม

 

ส่วนรัฐมนตรีหน้าเดิมในรัฐบาลเศรษฐายังคงอยู่ ไม่เพียงสานต่องานที่ทำภายใต้ผู้นำรัฐบาลคนใหม่ แต่คงต้องจับตานโยบายโดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต และการบริหารราชการแผ่นดินต่อจากนี้ จะมีศึกภายใน ศึกระหว่างขั้ว ให้ต้องโยกย้ายตำแหน่งกันอีกหรือไม่

 


 

1. แพทองธาร ชินวัตร

ตำแหน่ง: นายกรัฐมนตรี

 

 

แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เป็นหลานอาเขย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และหลานอา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย มีพี่น้อง 2 คน คือ โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร และ เอม-พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์

 

แพทองธารมีสายเลือดนักการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เคยเขียนโปสเตอร์ช่วยทักษิณรณรงค์หาเสียงตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ก้าวสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกในปี 2564 ในงาน ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย : เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน’ ที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ต่อมาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

 

ในการเลือกตั้งปี 2566 แพทองธารเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย และต่อมาในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับการเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นนายกฯ คนที่ 31 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ทำให้เธอกลายเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในวัย 38 ปี และถือเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 โดยเป็นนายกฯ คนที่ 4 จากเครือข่ายครอบครัวชินวัตรด้วย

 


 

2. ภูมิธรรม เวชยชัย

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

 

ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘อ้วน’ สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ในปี 2547 ถือเป็นอดีตคนเดือนตุลา 2519 ที่หนีเข้าป่า ต่อมาทำงานกับ NGO สร้างเครือข่ายอาสาสมัครทั่วประเทศ

 

เริ่มเข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกด้วยการตั้งพรรคประชาธรรม แต่ปิดตัวลงในเวลาต่อมา เนื่องจากทุนไม่เพียงพอ ต่อมาในปี 2540 เริ่มต้นทำงานกับทักษิณจนกระทั่งก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

 

ภูมิธรรมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเมื่อปี 2544 เป็นเลขานุการให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งในปี 2548 ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากถูกยุบพรรค

 

ในการเลือกตั้งปี 2557 ภูมิธรรมได้สมัครรับเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 21 ต่อมาในปี 2562 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวน สส. มากกว่าจำนวน สส. พึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งในปี 2566 ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะอยู่ในลำดับที่ 100

 

ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ภูมิธรรมดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ระหว่างรอการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน

 


 

3. อนุทิน ชาญวีรกูล

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

อนุทิน ชาญวีรกูล หรือ เสี่ยหนู เป็นลูกชายของ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นอดีตสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรค และเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

ในปี 2562 ร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุทินเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ผลักดันนโยบายกัญชาเสรี

 

ปัจจุบันเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

 


 

4. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นอดีตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง ทำให้เบนเข็มไปเรียนต่อต่างประเทศจนจบคณะวิศวกรรมอุตสาหการ จาก University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา

 

สุริยะเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกภายใต้สังกัดพรรคกิจสังคม และมีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี 2541 ต่อมาได้ย้ายเข้ามาสังกัดพรรคไทยรักไทยที่มีทักษิณเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ในปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

 

ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และในปี 2561 สุริยะ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มสามมิตร รวบรวมอดีต สส. เข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในหลายกระทรวง

 

และในปี 2566 ได้ย้ายกลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่กับฝ่ายที่เป็นรัฐบาล และดำรงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เช่นเดียวกับเมื่อครั้งรัฐบาลเศรษฐา

 


 

5. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มีชื่อเล่นว่า ตุ๋ย เป็นอดีตผู้พิพากษาที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองครั้งแรกในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก่อนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ และเข้าไปเป็นที่ปรึกษา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 

ต่อมาพีระพันธุ์ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมกับ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้แต่งตั้งพีระพันธุ์เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และหันหลังให้การเมือง โดยเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรครวมไทยสร้างชาติก็ร่วมรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้พีระพันธุ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 


 

6. พิชัย ชุณหวชิร

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

 

พิชัย ชุณหวชิร ปัจจุบันอายุ 74 ปี เคยเป็นประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงเคยเป็น 1 ในพยานจำนวน 7 ปาก ที่ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เรียกตัวมาให้ปากคำคดีปล่อยปละละเลยการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

 

ยิ่งลักษณ์ระบุในหนังสือยื่นคำร้องถึงเหตุผลการเสนอชื่อพิชัยมาเป็นพยานครั้งนั้นว่า พิชัยเป็นพยานผู้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ คุณวุฒิ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านบัญชี และเป็นพยานบุคคลภายนอก มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า แต่ได้เสียสละยอมมาให้ปากคำ เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมในการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.

 

ที่ผ่านมาพิชัยได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐา และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตระกูลชินวัตรมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนั่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

 


 

7. ประเสริฐ จันทรรวงทอง

ตำแหน่ง: รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการเป็น สส. นครราชสีมา ในปี 2544, 2548, 2550, 2554, 2562 และ 2566 ประเสริฐเคยนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีในรัฐบาลเศรษฐา รวมถึงรัฐบาลแพทองธารด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์การทำงานเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร

 


 

8. ชูศักดิ์ ศิรินิล

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

 

ชูศักดิ์ ศิรินิล จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และระดับปริญญาโท สาขากฎหมายเปรียบเทียบ Southern Methodist University, Dallas รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ

 

ในอดีตชูศักดิ์เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนเข้าสู่วงการการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษาให้กับทักษิณ ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อในปี 2544 และ 2548

 

ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งมี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ชูศักดิ์ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ต่อมาภายหลังจากการพ้นจากตำแหน่งของสมัคร ซึ่งพรรคพลังประชาชนในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เสนอชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ และชูศักดิ์ได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ก่อนที่ในปี 2551 จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน

 

ในปี 2563 ชูศักดิ์ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งอีก 3 ปีถัดมา ได้สมัครรับเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 หลังจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการมีมติเลือกชูศักดิ์เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค

 

ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติให้แพทองธารดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และชูศักดิ์เป็นรองหัวหน้าพรรค

 


 

9. จิราพร สินธุไพร

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

 

จิราพร สินธุไพร มีชื่อเล่นว่า น้ำ เป็น สส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันอายุ 36 ปี เป็นลูกสาวคนโตของ นิสิต สินธุไพร อดีต สส. ร้อยเอ็ด อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และอดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กับ เอมอร สินธุไพร อดีต สส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย มีน้องสาว 1 คน คือ ชญาภา สินธุไพร สส. ร้อยเอ็ด เขต 8 ซึ่งปัจจุบันเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย

 

จิราพรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทใบที่ 2 Master of Science (International Business) จาก University of Reading ประเทศอังกฤษ

 

ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง เธอเคยทำงานเป็นนักวิชาการพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จากนั้นลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ครั้งแรกในปี 2562 เขต 5 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้รับ 58,842 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนสูงเป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัด

 

จิราพรเคยเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย และมีความโดดเด่นการทำงานเป็นผู้แทนราษฎรในสภา และในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เมื่อปี 2566 เธอชนะการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียง 61,288 คะแนน ซึ่งสูงที่สุดในประเทศ

 


 

10. จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

 

 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ มีชื่อเล่นว่า หนิม เป็น สส. เชียงใหม่ติดต่อกัน 5 สมัย โดยเริ่มลงสมัครครั้งแรกในปี 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ด้วยวัยเพียง 30 ปี ก่อนย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน และล่าสุดสังกัดพรรคเพื่อไทย

 

จุลพันธ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท การบริหารธุรกิจ จาก Boston College สหรัฐฯ เป็นลูกชายของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหลานของ พล.ต.อ. สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ

 

เส้นทางการเมืองของจุลพันธ์ เคยดำรงตำแหน่งอดีตกรรมาธิการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในหลากหลายคณะ เช่น การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน, การพัฒนาเศรษฐกิจ, งบประมาณ ฯลฯ และเป็นหนึ่งในขุนพลที่ขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในสมัยรัฐบาลเศรษฐา

 


 

11. เผ่าภูมิ โรจนสกุล

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

 

 

เผ่าภูมิ โรจนสกุล มีชื่อเล่นว่า อ๊อฟ ปัจจุบันอายุ 41 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทใบที่ 1 คณะบริหารธุรกิจ จาก University of Massachusetts Boston ปริญญาโทใบที่ 2 และปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ จาก University of Illinois Chicago

 

หลังสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เขาได้เข้ารับราชการที่กองนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นระยะเวลา 1 ปี และได้ลาออกมา

 

ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมืองในพรรคเพื่อไทย โดยเข้ามาเป็นทีมงานของภูมิธรรม ต่อมาในปี 2561 ได้รับเลือกให้เป็นรองเลขาธิการพรรค และดำรงตำแหน่งนี้ติดต่อกัน 4 สมัย ก่อนขยับขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคในปี 2566 ทั้งเคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคเพื่อไทย และโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย

 

ในการเลือกตั้งปี 2562 เผ่าภูมิลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 33 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวน สส. มากกว่าจำนวน สส. พึงมี

 

การเลือกตั้งปี 2566 เผ่าภูมิได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 89 ซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้ง

 

จากนั้น ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ผลักดันนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จนกระทั่งในรัฐบาลเศรษฐา เผ่าภูมิได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และยังคงดำรงตำแหน่งเดิมต่อเนื่องมาในรัฐบาลแพทองธาร

 


 

12. พิชัย นริพทะพันธุ์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

 

พิชัย นริพทะพันธุ์ มีชื่อเล่นว่า แดง สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ ปริญญาโท ด้านการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เขาเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอัญมณีและการส่งออก เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับกลุ่มขอนแก่น พรรคเพื่อแผ่นดิน ของ สุวิทย์ คุณกิตติ ต่อมาจึงได้หันมาสนับสนุนพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยแทน

 

พิชัยเข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยได้รับเชิญให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลสมัคร และได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

ที่ผ่านมาพิชัยทำงานในฐานะคณะทำงานทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมาตลอด ก่อนย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักษาชาติในการเลือกตั้งปี 2562 แต่พรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง

 

ต่อมาในปี 2563 ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และในปี 2566 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา

 


 

13. สรวงศ์ เทียนทอง

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

 

สรวงศ์ เทียนทอง มีชื่อเล่นว่า บอย อายุ 49 ปี เป็นลูกชายคนโตของ เสนาะ เทียนทอง กับ อุไรวรรณ เทียนทอง สรวงศ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี บริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จาก Johnson & Wales University สหรัฐฯ

 

สำหรับเส้นทางการเมือง สรวงศ์ได้รับเลือกเป็น สส. สระแก้ว 4 สมัย คือ ปี 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย, ปี 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน, ปี 2554 สังกัดพรรคไทยรักไทย และปี 2566 สังกัดพรรคเพื่อไทย

 

สงวงศ์เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และทำหน้าที่รักษาราชการแทน น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในช่วงที่มีการยุบสภา

 


 

14. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

 

 

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล มีชื่อเล่นว่า ปุ๋ง เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ลูกสาวกำนันป้อ’ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล สส. บ้านใหญ่นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์

 

สุดาวรรณสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก่อนลงเล่นการเมืองเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด

 

สุดาวรรณเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 21 ของพรรคเพื่อไทย และเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีหญิงของรัฐบาลเศรษฐา โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่อมาโยกย้ายมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และยังครองตำแหน่งเจ้ากระทรวงต่ออีกสมัยในรัฐบาลแพทองธาร

 


 

15. มาริษ เสงี่ยมพงษ์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

 

มาริษ เสงี่ยมพงษ์ มีชื่อเล่นว่า ปู สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) จาก Ohio University สหรัฐฯ

 

มาริษถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถทางด้านการทูต เนื่องจากรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศมาอย่างยาวนาน เคยทำงานที่กรมองค์การระหว่างประเทศ กรมสารนิเทศ และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นข้าราชการที่ถูกส่งไปประจำการทำเนียบรัฐบาลในสมัยที่ทักษิณเป็นนายกฯ ทำให้มีความสนิทสนมกับตระกูลชินวัตรจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ยังเคยเป็นเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ เช่น แคนาดา เนปาล ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในรัฐบาลแพทองธาร มาริษยังคงดำรงตำแหน่งเดิมเช่นเดียวกับสมัยรัฐบาลเศรษฐา

 


 

16. สมศักดิ์ เทพสุทิน

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน สส. สุโขทัย ผู้ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ซึ่งระหว่างดำรงตำแหน่งไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นจากการเมืองท้องถิ่นในปี 2564 และเข้าสู่เส้นทางการเมืองระดับประเทศด้วยการเป็น สส. พรรคกิจสังคม สมัยแรกในปี 2526 ด้วยอายุเพียง 26 ปี

 

จากนั้นสะสมชั่วโมงบินจนสมัยรัฐบาล พล.อ. สุจินดา คราประยูร ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในปี 2535 และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเรื่อยมาแม้จะย้ายสังกัดมาอยู่พรรคไทยรักไทย ต่อมาหลังการรัฐประหารในปี 2549 สมศักดิ์นำกลุ่มวังน้ำยมลาออกจากพรรคไทยรักไทย และไปตั้งกลุ่มมัชฌิมา กระทั่งเกิดพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองในปี 2550

 

ในปี 2561 สมศักดิ์และสุริยะก่อตั้งกลุ่มสามมิตร รวบรวมอดีต สส. ก่อนจะเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และในปี 2566 ได้ย้ายกลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่กับฝ่ายที่เป็นรัฐบาล

 

ในรัฐบาลเศรษฐา เขาได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม, กระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ), กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

ก่อนจะถูกโยกจากรองนายกฯ ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทน นพ.ชลน่าน ที่ให้กลับไปทำงานสภา คุมเกมการเมืองให้รัฐบาล และในรัฐบาลปัจจุบัน สมศักดิ์ยังคงปักหลักเป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุขตามเดิม

 


 

17. มนพร เจริญศรี

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

 

มนพร เจริญศรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสื่อสารการเมือง วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

 

ในปี 2554 มนพรเป็น สส. นครพนมครั้งแรกในสังกัดพรรคเพื่อไทย มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในฐานะนักต่อสู้ในนามคนเสื้อแดงจังหวัดนครพนม นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2549 โดยอาสารับผิดชอบงานในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อทวงสิทธิให้กับคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากการชุมนุม

 

มนพรถือเป็นนักประสานงานระหว่างพรรคการเมือง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ประสาน 10 ทิศในสภาผู้แทนราษฎร และมีตำแหน่งเป็นเลขานุการภาคอีสานของพรรค

 


 

18. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ มีชื่อเล่นว่า อิ่ม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ปริญญาโท Master of International Business จาก University of Wollongong และปริญญาเอก สาขา Education (Transdisciplinary Studies) จาก Central Queensland University ประเทศออสเตรเลีย

 

เริ่มผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองในฐานะ สส. พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันธีรรัตน์เป็น สส. มาแล้ว 3 สมัย และนับเป็น สส. พรรคเพื่อไทยหนึ่งเดียวที่เอาชนะในเขตกรุงเทพฯ ได้รับเสียงมากกว่า ชุมพล หลักคำ สส. พรรคก้าวไกลในขณะนั้น เพียง 4 คะแนนเท่านั้น

 

ธีรรัตน์ยังนับเป็น สส. หญิงของพรรคเพื่อไทยที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากจากกลุ่มเยาวชนและโซเชียลมีเดีย

 


 

19. อัครา พรหมเผ่า

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

อัครา พรหมเผ่า เป็นน้องชายของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ Business Management TAFE จาก The Sydney Institute ออสเตรเลีย, ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ในด้านประสบการณ์การทำงานด้านการเมือง ดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา 2 สมัย, กรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พรรคพลังประชารัฐ และคณะทำงานร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการเมืองของ ร.อ. ธรรมนัส

 


 

20. ซาบีดา ไทยเศรษฐ์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ เป็นลูกคนที่ 2 ของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส. อุทัยธานี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทด้านนิติศาสตร์ จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และแต่งงานกับ อนันต์ ปาทาน เมื่อเดือนมกราคม 2565

 

ช่วงที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และมีบทบาท ออกงานสังคม ปฏิบัติหน้าที่ในนามชาดาอย่างต่อเนื่อง

 


 

21. พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นลูกชายของ ชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา มีพี่ชาย คือ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล ครูใหญ่แห่งภูมิใจไทย และน้องชาย คือ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จนทำให้สังคมมองว่าการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งนี้เพราะนามสกุล ‘ชิดชอบ’

 

พล.ต.อ. เพิ่มพูน รับราชการตำรวจตั้งแต่ปี 2527 โดยเป็นผู้บังคับการกองตรวจราชการ 2 สำนักงานจเรตำรวจ ในรัฐบาลสมัคร และเป็นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง กทม. ในรัฐบาลอภิสิทธิ์

 

พล.ต.อ. เพิ่มพูน ถูกเด้งไปเป็นผู้อำนวยการจเรตำรวจ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และถูกขยับให้มารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ต่อมาได้เกษียณอายุราชการในปี 2564

 


 

22. พิพัฒน์ รัชกิจประการ

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

 

พิพัฒน์ รัชกิจประการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นสามีของ นาที รัชกิจประการ แม่ทัพภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย และเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันเครือพีที นามสกุลรัชกิจประการมีความสนิทสนมกับนามสกุลชิดชอบมาอย่างยาวนาน และอยู่ภายใต้สังกัดพรรคภูมิใจไทยจนถึงปัจจุบัน

 

ในปี 2562 พรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ พิพัฒน์ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในโควตาของพรรคภูมิใจไทย

 


 

23. ศุภมาส อิศรภักดี

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

 

ศุภมาส อิศรภักดี เคยเป็นโฆษกพรรคและเป็นอดีตคนไทยรักไทย เคยเป็น สส. กทม. เขต 13 หลักสี่ พรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 แต่ในปี 2554 พ่ายให้กับ สุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย

 

จากนั้นในปี 2557 ได้ลงสมัครในแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 9 พรรคภูมิใจไทย แต่ไม่มีการเลือกตั้ง และในปี 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย

 


 

24. นภินทร ศรีสรรพางค์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

 

นภินทร ศรีสรรพางค์ เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรีในปี 2543-2549 และเป็นอดีต สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยในปี 2554-2556

 

นอกจากนี้ยังเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็กโกรคอมเมอร์ส กรุ๊ป จำกัด รวมถึงผู้ดำเนินงานตลาดกลางผักและผลไม้ จังหวัดราชบุรี (ศรีเมือง)

 


 

25. ทรงศักดิ์ ทองศรี

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

ทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลสมัคร ต่อมาในปี 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และเขายังเป็นหนึ่งในสมาชิก สส. กลุ่ม 16 ด้วย

 

ในปี 2562 พรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ทรงศักดิ์ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในโควตาพรรคภูมิใจไทย

 


 

26. สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ลูกชายของ สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในลูกหลานบ้านใหญ่พระนครศรีอยุธยา ลงสมัคร สส. ครั้งแรกในปี 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน โดยรับไม้ต่อจากพี่สาว คือ สุวิมล พันธ์เจริญวรกุล อดีต สส. พรรคไทยรักไทย ที่ถอยจากวงการการเมือง จากนั้นในปี 2554 ได้รับการเลือกตั้งในสังกัดพรรคเพื่อไทย และปี 2562 ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. พระนครศรีอยุธยา สังกัดพรรคภูมิใจไทย

 

ปัจจุบันเป็น สส. เขต 4 พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย และเป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยคนที่ 1

 


 

27. สุรพงษ์ ปิยะโชติ

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 

 

สุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นที่รู้จักในชื่อ หมอหนุ่ย สำเร็จการศึกษาจากคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำธุรกิจฟาร์มโคนม ส่งออกน้ำนมพาสเจอไรซ์ระดับประเทศ

 

เข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกโดยการเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามแย้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2548 และในปี 2554 ได้ลงสมัคร สส. กาญจนบุรี เขตอำเภอท่ามะกา สังกัดพรรคเพื่อไทย และเป็น สส. สมัยแรก

 

ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้ สส. จังหวัดกาญจนบุรีมา 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 5 ที่นั่ง ทำให้สุรพงษ์ได้รับการพูดถึงและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในพรรคในฐานะแม่ทัพเพื่อไทยเมืองกาญจน์

 


 

28. เอกนัฏ พร้อมพันธุ์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

 

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นเลขานุการส่วนตัวของสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรม และในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เอกนัฏในวัย 25 ปี ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. กรุงเทพฯ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้รับเลือกตั้งไปด้วยคะแนน 37,932 คะแนน

 

ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทยปี 2556-2557 เอกนัฏเป็น 1 ใน 9 สส. พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค และเข้าเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. และโฆษกของการชุมนุม ชี้แจงข่าวสารและทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษต่อสื่อมวลชน

 

ในปี 2565 เอกนัฏได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีพีระพันธุ์เป็นหัวหน้าพรรค

 


 

29. พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

 

 

พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 20, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 31 (รุ่นเดียวกับ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวัง), โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

 

พล.อ. ณัฐพล เคยรับราชการทหารเป็นผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ เมื่อปี 2531 ต่อมาเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก, อาจารย์วิทยาลัยการทัพบก และเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก

 

ในปี 2558 เป็นรองเสนาธิการทหารบก ปี 2559 เป็นหัวหน้าส่วนอำนวยการ สำนักงานเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเสนาธิการทหารบก ปี 2561-2563 เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นในปี 2563 โอนย้ายมาเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 

พล.อ. ณัฐพล มีความใกล้ชิดกับ พล.อ. ประยุทธ์ เพราะเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติช่วงปี 2563 และยังเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบค.ส่วนหน้า)

 

ภายหลังเกษียณอายุราชการ พล.อ. ณัฐพล ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลเศรษฐา เพื่อช่วยประคับประคองงานของ สุทิน คลังแสง ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มาจากพลเรือน

 


 

30. สุชาติ ชมกลิ่น

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

 

สุชาติ ชมกลิ่น มีชื่อเล่นว่า เฮ้ง มีภูมิลำเนาอยู่ที่ชลบุรี ปัจจุบันเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็น สส. มาตั้งแต่ปี 2554 ติดต่อกัน 3 สมัย

 

สำหรับสุชาติ บารมีทางการเมืองของเขาเริ่มก่อตัวหลังการเลือกตั้งปี 2562 โดยการกวาดต้อนผู้นำท้องถิ่นหลายแห่งเข้าสู่สังกัด และขึ้นสู่จุดสูงสุดในวงการการเมือง โดยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ภายใต้สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

 

จากนั้นในปี 2565 สุชาติได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ย้ายพรรค เปิดตัวเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมลงสมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 เพื่อสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 3

 


 

31. เดชอิศม์ ขาวทอง

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

 

เดชอิศม์ ขาวทอง เริ่มต้นงานการเมืองในฐานะสมาชิกสภาจังหวัดสงขลา เขตอำเภอรัตภูมิ และนายก อบจ.สงขลา เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ในสังกัดพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2550 ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ในปี 2562 และ 2566

 

ปี 2564 เดชอิชม์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

 

ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 เดชอิชม์มีบทบาทในการพยายามนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยการพบปะหารือกับทักษิณในต่างประเทศ

 

ต่อมาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติให้ สส. ของพรรคงดออกเสียงให้กับเศรษฐา แต่เดชอิชม์กับสมาชิกในกลุ่มได้ลงมติสวนทางกับมติพรรค โดยลงมติเห็นชอบให้เศรษฐาเป็นนายกฯ

 


 

32. เฉลิมชัย ศรีอ่อน

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

 

เฉลิมชัย ศรีอ่อน เริ่มเส้นทางการเมืองโดยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปี 2533-2543, เป็นประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปี 2538-2540) และเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2539

 

ก่อนได้รับเลือกเป็น สส. ประจวบคีรีขันธ์ครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2544 และได้รับการเลือกตั้งต่อมาในปี 2548, 2550 และ 2554

 

เฉลิมชัยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ต่อมาในการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2553 เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แทนไพฑูรย์ แก้วทอง

 

หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อภิสิทธิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 สมาชิกพรรคก็ได้ลงมติให้เฉลิมชัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 หลังศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่ยืดเยื้อมากว่า 5 เดือน ซึ่งจบลงด้วยการถอนตัวและการประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคของอภิสิทธิ์ เฉลิมชัยขึ้นดำรงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9

 


 

33. พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

 

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เป็นอดีตนายตำรวจที่ดำรงตำแหน่งสำคัญมาหลายตำแหน่ง เช่น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พ.ต.อ. ทวี เริ่มต้นชีวิตการเมืองด้วยการก่อตั้งพรรคประชาชาติร่วมกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยเขาเป็นเลขาธิการพรรค และลงสมัครเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 แม้ว่าในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาชาติจะได้รับเลือก สส. แบบบัญชีรายชื่อเพียงลำดับเดียว คือ วันมูหะมัดนอร์ แต่ต่อมาได้ลาออกเพื่อเปิดทางให้ พ.ต.อ. ทวี ขึ้นเป็น สส. แทน

 

ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคประชาชาติได้รับเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ 2 คน ทำให้ พ.ต.อ. ทวี กลับเข้าสภาอีกครั้ง และพรรคประชาชาติประกาศเข้าร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดย พ.ต.อ. ทวี ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในโควตาพรรคประชาชาติ

 


 

34. วราวุธ ศิลปอาชา

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

 

วราวุธ ศิลปอาชา มีชื่อเล่นว่า ท็อป เป็นลูกคนสุดท้องของ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และนายกฯ คนที่ 21 กับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา วราวุธสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) จาก University College London ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทด้านไฟแนนซ์และการธนาคาร จาก University of Wisconsin-Madison สหรัฐฯ

 

วราวุธเข้าสู่เส้นทางการเมืองตามพ่อ โดยการเป็น สส. สุพรรณบุรี ในปี 2544, 2548 และ 2550 สังกัดพรรคชาติไทย ในปี 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค

 

วราวุธได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลสมชายในปี 2557 จากนั้นในปี 2562 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์, เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ และกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 


 

35. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การเงิน) จาก The Wharton School of the University of Pennsylvania สหรัฐฯ, เคยเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยของ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์

 

นฤมลได้เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 เธอมีบทบาทด้านนโยบายเศรษฐกิจ และได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาภายหลังได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์

 

ในเดือนสิงหาคม 2563 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อมานฤมลได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากสมาชิกและทุกตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย บทบาทหลักคือการเจรจาขายสินค้าเกษตรประเภทยางพารา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ร.อ. ธรรมนัส

 

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 พรรคกล้าธรรมจัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่ ผลการลงคะแนนได้มีมติเลือกนฤมลเป็นหัวพรรคคนใหม่ ทั้งนี้พรรคกล้าธรรมได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาจากพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ. ธรรมนัส

 


 

36. อิทธิ ศิริลัทธยากร

ตำแหน่ง: รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

อิทธิ ศิริลัทธยากร เป็น สส. ฉะเชิงเทรา 5 สมัย ระหว่างปี 2535-2550 สังกัดพรรคชาติพัฒนา พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ตามลำดับ เขายังเป็นหนึ่งในสมาชิก สส. กลุ่ม 16 ที่มีสุชาติและเนวินเป็นแกนนำ และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลชวน หลีกภัย (2542-2544)

 

ในการเลือกตั้งปี 2562 และ 2566 อิทธิได้สนับสนุนลูกชาย คือ อรรถกร ศิริลัทธยากร ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ ในเดือนเมษายน 2567 อรรถกรได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลเศรษฐา

 

ต่อมาแพทองธารจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ร.อ. ธรรมนัส ได้ส่งชื่ออิทธินั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทนอรรถกรในโควตาคนนอก หลังจากที่พรรคเพื่อไทยมีมติไม่นำพรรคพลังประชารัฐมาเข้าร่วมรัฐบาล โดยอิทธิได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้มาระยะหนึ่งแล้ว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising